16 ส.ค. 2021 เวลา 07:27 • สุขภาพ
ด้วยศรัทธาเปิดตำนานบ้านราชครู “วีระศักดิ์”
น้อมส่งดวงจิตท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ
แก้วตา – นางสาว ธิษะณา ชุณหะวัณ บุตรสาวนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ได้โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2564 ผ่านเฟซบุ๊ก Tisana Choonhavan ระบุว่า “คุณย่าได้จากไปแล้วจากการติดเชื้อโควิด – 19 เมื่อเช้าเวลา 01.38 น. ไปด้วยวัย 101 ปี ขอบพระคุณสำหรับทุกอย่างในชีวิตของแก้วและที่ทำคุณูปการให้แก่ประเทศเรา”
1
พลิกดูอีกตำนานบ้านราชครู ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ
ผ่านมุมมอง อาจารย์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตคณะทำงานบ้านพิษณุโลก
แม้ผมไม่เคยมีโอกาสเข้าใกล้ท่านผู้หญิงบุญเรือนมาก่อน
เคยได้เพียงยกมือไหว้ และเอ่ยคำว่าสวัสดีกับท่าน แล้วท่านก็รับไหว้ หยุดมองและท่านมักส่งยิ้มเหมือนจะรอเผื่อว่าผมจะมีอะไรมาบอก มารายงานหรือเปล่าเท่านั้น
ซึ่งผมก็จะเกรงใจ ไม่รู้จะพูดหรือชวนท่านสนทนาว่าอะไร เพราะท่านห่างรุ่นผมเยอะจริง ๆ
ท่านมีอายุ 101 ปีในปีนี้ ท่านจึงห่างผมราว 45 ปี
สมัยที่ผมเคยกราบสวัสดีท่านผู้หญิงนั้น
ผมเพิ่งเริ่มทำงานในฐานะนิสิตนิติศาสตร์ ปี 4 จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เมื่อใดมีเวลาว่างก็มาช่วยงานธุรการบ้าง วิชาการบ้างของทีมบ้านพิษณุโลก ทำงานตรงให้กับนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น คือพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
ผมจึงรู้จักแค่งานของท่านชาติชาย ไม่ได้รู้จักงานของท่านผู้หญิง
แต่สิ่งที่ผมพอจะรับรู้ คือ ท่านผู้หญิงมีประกายตาที่ขี้เล่นเสมอ มีรอยยิ้มที่มีเสน่ห์ และเสียงสนทนาที่กังวาน มีท่าทีที่เมตตาต่อพวกผมที่ยังเป็นเด็ก ๆ มาช่วยงานท่านนายกฯชาติชาย
ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ
ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในฐานะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณในเวลานั้น เคยเล่าให้ผมฟังที่บ้านพิษณุโลก หลังกลับจากการร่วมคณะเดินทางของพลเอกชาติชาย ไปราชการในต่างประเทศว่า
ท่านผู้หญิงบุญเรือน มักจะร่วมเดินทางไปด้วย ครั้งหนึ่งปรากฏว่า ในระหว่างที่เครื่องบินยังบินอยู่ ท่านพลเอกชาติชาย มักจะลุกจากเก้าอี้ที่นั่งชั้นหนึ่งมายืนคุยกับบรรดานักข่าวอย่างเป็นกันเอง
ส่วนท่านผู้หญิงบุญเรือนจะมักแอบเดินตามมาแหย่กลุ่มข้าราชการประจำให้คลายกังวลจากการเตรียมงาน เพราะท่าน และข้าราชการประจำจะทราบกันดีว่า
พลเอกชาติชายนั้น มีทักษะทางการค้าระหว่างประเทศ และการเมืองระหว่างประเทศที่ล้ำลึกและแพรวพราว ใครที่ต้องทำงานด้านนี้ให้ท่าน จึงต้องทำการบ้านมาหนัก และติดตามความเปลี่ยนแปลงของหน้างานให้ไว
แม้จนขึ้นเครื่องบินมุ่งไปที่นัดหมายกันแล้ว ก็ต้องพยายามคิดพลิกแพลงถึงความไม่แน่นอนของวงการระหว่างประเทศที่มักจะไม่มีฝ่ายไหนอยู่นิ่งๆกัน
“มีหมาก มีเกม มีเรื่องท่าที และจังหวะในแทบทุกอย่าง”
ครั้งหนึ่งคุณประชา คุณะเกษม อธิบดีกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งสวมสูทยืนคุยอยู่กับเพื่อนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บนเครื่องบิน
ปรากฏว่าท่านผู้หญิงคงอยากแหย่ จึงเดินย่อง ๆ มาด้านหลัง แล้วสะกิดคุณประชา คุณประชาหันมามองแต่ไม่เห็นมีใคร
แว๊บนั้น..คุณประชาสังเกตเห็นว่า ท่านผู้หญิงบุญเรือน แอบลงนั่งยองๆที่ตรงพื้น ทำท่าขำคิกคักอยู่ คุณประชาจึงรู้ว่าถูกท่านผู้หญิง “เย้าเล่น” ด้วยความเมตตา
คุณประชาคงตกใจที่ภรรยาของนายมากระเซ้าเล่น จึงร้องโอ้ววยาวๆ... แล้วรีบนั่งลงยกมือไหว้ท่านผู้หญิงด้วยความนอบน้อม
แต่หัวเราะขำตัวเองด้วยความปลื้มใจ ที่ท่านผู้หญิงกรุณาให้ความเป็นกันเองแก่ข้าราชการ นักข่าว และเจ้าหน้าที่ทั้งหลายเสมอ
