18 ส.ค. 2021 เวลา 08:41 • ปรัชญา
เรารู้โดยทั่วไปว่าธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ให้หมู่มวลมนุษยชาติได้รู้ตามได้ปฏิบัติตามเพื่อความสิ้นทุกข์โดยถ้วนรอบนั้นคือ อริยสัจ4
อันประกอบไปด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
อริยะสัจ4 ถ้าเราดูให้ลึก ตามธรรมของพระพุทธเจ้า เราจะเห็นว่าอริยสัจ4 ออกเป็นสองฝ้ากฝั่ง หรือสองฝ่าย คือฝ่ายของความเกิดทุกข์ และฝ่ายของความดับทุกข์
3
ฝ่ายของความเกิดทุกข์คือ ทุกข์ กับ สมุทัย ฝ่ายของความดับทุกข์คือ นิโรธกับ มรรค นี่คือธรรมอริยสัจ4
ดังพระพุทธเจ้า ได้ประกาศเอาไว้ใน พรหมชาลสูตรบ้าง ปัจจยสูตรบ้างว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้หนึ่งผู้ใด เป็นผู้ รู้เหตุเกิด รู้เหตุดับ รู้คุณ รู้โทษ รู้ อุบายเครื่องออก จากผัสสายตนะทั้ง 6ตามความเป็นจริงแล้ว ภิกษุผู้นั้นเป็นผู้รู้ยิ่ง
นั่นหมายถึงว่าเป็นผู้รู้อริยสัจ4 นั่นเอง บุคคลที่จะรู้อริยสัจ4ได้นั้น ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย คือเป็นผู้ฟังธรรมมาก่อนเนืองๆ จำติดปาก จำขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิในธรรมนั้นๆมาก่อน
นี่คือผู้ถึงพร้อมอุปนิสัยจึงจะสามารถรู้ตามธรรมในอริยสัจ4นี้ได้ ถ้าไม่งั้นรู้ตามไม่ได้ก่อน
ก็จะต้องเริ่มที่ทำการฟัง ฟังให้จบแล้วจะได้รับอานิสงค์ แล้วได้รับอจินไตย4
ในสติปัฏฐาน4 ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดับทุกข์ เมื่อพระพุทธเจ้าประกาศธรรมอันเป็นเหตุเกิดทุกข์แล้ว พระพุทธเจ้าก็ประกาศธรรมอันเป็นเหตุดับทุกข์ นั่นก็คือโพธิปักขิยธรรม อันประกอบไปด้วย สติปัฏฐาน4 สัมมัปปทาน4 อิทธิบาท4 อินทรีย์5 พละ5 โพชฌงค์7 มรรคมีองค์8 อันเป็นธรรมฝ่ายดับทุกข์
ซึ่งธรรมบทแรกที่ขึ้นต้นคือ มหาสติปัฏฐาน4 หรือ สติปัฏฐาน4 มีองค์ธรรมอยู่ 4 องค์ธรรมคือ กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม
คือบทธรรมย่อของ ปฏิจจสมุปบาท และย่อลงจากขันธ์5 มาอีกชั้นหนึ่ง
"กายในกายคือรูป เวทนาในเวทนาคือเวทนา จิตในจิตคือสังขาร ธรรมในธรรมคือวิญญาน"
ที่มีชื่อดังนี้ ที่มีฐานะดังนี้ เป็นฐานะของจิต มโน วิญญาณ ที่รู้เหตุเกิดรู้เหตุดับแล้ว จึงได้ชื่อว่า กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม
คือ จิต มโน วิญญาณ รู้เหตุเกิดขึ้นและเหตุดับลงของ 4 อาการ รวมทั้งข้อสุดท้ายคือธรรมในธรรม เป็นจิต เป็นมโน เป็นวิญญาณ ที่เห็นเหตุเกิดแล้ว และรู้วิธีดับทุกข์แล้ว นี่คือมูลเหตุที่สำคัญที่จะต้องพูดถึงเรื่องนี้
และการปฏิบัติโพธิปักขิยธรรมที่แสดงอยู่ใน มหาสติปัฏฐานสูตรนั้น ข้อสุดท้ายแสดงไว้ชัดว่าการที่จะได้มาซึ่งสัมมาสมาธิจะต้องได้มาด้วยการกระทำฌานเท่านั้น
1
โดยข้อสุดท้ายสัมมาสมาธิ จะต้องได้มาด้วยการกระทำฌานหนึ่ง ฌานสอง ฌานสาม ฌานสี่ ตามลำดับ พอจบฌาน4 จะไปถึงฌานที่8 ย่อมเป็นไปได้โดยง่าย แสดงเด่นชัดที่รูปฌานก่อน เพราะถึงรูปฌานข้อสุดท้าย ก็เป็นผู้สงบแล้ว เป็นผู้ดับแล้ว เป็นผู้ไม่มีอุปทานใดๆแล้วได้เช่นกัน แต่จะให้เกลี้ยงจริงๆต้องไปถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะญาณ คือฌานที่8 อรูปฌาน
กายในกาย
กายของเรา หรือ อัตตาของเรามีองค์ประกอบอยู่6ประการคือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ และ วิญญาณ มีอยู่6 ที่เป็นองค์ประชุมแห่งกาย
กายในกายนี้ต้องบอกว่า ยกให้เป็นส่วนที่สำคัญมากๆ การที่เรามีกายในกายหรือว่าอัตตานี้เป็นต้นเหตุให้เราต้องวนอยู่ในวัฏสงสารหรือสังสารวัฏ เนื่องจากกายในกายนี้เป็นที่อยู่ ของจิต ของมโน ของวิญญาณของเรา
1
หมวดธรรม กายในกาย จะประกอบไปด้วย 6 ลักษณะ ในมหาสติปัฐฐานสูตร กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน พูดถึง
1. อานาปานสติบรรพ ตรงอานาปานสติบรรพให้เราได้เห็นโดยธรรมว่า การที่เราจะมีกาโยอยู่นี้ เห็นได้ด้วยการมีลมหายใจ คือการมีชีวิตอยู่ และจะสิ้นไปด้วยการสิ้นลมหายใจ ลมหายใจเป็นเหมือน สัญลักษณ์ของการมีชีวิต
2. อิริยาบถบรรพ คือการที่เรามีชีวิต มีลมหายใจอยู่ จะมีอิริยาบถหลักอยู่ 4 อย่าง คือ เดิน ยืน นั่ง นอน นี่คืออาการของกายของเรา
3. สติสัมปชัญญะบรรพ คือมีการดู การฟัง การดม การกิน การสัมผัส การรับรู้เรื่องราวใดๆ การหลับตาลืมตา เดิน ยืน นั่ง นอน กล่าวคือมีสัมปชัญญะรู้ตัวทุกอิริยาบถ
4. ปฏิกูลสัญญาบรรพ คือร่างกายมีสิ่งที่เป็นปฏิกูลอยู่ คือสิ่งที่ไม่น่าดูทั้งหลาย
5. ธาตุบรรพ คือ ในกายนี้ประกอบไป ด้วย ดิน น้ำ ไฟ ลม เริ่มจากแข๋งคือดิน เหลวหรือน้ำ ร้อนคือไฟ อากาศที่เข้าออกคือลม
6. นวสีวถิกาบรรพ คือ กายนี้จะต้องแตกทำลายไป มีความตายอยู่9ประการ
เราต้องเห็นในกาโยของเราจะเป็นดั่งนี้ เหมือนที่เรายึดโยงกลับไปที่วิปัสสนาญาณที่ว่า กายของเรานี้แล ประกอบไปด้วยดินน้ำไฟลม มารดากับบิดาทำให้เกิด เติบโตด้วยข้าวสุกขนมสด ไม่เที่ยง จะถูกเยียบย้ำทุกพื้นที่ ด้วยความแก่ ความเจ็บ ความตาย วิญญาณเราอาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้ เป็นองค์ประชุมแห่งกายนี้
ร่างกายนี้เป็นตัวภายในเป็นอายตนะใน ที่ต้องอาศัยอายตนะนอกคืออาหารหรือ อาหาร4 ที่เข้ามา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หรือกามคุณ5 ที่เข้ามา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งสุดท้ายก็ได้รับรู้เรื่องราวด้วยใจ
รู้คุณรู้โทษของ ของกายในกายนี้ มีคุณมีโทษ
เพื่อดับโทษจากกายในกายจะต้องดับด้วยบทธรรมที่ชื่อว่าโพธิปักขิยธรรมอันประกอบไปด้วยธรรม7 ข้อธรรมหลัก37 ข้อธรรมย่อย โดยการกระทำฌานเท่านั้น รูปฌาน 1ปฐมฌาน 2ทุติยฌาน 3ตติยฌาน 4จตุถฌาน
