7 ธ.ค. 2022 เวลา 13:12 • ประวัติศาสตร์
ภาพนี้มีเรื่องเล่า ตอน เหตุการณ์เหยียบกันตายที่พนมเปญ
ในเทศกาลวันฮัลโลวีนที่ผ่านมา เห็นจะไม่มีข่าวไหนที่ดังไปกว่าเหตุการณ์เหยียบกันตายที่อิแทวอน กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 150 คน ภาพเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่กำลังช่วยชีวิตผู้เคราะห์ร้าย ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก และไม่มีใครอยากเชื่อว่าเหตุการณ์แบบนี้ จะเกิดขึ้นในประเทศที่การจัดการต่าง ๆ น่าจะทันสมัย ปลอดภัย และรัดกุม
เหตุการณ์เหยียบกันตายที่อิแทวอน กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ (Source: https://vietnam.postsen.com)
เหตุการณ์เหยียบกันตาย หรือ Stampede ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยนัก และเราก็แทบจะไม่ได้ยินข่าวประเภทนี้มากเท่าไรในช่วงที่ผ่านมา แต่ในอดีตเคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นหลายครั้ง ไม่ว่าจะตามงานเทศกาลดนตรี การแข่งกีฬา แม้แต่การแสวงบุญในประเทศซาอุดิอารเบียก็เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้
เหตุการณ์เหยียบกันตายในช่วงพิธีฮัจจ์ ของซาอุดิอารเบีย (Source: https://www.tasnimnews.com)
และภาพที่ผมอยากจะเอามาเล่าในวันนี้ ก็เป็นหนึ่งในเหตุการณ์เหยียบกันตายที่หลายคนอาจจะลืมไปแล้ว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใกล้ ๆ กับบ้านเรา ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาเมื่อปี 2010 และถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์เหยียบกันตายที่เลวร้ายที่สุดในโลก เพราะมีผู้เสียชีวิตถึง 347 คน และบาดเจ็บกว่า 750 คน
อะไรคือชนวนเหตุที่ทำให้เกิดการเหยียบกันตายของฝูงชนในครั้งนี้ อะไรทำให้พวกเขาตื่นตกใจจนเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น และใครคือคนที่ต้องรับผิดชอบ วันนี้ Kang’s Journal ขอพาทุกคนไปรู้จักกับเหตุการณ์ในครั้งนี้กันครับ
ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในช่วงการเหยียบกันตาย ในกรุงพนมเปญ (Source: france24)
เทศกาลบอน อม ตุค
เหตุการณ์เหยียบกันตายที่กรุงพนมเปญ หรือ Phnom Penh Stampede เกิดขึ้นในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2010 ในช่วงของเทศกาลบอน อม ตุค หรือที่ภาษาอังกฤษจะเรียกว่า “Water Festival” ซึ่งเป็นเทศกาลที่ชาวกัมพูชาต่างตั้งหน้าตั้งตารอคอยมาทั้งปี
โปสเตอร์โปรโมทงานเทศกาลบอน อม ตุค (Source: https://www.behance.net)
ทุก ๆ ปีชาวกัมพูชา และนักท่องเที่ยวกว่า 2 ล้านคน จะเดินทางมายังกรุงพนมเปญ เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลนี้ โดยงานเทศกาลจะกินเวลานาน 3 วัน ซึ่งในปี 2010 ตรงกับวันที่ 20-22 พฤศจิกายน
ขอเกริ่นถึงเทศกาลนี้ซักเล็กน้อยนะครับ เทศกาลบอน อม ตุค มีประวัติย้อนไปถึงศตวรรษที่ 12 ในตอนนั้นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้คิดค้นเทศกาลนี้ขึ้นมาเพื่อขอบคุณพระแม่คงคา และเพื่อเป็นการขอพรให้อาณาจักรของพระองค์งอุดมสมบูรณ์ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรได้ดี และมีปลาชุม
เทศกาลบอน อม ตุค ปี 1914 (Source: https://stampaday.wordpress.com)
กิจกรรมที่สำคัญที่สุดในงานเทศกาลคือการแข่งเรือยาว ในอดีตการแข่งเรือยาวเป็นการแสดงแสนยานุภาพด้านกองกำลังทางน้ำของอาณาจักร และยังเป็นที่ที่ใช้ในการฝึกเหล่าบรรดาทหารให้รู้จักการพายเรือ และมีร่างกายแข็งแรงอีกด้วย