ครั้งนั้นเรียกเสียงฮาครืนกันทีเดียว เพราะใคร ๆ ก็พลอยปลื้ม ระคนขำอารมณ์ดีไปด้วยโดยไม่ต้องมีบท
นั่นคือเหตุการณ์ช่วง พ.ศ. 2531 - 2533
ครั้นภายหลังต่อมา คือ พ.ศ. 2538 - 2539
คุณประชา คุณะเกษม ในฐานะอดีดปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ท่านเข้าสู่วงการเมือง และได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี บรรหาร ศิลปอาชา
ในครั้งนั้น อาจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แทนที่จะต้องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตามแผนเดิมที่ท่านบรรหารตั้งใจไว้
เพราะพรรคนำไทยขณะนั้น ขอเจรจาเข้าร่วมรัฐบาลกับนายกรัฐมนตรีบรรหาร โดยขอให้ ม.ร.ว. เกษมสโมสร เกษมศรี เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ท่านบรรหารจึงต้องจำใจยอมปล่อยโควต้ากระทรวงการต่างประเทศออกไป
ในช่วงนั้น นายกฯบรรหาร ท่านตั้งผม (อ.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์)เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ดูแลงานด้านการต่างประเทศและวิชาการทั้งหลายของท่าน
จึงได้มีโอกาสร่วมงาน และร่วมเดินทางราชการต่างประเทศกับคณะทางการของนายกรัฐมนตรีทุกครั้ง โดยมีคุณประชา คุณะเกษม นั่งเครื่องบินไปคู่กันกับผมแทบทุกหน
จึงทำให้ผมกับคุณประชาได้สนทนารำลึกความจำครั้งที่เคยร่วมงานกับรัฐบาลพลเอกชาติชายบ่อย ๆ และแน่นอน ซีนตอนท่านผู้หญิงบุญเรือน “เย้า” คุณประชาอย่างคราวอยู่บนเครื่องบินครั้งนั้นก็จะเป็นหนึ่งในเหตุสร้างยิ้มที่เต็มไปด้วยความเคารพนับถือของเราสองคนเสมอเช่นกัน
ผ่านไปอีก 25 ปี คุณแจน เลขาของอาจารย์โต้ง ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส่งภาพเอกสารชิ้นหนึ่งที่เล่าความเป็นไปของประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศจากรายงานที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2563 มาให้ผมอ่าน ชื่อเอกสารการศึกษา เรื่องไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน: การเมืองที่ผันผวน และความยุ่งยากในช่วงต้นของความสัมพันธ์ทางการทูต (คศ.1975-1978)
มีใจความตอนหนึ่งที่แม้ไม่เอ่ยนามท่านผู้หญิงบุญเรือนออกมาตรงๆ แต่ทำให้ผมได้คิดถึงความสามารถในการสนับสนุน “มิชชั่น” สำคัญของสามี อย่างน่าชื่นชม
ความสามารถในการเข้าสังคมของท่านผู้หญิง ความมีพรสวรรค์ และความรู้ทางภาษาต่าง ๆ อย่างคล่องแคล่ว ความสามารถในศิลปะ ดนตรี และการสั่งสมภูมิรู้ที่มีในการระหว่างประเทศ และวัฒนธรรมนั้น
ช่วยชาติ และช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยที่ชื่อชาติชาย ได้อย่างสง่า สงบ และทำให้จบภารกิจที่พวกเราคงถือได้ว่า “ผาดโผน” อย่างสวย ๆ ได้ยังไง
และทำให้พลเอกชาติชาย เป็นมากกว่าอดีตนายกรัฐมนตรีที่ล่วงลับ แต่ยังเป็นที่จดจำยกย่อง ในอีกหลายมิติยิ่งกว่าเรื่องการต่างประเทศ การเมือง หรือการบริหารราชการแผ่นดินอีกต่างหาก
ดังที่ในงานเขียนของ "สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์" เคยระบุถึง “บุญเรือน-ชาติชาย”เกี่ยวกับความกตัญญู อุสาหะ เรียบง่าย จริงใจและมีความจงรักภักดีที่ยาวนานจนไม่มีวันลืม
ขอน้อมเคารพส่งผ่านการยกมือไหว้สวัสดีครั้งสุดท้าย เพื่อส่งดวงจิตของท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ เดินทางไกลไปร่วมสถิตอยู่กับดวงจิตของสามี และบุตรชายที่ท่านรัก
และขอขอบคุณทุกท่าน ที่ต่างได้มีส่วนร่วมสร้างตำนานประวัติศาสตร์แห่งความน่าประทับใจให้เรา ในฐานะชนรุ่นหลังได้รับรู้ และยกย่องเสมอ
ด้วยศรัทธา
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ขอขอบคุณที่เข้าติดตามอ่านทุกเรื่องราว และเข้ามาทักทายกันนะคะ
Credit:
เรื่องและภาพจากอาจารย์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
#WhoChillDay #บ้านราชครู #วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
#ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา