17 ส.ค. 2021 เวลา 13:35 • ประวัติศาสตร์
ภาพนี้มีเรื่องเล่า ตอน เพชรโคอินัวร์ กับอาถรรพ์ทำลายราชวงศ์
3
ถ้าลองดูที่ภาพด้านบน ทุกคนจะเห็นอะไรกันบ้างครับ ทุกคนน่าจะเห็นภาพของคน 4 คน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้นำของอาณาจักรต่าง ๆ และเพชรเม็ดใหญ่ตรงกลางซึ่งคนทั้ง 4 ล้วนเคยเป็นผู้ครอบครองมาก่อน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าอัญมณีเลอค่ากับราชวงศ์ย่อมเป็นของคู่กัน
3
เหล่าบรรดาเพชรที่มีชื่อเสียง ที่เคยอยู่ในการครอบครองของราชวงศ์ทั่วโลก (Source: https://parnellediamonds.ie)
และเป็นเรื่องธรรมดาที่อัญมณีที่มีค่าเหล่านี้ จะถูกเปลี่ยนมือไปเรื่อย ๆ อาจจะได้มาด้วยการมอบให้โดยเสน่ห์หา ได้มาในรูปแบบของมรดก และแน่นอนคือได้มาจากการชนะศึกสงคราม แต่สิ่งที่คงอยู่เสมอคือความหลงใหล และความต้องการในการเป็นเจ้าของอัญมณีเหล่านี้ของมนุษย์นั่นเอง
3
ด้วยเหตุนี้อัญมณีที่มีชื่อเสียง หรือมีความพิเศษมากกว่าอัญมณีชนิดอื่น ก็จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น แต่หลายครั้งที่อัญมณีเหล่านี้มักจะมาพร้อมกับพลังเหนือธรรมชาติที่ทำให้เจ้าของต้องมีอันเป็นไป
2
แบบจำลองเพชรโคอินัวร์ (Source: Wikipedia)
อัญมณีที่ขึ้นชื่อว่า “เฮี้ยน” ที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้นเพชรโฮป ซึ่งทำให้เจ้าของหลายคนต้องพบจุดจบก่อนเวลาอันควร ซึ่งหนึ่งในนั้นคือราชวงศ์บูร์บงของฝรั่งเศส แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่ามีเพชรอีกเม็ดหนึ่งที่มีความ “เฮี้ยน” ไม่แพ้กัน อาถรรพ์ที่อยู่ในเพชรเม็ดนี้นำความพินาศมาให้กับสามราชวงศ์ที่เคยยิ่งใหญ่เกรียงไกร และในปัจจุบัน เพชรเม็ดนี้ก็ยังคงอยู่ในการครอบครองของหนึ่งในราชวงศ์ที่มีความสำคัญมากที่สุดในโลก
1
วันนี้ Kang’s Journal จะพาทุกคนเดินทางไปรู้จักกับเพชรเม็ดงามเม็ดนี้ เพชรที่ถือกำเนิดขึ้นในเอเชีย และได้เดินทางไปหลากหลายดินแดน ผ่านมือสามราชวงศ์ จนสุดท้ายก็เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังทวีปยุโรป กับเรื่องราวของ เพชรโคอินัวร์ : เพชรเม็ดงาม กับอาถรรพ์ทำลายราชวงศ์
6
เหล่าบรรดาผู้นำ ที่เคยเป็นเจ้าของเพชรโคอินัวร์ (Source: https://vipjewelvault.com)
เพชรนี้มาจากไหน
1
จริง ๆ แล้วต้นกำเนิดของเพชรเม็ดนี้ยังคงเป็นปริศนา และเต็มไปด้วยความลี้ลับ เพราะไม่มีบันทึกที่กล่าวถึงการค้นพบของเพชรโคอินัวร์เลยว่าถูกค้นพบเมื่อไร ที่ไหน และใครคือเจ้าของคนแรก แต่คาดการณ์กันว่าเพชรเม็ดนี้น่าจะถูกค้นพบที่เหมืองโคลเลอร์ ริมแม่น้ำกฤษณะ ในเมืองโกล์คอนดาร์ ประเทศอินเดีย เมื่อประมาณ 5000 ปีก่อน
1
หนึ่งในเหมืองเพชรที่เมืองโกล์คอนดาร์ ประเทศอินเดีย
บันทึกแรกเริ่ม
บันทึกฉบับแรกที่มีการกล่าวถึงเพชรโคอินัวร์ เป็นบันทึกของจักรพรรดิบาบูร์ ผู้ก่อตั้งราชวงศ์โมกุลที่มีการบันทึกถึงเพชรเม็ดหนึ่งที่มีน้ำหนักประมาณ 186 กะรัตเก่า (191 กะรัตตามหน่วยปัจจุบัน) หรือประมาณ 38.2 กรัม โดยเพชรเม็ดนี้มีเจ้าของคือ Alauddin Khalji ผู้ดำรงตำแหน่งสุลต่านแห่งเดลีคนที่ 2 แห่งราชวงศ์คาลจิ ซึ่งปกครองพื้นที่ส่วนบนและตะวันตกของอินเดียในปัจจุบัน
4
เพื่อให้เห็นภาพ น้ำหนักของไข่ไก่ขนาดเล็ก 1 ฟอง จะมีน้ำหนักประมาณ 40 กรัม นั่นหมายความว่าเพชรโคอินัวร์มีน้ำหนักเกือบเท่ากับไข่ไก่ขนาดเล็กเลยทีเดียว แต่นี่คือน้ำหนักก่อนที่จะมีการเจียระไน เพราะในวัฒนธรรมของแถบชมพูทวีปนั้น เพชรและอัญมณีจะไม่ได้รับการเจียระไน คนส่วนมากจะชอบเก็บของมีค่าเหล่านี้ในรูปแบบที่ได้มาจากธรรมชาติมากกว่า
6
ตัวอย่างของเพชรที่ยังไม่ได้รับการเจียระไน จะมีลักษณะขาวขุ่น ไม่เปล่งประกาย (Source: Pinterest)
ในศตวรรษที่ 14 Alauddin ได้ยกทัพขยายดินแดนไปทางตอนใต้ ซึ่งปกครองโดยราชวงศ์คาคาคิยา และสามารถไปยึดดินแดนและทรัพย์สมบัติบางส่วนมาได้ ซึ่งหนึ่งในสมบัติเหล่านั้นก็คือเพชรโคอินัวร์นั่นเอง จากนั้นในปี 1526 เมื่อจักรพรรดิบาบูร์สามารถยึดเอาดินแดนของสุลต่านแห่งเดลีมาได้ พระองค์ก็ได้รับมอบเพชรเม็ดงามเม็ดนี้เป็นเครื่องบรรณาการ จากนั้นอาณาจักรของพระองค์ก็แผ่ขยายอย่างรวดเร็ว กินพื้นที่ของอินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และบังคลาเทศในปัจจุบัน
7
จากนั้นเพชรเม็ดนี้ก็ตกทอดสู่โอรสของจักรพรรดิบาบูร์นามว่า จักรพรรดิหุมายุน แต่พระองค์โดนพี่ชายตนเองก่อกบฏ และต้องหนีไปอยู่ที่อาณาจักรเปอร์เซียพระองค์หนีไปพร้อมกับนำเพชรโคอินัวร์ติดตัวไปด้วย และมอบเพชรเม็ดนี้ให้กับจักรพรรดิของเปอร์เซียเพื่อแสดงความขอบคุณ
3
จักรพรรดิบาบูร์ ผู้ก่อตั้งราชวงศ์โมกุล (Source: Wikipedia)
แต่ดูเหมือนว่าเพชรเม็ดนี้ไม่อยากจากประเทศบ้านเกิดเมืองนอนไป เพราะหลังจากผ่านไปเกือบ 100 ปี ที่เพชรเม็ดนี้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ เพชรเม็ดนี้ได้รับการเขียนถึงอีกครั้งในรัชสมัยของจักรพรรดิชาห์ จาฮาน จักรพรรดิองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์โมกุล
2
จักรพรรดิชาห์ จาฮาน จักรพรรดิองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์โมกุล (https://www.tajmahal.gov.in)
ในตอนนั้นราชวงศ์โมกุลเป็นหนึ่งในราชวงศ์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก จักรพรรดิชาห์ จาฮาน เป็นเจ้าชีวิตของพสกนิกรกว่า 100 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 27% ของประชากรโลกในขณะนั้น (ตอนนั้นทั้งอังกฤษมีประชากรเพียง 4 ล้านคน) และสิ่งที่พระองค์หลงใหลคือเหล่าบรรดาอัญมณีที่อยู่ในการครอบครองของราชวงศ์ เพชรที่งดงามที่สุดในโลกสามเม็ดเป็นของราชวงศ์โมกุล รวมถึงทับทิม อำพัน ไข่มุก มรกต และบุศราคัมต่าง ๆ อีกจำนวนนับไม่ถ้วน
2
และในเมื่อมีอัญมณีมากมายขนาดนี้ องค์พระจักรพรรดิจึงคิดที่จะรวบรวมทุกอย่างไว้ในที่เดียว พระองค์จึงสั่งให้มีการสร้างบัลลังก์นกยูง (Peacock Throne) อันโด่งดังขึ้น โดยตัวบัลลังก์จะเป็นลักษณะเหมือนตั่ง มีที่นั่ง และเสา 12 ต้นที่ประดับไปด้วยอัญมณีล้ำค่ามากมาย รวมไปถึงรูปนกยูง 2 ตัวด้านบน และเพชรโคอินัวร์ ก็ถูกนำไปประดับไว้ที่บริเวณส่วนหัวของนกยูงตัวหนึ่ง
3
บัลลงก์นกยูงอันลือเลื่อง ที่เต็มไปด้วยอัญมณี เพชรโคอินัวร์ถูกประดับไว้ที่หัวของนกยูงตัวหนึ่งที่อยู่ด้านบน (Source: https://www.dailyartmagazine.com)
แต่แล้วในที่สุดอาถรรพ์ของเพชรเม็ดนี้ก็เริ่มปรากฏ เพราะมเหสีของจักรพรรดิชาห์ จาฮาน ที่มีชื่อว่าพระนางมุมทัช มาฮาล ได้เสียชีวิตลงตอนที่ให้กำเนิดบุตรคนที่ 14 หลังจากที่ต้องทนเจ็บท้องนานกว่า 30 ชั่วโมง ทำให้องค์พระจักรพรรดิจมจ่อมอยู่กับความโศกเศร้า ไม่สนใจปกครองบ้านเมือง และตัดสินใจใช้เงินท้องพระคลังมากมายไปกับการสร้างอนุสรณ์สถานแห่งความรัก ทัชมาฮาลขึ้น เพื่อเป็นที่ฝังศพของพระนาง
1
จักรพรรดิชาห์จาฮาน และมเหสีของพระองค์ พระนางมุมทัช มาฮาล (Source: https://www.dkfindout.com)
จากนั้นพระองค์ก็เริ่มเจ็บป่วย พระองค์ไม่สามารถออกว่าราชการได้ ไขข้อต่าง ๆ ของพระองค์บวมเต่งจนทำให้พระองค์แทบเดินไม่ได้ ไม่ต่างกับผู้ป่วยติดเตียง นอกจากนี้ธิดาองค์หนึ่งของพระองค์ยังถูกไฟคลอกจนเกือบเสียชีวิต และต้องเสียโฉมไปตลอดกาล