การแข่งเรือยาว ถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญในช่วงเทศกาล บอน อม ตุค (Source: https://www.boreiangkor.com)
วันที่ใช้จัดงานเทศกาลจะตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันสิ้นสุดฤดูฝน และน้ำในแม่น้ำโขง จะเริ่มไหลไปในทิศทางตรงกันข้าม ออกไปจากทะเลสาบโตนเล ถ้าเทียบกับบ้านเราแล้ว เทศกาลนี้ก็น่าจะเทียบเท่าได้กับเทศกาลลอยกระทงนั่นเอง
มีการเฉลิมฉลองเทศกาลนี้มาจนถึงปี 1970 ก่อนที่จะหยุดไปในช่วงที่เขมรแดงเข้าปกครองประเทศ ก่อนจะกลับมาจัดอีกครั้งในปี 1990 โดยมีศูนย์กลางการจัดงานอยู่ที่กรุงพนมเปญ ในช่วงเวลา 3 วันจะมีการปิดถนน จัดงานคอนเสิร์ต มีขบวนรถแห่ การร้องรำทำเพลง และที่สำคัญที่สุดคือการแข่งเรือยาว ที่มีผู้เข้าแข่งขันเดินทางมาจากทั่วประเทศ
2
การแข่งเรือยาว ถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญในช่วงเทศกาล บอน อม ตุค (Source: https://stampaday.wordpress.com)
คนทั่วสารทิศจากกัมพูชาต่างหลั่งไหลกันเข้ามาในกรุงพนมเปญ ในปีนั้นคาดว่าจะมีผู้คนในพนมเปญมากถึง 2-5 ล้านคนเลยทีเดียว และทางผู้จัดงานก็ยืนยันว่าปี 2010 จะเป็นปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจัดงานเทศกาลนี้มา โดยจะมีเวทีคอนเสิร์ตทั้งหมดถึง 9 เวที กระจายตัวอยู่ตลอดริมแม่น้ำ มีการปิดถนนหลายเส้น พร้อมร้านค้าต่าง ๆ ที่พร้อมจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มมากมายตลอดเส้นทาง
นอกจากนี้ยังมีการเตรียมการรักษาความปลอดภัยในช่วงเทศกาลอย่างแน่นหนา ทางรัฐบาลประกาศว่ามีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 9,000 นาย กระจายไปทั่วบริเวณ เพื่อดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
คนมากมายเดินทางมายังกรุงพนมเปญเพื่อเข้าร่วมงานเทศกาล (Source: bangkokpost)
สถานที่เกิดเหตุ
หนึ่งในสถานที่จัดงานที่สำคัญในครั้งนี้คือเกาะเพชร (Koh Pich) เป็นเกาะใกล้ ๆ กับพระราชวังหลวงตั้งอยู่ในแม่น้ำบาสัก ในสมัยก่อนเกาะแห่งนี้เป็นแหล่งชุมชนสลัมยากจน แต่ต่อมารัฐบาลได้ทำการเวนคืนที่ดินทั้งหมด และขายให้กับบริษัทเอกชนรายใหญ่ เพื่อจะพัฒนาให้เป็นพื้นที่การค้า และที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ของกรุงพนมเปญ
แผนที่ของเกาะเพชร (Source: https://structurae.net)
เกาะแห่งนี้จะเชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่ด้วยสะพาน 2 แห่งที่เพิ่งสร้างเสร็จไปหมาด ๆ เมื่อต้นปี 2010 โดยหนึ่งในสองสะพาน เป็นสะพานแขวนยาว 101 เมตร สามารถรับน้ำหนักได้มากที่สุดถึง 700 ตัน และสะพานแขวนแห่งนี้นี่แหละคือสถานที่เกิดเหตุ
ในช่วงของการเตรียมการ เพื่อที่จะรองรับคนจำนวนมหาศาล และเพื่อให้การเคลื่อนที่ของคนคล่องตัว มีการกำหนดให้สะพานทางด้านเหนือเป็นสะพานที่จะให้คนเดินออกจากเกาะกลับมายังแผ่นดินใหญ่ และสะพานทางด้านใต้ที่เป็นสะพานแขวน และห่างออกมาประมาณ 200 เมตร จะเป็นสะพานที่ให้คนจากแผ่นดินใหญ่ เดินทางข้ามไปยังเกาะเพชร โดยในบริเวณนี้จะมีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ทั้งหมดประมาณ 2,800 นาย
สะพานแขวน สถานที่เกิดเหตุ (Source: http://sovachanapou.blogspot.com)
เหตุการณ์ในวันนั้น
เย็นวันที่ 22 พฤศจิกายน 2010 วันสุดท้ายของงานเทศกาล ผู้คนมากมายต่างกำลังสนุกสนานกับกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะในบริเวณเกาะเพชรที่เป็นสถานที่จัดงานแข่งเรือยาว ชาวบ้านมากมายจากต่างจังหวัด ต่างก็เดินทางมายังเกาะแห่งนี้ เพื่อที่จะมาเชียร์ทีมตัวแทนจากหมู่บ้านของตนเอง รวมไปถึงสนุกสนานกับเวทีคอนเสิร์ตจากวงดนตรีชั้นนำของกัมพูชา
และเมื่อการแข่งขันเข้าใกล้รอบชิงชนะเลิศ ผู้คนที่ข้ามไปยังเกาะก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่สะพานทั้งสองก็ได้รับการออกแบบมาอย่างดี ทำให้ไม่มีความเสียหายใดใด
สภาพของสะพานในช่วงบ่ายต้น ๆ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ (Source: pinterest)
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การจราจรบนสะพานเริ่มแน่นหนา คนจากทั่วสารทิศเริ่มเบียดเสียดยัดเยียดกันขึ้นเรื่อย ๆ มาถึงตอนนี้เจ้าหน้าที่ที่พยายามจัดการมวลชนให้เดินเข้าออกเกาะไปในทิศทางเดียว เริ่มที่จะคุมฝูงชนไม่อยู่ จนสุดท้ายทุกอย่างก็ถูกปล่อยเลยตามเลย ตอนนี้สะพานทั้งสองแห่งต่างมีผู้คนเดินสัญจรไปมา ทั้งเข้าและออกจากเกาะ
จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่ดูแลความปลอดภัยในบริเวณนั้น ทุกคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนคนที่ต้องการข้ามสะพาน ไม่มีทางเลยที่พวกเขาจะสามารถควบคุมฝูงชนได้ น่าแปลกที่ไม่มีใครเอ่ยถึงจำนวนเจ้าหน้าที่ 2800 นายเลยแม้แต่น้อย
สภาพของสะพานในช่วงเย็น ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ เห็นได้ชัดเจนว่าคนบนสะพานเริ่มหนาแน่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (Source: posttoday)
จนมาถึงช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์รายงานว่าต้องใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมงในการข้ามสะพานแขวน มิหนำซ้ำตอนนี้คอนเสิร์ตที่จัดบนเวทีทั้ง 2 ฝั่งได้จบลงแล้ว ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนตัวของมวลชนไปกลับจากเกาะเพชรที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน
จนกระทั่งเวลา 21.30 น. เหตุการณ์ชุลมุนก็เริ่มต้นขึ้น ไม่มีใครทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ ๆ คือ ผู้คนเริ่มแตกตื่น และพยายามหนีออกจะสะพานให้เร็วที่สุด ผู้คนที่เบียดเสียดกันอยู่บนสะพานต่างผลักกันไปมาจนนำไปสู่ความโกลาหลและยุ่งเหยิง
หลังคอนเสิร์ตจบลง เกิดการเคลื่อนตัวของผู้คนมากมายอย่างกะทันหัน (Source: https://stampaday.wordpress.com)
ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หลายคนเล่าว่า สิ่งที่ทำให้พวกเขาตกใจคือ มีคนตะโกนว่า “สะพานกำลังจะถล่ม” ประโยคสั้น ๆ แต่ความหมายน่าสยองนี้ น่าจะเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความแตกตื่นในครั้งนี้ขึ้น
3
คนมากมายล้มลง และโดนคนเหยียบทับ และแน่นอนว่าบางคนไม่มีโอกาสได้ลุกขึ้นมาอีกเลย บางคนขาดอากาศจนเป็นลม และปราศจากคนช่วยปฐมพยาบาล บางคนตัดสินใจหนีตายด้วยการกระโดดลงไปในแม่น้ำเบื้องล่าง บางคนปีนป่ายขึ้นไปตามโครงสะพานเพื่อหนีเอาตัวรอด หรือเพื่อให้ตัวเองได้พออากาศหายใจ เสียงตะโกนตามหาคนรักของตนเอง เสียงกรีดร้อง เสียงคนร้องขอชีวิตดังระงมไปทั่วบริเวณ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่นาที
ในเวลาไม่นาน ผู้คนต่างเบียดเสียดกันเพื่อที่จะหนีออกจากสะพาน (Source: The New York times)
พ่อแม่พี่น้องพลัดพรากจากกัน หลายคนเห็นคนรักของตนเองล้มลงและโดนเหยียบต่อหน้าต่อตาโดยที่ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย คนที่ล้มลงต่างก็ตะโกนร้องขอชีวิตไม่ให้คนด้านบนเหยียบตนเอง บางคนเล่าว่าพวกเขาเห็นญาติพี่น้องของตัวเอง ขาดอากาศหายใจ หรือโดนเหยียบเสียชีวิตไปต่อหน้า
1
ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์บางคนเล่าว่า ตลอด 1 ชั่วโมงพวกเขาสามารถขยับได้เพียงแค่ศีรษะของตัวเองเท่านั้น และพวกเขาต้องยืนกันบนศพคนตายเป็นเวลานาน กว่าจะสามารถหลุดออกมาจากสะพานได้
ในขณะเดียวกัน เนื่องจากสะพานแขวนแห่งนี้ถูกประดับประดาด้วยไฟ ตอนที่ผู้คนเริ่มปีนป่ายสะพาน รวมถึงตอนที่กระโดดหนีตายลงไปในน้ำ เกิดการเกี่ยวสายไฟขึ้น ทำให้สายไฟขาดและลัดวงจร จนทำให้มีหลายคนโดนไฟดูด ยิ่งเพิ่มความวุ่นวายให้เป็นทวีคูณขึ้นไปอีก
2
ผู้คนต่างเบียดเสียดกันเพื่อที่จะหนีออกจากสะพาน (Source: The New York times)
บรรดาเจ้าหน้าที่ต่างก็พยายามช่วยเหลือผู้คนที่ติดอยู่บนสะพานอย่างสุดความสามารถ แต่เหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นเร็วมาก จนช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดนั้น มีคนที่ล้มลงซ้อนทับกันมากถึง 8 คน ทำให้คนที่อยู่ด้านล่างแทบไม่มีโอกาสที่จะมีชีวิตรอดเลย
1
เพื่อที่จะยื้อชีวิตของผู้เคราะห์ร้าย เจ้าหน้าที่ตัดสินใจใช้สายยางดับเพลิงฉีดน้ำเหนือสะพาน เพื่อช่วยลดอุณหภูมิร่างกาย ภาพข่าวจากหลายสำนักแสดงให้เห็นว่าผู้รอดชีวิตที่ยังติดอยู่บนสะพานต่างก็แลบลิ้นออก เพื่อพยายามดื่มน้ำประทังชีวิตตนเองอย่างน่าสงสาร แต่หารู้มั้ยว่าการฉีดน้ำเข้าไปบนสะพานนั้น ทำให้ไฟที่รั่วบางจุดเกิดการช๊อตขึ้น และทำให้ผู้คนได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นไปอีก
1
มีบางช่วงคนที่ล้มลงซ้อนทับกันมากถึง 8 คน ทำให้คนที่อยู่ด้านล่างแทบไม่มีโอกาสที่จะมีชีวิตรอดเลย (Source: The New York times)
โรงพยาบาลไม่พอ
ร่างของผู้เสียชีวิตค่อย ๆ ถูกดึงออกมาวางไว้ในบริเวณลานโล่ง ใครที่ยังพอมีสัญญาณของการมีชีวิตอยู่ ก็ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน แต่ในเวลาไม่นาน ปริมาณแพทย์และพยาบาลก็เริ่มที่จะไม่พอในการรองรับผู้บาดเจ็บ
เจ้าหน้าที่รีบนำร่างผู้ที่รอดชีวิตส่งโรงพยาบาล (Source: reuter)
จากบันทึกมีการนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลทั้งหมด 8 แห่ง แพทย์ทุกคนถูกเรียกตัวมาจากบ้าน หรืองานเทศกาล ทุกที่ห้องผ่าตัดเต็ม ใครที่ยังพอทนความเจ็บปวดได้ ต้องนั่งรอบริเวณโถงทางเดิน เพื่อให้คนที่สาหัสกว่าได้รับการรักษาก่อน บางโรงพยาบาลศพผู้เสียชีวิตจะถูกวางกองอยู่ตามพื้นโถงทางเดิน เพราะโรงพยาบาลมีเตียงไม่เพียงพอ
เจ้าหน้าที่รีบนำร่างผู้ที่รอดชีวิตส่งโรงพยาบาล (Source: vnexpress.net)
นอกจากนี้บรรดาผู้คนที่ติดต่อคนรักของตนเองไม่ได้ต่างก็แห่กันไปยังที่เกิดเหตุ หรือตามโรงพยาบาล ทำให้สถานการณ์ยิ่งวุ่นวาย และทุลักทุเล ซึ่งต้องใช้เวลาจัดการนานพอสมควรเลยทีเดียว หลายคนต้องเดินไปตามศพที่วางเรียงรายอยู่บนพื้น พร้อมกับสวดมนต์อ้อนวอนว่า ขออย่าให้เจอคนรักของตัวเองนอนอยู่บนพื้นตรงนั้นเลย มีคนบอกว่าคืนนั้น เสียงร้องไห้ โหยหวน และกรีดร้องดังระงมไปทั่วบริเวณ
1
เสียงร่ำไห้ของญาติของผู้เสียชีวิตดังระงมไปทั่วบริเวณ (Source: CNN)
เหตุการณ์หลังจากนั้น
ไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ ความจริงอันน่าสยดสยองก็ปรากฏขึ้น บนสะพานมีสภาพเหมือนผ่านสงครามมา เสื้อผ้า รองเท้า แว่นตา ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของผู้คนมากมาย ถูกทิ้งเกลื่อนอยู่บนสะพาน แต่ที่น่าสลดกว่านั้นคือ ร่างของผู้เสียชีวิตที่นอนอยู่บนสะพาน เพื่อรอคอยการเก็บกู้
สภาพของสะพานหลังคืนเกิดเหตุ (Source: https://es.globalvoices.org)
ส่วนในแม่น้ำ ทีมกู้ภัยก็พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะช่วยเหลือผู้รอดชีวิต ซึ่งก็ต้องใช้เวลานานพอสมควรทีเดียว และแน่นอนว่ามีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำด้วยเช่นกัน
เที่ยงคืนของวันนั้น นายกรัฐมนตรีฮุน เซ็น ออกมาประกาศทางโทรทัศน์ว่า “เหตุการณ์นี้คือเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์กัมพูชาในรอบ 31 ปี หลังการสิ้นสุดลงของเขมรแดง” และทางรัฐบาลพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้าย และครอบครัวทุกคน นอกจากนี้ยังมีคำสั่งให้มีการสืบสวนหาสาเหตุของเหตุการณ์ครั้งนี้ในทันที และประกาศให้วันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวันไว้ทุกข์ทั่วประเทศ
บรรดาญาติพี่น้อง ต่างก็เดินทางมายังสถานที่เกิดเหตุเพื่อค้นหาคนรักของตนเอง (Source: CNN)
ในตอนสายของวันที่ 23 พฤศจิกายน 1 วัน หลังเกิดเหตุ มีการเชิญพระสงฆ์จำนวน 500 รูปจากวัดทั่วกรุงพนมเปญ มาทำการสวดมนต์ให้กับผู้เสียชีวิต คนที่ไม่สามารถติดต่อกับคนรักของตนเองได้ ยังคงหลั่งไหลเดินทางมายังสถานที่เกิดเหตุ ส่วนบรรดาญาติ ๆ ของผู้เสียชีวิตที่ยังทำใจไม่ได้ก็เดินทางมายังสะพานแห่งนี้พร้อมคราบน้ำตา เพื่อบอกลาคนรักของตนเอง และทำพิธีต่าง ๆ เพื่อส่งดวงวิญญาณไปสู่สุขคติ หลายคนเป็นลมล้มลง เนื่องจากยังทำใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้
มีการเชิญพระสงฆ์จำนวน 500 รูปจากวัดทั่วกรุงพนมเปญ มาทำการสวดมนต์ให้กับผู้ที่เสียชีวิต (Source: The Phnom Penh Post)
สาเหตุของความแตกตื่น
ผลการสอบสวนเบื้องต้นถูกเผยแพร่ออกมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน โดยระบุว่า สาเหตุของความแตกตื่นนั้นเกิดมาจากการที่มีคนกังวลว่าสะพานกำลังจะถล่ม ทำให้เกิดการตะโกน และส่งข่าวต่อกันเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นความโกลาหลในที่สุด แต่ที่น่าคิดไปกว่านั้นคือ แล้วทำไมถึงมีคนคิดว่าสะพานกำลังจะถล่ม
1
ความโกลาหลที่เกิดขึ้นบนสะพาน (Source: http://www.kvd-khmer.com)
มีการคาดการณ์กันว่า เกิดจากความคะนองของวัยรุ่นบางคนที่นึกสนุก อยากจะเล่นอะไรแผลง ๆ เลยตะโกนประโยคนั้นออกมาหรือไม่ แต่จากการสอบถามผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ทางเจ้าหน้าที่สืบสวนสรุปว่าน่าจะมาจากการแกว่งตัวของสะพานแขวนมากกว่า ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของสะพานแบบนี้
2
แต่อย่าลืมว่าคนส่วนหนึ่งที่มาเข้าร่วมงานเทศกาลเป็นคนต่างจังหวัด ที่ไม่คุ้นเคยกับการแกว่งของสะพานแขวนมาก่อน ดังนั้นเมื่อสะพานเกิดการแกว่งตัวขึ้น ทำให้พวกเขาคิดว่าสะพานกำลังจะถล่มนั่นเอง
2
และเนื่องจากการจราจรบนสะพาน ไม่เป็นไปในทิศทางเดียว จึงเกิดการอัดตัวของผู้คนขึ้น คนที่โชคร้ายที่สุดคือคนที่อยู่ตรงกลางสะพาน เพราะโดนคนเบียดจากทุกทิศทางจนไม่สามารถหาทางออกได้ หลายคนเป็นลมหมดสติจากการขาดอากาศ หรืออาการบาดเจ็บ หรืออาจจะล้มลงจากการโดนผลัก
ชาวบ้านที่อยู่เหตุการณ์พยายามช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ (Source: CNN)
ผลการสอบสวนนี้ได้รับการสนับสนุนจากแพทย์ทุกโรงพยาบาล ที่ต่างออกมาให้ความเห็นว่าผู้เคราะห์ร้ายหลายคนเสียชีวิตจากการโดนกดทับบริเวณหน้าอกอย่างหนัก จนกระทั่งอวัยวะภายในได้รับความเสียหาย ถึงขนาดที่ผู้เสียชีวิตหลายคนมีเลือดออกภายใน
และหลายคนก็เสียชีวิต หรือบาดเจ็บจากการโดนเหยียบ หลายคนกระดูกแตก แขนขาหัก และบางคนถึงกับต้องกลายมาเป็นคนพิการตลอดชีวิต
ศพของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เหยียบกันตาย (Source: khaosod)
ในทางกลับกันมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำไม่มากนัก เนื่องจากแม่น้ำด้านล่างที่ค่อนข้างตื้น โดยมากแพทย์คิดว่าผู้ที่เสียชีวิตจากการจมน้ำ น่าจะเกิดมาจากการที่พวกเขาโดนกดทับจนแขน และขาเกิดอาหารชา จนไม่สามารถใช้งานได้ เมื่อพวกเขากระโดดลงไปในน้ำ ทำให้ไม่สามารถลอยตัวอยู่ในน้ำ และเกิดสติแตกจนจมน้ำเสียชีวิตนั่นเอง
บางคนกระโดดหนีตายลงไปในแม่น้ำ และบางคนปีนป่ายขึ้นไปตามโครงสะพาน (Source: http://ki-media.blogspot.com)
รายงานขัดแย้ง
สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นประเด็นมากที่สุดคือ เรื่องของการโดนไฟฟ้าช๊อต มีการรายงานจากผู้อยู่ในเหตุการณ์หลายคนว่ามีไฟรั่วอยู่บนสะพานอย่างแน่นอน ทำให้มีผู้เคราะห์ร้ายหลายรายถูกไฟฟ้าช๊อตตาย หลายคนยืนยันว่าได้ยินเสียงคนโดนไฟดูดบนสะพาน และมีคนตะโกนว่าให้ตำรวจรีบตัดไฟฟ้าบริเวณสะพานโดยด่วน
2
แต่ความเห็นจากการแพทย์จากบางโรงพยาบาลกลับบอกว่า ไม่มีหลักฐานว่ามีผู้เคราะห์ร้ายที่โดนไฟช๊อต ในขณะที่แพทย์จากบางโรงพยาบาลบอกว่ามีผู้บาดเจ็บหลายรายที่ลักษณะคล้ายกับถูกไฟฟ้าช๊อตมา เช่นมีแผลไหม้บริเวณลำตัว หรือมีลักษณะการบาดเจ็บคล้ายกับโดนไฟฟ้าช๊อต
3
ร่างไร้วิญญาณของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เหยียบกันตายที่เกาะเพชร (Source: The Phnom Penh Post)
มีแพทย์จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ออกมาให้ข่าวว่า มีผู้เคราะห์ร้ายหลายรายที่น่าจะโดนไฟฟ้าช๊อตมา แต่หลังจากที่ข่าวแพร่กระจายออกไป มีทหารเดินทางมายังโรงพยาบาลของเขา และสั่งไม่ให้มีการให้ข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตจากการถูกไฟช๊อตโดยเด็ดขาด แพทย์จากโรงพยาบาลอื่น ๆ ที่ตอนแรกบอกว่าผู้เสียชีวิตบางคนเสียชีวิตจากเหตุไฟฟ้าช๊อต ต่างก็ถอนคำพูดไปตาม ๆ กัน
2
และผลการสืบสวนจากทางรัฐบาลก็ระบุอย่างชัดเจนว่าไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการถูกไฟฟ้าช๊อต เพราะหลอดไฟที่ใช้ในการประดับสะพานนั้นมีพลังงานเพียงแค่ 12 โวลต์เท่านั้น เทียบเท่าได้กับถ่านไฟฉาย ซึ่งไม่มีทางที่จะทำให้ใครเสียชีวิตได้แน่นอน อย่างไรก็ตามเรื่องที่น่าสงสัยอีกอย่างคือ ไม่มีร่างผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้แม้แต่ร่างเดียวที่ได้รับการชันสูตรเลย
2
คุณพ่อที่ต้องสูญเสียลูกไปในเหตุการณ์เหยียบกันตาย (Source: https://www.sandiegouniontribune.com)
ส่วนเรื่องของการใช้สายยางฉีดน้ำเข้าไปยังผู้ที่ติดอยู่บนสะพานนั้น ทางรัฐบาลก็ปฏิเสธเช่นกัน แต่หลักฐานค่อนข้างชัดเจนทั้งจากภาพข่าว ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ รวมถึงทีมกู้ภัยชาวต่างชาติด้วย ว่ามีการทำเช่นนั้นจริง
2
รักษาเยียวยา
ในวันที่ 23 พฤศจิกายน ทางนายกรัฐมนตรีฮุนเซนออกมาประกาศทางโทรทัศน์ว่า ผู้บาดเจ็บทุกคนจะได้รับการรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดใดทั้งสิ้น และถ้าต้องมีการเดินทางไปรักษายังต่างประเทศ ทางรัฐบาลก็จะจัดการทุกอย่างให้
นายกรัฐมนตรีฮุนเซน และภรรยา ในพิธีส่งดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิต (Source: The Taipei Times)
ในส่วนของค่าเยียวยา ทางรัฐบาลจะจ่ายค่าชดเชยให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตคนละ 5 ล้านเรียล หรือประมาณ 45,000 บาท และครอบครัวผู้บาดเจ็บคนละ 1 ล้านเรียล หรือประมาณ 9,000 บาท ส่วนทางฝ่ายราชวงศ์กัมพูชาก็ประกาศว่าจะมอบเงิน $200 หรือประมาณ 7,200 บาท และ $100 หรือประมาณ 3,600 บาท ให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บตามลำดับ พร้อมทั้งจัดโลงศพให้กับผู้เสียชีวิตทุกคน
ในเวลาต่อมามีการบริจาคเงินช่วยเหลือจากทั้งชาวกัมพูชาเอง และองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก จึงคาดกันว่าครอบครัวของผู้เสียชีวิตน่าจะได้ค่าเยียวยาประมาณ $12,000 หรือประมาณ 430,000 บาทต่อครอบครัว ส่วนยอดบริจาคตามที่รัฐบาลประกาศนั้นอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 144 ล้านบาท
บรรดาญาติ มานั่งสวดมนต์ให้กับดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิต (Source: The Phnom Penh Post)
อย่างไรก็ตาม ไม่มีเอกสารยืนยันหรือสรุปว่าเงินบริจาคทั้งหมดที่ได้จริง ๆ นั้นมีมูลค่าเท่าไร แล้วเงินในแต่ละส่วนถูกนำไปใช้ทำอะไรบ้าง จากการศึกษาขององค์กรอิสระในปี 2011 พบว่ามีหลายครอบครัวที่ยังคงไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล หรือจากราชวงศ์ หลายคนให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขาไม่รู้ว่าด้วยซ้ำ ว่าจะสามารถไปรับเงินสนับสนุนเหล่านี้ได้จากที่ไหน
2
ทางรัฐบาลออกมาโต้แย้งว่า พวกเขาได้เปิดบัญชีกับธนาคารท้องถิ่น เพื่อที่จะโอนเงินค่าเยียวยาเข้าไปให้ครอบครัวของผู้เคราะห์ร้ายเป็นรายบุคคล แต่เห็นได้ชัดว่าวิธีการนี้ดูเหมือนจะยังไม่ได้ผลนัก
2
สภาพของสะพานในตอนเช้า หลังเกิดเหตุการณ์ (Source: The Phnom Penh Post)
คำอธิบายจากรัฐบาล และใครคือคนผิด
ทางรัฐบาลกัมพูชา นำโดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็น ออกมายอมรับว่า พวกเขามองข้ามเรื่องของการควบคุมฝูงชนที่มีประสิทธิภาพไป เนื่องจากพวกเขามัวแต่กังวลเกี่ยวกับเรื่องการขโมยของ การก่อความวุ่นวายของเหล่าบรรดานักเลงวัยรุ่น หรือการเกิดอุบัติเหตุของเรือยาวมากกว่า ไม่มีใครคำนึงถึงเรื่องของจำนวนคนบนสะพานที่อาจจะมากเกินไป
2
เจ้าหน้าที่พยายามอย่างสุดความสามารถในการช่วยเหลือผู้เสียชีวิต (Source: http://ki-media.blogspot.com)
ฝ่ายที่โดนตั้งคำถามมากที่สุดก็คือเหล่าบรรดาตำรวจ ว่าทำไมถึงไม่สามารถเข้าควบคุมฝูงชน และป้องกันการเกิดเหตุการณ์นี้ได้ ซึ่งหัวหน้าตำรวจของพนมเปญได้กล่าวโดยสามารถสรุปใจความได้ว่า
“ผมขอยอมรับว่ามีตำรวจในบริเวณสะพานไม่เพียงพอ และตำรวจที่อยู่ในบริเวณนั้นก็ไม่เคยได้รับการฝึกฝนให้รับมือกับสถานการณ์แบบนี้มาก่อน นอกจากนี้เราไม่เคยคิดว่าคนจะสามารถเบียดกันจนเสียชีวิตได้ เหมือนกับที่โดนรถชน และเราได้พยายามเตรียมงานในปีนี้ให้มีความรัดกุมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้แล้ว อย่างไรก็ตามตำรวจได้พยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว แต่จำนวนคนบนสะพานนั้นเยอะมาก และสะพานก็แคบ ทำให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบาก”
1
ญาติของผู้เสียชีวิต (Source: shutterstock)
จากรายงานผลการสอบสวนอย่างเป็นทางการที่ได้รับการแถลงในวันที่ 29 พฤศจิกายน ระบุว่า มีเจ้าหน้าที่กว่า 600 นาย ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายบริเวณสะพานทันที (ซึ่งขัดกับตอนแรกที่มีการประกาศว่าจะมีเจ้าหน้าที่ในบริเวณนี้กว่า 2800 นาย) แต่พวกเขาก็ต้องใช้เวลาในการฝ่าฝูงชนมหาศาล กว่าจะเดินทางไปถึงบริเวณสะพานได้ ถึงขนาดมีการรายงานจากผู้อยู่ในเหตุการณ์ว่าตำรวจใช้เข็มขัดและกระบอง ฟาดลงไปที่ฝูงชน เพื่อที่จะเคลียร์ทางให้สามารถเดินทางเข้าถึงบริเวณสะพาน
2
นอกจากนี้ยังมีการส่งเรือเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่กระโดดลงมาในแม่น้ำทันที และยังมีการรายงานอีกว่า ทางโรงพยาบาลและแพทย์ก็เพียงพอต่อการรักษาผู้เคราะห์ร้าย ไม่เหมือนกับข่าวก่อนหน้าที่มีการประกาศกันว่าจำนวนแพทย์ไม่พอ
ผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ต้องนอนรับการรักษาอยู่บนเตียงเดียวกัน เนื่องจากปริมาณเตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอ (Source: https://www.sandiegouniontribune.com)
ในส่วนของคนผิดนั้น รายงานผลการสอบสวนระบุว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดจากความแตกตื่นของคนบนสะพานเป็นเหตุ ซึ่งส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ “อันน่าเศร้า” ที่ไม่มีใครคาดว่าจะเกิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีผู้ใดที่เป็นคนผิด หลายฝ่ายออกมายอมรับถึงการเตรียมงานที่ไม่พร้อม และมีความบกพร่อง แต่เหตุการณ์นี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในกัมพูชา จึงทำให้ไม่มีข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ และทุกคนในรัฐบาลคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน
มีการพยายามเรียกร้องให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดงานลาออกจากตำแหน่ง เช่น ผู้ว่าการกรุงพนมเปญ หรือหัวหน้าตำรวจของพนมเปญ บางคนให้การปฏิเสธโดยบอกว่าทั้งหมดเป็นเพียงอุบัติเหตุ บางคนที่พยายามยื่นขอลาออก ก็โดนปฏิเสธโดยนากยกรัฐมาตรีฮุนเซ็น
1
เหล่าบรรดานักการเมือง เข้าร่วมในพิธีไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิต (Source: chinadaily)
ต่อมาในวันที่ 1 ธันวาคม ทางกษัตริย์นโรดม ได้ออกมาประกาศขอบคุณรัฐบาลกัมพูชา ในการให้ความช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้าย และกล่าวชมเชยความพยายามของทุกภาคส่วนในการค้นหาต้นตอของเหตุการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งนี่เองถือเป็นจุดสิ้นสุดของการสืบสวนทั้งหมด เพราะกษัตริย์ ผู้เป็นประมุขของประเทศได้ออกมาประกาศรับรองผลการสืบสวนแล้ว
ตลอดเดือนธันวาคม มีข่าวว่าทางตำรวจกัมพูชาได้ออกกวาดล้างร้านขาย DVD เพราะมี DVD ที่บันทึกภาพเหตุการณ์เหยียบกันตายขายเกลื่อนอยู่ทั่วประเทศ และในไม่นานเหตุการณ์เหยียบกันตายที่กรุงพนมเปญ ก็ค่อย ๆ ถูกลืมเลือนไป
ทุก ๆ ปี ยังคงมีบรรดาญาติผู้เสียชีวิตเดินทางมายังสะพานแห่งนี้ เพื่อทำพิธีให้กับคนรักของตนเอง (Source: https://www.prokerala.com)
ในปัจจุบัน มีการสร้างอนุสรณ์สถานไว้ตรงตีนสะพานที่เคยเกิดเหตุขึ้น ซึ่งในทุก ๆ ปีก็ยังมีการจัดงานรำลึกถึงผู้เสียชีวิตอยู่
แต่สิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่เห็นจะเป็นความทรงจำอันขมขื่นของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ในครั้งนั้น หรือบรรดาครอบครัว ญาติ หรือเพื่อนที่ต้องสูญเสียคนรักของตนเองไป จากสิ่งที่รัฐบาลบอกว่าคืออุบัติเหตุ "อันน่าเศร้า" และ "ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น"
อนุสรณ์สถานเหตุการณ์เหยียบกันตายที่กรุงพนมเปญ (Source: Phnom Penh Post)
จบไปแล้วนะครับกับเรื่องเหตุการณ์เหยียบกันตายที่กรุงพนมเปญ ถือเป็นเหตุการณ์ที่ตอนนั้นเป็นข่าวดังใหญ่โตมาก เพราะเกิดใกล้กับบ้านเรา ซึ่งไม่ค่อยจะเกิดเหตุการณ์แนวนี้ซักเท่าไรนัก
เหตุการณ์นี้ถือบทเรียนในการจัดงานเทศกาลขนาดใหญ่ให้กับหลาย ๆ ประเทศ แต่ที่น่ากังวลคือผลการสืบสวนที่ออกมาเร็วมาก เพราะเพียง 5 วันหลังเกิดเหตุ ทางรัฐบาลกัมพูชาก็ได้ประกาศปิดการสืบสวน โดยยังคงมีข้อสงสัยมากมายจากนานาประเทศถึงความโปร่งใส และความถูกต้อง รวมถึงเงินบริจาคที่ควรจะไปถึงมือของผู้เคราะห์ร้าย ก็ไม่มีความชัดเจนว่าถึงจริงหรือไม่
ครั้งหน้า Kang's Journal จะพาทุกคนไปท่องโลกประวัติศาสตร์ผ่านภาพ หรือบุคคลสำคัญคนไหนอีก อย่าลืมติดตามกันนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา