17 ส.ค. 2021 เวลา 09:25 • การเมือง
โลกทวิภพ: ห่วงโซ่สหรัฐฯ เชื่อมโลก vs. ห่วงโซ่จีนเชื่อมโลก
Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
1
เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญ จากยุคหนึ่งห่วงโซ่โลก เดินหน้าสู่ยุคทวิภพ แตกเป็นห่วงโซ่สหรัฐฯ เชื่อมโลก แข่งขันกับห่วงโซ่จีนเชื่อมโลก
2
20 ปี ที่ผ่านมา เป็นยุคทองของโลกาภิวัฒน์ที่มุ่งสร้างห่วงโซ่เศรษฐกิจโลกหนึ่งห่วงโซ่ร้อยเรียงกัน สินค้าชิ้นหนึ่งอาจมีหลายชิ้นส่วนประกอบกัน ประเทศไหนสามารถผลิตชิ้นส่วนใดได้ในต้นทุนที่ถูกและมีประสิทธิภาพ ธุรกิจก็จะเลือกไปตั้งฐานการผลิตชิ้นส่วนดังกล่าวที่นั่น
1
จีนนับเป็นศูนย์กลางการผลิตในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ เพราะต้นทุนถูกและประสิทธิภาพการผลิตสูง
1
แต่วงนโยบายสหรัฐฯ ตอนนี้กลับลำจากแนวคิดเศรษฐศาสตร์เดิมที่เน้น “ประสิทธิภาพ” และ “ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ” (ใครถนัดอะไรก็ผลิตชิ้นส่วนนั้น) มาเป็นแนวคิดใหม่ที่ต้องการรักษาสมดุลระหว่าง “ประสิทธิภาพ” และ “ความมั่นคง”
2
ปัจจัยสอง C คือ China และ Covid ทำให้สหรัฐฯ หันมาวางแผนห่วงโซ่การผลิตใหม่ การผงาดขึ้นมาของจีนที่มีระบบการเมืองและคุณค่าที่แตกต่างจากสหรัฐฯ ส่งผลให้จีนเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง สหรัฐฯ จึงไม่ไว้ใจที่จะพึ่งพาจีนหรือให้จีนอยู่ในห่วงโซ่ของสหรัฐฯ อีกต่อไป โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์
1
เหตุผลเพราะอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์มีผลต่อความมั่นคง
1
ปัจจุบันจีนไม่ได้ส่งออกเพียงสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกให้แก่ตลาดสหรัฐฯ เท่านั้น แต่จีนยังส่งออกสินค้าเทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล
1
วงยุทธศาสตร์สหรัฐฯ เขาระแวงกันจริงๆ เพราะสมาร์ทดีไวซ์ยุคใหม่อยู่ในทุกบ้าน สมาร์ทโฟนอยู่ในกระเป๋าทุกคน ชิ้นส่วนไฮเทคหลายอย่างอยู่ในอาวุธรบด้วย
2
ส่วนปัจจัยโควิดนั้น ยิ่งเป็นตัวตอกย้ำให้สหรัฐฯ หันมาคิดถึงความมั่นคงของซัพพลายเชน
ทั้งในด้านสาธารณสุข สหรัฐฯ ตกใจว่าในประเทศไม่มีศักยภาพในการผลิตยาและหน้ากากอนามัยให้เพียงพออีกต่อไป
1
รวมทั้งปัญหาการหยุดชะงักของการขนส่งทางไกลและปัญหาโลจิสติกส์ในช่วงโควิดที่ผ่านมา ก็ยิ่งสร้างความกดดันให้ธุรกิจวางแผนกระจายความเสี่ยงเรื่องซัพพลายเชน
3
เกิดเป็นกระแสปลุกให้ธุรกิจใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ วางแผนซัพพลายเชนใหม่สามชั้น
2
ชั้นแรก ให้กลับมาผลิตในสหรัฐฯ (Reshoring) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องอาศัยแรงงานหรือสามารถใช้ Automation ในการผลิตได้ อุตสาหกรรมหนึ่งที่ไบเดนประกาศต้องการให้ผลิตในสหรัฐฯ และให้ห่วงโซ่ชิ้นส่วนอยู่ในสหรัฐฯ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก็คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ EV
2
ชั้นที่สอง คือ สร้างซัพพลายเชนให้อยู่ภายในประเทศรอบบ้านสหรัฐฯ เช่น ในลาตินอเมริกา เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องโลจิสติกส์ในยุคโควิดและในยุคภูมิรัฐศาสตร์ที่ผันผวน หากเกิดวิกฤตในไต้หวันหรือทะเลจีนใต้ในเอเชีย จะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชน
3
ชั้นที่สาม คือ สร้างซัพพลายเชนในกลุ่มประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ เพื่อลดการพึ่งพาจีน
กลุ่มพันธมิตรได้แก่ กลุ่มจตุภาคี (Quad) ประกอบด้วยสหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และกลุ่ม G7 มีสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา อิตาลี และญี่ปุ่น อย่างในการประชุมกับนายกฯ ญี่ปุ่นเมื่อเดือนเมษายน 2564 ประธานาธิบดีไบเดนประกาศความร่วมมือสร้างซัพพลายเชนเซมิคอนดัคเตอร์ร่วมกับญี่ปุ่น
4
ในเดือนมิถุนายน 2564 รัฐบาลไบเดนได้ประกาศแผนความมั่นคงของห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ 4 อุตสาหกรรม ได้แก่
1
-อุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์
-อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ (แบตเตอรี่สำหรับใช้ในรถยนต์ EV และในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด)
-อุตสาหกรรมแร่เชิงยุทธศาสตร์ (เช่น แร่แรร์เอิร์ธที่จำเป็นต้องใช้ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์และในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด) และ
-อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์
 
ปัญหาคือ ปัจจุบันพึ่งพาจีนมากเกินไปในทั้ง 4 อุตสาหกรรม จนกระทบต่อความมั่นคง
5
ส่วนแบ่งตลาดโลกของอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ของสหรัฐฯ ลดลงจากร้อยละ 37 เป็นร้อยละ 12 ภายในช่วงเวลา 20 ปี ที่ผ่านมา
2
หรืออย่างในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ จีนผลิตได้มากกว่าร้อยละ 75 ของผลผลิตทั้งหมดในโลก ขณะที่สหรัฐฯ ผลิตเพียงร้อยละ 12 ของผลผลิตทั้งหมดของโลก
หรืออย่างซัพพลายของแร่แรร์เอิร์ธของโลกนั้น จีนผูกขาดกว่าร้อยละ 90
ส่วนเรื่องอุตสาหกรรมยา ยาสามัญส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ นำเข้าจากอินเดีย แต่พอสืบถึงต้นทาง กลับพบว่าสารเคมีตั้งต้นต้องพึ่งพิงจีน
1
โลกห่วงโซ่เศรษฐกิจทวิภพนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากยุทธศาสตร์ของฝั่งสหรัฐฯ ที่ต้องการตัดจีนออกไปเท่านั้น แต่ฝั่งจีนเองก็มองว่าต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เช่นเดียวกัน เพื่อรับมือกับแรงกดดันจากสหรัฐฯ
3
จีนวางแผนยุทธศาสตร์สองหมุนเวียน โดยเน้นหมุนเวียนภายในเป็นแกนกลางและเชื่อมโยงกับโลก เพื่อสร้างเป็น “ห่วงโซ่จีนเชื่อมโลก” ขึ้นสู้กับ “ห่วงโซ่สหรัฐฯ เชื่อมโลก”
2
ในสมัยโบราณ โลกการค้าเคยเป็นโลกที่ปิดตัวตามพรมแดนของแต่ละประเทศ แล้วจึงค่อยๆ พัฒนามาเป็นโลกาภิวัฒน์สร้างเป็นโลกหนึ่งห่วงโซ่เศรษฐกิจในปลายศตวรรษที่ 20
2
บัดนี้เป็นต้นไป โลกาภิวัฒน์กำลังมาถึงจุดจบ แต่โลกจะไม่ได้หันกลับไปปิดตามพรมแดนแบบยุคโบราณ
ขณะเดียวกันก็จะไม่ได้เป็นหนึ่งห่วงโซ่เศรษฐกิจเช่นแต่ก่อน แต่จะเข้าสู่ยุคโลกเปิดไม่เต็มใบ จากการที่สองมหาอำนาจต่างพยายามตัดอีกฝ่ายออกจากห่วงโซ่เศรษฐกิจของตน จึงแตกเป็นห่วงโซ่สหรัฐฯ เชื่อมโลก และห่วงโซ่จีนเชื่อมโลก
 
มีข้อสงสัยว่า โลกสองห่วงโซ่นี้จะเกิดขึ้นเฉพาะในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์หรือไม่ หรือจะเป็นเช่นนี้ในทุกอุตสาหกรรม?
6
คำตอบคือ จะเกิดขึ้นชัดเจนในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์
1
ส่วนในอุตสาหกรรมอื่น กระแสการแบ่งสองห่วงโซ่จะลามมาถึงด้วยแน่นอน แม้อาจไม่ได้แบ่งสองห่วงโซ่ลึกซึ้งขาดจากกันเท่าในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ก็ตาม
1
ทั้งนี้เพราะธุรกิจในอุตสาหกรรมทั่วไปเองก็ต้องวางแผนกระจายความเสี่ยงของซัพพลายเชนจากความผันผวนในการแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์และโควิด
1
โจทย์ในทางยุทธศาสตร์ของไทยและธุรกิจไทยจึงต้องเปลี่ยน
จากที่เคยถามว่า ไทยจะเชื่อมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่เศรษฐกิจโลกได้อย่างไร ต้องเปลี่ยนมาเป็นโจทย์ใหม่ว่า ไทยจะสามารถเชื่อมเข้ากับทั้งสองห่วงโซ่เศรษฐกิจได้อย่างไร
5
ช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา เวียดนามและไทยได้ประโยชน์จากโลกสองห่วงโซ่ที่ก่อร่างขึ้น เราเห็นการย้ายถิ่นฐานการลงทุนจากกลุ่มทุนญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน ที่เดิมตั้งฐานการผลิตในประเทศจีน ซึ่งบัดนี้ต้องการฐานการผลิตใหม่ที่จะสามารถเชื่อมได้กับทั้งสองห่วงโซ่เศรษฐกิจ
2
ในปัจจุบัน ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของข้อตกลง RCEP ซึ่งเป็นแกนของห่วงโซ่จีนเชื่อมเอเชียและโลกเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม การเจรจาการค้าที่เหลืออยู่จะทวีความสำคัญมากขึ้น เพื่อให้ไทยไม่หลุดจากห่วงโซ่สหรัฐฯ เชื่อมโลก
4
ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ซึ่งสหภาพยุโรปเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ รวมทั้งการเจรจาข้อตกลง CPTPP ที่เป็นประเด็นร้อนแรงในวงนโยบายสาธารณะในประเทศไทย
4
ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่ได้อยู่ในกลุ่ม CPTPP อีกต่อไป แต่ห่วงโซ่ CPTPP มีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อเมริกาเหนือและพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างลึกซึ้ง นอกจากนั้น ยังมีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตสหรัฐฯ อาจกลับเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP อีกด้วย
3
ทางออกในโลกหลังโควิดไม่ใช่ปิดการค้ากลับมาพึ่งเศรษฐกิจภายใน
ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่การค้าเลือกข้างหรือแทงม้าเลือกค่าย
แต่ต้องเป็นการตั้งโจทย์เชิงยุทธศาสตร์ใหม่ว่า ไทยจะทำอย่างไรให้ดึงดูดได้ทั้งสองห่วงโซ่
ทำอย่างไรให้ทั้งสองห่วงโซ่ขาดไทยไม่ได้
8
โฆษณา