อรูปฌาน 5อากาสานัญจายตนะญาณ 6วิญญานัญจายตนะญาณ 7อากิญจัญญายตนะญาณ 8เนวสัญญานาสัญญายตนะฌาณ ทำจบเกลี้ยงแล้ว จึงเข้าไปอยู่ใน สภาวะสัญญาเวทยิตนิโรธ (อรูปฌานหรือเรียกว่าญาณก็ได้ เพราะรับรู้ได้ด้วยสัญญาเท่านั้น)
2
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายบ้าง พิจารณาเห็นกายในภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายทั้งภายในและภายนอกบ้างกายในกายก็คือร่างกายเรา
กายนอกก็คือส่วนที่เป็นอายาตนะภายนอก ที่เรานำเอามาสร้างเป็นร่างกายเราเพื่อตั้งอยู่ อยู่อย่างเป็นสุขนี้ เมื่อเราเห็นดังนี้ เราเห็นความเกิดขึ้นของกองทุกข์แล้วเรารู้คุณ เรารู้โทษ แล้วเราก็ทำความดับทุกข์
โดยลำดับต่อไปท่านจะบอกว่า พิจารณาเห็นธรรมที่เกิดขึ้นในกายบ้าง (เห็นทุกข์ที่เกิดขึ้นคำว่าธรรม เห็นทุกข์ในกาย เห็นทุกข์ที่เกิดขึ้นในกาย)
พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง (คำว่าความเสื่อมในที่นี้ก็คือความดับไป โดยที่เรากระทำเหตุแห่งความดับด้วยการกระทำฌานเห็นเสื่อมไป)
พิจารณาเห็นธรรมทั้งเกิดขึ้นและเสื่อมไปในกายบ้าง ( เราเห็นความเกิดขึ้นและกระทำความดับไปตลอดเวลา)
แล้วย่อมอยู่ (ไม่ใช่แค่ดูเฉยๆ ถ้าดูเฉยๆยังเวียนเกิดเเวียนตายอยู่ แต่ดูในที่นี้หมายถึงการเห็นเหตุเกิดและกระทำความดับไปด้วยการกระทำฌานเลย)
จึงสามารถสรุปได้ดังนี้ว่า อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงซักแต่ว่าความรู้ เพียงสักแต่ว่าอาศัยระลึกเท่านั้น
อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ก็เพียงซักแต่ว่าความรู้ คือ รู้ว่ามีร่างกาย รู้ว่ามีคุณ รู้ว่าได้อาศัย แล้วหลังจากนั้น เพียงแต่อาศัยระลึกเท่านั้น อาศัยระลึกคือ เรารู้ว่าเหตุเกิดทุกข์เกิดขึ้นแล้ว และก็ทำความดับทุกข์ด้วยเหตุเกิด แล้วก็เห็นเหตุดับ ด้วยการกระทำฌาน (อายตนะนอกอาศัยกายระลึกซึ่งเป็นอายตนะใน)
เธอเป็นอันผู้ตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว
(ตัณหาที่เมื่อก่อนกายนี้เป็นของเรา อัตตานี้เป็นของเรา ตัวตนนี้เป็นของเรา ทั้งหมดทั้งมวลที่เรายึดว่าเป็นของเรา แต่ตอนนี้ไม่เป็นของเราแล้ว เราเห็นแล้วเราละออกแล้ว)
(ทิฏฐิก็คือ ไม่เห็น ไม่เห็นว่ากายนี้เป็นของเรา เราละออกตามลำดับด้วยการกระทำฌานแล้ว ฌาน1ปีติอันเกิดแต่วิเวก ฌาน2 สุขเหมือนปราศจากอามีส ฌาน3 เวทนาอันเป็นทุกก้ไม่ใช่สุขก็ไม่ใช่เป็นอุเบอกขาอยู่ ฌาน4เป็นผู้สงบแล้ว เป็นผู้ดับแล้ว เป็นผู้ไม่มีอุปาทานใดๆแล้วในกายนี้ )
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายมีอยู่ ก็เพียงซักแต่ว่าความรู้ เพียงสักแต่ว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นอันผู้ตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่น อะไรๆ ในโลก
1
(กายนี้ไม่ใช่ของเรา และเราก็ไม่ถือมั่น แต่เรามีนะ แต่เราไม่ถือมั่น เราทำขั้นตอนการกระทำฌานไปตามลำดับแล้ว)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าเห็นกายในกายอยู่
การเห็นกายในกายคือ เห็นเหตุเกิดขึ้นของกองทุกข์ เห็นเหตุดับทุกข์ รู้ว่ามีคุณ รู้ว่ามีโทษ รู้อุบายเครื่องออกจากผัสสายตนะทั้ง6 คือกระทำฌาน ตามลำดับเพื่อดับกายนี้ จึงจะได้ชื่อว่าเห็นกายในกายอยู่ ถ้าแค่เอา เอาตามามองดู เอาหูมาฟัง เอาจมูกมาดม เอาลิ้นมารับรส เอากายมาสัมผัส เอาใจมารับรู้กายแล้วก็จบไป ไม่ได้กระทำฌานออกตามรับดับ แค่ดูยังไม่พ้นทุกข์
การที่จะพ้นทุกข์จากกาย กาโยติ หรือ อัตตาตัวตนนี้ได้ จากกายในและกายนอก กายในคือเจ้าร่างกายเนื้อของเรานี้ ที่มีองค์ประชุมนี้ กายนอกก็คือกามคุณ5 ที่มาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่ต้องนำมาเลี้ยง เราต้องเห็นและรู้คุณเขา รู้โทษเขา แล้วทำความดับไปตามลำดับ ด้วยอุบายเครื่องออกจากผัสสายตนะทั้ง6 ตามความเป็นจริง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่เห็นกายในกายอยู่
1
เวทนาในเวทนา
เมื่อได้รับเอาอายตนะนอกเข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เข้ามาวิญญาณได้รับรู้ เป็นองค์ประชุม3 ทำให้เกิดรูป เมื่อเกิดรูปใดๆขึ้นแล้ว จะเกิดเวทนาขึ้นทันที เวทนาที่เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง จะต้องเกิดขึ้นทันทีเป็นการเกิดเชื่อมโยงกันต่อเนื่องกัน ถ้าไม่เกิดรูปก่อนจะไม่เกิดเวทนา ต้องเกิดรูปจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก่อนเวทนาจึงจะตามมา
ในกายานุปัฏสี
อานาปานสติบรรพ ก็เป็นสิ่งให้เกิดเวทนา
อิริยาบถบรรพ ก็ทำให้เกิดเวทนา
สติสัมปชัญญะบรรพ ก็ทำให้เกิดเวทนา
ปฏิกูลสัญญาบรรพ ก็ทำให้เกิดเวทนา
ธาตุบรรพ ก็ทำให้เกิดเวทนา
นวสีวถิกาบรรพ ก็ทำให้เกิดเวทนา
กล่าวคือ สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ โดยมีอามิส ก็รู้ชัดว่า มีสุขมีทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์โดยมีอามิส สุข ทุกข์ หรือ ไม่สุขไม่ทุกข์ โดยไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า มีสุขมีทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์โดยไม่มีอามิส และจะเห็นเวทนาในเวทนาได้ครบถ้วนหรือทำให้เราหลุดพ้นจากวัฏแห่งเวทนาก็ด้วยการกระทำฌานเท่านั้น
จิตในจิต
จิตในจิต ถือว่าเป็นธรรมที่ต้องมีคุณสมบัติประกอบอยู่บ้างเช่นการฟังธรรมอยู่เนืองๆ ถึงจะเห็นตามธรรมนี้ได้ ต้องเป็นจิตที่ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้เหตุดับทุกข์ รู้คุณ รู้โทษ รู้อุบายเครื่องออกจากผัสสายตนะทั้ง 6 ตามความเป็นจริง
จิตในจิต คือเห็นอาการของจิตตัวเอง 16 ขั้น ดั่งนี้
1. จิตมีราคะก็รู้วาจิตมีราคะ
2.จิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ
3. จิตมีโทษะก็รู้วาจิตมีโทษะ
4. จิตปราศจากโทษะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทษะ
5. จิตมีโมหะก็รู้วาจิตมีโมหะ
6. หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ
7. จิตหดหู่ก็รู้วาจิตหดหู่
8. จิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน
9. จิตเป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต
10. จิตไม่เป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตไม่ป็นมหรคต
11. จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้วาจิตมีจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า
12.จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
13. จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ
14. จิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ
15. จิตหลุดพ้นก็รู้วาจิตหลุดพ้น
16. จิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น
2
เห็นการเกิดขึ้นและความเสื่อมของจิต หรือเห็นการเกิดขึ้นพร้อมความเสื่อมของจิต
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจิตของเรามีลักษณะอย่างไรใน16ลักษณะนี้ตามความเป็นจริง ก็ด้วยต้องเป็นผู้ฟังธรรมมาก่อนเนืองๆ
จำติดปาก จำขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ มาก่อน
จึงจะได้รับอานิสง 4 ประการ
เช่น ระลึกธรรมได้เองบ้าง
ฟังธรรมจาก อรหัสตสาวกแสดงธรรมแล้วรู้ตามธรรมบ้าง
ฟังเทพบุตรแสดงธรรมแล้วรู้ธรรมตามบ้าง
ฟังผู้รู้แสดงธรรมแล้วรู้ตามธรรมบ้าง
บุคคลผู้นี้ถึงจึงจะถึงฐานะอจินไตย4
คือเป็นผู้
พุทธวิสโย คือรู้เหตุเกิด เหตุดับของทุกข์
ฌานวิสิโย รู้วิธีการกระทำการดับทุกข์ด้วยการกระทำฌาน
กรรมวิปาโก รู้เรื่องของกรรม รู้เรื่องการกระทำกรรมให้สิ้น
โลกจินตา คือรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง ทั้งโลกเก่าและโลกใหม่ที่เป็นปรินิพพาน
1
ต้องรู้เรื่องนี้บุคคลผู้นั้นจึงจะรู้ตามธรรมนี้ได้
ธรรมในธรรม
ในข้อนี้เราเป็นผู้เห็นเหตุเกิดทุกข์และเราเป็นผู้ดับทุกข์ ธรรมในธรรมจะมีองค์ธรรมอยู่คือ
1
1. นิวรณ์5 ที่ย่อมาจาก สังโยชน์10 และย่อจากนิวรณ์5 ไปเป็น อกุศล3 คือ โลภ โกธร หลง
นิวรณ์5 จะมี กามฉันทะ พยาบาท ถินมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา นี้คือคุณสมบัติของกามคุณ5 สิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด
2. ขันธ์5 ตัวนิวรณ์ 5 เป็นตัวทำให้เกิดขันธ์ 5 เมื่อสัมผัสตัวใด จะเกิด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขึ้นมาทันที
3.อายตนะ 6 นิวรณ์ 5 จะเกิดเป็นขันธ์5ได้ เกิดที่อายตนะ6 ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
4. โพชฌงค์7 และมีข้อธรรมสำหรับดับทุกข์คือ โพชฌงค์ 7 จะมีองค์ธรรม7ข้อ
1. สติสัมโพชฌงค์
2. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
3. วิริยะสัมโพชฌงค์
4. ปิติสัมโพชฌงค์
5. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
6. สมาธิสัมโพชฌงค์
7. อุเบกขาสังโพชฌงค์
5. อริยสัจ4 การปฏิบัติธรรมไล่มาตั้งแต่ กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมจนมาจบที่โพชฌงค์7แล้ว จบลงแล้ว แต่ทำไมในข้อธรรมในธรรม จึงมี อริยสัจ4 อยู่ด้วย
1
ต้องรู้ว่า อริยสัจ4 คือหลักปฏิบัติธรรม ที่เราต้องรู้อริยสัจ 4 เป็นเบื้องต้นก่อน ถึงจะปฏิบัติโพธิปักขิยธรรมได้ อริยสัจ4 ที่ยกมานี้คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ทุกข์ กับ สมุทัย เป็นฝ่ายของความเกิดทุกข์
นิโรธ กับ มรรค เป็นฝ่ายของความดับทุกข์ เราต้องรู้ อริยสัจ 4 ให้ถ้วนรอบก่อน ต้องรู้หลักนี้ก่อน ถึงจะมาปฏิบัติมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ได้เข้าใจ
สรุปคือ เราได้เห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมที่เกิดขึ้นภายใน (คือสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเรา สิ่งที่เกิดขึ้นในภายนอก สิ่งที่เราอาศัยอยู่เพื่อเลี้ยงร่างกายอยู่เพื่อมีความสุข )
พิจารณาเห็นธรรมทั้งที่เกิดขึ้นและเสื่อมไปในธรรมบ้าง (คือเราเห็นแล้วในตอนปฏิบัติอยู่)
อีกอย่างหนึ่งสติของเธอตั้งมั่นอยู่ว่าธรรมมีอยู่ (สิ่งที่เกิดขึ้นมีอยู่ สิ่งที่ปรากฏทั้งภายในและภายนอกมีอยู่)
ก็เพียงอาศัยระลึกรู้เท่านั้น (ไม่ใช่ปฏิบัติแล้วเอา แล้วอยู่)
1
เป็นผู้ที่ตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว ไม่ได้ทำเพื่อให้เกิดตัณหาเพื่อที่จะยึด ว่า
1.แสวงหา 2.ได้สิ่งนั้นมา 3.ตรวจสอบว่าถูกต้องแล้ว 4.พอใจต่อสิ่งนั้น 5 .พวักพวงห่วงใยในสิ่งนั้น 6.ยึดว่าสิ่งนั้นเป็นของตน 7.ตะนี่ถี่เหนี่ยว 8.ต่อต้านสุดขีด
อกุศลมูลเกิดขึ้นจนไปถึง อุปาทาน
ละได้ด้วยการกระทำฌาน1ฌาน2 ฌาน3 ฌาน4 ไปตามลำดับ
เป็นผู้สงบแล้ว ไม่มีอุปทานใดๆแล้ว เราคลายออกหมด จึงเป็น
1. วิญญานัง รู้แจ้ง
2. อนิทัสนัง ไม่มีใครชี้ได้เห็นได้
3. อนันตัง ไม่มีขอบเขต
4. สัพโตปพัง แจ่มใส
และเราไม่ถือมั่น อะไรๆในโลก
(ดินน้ำไฟลมอากาศ ไม่มีที่ตั้งที่ไหนอีกแล้ว ถ้าวิญญาณเป็นดั่งนี้ เรามีอยู่แต่เราไม่ถือมั่น)
ทั้งหมดนี้จะสำเร็จได้ด้วยการกระทำฌานเท่านั้น ไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการ เฝ้าดูกายเฉยๆ เฝ้าดูเวทนาเฉยๆ จะเห็นจิตเฉยๆ จะเห็นธรรมเฉยๆ เห็นเฉยๆรู้เฉยๆ ไม่อาจออกจากสังสารวัฏได้ ถ้าไม่กระทำฌานออกจากผัสสายตนะ6 ตามความเป็นจริง
1
กายในกาย ต้องกระทำด้วยฌาน เวทนาเวทนาต้องกระทำด้วยฌาน จิตในจิตต้องกระทำด้วยฌาน ธรรมในธรรมต้องกระทำด้วยฌาน
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านได้เข้าใจใน สติปัฏฐาน4 ได้เข้าใจธรรมะเพิ่มยิ่งขึ้น ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ 🙏❤ Tui Space
อ้างอิง
มหาสติปัฏฐานสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 10 เป็นที่ตั้ง
โฆษณา