18 ส.ค. 2021 เวลา 12:30 • การศึกษา
โรงเรียนเอกชน ส่อเจ๊ง 1,408 แห่ง ร.ร.อนุบาลโคม่าสุด เก็บค่าเทอมได้แค่ 20%
5
คงไม่ต้องถามว่า ณ เวลานี้ อาชีพไหน “สบาย” หรือ “ยากลำบาก” มากกว่ากัน เพราะคำตอบที่ได้คงรู้ๆ กันว่า เจ็บสาหัสไม่ต่าง...
1
หนึ่งในอาชีพที่กำลังลำบากอย่างแสนสาหัสในเวลานี้คือ เจ้าของกิจการโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชน ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล
5
หากมองลงลึกไปอีก ในความเดือดร้อนของกลุ่มโรงเรียนก็จะทราบว่า “โรงเรียนอนุบาล” เจ็บหนักที่สุด เพราะผู้ปกครองที่กำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจในเวลานี้ เลือกที่จะเซฟชีวิต ด้วยการหยุดจ่ายค่าเทอม
1
นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า โรงเรียนเอกชนที่เปิดให้บริการในเวลานี้ ได้รับผลกระทบกันหมด เนื่องจากผู้ปกครองจำนวนมากกำลังเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด-19
2
“โรงเรียนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ โรงเรียนอนุบาล ที่สอนแต่เด็กชั้นอนุบาลและเตรียมอนุบาลอย่างเดียว สาเหตุเพราะ การเรียนออนไลน์ไม่ได้ตอบโจทย์กับเด็กเล็ก เมื่อพ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกเล็กๆ เอง เขาจึงเลือกที่จะชะลอการจ่าย ส่งผลให้เกิดปัญหากับครูและโรงเรียน”
3
จากการเก็บข้อมูลของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน พบว่า ตั้งแต่โควิดระบาดครั้งที่แล้ว จนถึงเวลานี้มีโรงเรียนทั้งในและนอกระบบยื่นเลิกกิจการทั้งประเทศ จำนวน 1,310 แห่ง เลิกกิจการไปแล้ว 1,207 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนมากเป็นโรงเรียนกวดวิชาและโรงเรียนที่สอนวิชาชีพ
2
นายอรรถพล กล่าวว่า ในจำนวน 1,310 แห่งเวลานี้ เลิกกิจการแน่ๆ เหลือแค่ขั้นตอนเอกสาร แบ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติอีก 5 แห่ง โรงเรียนสามัญ และโรงเรียนอนุบาล 98 แห่ง โรงเรียนนอกระบบ (กวดวิชา) 365 แห่ง
5
นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขที่น่าสนใจอีกคือ คาดว่าน่าจะมีตัวเลขเลิกกิจการมากกว่า 1,310 แห่ง เพราะจากการเก็บรวบรวมข้อมูล เชื่อว่าน่าจะไปถึง 1,408 แห่ง
2
ถามว่าตัวเลขนี้เอามาจากไหน นายอรรถพล ค่อยๆ อธิบายว่า เวลาจะเปิดเทอม โรงเรียนเอกชนเหล่านี้จะรายงานมาที่ คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ว่ามีนักเรียนเข้ามาสมัครเรียนกี่คน บางโรงเรียนไม่มีนักเรียนมาสมัคร บางแห่งมีตัวเลขสมัครเป็นหลักหน่วย (คาดว่าต้องโอนย้ายไปเรียนที่อื่น) โรงเรียนบางแห่งเงินอุดหนุน รวมถึงเก็บค่าเทอมไม่พอจ่ายเงินเดือนครู
6
“โรงเรียนที่เข้าข่ายลักษณะนี้ รอดช่วงโควิดนี้ไปได้ ก็คือ “ปาฏิหาริย์” ถ้าปาฏิหาริย์จะเกิดขึ้นก็เพราะบางแห่งได้รับเงินบริจาคจากสมาคมผู้ปกครองและครู แต่...เงินบริจาคในเวลานี้ก็หายากเช่นเดียวกัน...” (ใครจะบริจาคในเมื่อลำบากกันหมด)
3
ตะลึง! โรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศ เก็บค่าเทอมได้ไม่ถึง 20%
3
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เผยว่า โรงเรียนเอกชนในระบบ ทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 3,983 แห่ง อาการหนัก 1,408 แห่ง เลิกกิจการแน่ๆ อีก 98 แห่ง นี่เรียกว่าส่อเจ๊งเกือบครึ่ง
ที่สำคัญ การเลิกกิจการก็หมายความว่า บุคลากรทางการศึกษาเหล่านี้จะตกงานไปด้วย ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะมีมากกว่า 4 พันคน
1
ส่วนการจัดเก็บค่าเทอม เท่าที่เราสำรวจจากโรงเรียนทั้งหมด พบว่าโดยเฉลี่ยทั้งประเทศ สามารถเก็บได้ 50% ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด แต่...สำหรับโรงเรียนอนุบาล เก็บได้ไม่ถึง 20%
1
“ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว การบริหารโรงเรียนจำเป็นต้องใช้เงินจากค่าเทอม 85-90% ส่วนต่างที่เกิดขึ้นนี้ คือ โรงเรียนต่างๆ ต้องควักเนื้อ เจียดทุนมาใช้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนเหล่านี้ไปแล้วมากกว่า 500 ล้าน”
ค่าใช้จ่ายโรงเรียนส่วนใหญ่คือ “เงินเดือนครู”
1
ถามว่าทำไมต้องใช้เงินขนาดนั้นในการบริหารโรงเรียน ใครจะให้คำตอบได้ดีเท่ากับ ผู้บริหารโรงเรียน ทีมข่าวฯ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ครูวิวรรณ สารกิจปรีชา ผอ.โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ ในฐานะนายกสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า
2
ค่าใช้จ่ายที่ได้รับจากค่าเทอม 70-80% คือ เงินเดือนครู ฉะนั้น หากผู้ปกครองไม่จ่ายเงินเข้ามา โรงเรียนก็ต้องรับภาระในการจ่ายเงินเดือนครูต่อไป ถึงแม้โรงเรียนบางแห่ง จะได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ แต่เวลาสอนเด็กๆ จริง เรามีบุคลากรมากกว่าที่บรรจุ มีทั้งครูผู้ช่วย ฝ่ายธุรการ ทุกคนต้องได้รับเงินเดือนเหมือนกัน นี่คือสิ่งที่โรงเรียนหลายๆ แห่งประสบอยู่
1
คุณครูวิวรรณ เผยว่า ทางโรงเรียนได้แก้ปัญหาด้วยการส่งจดหมายไปถึงผู้ปกครองนักเรียน พร้อมอธิบายถึงความสำคัญของค่าเทอมให้ผู้ปกครองเข้าใจว่า ที่ผ่านมา ทางโรงเรียนพยายามช่วยเหลือผู้ปกครองด้วยการลดทอนส่วนต่างๆ แล้ว เพราะเข้าใจว่าเด็กๆ ต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน แต่โรงเรียนก็มีภาระค่าใช้จ่ายต้องแบกรับ ประกอบด้วย เงินเดือนครู ครูผู้ช่วย ฝ่ายธุรการ ค่าอาคารสถานที่ เพราะครูบางคนไม่มีอุปกรณ์สอนออนไลน์ และเลือกที่จะเดินทางมาสอนที่โรงเรียน
4
“สิ่งสำคัญคือการให้คำมั่น เช่น หากจ่ายค่าเทอมมาแล้ว ไม่สามารถเปิดสอนได้ จะต้องคืนเงินในส่วนไหนบ้าง การลงรายละเอียดให้ชัดเจน ตรงนี้จะสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปกครองได้ เพราะเข้าใจว่าเวลานี้ทุกคนลำบาก ขณะที่ตัวโรงเรียนก็ลำบากใจเช่นกัน”
1
ผอ.โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ ยืนยันว่า เราช่วยเหลือครูทุกคน ไม่ลดเงินเดือน ถ้าจะลดเงินเดือนครูก็คงไม่ยอม เราก็ไม่ให้ใครออกด้วย เรายังจ้างทุกคน เพราะเรายังคิดถึงวันที่เปิดเทอม เราต้องมีแม่บ้านคอยดูแลความสะอาด แม่ครัวทำกับข้าวให้เด็กๆ
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่
ครูทำงานหนักขึ้น ต้องปรับตัว เรียนออนไลน์ คือสิ่งใหม่ โรงเรียนอนุบาล
ครูวิวรรณ กล่าวว่า การสอนออนไลน์ของครูอนุบาลเวลานี้ถือเป็นสิ่งใหม่ เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเทรนด์ครูให้มีความพร้อม ซึ่งโดยปกติของการเรียนการสอนแล้ว เด็กจะต้องรวมกลุ่มกันเล็กๆ เพื่อร่วมคิดร่วมทำงานด้วยกัน นี่คือโจทย์ ว่า จะสอนออนไลน์อย่างไรให้ได้ประสิทธิผลและเหมาะสมกับเด็ก
ปัญหาคือว่า เมื่อเราส่งใบงานไป สอนออนไลน์ไปด้วย แต่ถ้าไม่มีคนช่วยควบคุมดูแลเด็ก มันก็ไปต่อไม่ได้ ฉะนั้น การเรียนออนไลน์ลักษณะนี้ก็ต้องมีพ่อแม่ช่วยดูด้วย เราเองต้องกลับมาคิดวิธีการยืดหยุ่นให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เหมาะสมกับทุกบ้าน