1
โอรสของพระองค์นามว่า ออรังเซป จึงคว้าโอกาสนี้ในการก่อการรัฐประหาร จับบิดาของตนเองขังไว้ในป้อมอัครา ฆ่าเหล่าบรรดาพี่น้อง แล้วสถาปนาตนเองขึ้นมาเป็นจักรพรรดิองค์ต่อไป อดีตจักรพรรดิชาห์ จาฮาน ต้องใช้เวลาที่เหลือในชีวิตถูกคุมขังอยู่ในห้องที่พระองค์สามารถมองเห็นทัชมาฮาลได้ทุกวันจวบจนวันที่พระองค์สิ้นใจ เป็นเวลานานถึง 9 ปี
4
อดีตองค์จักรพรรดิชาห์ จาฮาน ถูกกุมขังในหอคอยของป้อมอัคราโดยโอรสของพระองค์เองในห้องที่มองเห็นทัชมาฮาลได้ จนถึงวันที่พระองค์เสียชีวิต (Source: Pinterest)
ราชวงศ์โมกุลปกครองดินแดนแถบชมพูทวีปต่อมาเป็นเวลาอีกเกือบสองร้อยปี แต่แล้วก็เหมือนกับราชวงศ์ทั่วไป เกิดการชิงดีชิงเด่น อิจฉาริษยากันขึ้นในราชสำนัก มีการติดสินบน ก่อกบฏ ฆาตกรรม ในขณะที่จักรพรรดิก็เอาแต่หลงใหลไปกับอัญมณีและสตรีเพศ ทำให้ราชวงศ์โมกุลเริ่มเสื่อมอำนาจลงเรื่อย ๆ
5
มาถึงยุคของจักรพรรดิชาห์ มูฮัมหมัด จักรพรรดิองค์ที่ 13 กองทหารโมกุลที่เคยแข็งแกร่งกลายเป็นกองกำลังที่ไร้ระเบียบ และไร้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย และถ้ามองดูบัลลังก์นกยูงดีดีจะพบว่า มีอัญมณีบางเม็ดถูกแกะออกไปขายหรือโดนขโมยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอีกไม่นานเหตุการณ์นั้นก็จะเกิดขึ้นกับเพชรโคอินัวร์เช่นกัน
3
จักรพรรดิชาห์ มูฮัมหมัด จักรพรรดิองค์ที่ 13 (Source: Wikipedia)
ย้ายอาณาจักรครั้งที่ 1
ในขณะที่ราชวงศ์โมกุลกำลังอยู่ในภาวะเสื่อมถอย ไม่ไกลจากอินเดีย จักรพรรดินาเดอร์ ชาห์ แห่งอาณาจักรเปอร์เซีย ก็กำลังขยายอาณาเขตของพระองค์อยู่ พระองค์เป็นทหารที่มีความสามารถ และขึ้นชื่อเรื่องความโหดร้ายและความฉลาดเฉลียวจนพระองค์ได้ฉายาว่านโปเลียนแห่งตะวันออก และที่สำคัญมากไปกว่านั้นพระองค์เคยได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับความร่ำรวย หรูหรา ของราชสำนักโมกุล ถ้าพระองค์ได้ครอบครองอาณาจักรโมกุล สิ่งเหล่านั้นก็จะกลายมาเป็นของพระองค์ และอาณาจักรเปอร์เซียก็จะกลายเป็นอาณาจักรที่ร่ำรวยที่สุดในโลกไปอย่างไม่ต้องสงสัย
จักรพรรดินาเดอร์ ชาห์ แห่งอาณาจักรเปอร์เซีย (Source: Wikipedia)
ในปี 1739 ด้วยวัย 41 ปี พระองค์จึงตัดสินใจนำกองทัพ 160,000 คนบุกมายังดินแดนชมพูทวีป และสามารถตีฝ่ากองกำลังที่แสนอ่อนแอของอาณาจักรโมกุลได้อย่างรวดเร็ว จนกระทั่งพระองค์เดินทางเข้ามาใกล้เดลีขึ้นทุกที
กองกำลังรักษาองค์จักรพรรดิและปกป้องเดลี ประกาศรวบรวมสรรพกำลังทันที ชายทุกคนตั้งแต่เจ้าชาย จนถึงชาวนาธรรมดา ต่างก็คว้าอาวุธทุกอย่างที่ตนเองพอหาได้ แล้วร่วมกันเดินทางออกจากกรุงเดลีเพื่อไปเผชิญหน้ากับศัตรู ซึ่งจากบันทึกของชาวต่างชาติในสมัยนั้น กองกำลังนี้มีกำลังพลมากถึง 500,000 คน มีความกว้างกว่า 3 กิโลเมตร และยาวกว่า 20 กิโลเมตร ไม่มีทางเลยที่กองทัพของเปอร์เซียจะสามารถเอาชนะกองทัพของโมกุลได้
2
กองทัพของโมกุล ออกเดินทางไปเผชิญหน้ากับกองทัพของจักรพรรดินาเดอร์ ชาห์ (Source: Wikimedia)
แต่ถ้าลองมองลงไปในรายละเอียดจะพบว่า กองทหารด้านหน้าแม้จะดูมีระเบียบ แต่กองกำลังด้านหลังนั้นเต็มไปด้วยความไร้ระเบียบ ชาวบ้านธรรมดามีเพียงขวาน หรือจอบ ไว้เป็นอาวุธในการต่อสู้เท่านั้น
3
และในที่สุดก็ถึงเวลาเผชิญหน้ากัน แม่ทัพของกองทัพโมกุลที่มั่นใจในชัยชนะของตนเอง สั่งการให้กองกำลังบุกเข้าโจมตีทันที แต่สิ่งที่พวกเขาไม่รู้คือกองทัพของเปอร์เซีย มีอาวุธที่ทันสมัยมากมายทั้งปืนใหญ่พิสัยไกล ปืนลูกซอง และทหารม้าที่มีความสามารถ ในขณะที่อาวุธของกองทัพโมกุลนั่นล้าหลัง และไร้ประสิทธิภาพ ทหารก็ไม่มีระเบียบและไม่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นเวลานาน
3
การต่อสู้ระหว่างกองทัพของจักรพรรดินาเดอร์ ชาห์ แห่งเปอร์เซียที่มีอาวุธที่ทันสมัย และกองทัพของอาณาจักรโมกุล ที่ไร้ระเบียบ (Source: Wikipedia)
เวลาผ่านไปเพียง 3 ชั่วโมง กองทัพของอาณาจักรโมกุลแตกพ่ายไม่เป็นท่า หมวกเหล็กประดับอัญมณีของเหล่าบรรดาเจ้าชาย ผ้าไหมอย่างดีที่ใช้ประดับช้างและอาวุธ ไม่ได้ช่วยต้านทานความเก่งกาจของทหารเปอร์เซียได้เลย ส่วนเหล่าบรรดาชาวนาก็แตกกระเจิงไป สิ่งที่เหลืออยู่มีเพียงควันดำ และเถ้าถ่านแห่งความพ่ายแพ้ และความขายหน้าของกองทัพที่เคยเกรียงไกรที่สุดในโลก
1
พระเจ้านาเดอร์ ชาห์ ยกทัพมาบุกเดลี และสามารถตีกองทัพของอาณาจักรโมกุลแตกพ่ายไปได้อย่างรวดเร็ว (Source: Wikipedia)
จากนั้นอีกสามสัปดาห์ กองทัพของจักรพรรดินาเดอร์ ชาห์ ก็ยาตราเข้าสู่เดลี จักรพรรดิชาห์ มูฮัมหมัดต้องออกมาต้อนรับอย่างเสียไม่ได้ เพราะการขัดขืนอาจจะหมายถึงการที่ศีรษะของพระองค์จะต้องหลุดออกจากคอนั่นเอง การเจรจาระหว่างทั้งคู่สรุปความได้ว่า ชาห์ มูฮัมหมัดจะยอมให้อาณาจักรโมกุลเป็นประเทศราชของอาณาจักรเปอร์เซีย และจะต้องยอมยกสมบัติทั้งหมดของราชวงศ์โมกุลให้กับพระองค์เพื่อเป็นการตอบแทน
2
ทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่ราชวงศ์โมกุลสะสมมากว่า 200 ปี ตกเป็นของเปอร์เซียทันที รวมไปถึงบัลลังก์นกยูง ที่มีเพชรโคอินัวร์ประดับอยู่ด้วย ว่ากันว่าตอนที่จักรพรรดินาเดอร์ ชาห์ ได้มีโอกาสสัมผัสกับเพชรเม็ดนี้ พระองค์เอ่ยออกมาว่า “โคอินัวร์ !” ซึ่งเป็นภาษาเปอร์เซียแปลว่า “ขุนเขาแห่งแสงสว่าง” และนี่เองคือที่มาของชื่อของเพชรเม็ดนี้จวบจนถึงปัจจุบัน
3
การเผชิญหน้ากันระหว่างวจักรพรรดิชาห์ มูฮัมหมัด (ซ้าย) และจักรพรรดินาเดอร์ ชาห์ (ขวา)
นักวิชาการปัจจุบันคาดการณ์กันว่ามูลค่าของสมบัติทั้งหมดที่จักรพรรดินาเดอร์ ชาห์นำกลับไปยังเปอร์เซียนั้น เทียบเท่ากับ 9 หมื่นล้านดอลล่าร์ หรือกว่า 3 แสนล้านบาทไทยเลยทีเดียว ถ้ายังไม่เห็นภาพในปี 2020 GDP ของประเทศกัมพูชาอยู่ที่ 7.8 หมื่นล้านดอลล่าร์ นั่นหมายความว่าทรัพย์สมบัติของราชวงศ์โมกุลที่ถูกนำกลับไปเปอร์เซียนั้น มีค่ามากกว่าผลผลิตมวลรวมในปัจจุบันของประเทศบางประเทศเสียอีก
7
การขนส่งในครั้งนี้ต้องใช้ช้าง 700 ตัว อูฐ 4000 ตัว และม้ากว่า 12,000 ตัว มูลค่าของสิ่งของเหล่านี้ว่ากันว่าสามารถนำไปจ่ายเป็นค่าจ้างรายวันให้กับประชากรทั่วโลกได้นานถึง 2 ปี และจักรพรรดินาเดอร์ ชาห์ เฉลิมฉลองชัยชนะครั้งนี้ด้วยการงดเก็บภาษีพสกนิกรของพระองค์เป็นเวลานานถึง 3 ปีเลยทีเดียว
จักรพรรดินาเดอร์ ชาห์แห่งเปอร์เซ๊ย บนบัลลังก์นกยูง (Source: https://www.dailyartmagazine.com)
ส่วนอาณาจักรโมกุลนั้นตอนแรก จักรพรรดินาเดอร์ ชาห์มีนโยบายห้ามกองทัพของพระองค์เข้าปล้นสดมภ์ หรือฆ่าพสกนิกรชาวเดลีเด็ดขาด เพราะพระองค์ต้องการแสดงให้เห็นว่าพระองค์มาดี แต่สิ่งนี้กลับกลายมาเป็นผลเสีย เพราะหลังจากที่ชาวเดลีเห็นทรัพย์สมบัติมากมายค่อย ๆ ถูกขนออกไปจากพระราชวัง พวกเขารู้สึกไม่พอใจ จนเกิดเป็นการประท้วงที่ขยายเป็นวงกว้าง จนทหารเปอร์เซียเริ่มถูกทำร้าย
ในตอนแรกจักรพรรดินาเดอร์ ชาห์ไม่เชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้น จนกระทั่งพระองค์ขี่ม้าออกไปดูเองเพื่อให้เห็นกับตา และเกือบโดนชาวเดลีคนนึงยิงปืนใส่ โดยกระสุนคลาดพระองค์ไปนิดเดียว และพร้อมกับกระสุนลูกนั้น สติพระองค์ก็ขาดผึง พระองค์สั่งให้มีการสังหารชาวเดลีในเขตที่มีการประท้วงทุกคนไม่ว่าจะเป็นชาย หญิง หรือเด็ก และจาก 9 โมงเช้า จนถึง 4 โมงเย็นในวันนั้น มีชาวเดลีโดนฆ่าอย่างโหดเหี้ยมมากกว่า 30,000 คน
4
จักรพรรดินาเดอร์ ชาห์ กับเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวเดลี (Source: Wikipedia)
ส่วนเพชรโคอินัวร์นั้น แทนที่จะถูกนำไปรวมกับสมบัติชิ้นอื่น จักรพรรดินาเดอร์ ชาห์เลือกเพชรเม็ดนี้ กับทับทัมทิเมอร์ ทับทิมเม็ดใหญ่อีกเม็ด มาประดับไว้บนปลอกแขนของพระองค์ พระองค์มอบสมบัติอื่น ๆ ให้เป็นของอาณาจักรเปอร์เซีย แต่เพชรโคอินัวร์จะต้องกลายมาเป็นของส่วนพระองค์ ที่จะถูกส่งต่อเป็นมรดกไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน
1
ในเดือนกรกฎาคม 1738 เพชรโคอินัวร์ก็ออกเดินทางบนแขนของจักรพรรดินาเดอร์ ชาห์ จากอินเดียบ้านเกิด ไปยังดินแดนเปอร์เซีย พร้อมกับชัยชนะอันสวยงาม ทิ้งไว้ซึ่งความล่มสลาย และขายหน้าของราชวงศ์โมกุลที่ตอนนี้แทบจะไม่เหลืออะไรเลยนอกจากตัวเปล่า ๆ และชาวเดลีกว่า 30,000 ชีวิตที่ต้องตายจากไป ดูเหมือนอาถรรพ์ของเพชรโคอินัวร์เริ่มที่จะแสดงอิทธิฤทธิ์แล้ว
2
จักรพรรดินาเดอร์ ชาห์วาดโดยชาวยุโรป พระองค์เป็นหนึ่งในจักรพรรดิไม่กี่คนที่ชาวยุโรปให้ความเคารพในเรื่องของความสามารถและความเก่งกาจ (Source: Wikepedia)
โคอินัวร์ในดินแดนเปอร์เซีย และการย้ายอาณาจักรครั้งที่ 2
เมื่อเดินทางกลับมาถึงเปอร์เซีย มเหสีคนหนึ่งของพระองค์ถึงกับเปรยว่า “ถ้าเอาชายฉกรรจ์คนหนึ่ง มาโยนหินห้าก้อน ก้อนหนึ่งโยนไปทางทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และก้อนสุดท้ายโยนขึ้นไปเหนือศีรษะของเขา แล้วเอาทองมาถมพื้นที่ว่างตรงนั้นให้เต็ม มูลค่าของทองที่นำมาถมนั้น ยังไม่เท่ากับมูลค่าของเพชรโคอินัวร์ได้เลย”
1
จักรพรรดินาเดอร์ ชาห์ปกครองเปอร์เซียต่อไปเรื่อย ๆ แต่ในที่สุดร่างกายของพระองค์ก็เริ่มอ่อนแอลงอย่างไม่มีสาเหตุ พระองค์เริ่มมีปัญหาไขข้อ และเริ่มมีอาการหวาดระแวงว่าจะมีใครมาสังหารพระองค์จากข่าวลือต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องจริง
7
จักรพรรดินาเดอร์ ชาห์แห่งเปอร์เซีย (Source: Wikipedia)
วันหนึ่งในขณะที่พระองค์ขึ่ม้าออกไปล่าสัตว์ พระองค์เหลือบไปเห็นคนคนหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในพุ่มไม้กำลังเล็งปืนมาที่พระองค์ และก่อนที่พระองค์จะทันได้ตะโกนขอความช่วยเหลือ เสียงปัง! ก็ดังขึ้น พร้อมกับกระสุนที่เฉียดผ่านตัวพระองค์ไปแบบเส้นยาแดงผ่าแปด และคนร้ายก็หนีไปอย่างรวดเร็ว
แต่ในไม่ช้าก็สามารถจับตัวคนร้ายได้ และแน่นอนพระองค์ย่อมต้องอยากรู้ว่าใครเป็นคนสั่งการให้เขาทำการอุกอาจเยี่ยงนี้ ซึ่งคำตอบที่พระองค์ได้ยินนั้น ทำให้พระองค์ช็อคเป็นอย่างมาก เพราะคนร้ายบอกว่า คนที่สั่งการให้ทำการลอบสังหารองค์จักรพรรดินั้นไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือ โอรสองค์โตของพระองค์ มกุฎราชกุมารเรซ่า นั่นเอง
6
จักรพรรดินาเดอร์ ชาห์ และโอรสของพระองค์ (Source: Wikipedia)
มกุฎราชกุมารเรซ่า คือคนที่พระองค์สั่งให้ดูแลอาณาจักรเปอร์เซียตอนที่พระองค์ยกทัพไปแย่งชิงดินแดนต่าง ๆ พระองค์แทบจะไม่เชื่อหูตนเอง โอรสที่พระองค์รัก และฟูมฟักมากับมือ โดยหวังว่าจะให้เป็นจักรพรรดิองค์ต่อไป ทำไมถึงทำเยี่ยงนี้กับพระองค์ หรือโอรสของพระองค์จะหลงใหลกับอำนาจการปกครองซะแล้ว
1
พระองค์จึงเรียกให้โอรสสุดที่รักมาพบ ซึ่งมกุฎราชกุมารเรซ่ายืนยันว่า พระองค์ไม่ได้ทำ แต่ว่ากันว่าจักรพรรดินาเดอร์ ชาห์ยังคงไม่เชื่อ และพยายามถามย้ำไปย้ำมา จากการถามกัน กลายเป็นการตะโกนโต้เถียง และกลายเป็นการทะเลาะกันครั้งใหญ่จนกระทั่งพระองค์รับสั่งว่า ถ้ายังไม่ยอมรับ จะให้ทหารควักลูกตาทั้งสองข้างออก ซึ่งจากบันทึก โอรสของพระองค์ตอบว่า “ได้เลย ควักเสร็จแล้วก็เอาไปยัด “ตรงนั้น” เมียพ่อด้วยนะ”
2
มกุฎราชกุมารเรซ่า โอรสของจักรพรรดินาเดอร์ ชาห์ (Source: Wikipedia)
สติของพระองค์ขาดผึงทันที พระองค์สั่งทหารลากตัวโอรสตนเองไปควักลูกตาซะ และเมื่อทหารกลับมาพร้อมกับลูกตา 2 ลูกบนจาน พระองค์ถึงกับตะลึง และร้องไห้ออกมาอย่างหนัก พระองค์เพิ่งจะรู้ตัวว่าสิ่งที่พระองค์ทำลงไปนั้นเลวร้ายขนาดไหน พระองค์ใช้เวลาถึง 2 วันในการทำใจที่จะไปพบโอรสของตนเอง ซึ่งโอรสของพระองค์พูดกับพระองค์ว่า “ท่านก็รู้ใช่มั้ย ว่าการที่ท่านพ่อทำให้ลูกเสียตาไป ท่านพ่อก็ต้องตาบอดเช่นกัน และอาณาจักรของพ่อก็จะต้องถูกทำลายลง”
นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันเชื่อว่ามกุฎราชกุมารเรซ่า ไม่ได้เป็นคนสั่งการลอบสังหารองค์พระจักรพรรดิ แต่ทั้งหมดเป็นฝีมือของข้าราชสำนักบางกลุ่มนั่นเอง
กริชของจักรพรรดินาเดอร์ ชาห์ และอัญมณีบางส่วนของพระองค์ ที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์อัญมณีในกรุงเตหะราน (Source: Wikipedia)
การกระทำนี้ ทำให้จักรพรรดินาเดอร์ ชาห์ ยิ่งหวาดระแวง และมีอาการทางจิต จากคนที่เฉลียวฉลาด เด็ดขาด และแข็งแรง พระองค์กลายเป็นคนขึ้หงุดหงิด อารมณ์ร้าย และจมจ่อมอยู่กับความเศร้า พระองค์กลายเป็นปีศาจร้าย ที่สั่งฆ่าคนทั้งหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุผล สั่งเก็บภาษีสูง ผู้คนต้องอยู่ในความหวาดกลัว จนในที่สุดเหล่าบรรดาที่ปรึกษาของพระองค์ก็ประชุมลับกัน และตัดสินใจสังหารพระองค์
ในเดือนมิถุนายน 1747 เพียง 9 ปี หลังจากที่พระองค์นำเพชรโคอินัวร์มายังดินแดนเปอร์เซีย ทหาร 15 คน บุกเข้าไปยังห้องนอนของพระองค์ พร้อมทั้งสังหารพระองค์อย่างโหดเหี้ยม ส่วนเพชรโคอินัวร์นั้น ก็หายไปในคืนนั้นที่มีการลอบสังหารเพราะทุกคนต่างทราบดีว่าองค์พระจักรพรรดิจะเก็บเพชรเม็ดนี้ไว้ใกล้ตัวเสมอ แม้จะมีการพยายามตามหาเท่าไรก็ไม่มีใครพบ แต่ในปัจจุบันคาดการณ์กันว่าที่ปรึกษาชาวอัฟกันคนใดคนหนึ่งของพระองค์คือผู้ที่แอบขโมยเพชรเม็ดนี้ไป
4
อนุสาวรีย์ของจักรพรรดินาเดอร์ ชาห์ ทีเมืองมัชฮัด ประเทศอิหร่าน (Source: Flickr)
เมื่อพระองค์เสียชีวิต อาณาจักรเปอร์เซียที่เคยยิ่งใหญ่อยู่ในภาวะระส่ำทันที เกิดการแย่งชิงอำนาจกันขึ้น จนต้องเสียดินแดนในปกครองไปมากมาย ส่วนสมบัติที่แย่งชิงมาได้จากอาณาจักรโมกุล ถูกปล้น และถูกขายกระจายไปหลายแห่ง แต่ที่แน่ ๆ ก็คือตอนนี้ เพชรโคอินัวร์ได้แสดงอาถรรพ์อีกครั้ง อีกหนึ่งอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรต้องล่มสลาย จักรพรรดิที่ครองอาณาจักรต้องตรอมใจตาย ทิ้งไว้เพียงโอรสที่ดวงตามืดบอด และตอนนี้เพชรเม็ดนี้ก็กำลังเดินทางสู่ดินแดนแห่งขุนเขา ดินแดนอัฟกานิสถานนั่นเอง
3
หลังการเสียชีวิตของจักรพรรดินาเดอร์ ชาห์ อาณาจักรเปอร์เซียต้องเสียดินแดนมากมาย หนึ่งในนั้นคือการเสียดินแดนและอัญมณีบางส่วนให้กับอาณาจักรออตโตมัน (Source: Wikipedia)
โคอินัวร์ในดินแดนอัฟกานิสถาน
หลังจากนั้น เพชรโคอินัวร์ก็หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ แต่ครั้งนี้การหายไปต่างไปจากครั้งก่อน ๆ เพราะเรื่องราวของเพชรเม็ดนี้ ได้ถูกเล่าขานกันไปต่าง ๆ นานา บรรดาผู้นำและแม่ทัพของหลากหลายอาณาจักรล้วนได้ยินกิตติศัพท์ของเพชรเม็ดนี้ ว่ามีมูลค่ามากจนหาอะไรมาเปรียบไม่ได้ ทำให้เพชรโคอินัวร์กลายเป็นหนึ่งในอัญมณีที่ทุกคนต่างก็อยากจะได้มาครอบครอง
4
ผลปรากฏว่าเพชรโคอินัวร์ไปตกอยู่ในการครอบครองของอาร์เมด ชาห์ ดูรร์รานี กษัตริย์ผู้คนพบอาณาจักรอัฟกานิสถานในปี 1751 เป็นอีกครั้งที่เพชรเม็ดนี้ถูกเปลี่ยนมือจากราชวงศ์เปอร์เซีย ไปสู่ราชวงศ์อัฟกัน จนถึงปี 1809 ในตอนนั้นอาณาจักรอัฟกานิสถานปกครองโดยหลานชายของอาร์เมด ที่มีนามว่าชาห์ ชูร์จา ดูรร์รานี และกำลังได้รับความเดือดร้อนจากการรุกรานของฝรั่งเศสและรัสเซีย พระองค์จึงขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ ให้ช่วยส่งทหารมาสนับสนุนพระองค์
1
ภาพของพระเจ้าอาร์เมด ชาห์ ดูรร์รานี ในพิธีบรมราชาภิเษก ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์แรกของอาณาจักรอัฟกานิสถาน
แต่สุดท้ายแล้วพระเจ้าชาห์ ชูร์จา ดูรร์รานี ก็ถูกขับจากบัลลังก์ พระองค์หนีมายังเขตปุญจาบ แต่พระองค์ก็ไม่ลืมที่จะนำเพชรโคอินัวร์ติดตัวมาด้วย และโดนจับไปกุมขังไว้ที่แคว้นแคชเมียร์
1
ในเวลาต่อมหาราชารัญจิต ซิงห์ ผู้ก่อตั้งอาณาจักรซิกข์ ที่กินดินแดนตรงพื้นที่บริเวณประเทศปากีสถานและอินเดียตอนเหนือในปัจจุบัน ได้บุกเข้าไปยึดดินแดนแคชเมียร์มาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร ส่วนพระเจ้าชาห์ ชูร์จา ดูรร์รานีก็กลายมาเป็นนักโทษของพระองค์ และโดนย้ายมากุมขังที่เมืองหลวงลาฮอร์แทน
พระเจ้าชาห์ ชูร์จา ดูรร์รานี ตอนปกครองอาณาจักรอัฟกานิสถาน (Source: https://www.aspistrategist.org.au)
มหาราชารัญจิต ซิงห์ และการย้ายอาณาจักรครั้งที่ 3
1
มหาราชารัญจิต ซิงห์ มีฉายาว่า “Lion of Punjab” พระองค์เป็นคนตัวเตี้ย ตาบอดข้างเดียว แต่เปี่ยมไปด้วยความสามารถและความเฉียบขาด ทำให้พระองค์สามารถขยายอาณาจักรซิกข์ของพระองค์ไปได้อย่างกว้างไกล และสิ่งที่พระองค์ชอบที่สุดก็คือความงาม ทั้งความงามของสตรีเพศ ทำให้พระองค์มีภรรยาและนางสนมกว่า 100 คน ความงามของสัตว์ ทำให้คอกสัตว์เลี้ยงหลวงของพระองค์มีแต่สัตว์สายพันธุ์ดี ราคาแพง และความงามของอัญมณี และหนึ่งในอัญมณีที่พระองค์อยากได้มาครอบครองที่สุดก็คือ เพชรโคอินัวร์ นั่นเอง
3
มหาราชารัญจิต ซิงห์ มีฉายาว่า “Lion of Punjab” (Source: https://www.indiatoday.in)
มหาราชารัญจิต ซิงห์ พยายามสืบเสาะหาเพชรเม็ดงามเม็ดนี้ จนในที่สุดพระองค์ก็ทราบว่าพระเจ้าชูร์จา ชาห์ ดูรร์รานี คือผู้ที่ครอบครองเพชรเม็ดนี้อยู่ ทำให้พระองค์ตัดสินใจพาตัวพระเจ้าชาห์ ชูร์จา มายังลาฮอร์ และหลังจากการทรมาน จับขัง พระเจ้าชาห์ ชูร์จา ก็ยังไม่ยอมปริปากว่าเพชรเม็ดนี้อยู่ที่ไหน
2
จนสุดท้ายพระเจ้าชาห์ ชูร์จา ยอมทำเจรจาข้อตกลง ว่ากันว่าเหตุผลที่พระองค์ยอม เป็นเพราะว่าโอรสของพระองค์ถูกบังคับให้ปีนบันไดสูง แล้วกระโดดลงมาฆ่าตัวตาย
2
รายละเอียดของข้อตกลงคือมหาราชารัญจิตจะต้องช่วยเหลือพระองค์ในการเอาดินแดนอัฟกันกลับคืนมา แล้วพระองค์จะมอบเพชรโคอินัวร์ให้เป็นการตอบแทน ซึ่งการเจรจาก็เป็นไปได้ด้วยดี และในวันที่ 1 มิถุนายน 1813 ทั้งสองแลกเปลี่ยน Turban หรือผ้าโพกหัวกัน ถือเป็นสัญลักษณ์ของการทำสัญญาข้อตกลง และเพชรโคอินัวร์ก็ถูกเปลี่ยนมืออีกครั้งจากกษัตริย์ของอาณาจักรอัฟกานิสถาน มาสู่มือของมหาราชารัญจิต แห่งอาณาจักรซิกข์
1
ภาพวาดของอัญมณีต่าง ๆ ของมหาราชารัญจิต ซิงห์ (Source: Flickr)
พระเจ้าชาห์ ชูร์จา ดูรร์รานี เดินทางกลับไปยังดินแดนอัฟกานิสถาน และสามารถทวงเอาบัลลงก์ของพระองค์กลับมาได้ด้วยความช่วยเหลือของอังกฤษและทหารของมหาราชารัญจิต แต่พระองค์ก็ปกครองอาณาจักรด้วยความโหดร้าย ทารุณ พระองค์มักจะสั่งตัดอวัยวะของเหล่าบรรดาคนที่ทำให้พระองค์ไม่พอใจ จนสุดท้าย เหล่าบรรดาข้าราชสำนักก็ทนไม่ไหว และพระองค์ก็โดนลอบปลงพระชนม์ในที่สุด อีกหนึ่งผู้นำเจ้าของเพชรโคอินัวร์ ที่ต้องจบชีวิตลงด้วยความอนาถ
2
อาณาจักรอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของพระเจ้าชาห์ ชูร์จา ดูรร์รานี
โคอินัวร์ในดินแดนซิกข์
มหาราชารัญจิต สั่งให้ช่างอัญมณีหลวง ตรวจสอบเพชรเม็ดนี้ว่าเป็นของจริงหรือของปลอม ซึ่งเขาต้องใช้เวลานานถึง 2 วัน ก่อนจะกลับมาบอกว่าองค์มหาราชาว่า “เพชรเม็ดนี้เป็นของจริง ส่วนมูลค่านั้นมากมายจนมิอาจจะประมูลค่าได้” นำความปลื้มปิติมาให้พระองค์เป็นอย่างมาก เพราะสำหรับพระองค์ เพชรเม็ดนี้คือสัญลักษณ์ของอำนาจและความสำเร็จนั่นเอง
1
และเหมือนพระองค์จะไม่รู้เรื่องของอาถรรพ์แห่งโคอินัวร์ พระองค์สั่งให้ช่างตัดเสื้อนำเพชรโคอินัวร์ไปประดับไว้ตรงกลางผ้าโพกหัวที่พระองค์สวมใส่ จากนั้นก็ขึ้นขี่ช้าง และสวมใส่ผ้าโพกนั้นพาเหรดไปรอบเมือง เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์ได้มีโอกาสยลโฉมเพชรในตำนานเม็ดนี้ นอกจากนี้เวลาพระองค์ไปร่วมงานเฉลิมฉลองสำคัญ พระองค์จะนำเพชรเม็ดนี้มาประดับที่ข้อรัดแขน และนำเพชรเม็ดนี้ติดตัวไปด้วยทุกครั้งเวลาเดินทางไปเยี่ยมราษฎร แต่สิ่งที่พระองค์ทำพลาดมากที่สุดคือพระองค์ชอบอวดเพชรเม็ดนี้ให้กับเจ้าหน้าที่ของบริษัท อีสท์ อินเดีย คอมปานีได้เห็นนั่นเอง
3
มหาราชารัญจิต ซิงห์ สวมผ้าโพกที่ประดับด้วยเพชรโคอินัวร์ เดินพาเหรดไปทั่วเมือง (Source: Pinterest)
จากความหลงใหล เปลี่ยนเป็นความลุ่มหลง พระองค์กลัวมากว่าจะมีใครมาขโมยเพชรโคอินัวร์ไปจากพระองค์ ดังนั้นเพชรเม็ดนี้จะถูกเก็บไว้ในห้องเก็บสมบัติของป้อมแห่งหนึ่งที่ได้รับการป้องกันอย่างแน่นหนา เมื่อใดก็ตามที่มีการเคลื่อนย้าย ทางกองทัพจะต้องเตรียมอูฐทั้งหมด 40 ตัว โดยเพชรโคอินัวร์จะถูกบรรทุกอยู่บนอูฐ 1 ใน 40 ตัวนี้ และจะมีเพียงตัวของมหาราชารัญจิต และหัวหน้าผู้ดูแลสมบัติเท่านั้นที่จะทราบว่า อูฐตัวไหนคือตัวที่บรรทุกเพชรโคอินัวร์อยู่
3
แต่เวลาผ่านไป ร่างกายของสิงโตแห่งปุญจาบเริ่มอ่อนแอลง พระองค์พยายามทำทุกทางให้ตนเองกะปรี้กะเปร่ามากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการแต่งงานกับสาวสวยวัย 21 ปี ลูกสาวของผู้ดูแลสุนัขล่าสัตว์ขององค์มหาราชาที่มีนามว่า จินดัน คัวร์
7
จินดัน คัวร์ สาวสวยวัย 21 ปี มเหสีองค์สุดท้ายของมหาราชารัญจิต ซิงห์ (Source: medium.com)
พระนางกลายมาเป็นราชินีคนที่ 17 แห่งราชวงศ์ซิกข์ และจากพื้นเพที่ต่ำต้อยของพระนาง แถมยังเป็นมเหสีท้ายแถว ทำให้จริง ๆ แล้วเธอแทบไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรเลยในราชวงศ์ แต่เธอก็มีลูกกับมหาราชาหนึ่งคนนามว่า ดูลีป ซิงห์ ซึ่งอยู่ในอันดับท้ายสุดของสิทธิ์ในการขึ้นครองราชย์ เธอถูกบรรดามเหสีก่อนหน้าดูถูกดูแคลนมากมาย แต่เธอก็สงบปากสงบคำเอาไว้ เธอฉลาดพอที่จะรู้ว่าไม่ควรทำตัวให้โดดเด่นในราชสำนักที่เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา แล้วใครจะไปรู้ว่าสิ่งที่เธอทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
7
รัญจิต ซิงห์ ถือว่าเป็นมหาราชาที่มีความสามารถ พระองค์สามารถป้องกันไม่ให้อังกฤษ ที่กำลังขยายอาณานิคมในแถบชมพูทวีปเข้ามาทำลายอาณาจักรของพระองค์ได้ แต่สุดท้ายในปี 1839 พระองค์มีอาหารหัวใจวายเฉียบพลันเป็นครั้งที่ 3 ทำให้พระองค์กลายเป็นอัมพาต และไม่สามารถพูดได้
7
มหาราชารัญจิต ซิงห์ ในช่วงบั้นปลายของชีวิต พร้อมเพชรโคอินัวร์บนผ้าโพกของพระองค์ (Source: Pinterest)
พระองค์พยายามแบ่งสมบัติต่าง ๆ ให้กับบรรดาลูก ๆ และการกุศล พร้อมทั้งกำหนดให้โอรสองค์โตสุด คารัค ซิงห์ ขึ้นเป็นมหาราชาองค์ต่อไป แต่เกิดประเด็นเกี่ยวกับเพชรโคอินัวร์ขึ้น หัวหน้าพราหมณ์ประจำสำนักพระราชวังยืนยันว่าเพชรโคอินัวร์ควรจะตกเป็นของวัดชคันนาถ วัดสำคัญทางศาสนาฮินดู ในขณะที่หัวหน้าผู้ดูแลสมบัติยืนกรานว่าเพชรเม็ดนี้เป็นสมบัติของประเทศ และควรตกเป็นของคารัค ซิงห์ มีบันทึกไว้ว่าตอนที่พระองค์ใกล้สิ้นใจ พระองค์ทำมือเห็นด้วยกับการที่จะมอบเพชรเม็ดนี้ให้กับทางวัดเพื่อเป็นสาธารณกุศล แต่สุดท้ายก็ไม่มีการส่งมอบเพชรเม็ดนี้ มหาราชาคารัค ซิงห์เมื่อขึ้นครองราชย์ ก็ได้ออกกฎหมายอย่างชัดเจนว่าห้ามนำเพชรเม็ดนี้ออกจากเมืองลาฮอร์โดยเด็ดขาด
5
มหาราชาคารัค ซิงห์ จักรพรรดิองค์ที่ 2 ของอาณาจักรซิกข์ (Source: https://www.jatland.com/home/File:Maharaja_Kharak_Singh.jpg)
อาณาจักรวิบัติ
ก่อนหน้าที่จะกล่าวถึงการเปลี่ยนมือครั้งถัดไป ต้องขอกล่าวก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากที่มหาราชาคารัค ซิงห์ขึ้นครองราชย์ต่อจากบิดาของพระองค์
และแล้วอาถรรพ์ของเพชรเม็ดนี้ก็สำแดงอิทธิฤทธิ์อีกครั้ง มหาราชาคารัค ซิงห์ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นคนที่ติดฝิ่นอยู่แล้ว เริ่มจะแสดงอากาารแปลก ๆ พระองค์มีอาการเมามายตลอดเวลา พูดจาไม่รู้เรื่อง เคลื่อนไหวร่างกายแทบไม่ได้ จนในเดือนตุลาคม ปี 1839 เพียง 4 เดือนหลังจากขึ้นครองราชย์ มหาราชาคารัค ซิงห์ก็เสียชีวิตลง ซึ่งนักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันสรุปว่าพระองค์โดนลอบวางยาพิษประเภทสารปรอท โดยฝีมือของนายกรัฐมนตรีเดียน ซิงห์และพรรคพวก
2
นายกรัฐมนตรีเดียน ซิงห์ (สามจากซ้าย) กับบรรดาพี่น้องของพระองค์ ซึ่งต่างก็มีตำแหน่งใหญ่โตในราชสำนัก (Source: blogspot.com)
บุคคลที่ขึ้นครองราชย์ต่อคือโอรสของมหาราชาคารัค ซิงห์ หลานชายของอดีตมหาราชารัญจิต ซิงห์ แต่ในขณะที่เดินทางกลับจากงานศพของบิดาตนเอง พระองค์โดนก้อนอิฐกหล่นใส่ศีรษะอย่างจังในขณะที่ขี่ม้าลอดใต้สะพาน ทำให้พระองค์เสียชีวิตทันที และมีการสถาปนามหาราชาเชอร์ ซิงห์ โอรสอีกคนของมหาราชารัญจิต ซิงห์ ขึ้นมาเป็นมหาราชาคนใหม่แทน ซึ่งก็ครองราชย์ได้เพียง 1 ปี ก่อนที่พระองค์จะทำปืนลั่นใส่หน้าอกตนเอง และเสียชีวิตคาที่ บางบันทึกบอกว่าพระองค์โดนลอบสังหาร และศพของพระองค์ถูกหั่นเป็นท่อน ๆ อย่างโหดเหี้ยม แต่จะอย่างไรก็แล้วแต่ ในช่วงเวลาเพียง 4 ปี เพชรโคอินัวร์ได้พรากชีวิตมหาราชาไปถึง 4 พระองค์ด้วยกัน
8
มหาราชาเชอร์ ซิงห์ ที่เสียชีวิตจากการทำปืนลั่นใส่ตนเอง (Source: Wikipedia)
ในขณะที่บ้านเมืองกำลังระส่ำระสายจากการต่อสู่แย่งชิงอำนาจ โอรสและลูกหลานของรัญจิต ซิงห์ค่อย ๆ เสียชีวิตไปทีละคน ๆ อยู่นั้น ยังมีโอรสอีกพระองค์หนึ่งที่ยังอยู่รอดปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง พระองค์คือ หนุ่มน้อยดูลีป ซิงห์ โอรสของมหาราชารัญจิต กับจินดัน คัวร์ ผู้ต่ำต้อยนั่นเอง
2
ขอกล่าวก่อนกว่า จินดัน คัวร์ นอกจากหน้าตาที่สะสวยแล้ว เธอยังฉลาดอีกด้วย หลังจากที่มหาราชารัญจิตเสียชีวิต เธอรู้ทันทีว่าจะต้องเกิดเรื่องวุ่นวายขึ้นแน่นอน เธอจึงพาลูกหนีออกจากลาฮอร์ไปอยู่ที่แคว้นแคชเมียร์อันห่างไกล ซึ่งก็ทำให้เธอและลูกน้อยปลอดภัยจริง ๆ
3
ในที่สุดเดียน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีของอาณาจักรซิกข์ก็ถูกลอบสังหาร แต่ลูกชายของเดียน ซิงห์นามว่าฮีระ ซิงห์ ก็สามารถแก้แค้นแทนพ่อของเขาได้ และตั้งตัวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับสถาปนาโอรสองค์สุดท้ายของมหาราชารัญจิต ซิงห์ผู้ล่วงลับนามว่า ดูลีป ซิงห์ ขึ้นมาเป็นมหาราชา โดยมีผู้สำเร็จราชการคือมารดาของพระองค์ พระนางจินดัน คัวร์ และเพชรโคอินัวร์ก็ถูกนำมาประดับบนผ้าไหมและผูกไว้ที่แขนของมหาราชาองค์ใหม่ แต่จากการที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะช่วงชิงอำนาจมานาน ทำให้อาณาจักรซิกข์อ่อนแอลงไปเรื่อย ๆ
6
ดูลีป ซิงห์ ในวัย 5 ขวบ ถูกสถาปนาขึ้นมาเป็นมหาราชา (Source: https://www.nam.ac.uk)
พระนางพยายามอย่างเต็มที่ที่จะบริหารบ้านเมืองแทนโอรสของตนเอง เธอคือผู้หญิงที่กล้าพูดต่อหน้าเหล่าบรรดาชายฉกรรจ์ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในวัฒนธรรมอิสลามที่สตรีจะต้องอยู่หลังผ้าม่านเท่านั้น
1
มีเรื่องเล่าว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่ทางกองทัพรู้สึกไม่พอใจในตัวพระนาง ทางกองทัพของซิกข์ที่ยังมีความยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งอยู่ จัดการสังหารลุงของจักรพรรดิน้อยดูลีป ซิงห์ ต่อหน้าพระองค์และมารดา เพื่อเป็นเครื่องเตือนว่าพวกเขายังคือผู้ที่มีอำนาจสูงสุดอย่างแท้จริง
2
มหาราชาดูลีป ซิงห์ และพระนางจินดัน คัวร์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (Source: blogspot)
ในช่วงเวลานั้นเองที่บริษัท อีสท์ อิเดีย คอมปานี บริษัทล่าอาณานิคมของอังกฤษที่เข้ามาติดต่อกับอาณาจักรซิกข์ตั้งแต่สมัยของมหาราชารัญจิต เริ่มที่จะเห็นช่องว่างในการเข้ายึดดินแดนแถบนี้ ต้องขอกล่าวก่อนว่าบริษัทแห่งนี้ได้ส่งคนมาประจำอาณาจักรซิกข์ เพื่อทำการค้าขาย แต่อีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขาทำด้วยก็คือเป็นสายลับรายงายการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของราชวงศ์และกองทัพ พร้อมทั้งวิเคราะห์ว่าอาณาจักรแห่งนี้มีค่าพอที่จะยึดมาเป็นอาณานิคมหรือไม่
4
พระนางจินดัน คัวร์ พยายามที่จะใช้อำนาจของพระนางในการปกครองอาณาจักร (Source: http://www.wakingthedead.org/jind-kaur.htm)
ซึ่งจากการวิเคราะห์ของเหล่าบรรดาสายลับ ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าอาณาจักรซิกข์นั่นคุ้มค่าแก่การนำมาเป็นอาณานิคม และสิ่งที่อังกฤษจะต้องเป็นเจ้าของให้ได้คือเพชรโคอินัวร์ เพชรเม็ดโตขนาดไข่ไก่มูลค่ามหาศาลแทบประเมินไม่ได้ ที่ตอนนี้ประดับอยู่บนแขนของมหาราชาที่อายุเพียง 5 ขวบเท่านั้น ไม่มีตอนไหนที่จะเหมาะกับการบุกยึดอาณาจักรซิกข์ไปมากกว่านี้อีกแล้ว
2
ที่ผูกแขนของมหาราชาดูลีป ซิงห์ พร้อมเพชรโคอินัวร์จำลอง ซึ่งในปัจจจุบันถูกจัดแสดงไว้ที่ Tower of London (Source: https://www.rct.uk)
ในเดือนธันวาคม 1845 เกิดสงครามแองโกล-ซิกข์ครั้งที่ 1 ขึ้น ซึ่งกองทัพของอาณาจักรซิกข์โดนถล่มอย่างราบคาบ หลายคนต่างตกใจว่ากองทัพที่ยิ่งใหญ่และแข็งแกร่ง เหตุใดจึงพ่ายแพ้ได้ง่ายดายเช่นนี้ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ปัจจุบันได้ค้นพบหลักฐานว่าแม่ทัพของอาณาจักรซิกข์โดนซื้อตัวโดยบริษัท อิสท์ อินเดีย คอมปานีนั่นเอง องค์จักรพรรดิดูลีป และพระนางจินดัน คัวร์ถูกกองทัพของตนเองทรยศเข้าซะแล้ว
1
มีการเซ็นสนธิสัญญาขึ้น ทำให้องค์จักรพรรดิต้องมอบดินแดน 2 ใน 3 ของอาณาจักรให้กับอังกฤษ พร้อมทั้งกองทัพของซิกข์ก็ถูกลดขนาดลง เพื่อให้เพียงพอกับการทำพิธีต่าง ๆ เท่านั้น
2
สงครามแองโกล-ซิกข์ครั้งที่ 1 ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของอาณาจักรซิกข์ (Source: https://scroll.in)
แต่บุคคลที่ไม่ยอมแพ้ และพยายามต่อสู้ เพื่อเรียกร้องความไม่เป็นธรรมของสนธิสัญญาในครั้งนี้คือ พระนางจินดัน คัวร์ มารดาของจักรพรรดิดูลีปนั่นเอง พระนางเป็นเหมือนหอกข้างแคร่ของอังกฤษ พระนางทำทุกอย่างเพื่อที่พระโอรสจะได้ครอบครองดินแดนของบรรพบุรุษอย่างชอบธรรม จนสุดท้ายอังกฤษก็ทนไม่ไหว พวกเขาตัดสินใจปล่อยข่าวลือว่าพระนางจินดัน คัวร์ชอบทุบตีองค์จักรพรรดิ และเธอเป็นคนติดเซกส์ เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับองค์พระจักรพรรดิในอนาคต
2
พระนางถูกพรากจากโอรสของพระองค์โดยแทบจะไม่ได้ร่ำลา และถูกจับไปขังคุกในดินแดนห่างไกลข้อหาวางแผนก่อกบฏ แม้พระองค์จะพยายามขอร้องแต่ก็ไม่ได้รับความปราณีแต่ประการใด ในที่สุดอุปสรรคสุดท้ายในการกลืนกินอาณาจักรซิกข์ ก็ถูกกำจัดเป็นที่เรียบร้อย อย่างน้อยอังกฤษก็คิดเช่นนั้น
5
พระนางจินดัน คัวร์ และมหาราชาดูลีป ซิงห์ (Source: https://indianexpress.com)
การย้ายอาณาจักรครั้งที่ 4
1
ในเดือนมีนาคม 1849 หลังจากสงครามแองโกล-ซิกข์ครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง อาณาจักรซิกข์หรือที่รู้จักกันในนามอาณาจักรปุญจาบ ก็ถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษโดยสมบูรณ์ และภายใต้สนธิสัญญาลาฮอร์ ทรัพย์สมบัติทั้งหมดของมหาราชาจะต้องตกเป็นของบริษัท อีสท์ อินเดีย คอมปานี และมอบให้กับสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย รวมถึงเพชรโคอินัวร์ด้วย ถึงเวลาอีกครั้งที่เพชรเม็ดนี้จะต้องเปลี่ยนราชวงศ์ผู้เป็นเจ้าของ และเป็นอีกครั้งที่ราชวงศ์ที่เคยเป็นเจ้าของเพชรเม็ดนี้ต้องล่มสลายจากไป
1
สงครามแองโกล-ซิกข์ครั้งที่ 2 จบลงด้วยการทีมหาราชาดูลีป ซิงห์ ต้องยอมเซ็นสนธิสัญญามอบดินแดนอาณาจักรซิกข์ให้กับบริษัทอีสท์ อินเดีย คอมปานี (Source: https://news.yahoo.com)
ในตอนนั้นผู้ที่เป็นเจ้าของเพชรคือมหาราชาดูลีป ซิงห์ในวัย 11 ปี ซึ่งถูกบังคับให้ไปอยู่ภายใต้ความดูแลของศัลยแพทย์ชาวอังกฤษนามว่า ดร.จอห์น โลกิน เพื่อเตรียมให้มหาราชา “มีความเป็นชาวอังกฤษ” มากที่สุด แต่ว่ากันว่าครอบครัวของโลกิน ดูแลองค์อดีตจักรพรรดิเป็นอย่างดี จนกระทั่งดูลีป ซึ่งตอนนี้ถูกลดยศเป็นเจ้าชาย ถึงกับเอ่ยปากขอเปลี่ยนศาสนาจากศาสนาซิกข์ เพื่อมานับถือศาสนาคริสต์เลยทีเดียว
ในเดือนธันวาคม 1849 เพชรโคอินัวร์ถูกถอดออกจากแขนของเจ้าชายดูลีป และส่งมอบให้กับเซอร์เฮนรี่ ลอว์เรนซ์ และจอห์น ลอว์เรนซ์ ผู้สำเร็จราชการประจำปุญจาบ มีเรื่องเล่ากันจอห์น เคยลืมเพชรโคอินัวร์ไว้ในกระเป๋าเสื้อของเขาตอนส่งไปซักด้วย แต่โชคดีที่มีคนพบและเอามาคืน มิเช่นนั้นเขาอาจจะต้องติดคุกเป็นเวลานานไปแล้วก็ได้
5
มหาราชาดูลีป ซิงห์ มหาราชาคนสุดท้ายของอาณาจักรซิกข์ (Source: Wikipedia)
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1850 เพชรโคอินัวร์ถูกใส่ไว้ในกล่องนิรภัยขนาดเล็กอย่างดี จากนั้นนำไปใส่ไว้ในกล่องพัสดุสีแดงเข้มอีกทีหนึ่ง มีการบรรจุหีบห่ออย่างแน่นหนาพร้อมซีลปิดด้วยขึ้ผึ้งอีกทีหนึ่ง เพื่อรอการขนส่ง
วันที่ 6 เมษายน 1850 เพชรโคอินัวร์ถูกนำขึ้นไปใส่บนตู้เซฟเหล็กขนาดใหญ่ พร้อมกับสมบัติชิ้นอื่น ๆ บนเรือกลไฟที่เดินทางออกจากท่าเรือในเมืองบอมเบย์ (มุมไบ ในปัจจุบัน) เพื่อเดินทางไปยังอังกฤษ โดยมีคณะรักษาความปลอดภัยเดินทางไปด้วย โดยการเดินทางจะกินเวลานานประมาณ 2 เดือน
HMS Medea  เรือที่บรรทุกเพชรโคอินัวร์จากอินเดีย ไปยังอังกฤษ (Source: Pinterest)
แต่เหมือนเพชรเม็ดนี้จะไม่อยากจากบ้านเกิดเมืองนอนไป เริ่มจากการมีโรคอหิวาระบาดบนเรืออย่างหนัก ลูกเรือและผู้โดยสารหลายคนล้มตาย จนกระทั่งต้องทำการจอดที่เกาะมอริเชียส แต่เมื่อเรือทอดสมอและประชาชนบนเกาะทราบว่ามีโรคระบาดบนเรือ ประชาชนต่างก็มารวมตัวกัน เพื่อขับไล่เรือลำนี้ให้รีบถอนสมอออกไป ถึงขนาดที่มีคำขู่ว่าทางทหารยิงทำลายเรือลำนี้ถ้ายังไม่รีบถอนสมอออกไปอีกด้วย และเมื่อแล่นออกจากเกาะได้ไม่นาน เรือก็ต้องเผชิญกับพายุครั้งใหญ่ในรอบ 10 ปี ที่กินเวลายาวนานกว่า 12 ชั่วโมง
4
ในที่สุดหลังจากการเดินทางอย่างยากลำบาก เรือก็เดินทางมาถึงอังกฤษ และเพชรโคอินัวร์ก็ถูกนำลงจากเรือที่เมืองสปิทเฮดในวันที่ 1 กรกฎาคม 1850 และในเช้าวันรุ่งขึ้นคณะตัวแทนจากบริษัท อีสท์ อินเดีย คอมปานี ก็นำเพชรเม็ดนี้ขนส่งมายังกรุงลอนดอนด้วยรถไฟ และในวันที่ 3 กรกฎาคม 1850 เพชรเม็ดนี้ก็ถูกส่งมอบให้กับสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย ซึ่งตรงกับการครบรอบ 250 ปีของบริษัท อีสท์ อินเดีย คอมปานี พอดี
3
ภาพวาดของเพชรโคอินัวร์ตอนที่เดินทางมาถึงอังกฤษ (Source: https://famousdiamonds.tripod.com)
อวดโฉม
มาถึงตอนนี้เพชรโคอินัวร์ ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงทวีปยุโรปแล้ว และถึงเวลาที่ชาวยุโรปจะได้มีโอกาสยลโฉมเพชรที่มีตำนานอันลือเลื่องเม็ดนี้กัน ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 1851 ที่งาน The Great Exhibition (เทียบเท่าได้กับงาน World Expo ในปัจจุบัน) ที่กรุงลอนดอน และเพชรโคอินัวร์ก็เป็นตัวแทนของความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิอังกฤษ และได้รับการจัดแสดงให้เด่นเป็นสง่าอยู่ตรงกลางสถานที่จัดแสดงเลยทีเดียว
งานแสดง The Great Exhibition ที่ถูกจัดขึ้นในปี 1851 ที่กรุงลอนดอน (Source: https://www.historyextra.com)
ต้องเข้าใจก่อนว่าจริง ๆ แล้วเพชรโคอินัวร์ มีชื่อเสียงในประเทศอังกฤษมานานแล้ว ผู้คนต่างเคยได้ยินถึงความงดงาม ขนาดที่ใหญ่เกินเพชรทั่วไป และที่สำคัญที่สุดความลี้ลับของเพชรเม็ดนี้ เพชรที่ทุกคนต่างก็อยากเป็นเจ้าของ และทำให้ราชวงศ์ถึง 4 ราชวงศ์ต้องล่มสลายมาแล้ว
ผู้คนมากมายต่างแห่แหนกันมาที่งาน เพื่อที่จะได้ยลโฉมเพชรในตำนานที่ได้รับการตีราคาสูงถึง 2 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 275 ล้านปอนด์ในเงินปัจจุบัน ในตอนแรกเพชรเม็ดนี้ถูกจัดแสดงในกรงนกสีทอง และวางบนกำมะหยี่สีแดง
3
แต่แล้วคนส่วนใหญ่กลับบอกว่ารู้สึกผิดหวังเมื่อได้มาเห็น เนื่องจากเพชรนั้นดูไม่เปล่งประกายเท่าไร จึงมีการนำผ้ากำมะหยี่ดำและตะเกียงไฟมาจุดเพื่อให้เพชรส่องประกายมากขึ้น แต่โดยรวมแล้วผู้ที่มาร่วมงานต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า “น่าผิดหวัง” ซึ่งต้องเข้าใจว่าในสมัยนั้น เพชรและอัญมณีส่วนมากในยุโรปจะได้รับการเจียระไนมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ค่อยมีคนเคยเห็นของมีค่าเหล่านี้ในรูปแบบดั้งเดิมเท่าไรนัก
4
เพชรโคึอินัวร์ ถูกจัดแสดงไว้ในกรงสีทอง ที่งาน The Great Exhibition (Source: Wikipedia)
เจียระไน
มาถึงตอนนี้เพชรโคอินัวร์ยังอยู่ในรูปแบบดั้งเดิม ตามที่มีการพบในธรรมชาติ ในตัวเพชรยังมลทินและรอยตำหนิอยู่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เพชรเม็ดนี้ไม่ส่องประกายตามที่ควร โดยมีลักษณะเป็นเพชรรูปโดมสูง ฐานตัด มีหน้าตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมและสี่เหลี่ยมทั้งหมด 169 แห่ง มีขนาดกว้าง 3.26 ซม. ยาว 4.1 ซม. และสูง 1.62 ซม.
