19 ส.ค. 2021 เวลา 13:30 • หนังสือ
คุณไม่ควรตัดสินใครด้วยสถานการณ์เพียงครั้งเดียว
WEEKLY BOOK REVIEW ทุกวัน พฤหัส 20.30น. มาแล้วคับผม สัปดาห์นี้ขอนำเสนอ
Situations Matter
พลังแห่งสถานการณ์
โดย Sam Sommers
#Who_Should_Read
-ผู้ที่อยากเรียนรู้ผลกระทบของสถานการณ์ต่อความคิดของเรา
-ผู้ที่อยากเลิกการคิดแบบเหมารวม
-ผู้ที่อยากสร้างสถานการณ์เพื่อโน้มน้าวใจ
#What_I_Get
 
ทุกวันนี้โลกเรามีช่องทางสื่อมากมายหลากหลายช่องทางให้เราได้เลือกรับชม แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกสื่อพยายามแย่งกันเข้ามาเรา คือ การสร้างความง่ายในการเสพสื่อให้กับผู้รับชม
ความง่ายในการสื่อสารนี้ทำให้ผู้รับเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ตรงไปตรงมา และทำให้เราเข้าใจเรื่องราวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นการสร้างประสิทธิภาพการสื่อสารที่ดี แต่มันมาพร้อมกับปัญหาหนึ่งที่ร้ายแรงเช่นกัน
ด้วยสื่อที่ทำให้คุณเข้าใจแบบเห็นอะไรก็เป็นแบบนั้น ( What you see is what you get) ทำให้เราเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายและตรงไปตรงมา แต่ความจริงเบื้องหลังเรื่องราวต่าง ๆ นั้นอาจแตกต่างออกไปจากสิ่งที่สื่อนำเสนอ
เมื่อคุณใช้รูปแบบทำความเข้าใจแบบเดิม ๆ จากสื่อที่สอนให้คุณมองโลกแบบตรงไปตรงมา มันจะทำให้คุณไตร่ตรองสิ่งต่าง ๆ รอบตัวน้อยลงไปด้วย
เพราะเชื่อว่าสิ่งที่คุณเห็นคือสิ่งที่มันเป็นไม่ต้องทำความเข้าใจอะไรเพิ่มเติม และเมื่อคุณเชื่อว่ามันเป็นความจริงไปแล้วก็ย่อมแก้ไขได้ยากกว่าเดิมมาก
อย่างเช่น การที่คุณเห็นพยานในที่เกิดเหตุลักพาตัวเด็กอายุ 2 ขวบต่อหน้าต่อตา แต่พยานคนนี้กลับไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือแต่อย่างใด คุณจะคิดว่าเขาเป็นคนใจดีไหมครับ ผมว่าคงไม่ ทุกคนคงคิดว่าเขาเป็นไร้มนุษยธรรมที่ทนเห็นเด็กตัวเล็ก ๆ โดนลักพาตัวออกไป
แต่ถ้าผมบอกคุณว่าพยานคนนั้นแท้จริงแล้วเป็นคนที่ทำงานให้มูลนิธิเพื่อช่วยเหลือเด็กยากไร้และคนพิการ แล้วยังเป็นคนที่บริจาคเงินเพื่อการกุศลมากที่สุดในชุมชน คุณจะยังคิดว่าเขาไร้มนุษยธรรมอยู่อีกหรือไม่
จากตัวอย่างที่ผมได้นำเสนอไป คุณจะเห็นว่าถ้าเป็นสื่อปกติในทุกวันนี้คงนำเสนอแค่ย่อหน้าแรกเท่านั้น แล้วทุกคนก็ต่างรวมตัวกันประนามคน ๆ อย่างไม่มีชิ้นดี จนเกิดเป็นดราม่าใหญ่โตที่อาจทำให้ชีวิตบางคนพังไปได้เลย
แต่ความจริงของทุกอย่างล้วนซับซ้อนมากกว่าที่สื่อนำเสนอเสมอ การรับฟังสื่อแล้วนำไปตัดสิน หรือเหมารวมตัวบุคคลจึงเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมนัก
เพราะแท้จริงแล้วคนเราล้วนมีความแตกต่างในการคิด ตัดสินใจ และการกระทำ ถึงแม้จะเป็นบุคคลเดียวกันก็ตาม
โดยสิ่งที่สร้างความแตกต่างนั้นขึ้นมา คือ สภาวะแวดล้อม สถานที่ เวลา และเหตุการณ์ที่คุณรับรู้ในเวลาต่าง ๆ หรือเรียกโดยรวมว่า “สถานการณ์” นั่นเอง
คนเรานั้นคิด ตัดสินใจ และกระทำต่างออกไปในสถานการณ์ที่แตกต่างกันเสมอ ตัวอย่างง่าย ๆ อย่างเช่น การให้ตอบว่าเส้นตรงไหนที่ยาวที่สุด โดยแต่ละยาวต่างกันมากกว่า 2 เซนติเมตร ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเส้นไหนเป็นเส้นที่ยาวที่สุด
ถ้าคุณตอบคำถามนี้คนเดียวคุณจะสามารถตอบได้อย่างไม่มีปัญหาว่าเส้นไหนยาวที่สุด ( สมมุติว่าเส้นที่ยาวที่สุดเป็น เส้นที่ 1)
แต่ถ้ามีผู้เข้าร่วมตอบคำถามกับคุณอีก 5 คนตอบคำถามด้วยความมั่นใจว่า เส้นที่ 2 ยาวที่สุด (ถึงแม้ความจริงจะสั้นกว่าเห็น ๆ) คุณก็จะมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงคำตอบตัวเองไปตามคนกลุ่มมากเป็นเปอร์เซ็นมากกว่า 75%
จากตัวอย่างเห็นได้ชัดว่า ข้อมูลของคำถาม และตัวเลือกในการตอบมีเท่าเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มีเพียงสถานการณ์เท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป จากการตอบคำถามคนเดียวไปเป็นหลายคน ทำให้เห็นว่าเพียงแค่สถานการณ์เปลี่ยนคุณก็ตัดสินใจต่างไปจากเดิมได้มากมายเหลือเกิน
สถานการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการคิด ตัดสินใจ และการกระทำของเรา ส่วนมากมาจากบรรทัดฐาน สังคม และอารมณ์ โดยภายในหนังสือจะมีตัวอย่างสถานการณ์ที่ทำให้เราตัดสินใจต่างออกไปอยู่ 4 สถานการณ์
1.ความนิ่งเฉย
ความนิ่งเฉย คือ หมวดหมู่สถานการณ์ที่คุณเข้าไปในสังคมหนึ่งแล้วเกิดการกระทำที่คุณเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ผิด แต่คนอื่นในสังคมนั้นไม่มีปฏิกิริยาอะไรเลย มันทำให้คุณคิดว่าหรือว่านี่เป็นเรื่องปกติของที่นี่ คุณเลยเลือกที่จะไม่ทำอะไรเหมือนกับคนอื่น ๆ เพราะคุณต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น ดังนั้นการที่คุณทำตัวแตกต่างไปอาจทำให้คุณเป็นจุดเพ่งเล็งที่แตกแยกของสังคมได้
เช่น เหตุการณ์ที่เด็กโดนรุมกลั่นแกล้ง ถ้าคุณอยู่ตัวคนเดียวคนอาจเข้าไปช่วย อาจจะแค่ส่งเสียงหรือเรียกตำรวจใกล้ ๆ แต่กลับกันถ้ามีคนอื่นเต็มไปหมดคุณกลับอาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาและไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว
สิ่งที่คุณทำได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ จงทำในสิ่งที่คุณคิดครับ บางทีการแตกต่างเพื่อช่วยคนอื่นก็น่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่าการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแต่ไม่สามารถช่วยเหลือใครได้
2.การคล้อยตาม
การคล้อยตาม คือ สถานการณ์ที่ผู้อื่นหมู่มากเห็นพ้องต้องตามกันไป เพียงเพราะไม่อยากสร้างความขัดแย้งในสังคม ถึงแม้แท้จริงแล้วพวกเขาอาจมีคนที่ไม่เห็นด้วยอยู่ในกลุ่มก็ตาม
เช่น การประชุมของบริษัท ที่เริ่มต้นด้วยการฟังคำพูดของคนที่มีอำนาจมากที่สุดในที่ประชุม ถ้าทุกคนในที่ประชุมนั้นไม่อยากสร้างความขัดแย้ง ทุกคนจะยินยอมไม่สร้างความขัดแย้งขึ้นถ้าไม่จำเป็น ยิ่งโดยเฉพาะการสร้างความขัดแย้งกับผู้มีอำนาจ
แต่การประชุมแบบนี้จะทำให้ขาดมุมมองที่หลากหลาย เพราะไม่มีใครกล้าขัดผู้มีอำนาจโดยไม่จำเป็น และส่งผลให้ผลลัพธ์ออกมาไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด เพราะขาดการวิเคราะห์ที่รอบด้านนั่นเอง
(และถ้าคุณเป็นหนึ่งคนที่ไม่เห็นด้วยแล้วงานออกมาไม่ดีคุณก็จะตอบว่า “ที่จริงผมไม่เห็นด้วยแต่แรกแล้ว แค่ไม่ได้พูดออกไป”)
ในบางสถานการณ์การคล้อยตามก็เป็นสิ่งที่จำเป็นในการหล่อลื่นในสังคมดำเนินไปได้ด้วยความสอดคล้อง แต่บางสถานการณ์การสร้างมุมมองที่แตกต่างให้ผลประโยชน์มากกว่ามาก
ผมแค่อยากให้คุณลองสร้างความขัดแย้งที่ทำให้เราได้คิดอย่างรอบคอบขึ้นบ้าง เพื่อลดการคล้อยตามที่มองโลกในแง่เดียวมากเกินไป
3.บรรทัดฐานทางสังคม
บรรทัดฐานทางสังคม คือ กฏเกณฑ์ที่ไม่เป็นลายลักอักษรที่อยู่ในสังคมนั้น ๆ ผู้คนต่างถูกหล่อหลอมขึ้นมาให้อยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข ด้วยกฏเกณฑ์เดียวกันนี้
แต่บรรทัดฐานทางสังคมของแต่ละสังคมนั้นย่อมมีความแตกต่างกันไม่มากก็น้อย การที่คุณจะทำหรือไม่อะไรคุณควรพิจารณาถึงบรรทัดฐานทางสังคมด้วยว่า การกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับในสังคมหรือไม่
การมองตัดสินคนอื่นก็เช่นกัน เราไม่ควรใช้บรรทัดฐานทางสังคมของเราไปตัดสินคนอื่นที่พวกเขาอาจไม่ได้ยึดบรรทัดฐานเดียวกันกับของเรา เรายังปฏิบัติตัวต่างกันในต่างสังคม คนอื่นก็เช่นกัน
อีกเรื่องหนึ่ง คือ การยึดถือบรรทัดฐานสังคมเกินพอดีก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก อย่างเช่นคำกล่าวที่สังคมหล่อหลอมมาอย่างคำว่า “ผู้หญิงไม่เก่งเรื่องเส้นทาง” ก็เป็นการกล่าวแบบเหมารวมจนเกินไป เพราะมีผู้หญิงมากมายที่ปัจจุบันขับรถและเดินทางได้ดีกว่าผู้ชายเสียอีก
4.ความรัก และ ความเกลียด
ความรัก และ ความเกลียด โดยส่วนมากมาจากสถานการณ์ทั้งสิ้น โดยจากการทดลองพบว่าคนเรามักรักหรือเกลียดคนที่ใกล้ตัวเรามากกว่าคนที่อยู่ไกลหลายเท่า นั่นเป็นเพราะว่าความใกล้ชิดและปฏิสัมพันธ์ในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่มีร่วมกันจะบ่มเพาะให้เราเกิดความรักหรือความเกลียดนั่นเอง
อย่างเช่น สถานการณ์ที่ทำให้คุณหัวใจเต้นแรงอย่างการเดินข้ามสะพานสูง ๆ ที่ไม่มั่นคงพร้อมกับใครสักคน อาจทำให้คุณรู้สึกรักเขาได้มากกว่าสถานการณ์เรียบง่ายอย่างการนั่งพักอยู่ในห้องนั่งเล่น ถึงแม้ใครสักคนนั้นจะเป็นคนเดียวกันและคุณรู้จักเขาเท่ากันก็ตาม
ดังนั้นถ้าคุณอยากให้ใครสักคนรักคุณ คุณก็ควรสร้างสถานการณ์ที่ส่งเสริมให้เกิดความรักได้ง่าย และการสร้างความใกล้ชิดด้วยการที่มีสถานการณ์ร่วมกันบ่อย ๆ แต่ถ้าอยากให้ใครสักคนเกลียดคุณก็แค่สร้างสถานการณ์ให้เห็นหน้าคุณบ่อย ๆ พร้อมกับของที่เขาไม่ชอบก็เพียงพอแล้ว
สุดท้ายนี้ผมอยากให้คุณเห็นว่าคนเราไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่มีความแน่นอนแต่อย่างใด เราทั้งนิ่งเฉย คล้อยตาม ขัดแย้ง รักและเกลียดใครได้ง่าย ๆ ด้วยสถานการณ์ที่ต่างกันไป
ดังนั้นการที่เรารับฟังเรื่องราวของคนอื่นแล้วไปสรุปว่าเราเข้าใจทุกอย่าง ตัดสินตัวตนเขาว่าดีหรือแย่ ก็อาจเป็นการกระทำที่ไม่สมควรนัก เพราะในสถานการณ์นี้เขาอาจทำไม่ดีจริง
แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนไม่ดีมาทั้งชีวิต คนเรามีด้านแย่ก็ต้องมีด้านดีบ้าง อยากให้เราได้แยกแยะเป็นเรื่องราว ๆ ไปมากกว่าการเหมารวมตัวบุคคลไปเสียทุกเรื่อง
#How_I_Feel
 
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่อ่านง่ายด้วยภาษาที่เป็นกันเอง เหมือนมีเพื่อนมาเล่าเรื่องสนุก ๆ ให้ฟัง แต่การวางเนื้อหาและเรื่องราวไม่เชื่อมโยงกันมากเท่าที่ควร ทำให้อ่านแล้วรู้สึกว่าหลงประเด็นไปอยู่บ้าง
เนื้อหาโดยรวมเจาะลึกไปทางจิตวิทยาในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่แตกต่างกันโดยเน้นไปที่การคิดและตัดสินใจของคนเรา ซึ่งก่อให้เกิดข้อคิดและการมองสถานการณ์ที่แตกต่างออกไปจากเดิม
(ปล.พออ่านหนังสือเชิงจิตวิทยาหลังอ่าน Noise แล้วรู้สึกว่าหนังสือ Noise เป็นหนังสือที่สุดยอดมาก เพราะทุกเรื่องราวในหนังสือเล่มอื่นสามารถใช้ทฤษฎีภายในหนังสือ Noise มาอธิบายได้อย่างชัดเจนทุกข้อ)
Review by Another Book
WEEKLY BOOK REVIEW ทุกวัน พฤหัส 20.30 ครับผม
กดไลค์เป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ
สำหรับวันนี้ Another Book สวัสดีครับ
โฆษณา