“ดิฉันเห็นด้วยนะ การเรียนออนไลน์ไม่เหมาะกับเด็กเล็กจริงๆ ขนาดมาเรียนที่โรงเรียน เด็กยังมีสมาธิในการเรียนไม่มาก ฉะนั้น เวลาสอน ได้สักพักก็ต้องปล่อยให้ไปวิ่งเล่น แต่เมื่อต้องเรียนออนไลน์ การจะสอนให้ตรงกับวัตถุประสงค์ทำได้ยาก แต่...จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อสถานการณ์มันเป็นแบบนี้ สิ่งที่ต้องทำ คือ ทำให้ดีที่สุด ด้วยการแบ่งกลุ่มการสอน”
2
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่
ครูไก่ ได้ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพว่า หากมีนักเรียน 20 คนก็จะแบ่งกลุ่มเป็น 4-5 กลุ่ม แปลว่า ครูต้องสอนในบทเรียนเดิมในแต่ละวัน 4-5 รอบ ส่วนวิธีการจะสอนด้วยเวลาน้อยๆ ก่อน เช่น แรกๆ สอนแค่ 15 นาที ในระดับ อนุบาล 1 หากเป็น อนุบาล 2 หรือ 3 ก็อาจจะเพิ่มเป็น 25-30 นาที ต่อกลุ่ม ส่วนเวลาที่เหลือเด็กก็อาจจะไปเล่น ทำกิจกรรมที่บ้าน เป็นต้น
เพราะการเรียนออนไลน์หรือไม่ ทำให้ผู้ปกครองไม่อยากจ่ายค่าเทอม ครูไก่ กล่าวว่า นี่เป็นหน้าที่ของโรงเรียนต้องพิสูจน์ ว่ามีการเรียนการสอน หรือทำสื่อการสอนส่งไปที่บ้าน เพื่อให้เด็กมีส่วนร่วมในการตอบคำถาม
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่
แนวทางการช่วยเหลือ หวัง “กองทุนฟื้นฟู” พยุงกิจการ
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวว่า หากยังมีการล็อกดาวน์อย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ เชื่อว่า ทั้งประเทศ จะเหลือโรงเรียนที่เปิดสอนอนุบาลอย่างเดียว แค่ 30% และหายไป 70% โรงเรียนที่เหลือรอดจะเป็นโรงเรียนใหญ่และมีชื่อเสียง สิ่งที่จะตามมา คือ โรงเรียนภาครัฐต้องรับผิดชอบเด็กมากขึ้น เพราะเด็กๆ จะไปอยู่ศูนย์เด็กเล็กตาม อปท. ซึ่งความสามารถการดูแลแตกต่างกับโรงเรียนเอกชน
1
ส่วนแนวทางการช่วยเหลือ นายอรรถพล กล่าวว่า เราพยายามหาทางช่วย พยุงกิจการตลอด เรามีกองทุนส่งเสริมการเรียนในระบบ พยายามหาวงเงินให้กู้ ช่วงโควิดรอบแรก มาเจอรอบ 2-4 ก็พยายามขยายวงเงินให้กู้ จาก 1 ล้าน เป็น 3 ล้าน ซึ่งรัฐบาลเองก็อยากจะให้สินเชื้อฟื้นฟู ซึ่ง ทาง ก.คลัง คณะรัฐมนตรี (ครม.) แบงก์ชาติ เห็นชอบในหลักการ แต่ธนาคารไม่ปล่อยกู้ เพราะธนาคารเขารับความเสี่ยง”
ส่วนตัวเชื่อว่า รัฐคงช่วยไม่ได้หมดทุกราย โรงเรียนที่ยังพอมีสายป่านก็อาจจะรอด ทั้งโรงเรียนในระบบและนอกระบบ แต่สิ่งที่อยากจะเน้นและไปถึงคือ เหล่าโรงเรียนนอกระบบที่สอนสายอาชีพแบบหลักสูตรเร่งรัด 5-7 ชั่วโมง กลุ่มโรงเรียนเหล่านี้คือรากฐานในการช่วยเหลือคน สร้างงาน สร้างอาชีพ ได้เร็วที่สุด ยกตัวอย่างง่ายๆ เด็กๆ ไม่มีงานทำ มาเรียนเพนต์เล็บ เรียนเสร็จไปสร้างอาชีพเปิดโต๊ะเพนต์เล็บที่ตลาดได้เลย
1
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่
ในขณะที่ ครูวิวรรณ กล่าวทิ้งท้ายว่า เชื่อว่า “เวลานี้คงไม่มีโรงเรียนเกิดใหม่แน่ แต่ถามว่าจะให้ครูออกไหม เรายังไม่มีแนวคิดนั้น แต่...จะให้รับเพิ่มหรือไม่ เราไม่มีตังค์ที่จะจ้าง ส่วนครูที่ตกงานในเวลานี้ เชื่อว่าอาจจะต้องเปลี่ยนอาชีพ ซึ่งรัฐอาจจะต้องช่วยเหลือในส่วนการฝึกอาชีพใหม่ให้ เพื่อให้เขามีอาชีพ และอยู่ได้ในภาวะวิกฤติเช่นนี้
“เพราะการการจะกลับมาเป็นครูอีกครั้ง...มันยากมากเลยนะคะ”
ผู้เขียน : อาสาม
โฆษณา