4
เพชรโคอินัวร์ ก่อนได้รับการเจียระไน (Source: https://www.langantiques.com)
และจากความผิดหวังของบรรดามวลชน ประกอบกับความต้องการนำเพชรมาใช้เป็นเครื่องประดับ เจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย จึงสั่งให้นำเพชรเม็ดนี้ไปขัดและเจียระไน ซึ่งช่างอัญมณีหลวงบอกว่าเพชรเม็ดนี้ มีมลทินสีเหลืองอยู่ใจกลางตัวเพชร นั่นหมายความว่าถ้ามีการเจียระไน ขนาดของเพชรจะต้องลดลงเกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว ได้ยินแบบนี้พระองค์ก็ยังไม่ยอมแพ้ และหันไปขอความช่วยเหลือจากร้านเจียระไรเพชรอื่น ๆ ทั่วยุโรป จนได้ผู้ที่รับผิดชอบเป็นหนึ่งในช่างเพชรที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคนั้นชื่อว่า เลวี่ เบนจามิน วูซแซงก์เงอร์ จากประเทศเนเธอร์แลนด์
1
เครื่องเจียระไนพลังไอน้ำ ที่ใช้ในการเจียระไนเพชรโคอินัวร์ (Source: Wikipedia)
มีการสร้างเครื่องเจียระไนพลังไอน้ำขึ้นมาใหม่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ เลวี่ทำทุกอย่างด้วยความระมัดระวังและละเอียดรอบคอบอย่างสูงสุด เพราะนี่คือหนึ่งในเพชรที่มีค่ามากที่สุดในโลก และหลังจากทำงานอย่างหนักมา 38 วัน พร้อมค่าใช้จ่ายมากถึง 8000 ปอนด์หรือประมาณ 1 ล้านปอนด์ในปัจจุบัน การเจียระไนก็เสร็จสิ้นลง
น้ำหนักของเพชรที่ได้รับการเจียระไนแล้วนั้นลดลงจาก 191 กะรัต (39.2 กรัม) เหลือเพียง 105.6 กะรัต (21.12 กรัม) เกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว แต่เพชรเม็ดนี้กลับมีหน้าตัดมากถึง 66 จุด (เพชรที่เกรดดีจะมีหน้าตัดประมาณ 58 จุด) และบางหน้าตัดก็เป็นรูปดวงดาว ซึ่งหาได้ยากมาก แม้เจ้าชายอัลเบิร์ตจะไม่ค่อยพอใจกับน้ำหนักที่ลดลงไป แต่สุดท้ายแล้วเพชรเม็ดนี้ก็ได้รับการยกย่องจากนักเจียระไนในสมัยนั้นว่า เป็นหนึ่งในเพชรที่ที่เจียระไนได้สวยงามที่สุดเม็ดหนึ่งในโลก
2
เพชรโคอินัวร์ก่อน-หลังการเจียระไน (Source: Pinterest)
เพชรที่ได้รับการเจียระไนแล้ว ถูกนำไปทำเป็นเข็มกลัดของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย และกลายมาเป็นสมบัติส่วนตัวของพระองค์ แต่อย่างไรก็คตาม เหมือนว่าเพชรเม็ดนี้ก็ยังคงส่งแรงอาถรรพ์บางอย่างกับเจ้าของใหม่ เพราะมีจดหมายของพระองค์ที่เขียนถึงธิดาองค์โตความว่า “จริง ๆ แล้วลูกคงรู้ว่าแม่ไม่ชอบใจเท่าไหร่กับวิธีการที่เราไปเอาอินเดียมาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษ และแม่มั่นใจว่าเราจะไม่ขยายดินแดนไปมากกว่านี้อีก และลูกคงรู้ว่าแม่ไม่ชอบเพชรเม็ดนี้เอาซะเลย”
2
สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย พร้อมเข็มกลัดประดับเพชรโคอินัวร์ (Source: bbc)
เจ้าชายพลัดถิ่นกับการทวงบัลลังก์
ในขณะเดียวกัน ตอนที่เจ้าชายดูลีป ซิงห์ อายุได้ 14 ปี พระองค์ถูกส่งตัวมาเข้ารับการศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของราชสำนักของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย ซึ่งมีบันทึกไว้ว่าทั้งสองมีความสนิทสนมกันเป็นอย่างดี และเจ้าชายก็กลายมาเป็นสุภาพบุรุษอังกฤษเต็มตัว
2
เจ้าชายดูลีป ซิงห์ ตอนย้ายมาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ (Source: https://www.sikhmuseum.org.uk)
และเมื่อเพชรโคอินัวร์ ที่ได้รับการเจียระไนแล้วกลับมาถึงมือของสมเด็จพระราชินี พระองค์ตัดสินใจเรียกเจ้าชายเข้ามาพบ พร้อมกับหยิบเพชรโคอินัวร์ออกมาพร้อมกับถามเจ้าชายว่า “เจ้าชายจำสิ่งนี้ได้หรือไม่” ว่ากันว่าแวบแรกที่พระองค์เห็นเพชรที่ขนาดลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง หน้าพระองค์นิ่งมาก และเมื่อเพชรเม็ดนั้นถูกวางลงบนมือของพระองค์ พระองค์ก็เอาแต่จ้องเหมือนกับคนที่ตกอยู่ในภวังค์ ก่อนที่พระองค์จะตัดสินใจโค้งคำนับพร้อมกับมอบเพชรเม็ดนี้คืนองค์พระราชินี เหมือนเป็นสัญลักษณ์ว่าเพชรเม็ดนี้ถูกมอบให้กับจักรวรรดิอังกฤษโดยดี ปราศจากการบังคับขัดขืนใดใด
6
ในส่วนของเจ้าชายดูลีปนั้น พระองค์ลืมเรื่องราวในอาณาจักรซิกข์ไปจนหมดสิ้น ช่วงเวลาเหล่านั้นเป็นเหมือนความทรงจำสีจางในหัวของพระองค์ จนกระทั่งวันหนึ่งพระองค์ได้รับจดหมายที่ส่งมาจากประเทศเนปาล เมื่อพระองค์เปิดจดหมายฉบับนั้นออก พระองค์ก็แทบช็อค เมื่อพบว่าจดหมายฉบับนั้นเป็นจดหมายที่มารดาของพระองค์ จินดัน คัวร์ ส่งมาหาพระองค์ เธอยังมีชีวิตอยู่
เจ้าชายดูลีป ซิงห์ (Source: rct.uk)
จินดัน คัวร์ ที่ถูกขังอยู่ในคุกนั้น ทุกข์ทรมานสาหัส แต่วิญญาณนักสู้ของเธอไม่เคยหายไปไหน มีอยู่วันหนึ่งผู้คุมที่เดินผ่านห้องขังของเธอพบว่าเธอได้อันตรธานหายไปแล้ว พร้อมกับโน้ตที่ทิ้งเอาไว้เขียนว่า “ฉันใช้เวทมนตร์ในการหนีออกไป ฉันทำทุกอย่างคนเดียว และพวกแกไม่มีวันขังฉันไว้ได้หรอก” แล้วเธอก็เดินเท้าเป็นเวลานานหลายเดือน เพื่อเดินทางไปยังราชอาณาจักรเนปาล เพื่อขอลี้ภัย
1
บริษัทอีสท์ อิเดีย คอมปานีที่คุมขังเธออยู่ ถึงกับมีบันทึกไว้ว่า เธอคือคนไม่กี่คนที่ทำให้การปกครองของบริษัทต้องสั่นคลอน
หลังจากความพยายามอย่างหนัก เจ้าชายดูลีป ก็ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลอังกฤษให้เดินทางไปยังกัลกัตตา เพื่อพบเจอแม่ของตนเอง ตอนที่ทั้งสองพบหน้ากันนั้น พระนางจินดันผอมติดกระดูก ร่างกายอ่อนแอ และตาบอดทั้งสองข้าง ว่ากันว่าเมื่อเธอนำมือทั้งสองลูบผมลูกชายตนเอง เธอถึงกับดึงมือออกพร้อมตะโกนตัดพ้อลูกชายอย่างเกรี้ยวกราด เธอรับไม่ได้ที่ลูกชายตนเองยอมทอดทิ้งศาสนาซิกข์ ศาสนาของบรรพบุรุษ เพื่อไปเข้ารีตกับศาสนาของศัตรู ศัตรูผู้คุมขังและทำให้เธอต้องเสียตาทั้งสองข้างไป
3
ภาพวาดของเจ้าชายดูลีป ซิงห์ ที่สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย รับสั่งให้วาดขึ้น (Source: bbc.com)
สุดท้ายเธอเดินทางไปอังกฤษ พร้อมกับลูกชาย และเสียชีวิตลงหลังจากนั้น 2 ปี แต่ในระหว่าง 2 ปีนั้น เธอได้รื้อฟื้นเรื่องราวเก่า ๆ ให้เจ้าชายดูลีปฟัง พระนางบอกพระองค์ถึงบรรพบุรุษ อาณาจักรอันยิ่งใหญ่ และสิทธิ์อันชอบธรรมในดินแดนของอาณาจักรซิกข์ที่พระองค์ควรได้รับ ทำให้ในช่วงชีวิตที่เหลือของพระองค์ เจ้าชายดูลีป พยายามทำแคมเปญเรียกร้องให้อังกฤษคืนดินแดนของอาณาจักรซิกข์ และเพชรโคอินัวร์มาให้พระองค์ ซึ่งทำให้พระองค์ทะเลาะกับราชสำนักและรัฐบาลอังกฤษอย่างรุนแรง ยิ่งตอนหลัง ๆ พระองค์เหมือนกับคนเสียสติ จนสุดท้ายพระองค์ก็เสียชีวิตที่กรุงปารีส โดยมีชีวิตที่ยากลำบาก และนี่ก็คืออีกหนึ่งจุดจบอันน่าเศร้าของผู้ที่เคยเป็นเจ้าของเพชรโคอินัวร์
2
หลุมศพของอดีตมหาราชาดูลีป ซิงห์ และมเหสีในประเทศอังกฤษ (Source: twitter)
สู่มงกุฎ
หลังการเสียชีวิตของสมเด็จพระราชีนีนาถวิคตอเรีย เพชรโคอินัวร์ ถูกนำไปประดับอยู่บนมงกุฎของพระราชินีอเล็กซานดร้า ภรรยาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 และใช้ในพิธีสถาปนาพระองค์ในปี 1902 จากนั้น เพชรก็ถูกย้ายมาประดับบนมงกุฎของพระราชินีแมรี่ในปี 1911 จนมาถึงมงกุฎของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ พระราชชนนี มารดาของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ประมุขของสหราชอาณาจักรในปัจจุบันนั่นเอง
พระราชินีอเล็กซานดร้า กับมงกุฎประดับเพชรโคอินัวร์ (Source: https://gdparis.com)
มาถึงตอนนี้ลองสังเกตดีดีว่า เพชรเม็ดนี้ถูกนำมาประดับไว้บนสิ่งของที่สวมใส่โดยเหล่าบรรดาสตรีเท่านั้น เหตุผลตอนนั้นเป็นเพราะมีคนตั้งของสังเกตว่าบุรุษของราชวงศ์ทุกคนที่ได้เป็นเจ้าของเพชรเม็ดนี้ตั้งแต่ดินแดนอินเดีย เปอร์เซีย อัฟกานิสถาน และปุญจาบ ต่างก็ประสบแต่ความพินาศทั้งสิ้น ดังนั้นราชวงศ์ของอังกฤษจึงตัดสินใจที่จะให้เพชรเม็ดนี้ มีความเกี่ยวข้องกับสตรีเพศเท่านั้น และดูเหมือนว่าสิ่งนี้จะสามารถแก้อาถรรพ์ของเพชรเม็ดนี้ได้ เพราะตอนนี้ราชวงศ์วินด์เซอร์คือหนึ่งในราชวงศ์ที่ร่ำรวยและได้รับการยกย่องมากที่สุดในโลก
1
และลองมาคิดดูดีดี เพชรเม็ดนี้ไม่เคยถูกสวมใส่โดยผู้นำของราชวงศ์อีกเลยนอกจากสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย และเจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีที่พระองค์รักมาก ก็มาเสียชีวิตไปก่อนเวลาอันควร 11 ปีหลังจากเพชรเม็ดนี้เดินทางมาถึงประเทศอังกฤษ และสมเด็จพระราชินีเสียใจเป็นอย่างมาก และพระองค์สวมใส่เสื้อผ้าสีดำจนวันสุดท้ายของชีวิตเพื่อไว้ทุกข์ บางทีนี่อาจจะเป็นการแสดงอาถรรพ์ครั้งสุดท้ายของเพชรเม็ดนี้ก็เป็นได้
สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย ที่สวมใส่เสื้อผ้าสีดำหลังจากการเสียชีวิตของพระสวามีตลอดชีวิต (Source: Wikipedia)
ในปัจจุบัน ประชาชนทั่วไปสามารถจ่ายเงินเข้าไปชมมงกุฎและเครื่องประดับต่าง ๆ ของราชวงศ์ได้ที่ Tower of London และมงกุฎของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ พระราชชนนี ที่มีเพชรโคอินัวร์ประดับอยู่ ก็คือหนึ่งในสิ่งที่คนอยากมาชมมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีแบบจำลองของเพชรโคอินัวร์ก่อนที่จะได้รับการเจียระไนให้ชมด้วย ส่วนใครที่ไม่อยากไป Tower of London ก็สามารถดูแบบจำลองได้ที่ Natural History Museum of London ได้อีกทางหนึ่ง
1
เพชรโคอินัวร์ ถูกประดับไว้ที่มงกุฎของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ พระราชชนนี มารดาของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ปัจจุบันที่จัดแสดงที่ Tower of London (Source: https://www.britannica.com/topic/Koh-i-noor)
มีเรื่องเล่ากัน ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บรรดาเครื่องเพชรของราชวงศ์ทั้งหมด ถูกย้ายจาก Tower of London มายังพระราชวังวินด์เซอร์เพื่อความปลอดภัย และจากการให้สัมภาษณ์ของผู้บัญชาการกองทัพบกฝรั่งเศสในขณะนั้น พระเจ้าจอร์จที่ 6 กษัตริย์ของอังกฤษ ณ เวลานั้นซ่อนเพชรเม็ดนี้ไว้ใต้ทะเลสาบใกล้ ๆ กับพระราชวัง จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลง
มงกุฎของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ พระราชชนนี ถูกวางลงบนโลงศพของพระองค์ในวันพระราชิธีศพ (Source: bbc)
ทะเลาะแย่งชิง
เนื่องจากเพชรเม็ดนี้ ตกเป็นของเหล่าบรรดาราชา จักรพรรดิ และกษัตริย์ของหลายราชวงศ์มาก มิหนำซ้ำการได้มาซึ่งเพชรเม็ดนี้ก็เต็มไปด้วยการนองเลือด และปริศนา ทำให้ดินแดนต่าง ๆ ที่เพชรเม็ดนี้เคยเดินทางผ่านมา ต่างก็ออกมา “เคลม” ความเป็นเจ้าของ
เริ่มจากประเทศอินเดีย จุดกำเนิดของเพชรโคอินัวร์ ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้ทำการทวงคืนเพชรเม็ดนี้ทันทีหลังจากได้รับเอกราชในปี 1947 ซึ่งทางอังกฤษก็ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด จนกระทั่งมาถึงปี 2000 มีการออกจดหมายเปิดผนึกจากสมาชิกรัฐสภาบางคนของอินเดีย ไปยังรัฐบาลอังกฤษ โดยกล่าวหาว่าอังกฤษคือผู้ที่ขโมยเพชรโคอินัวร์ไปจากอินเดีย และให้ทางการอังกฤษดำเนินการส่งคืนโดยเร็ว
จักรพรรดิชาห์ จาฮาน แห่งราชวงศ์โมกุล ที่มีการเขียนบันทึกถึงเพชรโคอินัวร์ขึ้นเป็นครั้งแรก (Source: http://www.jewelry-history.com)
สุดท้ายแล้วในปี 2010 นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ได้ออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่า “ถ้าเราส่งคืนเพชรโคอินัวร์ นั่นหมายความว่า British Museum คงเป็นพิพิธภัณฑ์ร้างแน่ ๆ” และในปี 2013 เขาได้กล่าวเสริมว่า “ไม่มีทางที่อินเดียจะได้เพชรกลับคืนไปเด็ดขาด”
เพื่อเป็นการรักษาหน้า รัฐบาลอินเดียจึงประกาศว่า เพชรเม็ดนี้ถูกมอบเป็น “ของขวัญ” โดยมหาราชารัญจิต ซิงห์ ในฐานะที่อังกฤษช่วยเหลือพระองค์ทำสงคราม ดังนั้นเพชรเม็ดนี้ไม่ได้ถูกขโมย ซึ่งทำให้อังกฤษไม่ค่อยพอใจเท่าไรนัก เพราะเพชรเม็ดนี้จริง ๆ แล้วได้มาอย่างชอบธรรมตามสนธิสัญญาลาฮอร์ หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือเพชรเม็ดนี้เป็นตัวแทนของความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของจักรวรรดิอังกฤษในอดีตนั่นเอง
3
ต่อมาคือปากีสถาน ซึ่งบอกว่าถ้าหากสหราชอาณาจักรต้องการแสดงความจริงใจและขอโทษในความโหดร้ายที่พวกเขากระทำตอนที่กำลังล่าอาณานิคมอยู่ พวกเขาก็ควรที่จะคืนเพชรเม็ดนี้มาซะ ส่วนอัฟกานิสถาน ผู้ที่เรียกร้องให้มีการคืนเพชรเม็ดนี้มาคือกลุ่มตาลีบัน ซึ่งอ้างถึงบันทึกของพระเจ้าชูร์จา ชาห์ ดูรร์รานี ว่าเขาต้องยอมมอบเพชรเม็ดนี้ให้กับมหาราชารัญจิต ซิงห์ เนื่องจากโอรสของเขาโดนทรมานต่อหน้าอยู่ ซึ่งถือเป็นการบังคบขู่เข็ญอย่างหนึ่ง
2
มหาราชารัญจิต ซิงห์ หนึ่งในผู้ที่ต้องพบกับความพินาศจากการเป็นเจ้าของเพชรโคอินัวร์ (Source: bbc)
บทสรุป
ในปัจจุบัน เพชรเม็ดนี้อยู่ในการครอบครองของราชวงศ์อังกฤษนะครับ และในความเห็นส่วนตัวก็คงจะอยู่กับราชวงศ์นี้ตลอดไป และการเดินทางของเพชรเม็ดนี้น่าจะหยุดลงที่ Tower of London นั่นเอง
การเดินทางของเพชรโคอินัวร์ ในช่วงเวลาต่าง ๆ (Source: ixigo)
แต่สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเพชรเม็ดนี้คือเรื่องราวของเหล่าบรรดาราชวงศ์ต่าง ๆ ที่ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของ ล้วนต่างต้องล่มสลายไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะเมื่อเจ้าของเพชรเม็ดนี้เป็นเพศชาย อาถรรพ์ของมันทำลายล้างราชวงศ์ของอินเดีย เปอร์เซีย อัฟกานิถาน และอาณาจักรซิกข์ แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ราชวงศ์ที่เคยปกครองอาณาจักรเหล่านี้ล้วนเคยยิ่งใหญ่มาก่อน แต่สุดท้ายก็มาพังพินาศจากการทะเลาะกันภายใน และผู้นำที่อ่อนแอ เพราะฉะนั้นบางทีอาถรรพ์ของเพชรโคอินัวร์ อาจจะแค่ทำให้การล่มสลายเกิดเร็วขึ้นก็เป็นได้
1
แบบจำลองเพชรโคอินัวร์ในปัจจุบัน (Source: https://www.americanbazaaronline.com)
อีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าหากว่าเหล่าบรรดาจักรพรรดิ หรือมหาราชาจะไม่โอ้อวดความร่ำรวยและซ่อนเพชรเม็ดนี้ไว้ดีดี ไม่แน่ว่าปัจจุบันเราอาจจะเห็นเพชรโคอินัวร์ที่พิพิธภัณฑ์ในอินเดีย อิหร่าน หรือปากีสถานก็เป็นได้
สุดท้ายเพชรโคอินัวร์คือเพชรที่มีประวัติผ่านการต่อสู้นองเลือด การแย่งชิงบัลลังก์ การเข่นฆ่า ตลอดจนการหลอกลวงมากกว่าอัญมณีชนิดใดใดในโลก นักประวัติศาสตร์ต่างก็ออกมาบอกว่าเพชรเม็ดนี้ไม่ใช่เพชรที่ใหญ่ที่สุด เก่าแก่ที่สุด หรือสวยที่สุด แต่เป็นเพชรที่มีประวัติศาสตร์โชคโชนมากที่สุด และเป็นเครื่องที่เตือนใจมนุษย์ทุกคนว่า ความโลภจะไม่มีวันหายไปจากชีวิตมนุษย์อย่างแน่นอน ลองดูจากเคสนักการเมืองหลายเคสในไทยเป็นตัวอย่างก็ได้นะครับ
3
เพชรโคอินัวร์ในปัจจุบัน อัญมณีที่มีประวัติโชคเลือดมากที่สุดในโลก (Source: https://gdparis.com)
จบไปแล้วนะครับกับเรื่องราวของเพชรโคอินัวร์ เป็นอีกหนึ่งบทความที่เขียนนานมาก หวังว่าทุกคนจะชอบกัน แล้วครั้งหน้า Kang's Journal จะพาทุกคนไปติดตามเรื่องอะไรอีก ฝากติดตามกันด้วยนะครับ
4
Podcast:
- Stuff You Missed in History Class "The Curse of the Koh-i-Noor Diamond"
- History Extra Podcast "The Koh-i-Noor"
- Conflicted : A History Podcast "Curse of the Koh-I-Noor Diamond"

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา