17 ส.ค. 2021 เวลา 09:40 • ปรัชญา
การปฏิบัติธรรมในปัจจุบันที่พบเห็นกัน
มีอยู่ 2 แบบหลัก ๆ คือ
1) การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน หรือ
การปฏิบัติที่กลมกลืนกันไปในชีวิตอย่างเป็นธรรมชาติ
ไม่จำกัดเวลา
เหมาะสำหรับผู้ที่มีอุปนิสัยแก่กล้า
มองเห็นทุกข์ตามธรรมชาติมาก่อนด้วยตัวเอง
เป็นวิธีปฏิบัติที่เป็นไปโดยธรรมชาติ
เป็นเรื่องที่เป็นไปได้สำหรับบุคคลที่มีบุญบารมี
หรือที่เรียกว่ามีอุปนิสัยที่ได้สร้างมาพอสมควร
หรือแก่รอบพอที่จะรู้สิ่งเหล่านั้นได้เหมือนกับทำเล่น ๆ
คือทำได้เลย มีอุปนิสัยเช่นนั้นอยู่แล้ว
ไม่ใช่เรื่องยากลำบากอะไรมากนัก
2) การปฏิบัติในรูปแบบ หรือ ที่เราคุ้นเคยกัน
คือ การเดินจงกลม นั่งสมาธิ ตามระยะเวลา
แล้วแต่การจัดสรร สลับกันไป
โดย 1 บัลลังก์ จะหมายถึง เดิน นั่ง ตามเวลาที่กำหนด
อาจจะเป็นครั้งละ 15 นาที 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมง ...
การปฏิบัติทั้งสองแบบนี้เป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน
แต่ถ้าศึกษาจากประวัติศาสตร์
ในสมัยพุทธกาลจะไม่มีการปฏิบัติในรูปแบบ
เหตุที่การปฏิบัติในรูปแบบเป็นที่นิยมมากขึ้น
มาจากหลายเหตุปัจจัย
ปัจจัยที่ชัดเจนเลยคือ เป็นอุบายให้จิตเรียนรู้
คล้ายกับเป็นหลักสูตรเร่งรัด
การปฏิบัติในรูปแบบจึงมีขึ้นสำหรับแก้ปัญหาให้กับ
ผู้ที่ไม่มีบารมี ไม่มีอุปนิสัย
ไม่ได้อบรมมาจนแก่รอบ
จึงตัองเร่งรัด หรือต้องมีระเบียบปฏิบัติที่เป็นการเร่งรัด
ไปตั้งแต่ต้น ต้องทำให้มีระบบ ให้ไปตามระเบียบ
ไปตามลำดับอย่างรัดกุม
สรุปว่าการปฏิบัติในรูปแบบเทคนิควิธีนี้
มีไว้สำหรับคนทุกคนที่ยังไม่มีอุปนิสัยแก่กล้านั่นเอง
...
สมาธิจึงจัดเป็น 2 ประเภทหลัก คือ
1) สมาธิที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
2) สมาธิที่เกิดจากการปฏิบัติบำเพ็ญตามวิธีที่เป็นเทคนิคโดยเฉพาะ
สมาธิทั้งสองสามารถนำไปพิจารณาธรรมได้โดยง่าย
แต่มีข้อควรสังเกตคือ สมาธิที่เกิดตามธรรมชาตินั้น
มักจะพอเหมาะพอสมควรแก่กำลังของปัญญา
ที่จะทำการพิจารณา
1
ส่วนสมาธิที่เกิดตามวิธีของการบำเพ็ญเป็นเทคนิคโดยเฉพาะนั้น
มักจะเป็นสมาธิที่มากเกินไป คือ เหลือใช้
และยังเป็นเหตุให้คนหลงติดชะงัก
พอใจแต่เพียงสมาธินั้นก็ได้
อาจถึงขั้นหลงว่าคือมรรคผลนิพพานได้
ในสมัยพุทธกาลมีแต่การบรรลุมรรคผลทุกชั้น
ตามวิถีธรรมชาติ ไม่ได้มีเทคนิคอะไรเพิ่มเติม
เพราะวาสนาบารมีธรรมแตกต่างกัน
คนในสมัยนั้นส่วนใหญ่อุปนิสัยถึงพร้อมแล้ว
ขาดเพียงปัญญาเล็กน้อย
ในยุคสมัยปัจจุบันจึงมีการปฏิบัติผสมผสานกันไป
ตามเหตุตามปัจจัยของแต่ละบุคคล
บุคคลที่ไม่จำเป็นต้องเดินจงกลม นั่งสมาธิมากนัก
เพราะจิตตั้งมั่นอยู่โดยธรรมชาติแล้ว
ไม่ค่อยหลงอินในเนื้อเรื่อง ผสมโรงอะไรมากนัก
รู้สึกตัว เห็นทุกสิ่งตามที่เป็นได้อยู่เป็นปกติ
หากใครไม่ใช่
ก็ต้องเดินจงกลม นั่งสมาธิ เพื่อเพิ่มความตั้งมั่น
ให้สามารถพิจารณาข้อธรรมต่าง ๆ ได้เด่นชัดขึ้น
สาระสำคัญ คือ ความตั้งมั่นของจิต
หรือ กัมมนิโย จิตที่ควรแก่การงาน
เพื่อใช้ในการเดินปัญญา
ให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ในยุคสมัยนี้ 2500 กว่าปีหลังพุทธกาลมาแล้ว
ใครทำอะไรได้เท่าไร ก็ทำอย่างเต็มที่
จะทำในรูปแบบ หรือ ในชีวิตประจำวัน
ก็กระทำให้มาก กระทำให้เจริญ ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ตึงยังไงก็ดีกว่าหย่อน เกินยังไงก็ดีกว่าขาด
ตึงไว้ก่อน พอผ่อนจะได้พอดี
เริ่มต้นยังไงก็ผิด อาศัยการสังเกตด้วยปัญญาอันยิ่ง
รู้ว่ามันผิด ตัดทางที่ไม่ใช่ออกไป
ทางที่ใช่จะเด่นชัดขึ้น ค่อย ๆ เข้าร่องเข้ารอย
เมื่อปฏิบัติจนมากพอจริง ๆ มันก็ถูกเอง
:
การปฏิบัติธรรม
แท้ที่จริงแล้ว คือ การใช้ชีวิตที่เป็นธรรม
เมื่อมีชีวิตที่เป็นธรรม
จากการปฏิบัติภาวนาจนถึงที่สุด
ก็เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ในทุกย่างก้าว
โดยไม่ต้องพยายามทำอะไร
.
อ้างอิงข้อความบางส่วนจาก :
หนังสือคู่มือมนุษย์ โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา