20 ส.ค. 2021 เวลา 12:55 • ธุรกิจ
[วันนี้อยากเล่าเรื่อง...] ชื่อยาคูลท์เป็นภาษาอะไร และทำไมต้องมีสาวยาคูลท์
'อยากรู้เรื่องยาคูลท์ ถามสาวยาคูลท์สิคะ'
เริ่มมาก็เหมือนกวนกันเลย ในเมื่อวันนี้อยากเล่าเรื่องยาคูลท์แต่ดันให้ไปถามสาวยาคูลท์ซะอย่างงั้น
จริงๆไม่ใช่นะ ผู้เขียนแค่ขอเกริ่นสโลแกนติดหูคนไทยของยาคูลท์เท่านั้นเองค่ะ 😅
ที่ต้องพูดถึงสโลแกนเพราะบ่งบอกถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ชัดเจน
ภาพจำยังชัดเจนเหมือนเดิมทุกอย่าง ของแบรนด์นี้ในสายตาคนไทยคือขนาดที่เล็กมาก และ'สาวยาคูลท์' (หรือบางคนก็เรียกป้ายาคูลท์เพราะอายุที่ไม่ได้สาวแล้วนะ😅)
วันนี้เรื่องราวที่อยากเล่าเกี่ยวกับที่มาของยาคูลท์และสาวยาคูลท์ที่อยู่คู่แบรนด์มายาวนานค่ะ ไปอ่านกันเลยๆ😊👉
📍ความเป็นมาของ ยาคูลท์📍
👉 ยาคูลท์เกิดขึ้นจากการศึกษาในช่วงปี ค.ศ.1930 ของดร.มิโนรุ ชิโรตะ จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกียวโตประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ชาวญี่ปุ่นมีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหารเป็นจำนวนมาก ดร.ชิโรตะได้ศึกษาเพื่อหาแบคทีเรียที่สามารถทนต่อความเป็นกรดในช่องท้องและน้ำดี ไปสู่ลำไส้เล็กเพื่อทำหน้าที่ในระบบย่อย จากการศึกษาพบว่า แบคทีเรียที่แข็งแกร่งที่สุดคือ Lactobacillus casei และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ จึงได้ตั้งชื่อสายพันธุ์นี้ว่าชิโรต้า(ชิโรตะ) หรือจุลินทรีย์ชิโรต้า (Lactobacillus Casei Shirota Strain)
ดร.มิโนรุ ชิโรตะ (ขอบคุณภาพจาก sanook.com)
ดร.ชิโรตะเพาะแบคทีเรียชนิดนี้ในนมพร่อมมันเนย กลายเป็นนมรสเปรี้ยวเพื่อช่วยระบบย่อยอาหาร จากนั้นเขาได้นำแจกจ่ายแก่ผู้ป่วยและผู่ที่ต้องการในเกียวโต จนกระทั่งปี ค.ศ. 1935 จากนมที่แจกจ่ายแก่ผู้ป่วยได้กลายเป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายทั่วญี่ปุ่นโดยผู้จำหน่ายอิสระ และในปีค.ศ.1955 จึงเปิดเป็นบริษัท Yakult Honsha โดยดร.ชิโรตะเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางธุรกิจ จนปัจจุบันมียาคูลท์จำหน่ายใน 40 ประเทศทั่วโลก
👉 โดยคำว่า Yakult (ยาคูลท์) ไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่นตามถิ่นกำเนิด และไม่ใช่ภาษาอังกฤษเพื่อความเป็นสากล แต่ Yakult เป็นภาษาเอสเปรันโต (ภาษาที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยแพทย์ชาวยิวคนหนึ่งที่ชื่อลาซารัส ลุดวิก ซาเมนฮอฟ) มาจากคำว่า Jahurto มีความหมายเหมือนกับ yoghurt คือ'อายุยืนยาว'
📍ยาคูลท์ในประเทศไทย📍
👉 บริษัท ยาคูลท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ.1970) โดยนายประพันธ์ เหตระกูล ที่ได้ไปศึกษาในนามนักเรียนทุนและนักเรียนต่างชาติคนแรกของมหาวิทยาลัยโกเบ ระหว่างที่ศึกษาอยู่ญี่ปุ่นมักมีอาการท้องเสียและได้กินยาคูลท์จนสุขภาพลำไส้แข็งแรงขึ้น เมื่อกลับมายังประเทศไทยจึงคิดจำหน่ายยาคูลท์เพื่อสุขภาพลำไส้ที่ดีของพี่น้องชาวไทย
นายประพันธ์ เหตระกูล (ขอบคุณภาพจาก thenormalhero.co)
โดยไทยเป็นประเทศที่ 5 ที่มีการผลิตยาคูลท์ต่อจากญี่ปุ่น ไต้หวัน บราซิล และฮ่องกง นมที่มีรสเปรี้ยวในเวลานั้นยังถือเป็นของแปลกใหม่ของไทย นมอะไรเปรี้ยว!? บูดหรือเปล่า!? ทำให้เข้าถึงใจลูกค้าได้ยาก ยาคูลท์ล็อตแรกเริ่มจำหน่ายในราคา 2 บาท ซึ่งถือว่าแพงนะเมื่อเทียบกับก๋วยเตี๋ยวที่ชามละ 60 สตางค์ ยิ่งไม่ได้ใจพี่น้องชาวไทยหนักขึ้นไปอีก เพราะแปลกและแพง (ในขณะที่ปัจจุบันก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชามจะ 60 บาทอยู่แล้วยาคูลท์ยัง 8 บาทอยู่นะ)
👉 ในทึ่สุดสถานการณ์ก็ถึงจุดเปลี่ยน เมื่ออหิวาต์ระบาดในพื้นที่สมุทรปราการ คุณประพันธ์ผู้ก่อตั้งมองเห็นถึงโอกาสในวิกฤตนี้ เชิญผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นเพื่ออธิบายแก่สาธารณสุขสมุทรปราการถึงสรรพคุณของยาคูลท์ที่สามารถช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารได้ทั้งอหิวาต์ ไทฟอยด์ บิด และท้องร่วง และได้ทดลองให้ยาคูลท์แก่ผู้ป่วยที่ถ่ายไม่หยุดสองคน เมื่อผ่านไป 3 ชั่วโมง ผู้ป่วยทั้งสองหยุดถ่าย ในวิกฤตครั้งนั้นคุณประพันธ์ได้บริจาคยาคูลท์ให้โรงพยาบาลปากน้ำ 600,000 ขวดเพื่อแจกจ่ายให้ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ยาคูลท์มีผลประกอบที่ไม่ดี แต่เพราะสรรพคุณของยาคูลท์ที่ช่วยผู้ป่วยได้ทำให้เกิดเป็นกระแสพูดปากต่อปาก คนรู้จักและยอมรับยาคูลท์มากขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน จนยาคูลท์กลายเป็นสินค้าคู่คนไทย ที่ทุกคนต้องรู้จัก
1
เห็นได้ถึงความนิยมในสถานการณ์โควิด เมื่อสาวยาคูลท์ถูกล็อคล้อหยุดพบปะประชาชน ยาคูลท์กลายเป็นสินค้าขาดตลาดไปเป็นเดือน จนคนออกมาเรียกร้องหาสาวยาคูลท์กันไม่น้อย น่าดีใจแทนสาวยาคูลท์ทั่วประเทศที่มีแฟนคลับมากมายจริงๆ ในปัจจุบันมีให้สั่งซื้อออนไลน์ด้วยนะคะ และแน่นอนว่าคนส่งก็ยังคงเป็นสาวยาคูลท์
📍ทำไมต้องสาวยาคูลท์ หนุ่มยาคูลท์บ้างไม่ได้เหรอ?📍
กลยุทธ์ 'สาวยาคูลท์' เป็นกลยุทธ์สำคัญของยาคูลท์
เหตุผลที่ต้องเป็น 'สาว' เพราะเป็นนโยบายของบริษัทยาคูลท์ในญี่ปุ่น
สาวยาคูลท์เริ่มมีในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1963 โดยในสมัยนั้นสังคมญี่ปุ่นมองเพศหญิงเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นแม่ที่ทำหน้าที่ดูแลคนในครอบครัว ยาคูลท์จึงอยากส่งต่อสิ่งดีๆแก่ลูกค้าเหมือนกับ คุณแม่ที่นำสิ่งที่ดีมีประโยชน์มาส่งให้ลูกถึงหน้าประตูบ้าน กลายเป็นนโยบายที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
สาวยาคูลท์ในปีค.ศ.1963 (ขอบคุณภาพจาก yakultme.com)
ไม่เพียงในญี่ปุ่นเท่านั้น ในประเทศที่มียาคูลท์ก็จะมีสาวยาคูลท์ด้วยเช่นกัน ยกเว้นประเทศในแถบยุโรปเท่านั้น
สำหรับในประเทศไทยนโยบายสาวยาคูลท์ก็เช่นกัน โดยคุณประพันธ์ผู้ก่อตั้งบริษัทยาคูลท์ในไทยไม่ได้มองว่าสาวยาคูลท์เป็นเพียงกลยุทธ์จากบริษัทญี่ปุ่นที่ต้องทำสืบต่อกัน แต่เป็นการช่วยเหลือผู้หญิงในการหาเลี้ยงชีพหาเลี้ยงครอบครัว
สาวยาคูลท์ไม่ได้เป็นกันง่ายๆนะคะคุณเพราะต้องเข้าได้ทุกอาคารสถานที่ ตามไปฟังเรื่องยาคลูท์กับป้าสายันห์ สาวยาคูลท์ประสบการณ์กว่าสามทศวรรษ มุมมองการเป็นสาวยาคูลท์ และสิ่งที่สาวยาคูลท์ต้องทำในแต่ละวันกันค่ะ
👉เครื่องแบบสาวยาคูลท์ในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน !?
ชุดสาวยาคูลท์สีครีม กางเกงและแถบสีน้ำตาลเข้มที่เราเห็นเป็นเครื่องแบบที่ใช้ในประเทศไทยเท่านั้น ถูกออกแบบโดยภรรยาของคุณประพันธ์ ที่ใช้สีครีมเหมือนยาคูลท์ และสีน้ำตาลกับจุดที่มักเห็นคราบไคลและสิ่งสกปรก
(ขอบคุณภาพจาก yakult.co.jp)
📍ทำไมยาคูลท์มีขนาดเดียว📍
ความจริงแล้วยาคูลท์เคยมีหลายขนาดนะคะ❕
👉 ในปี ค.ศ. 1935 ที่ยาคูลท์เริ่มมีจำหน่ายเป็นครั้งแรก บรรจุภัณฑ์เป็นขวดแก้วหลายขนาด ปิดฝาด้วยฝาไม้ก๊อก
👉 ปีค.ศ. 1955 มีการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้มีฉลาก และขนาดเป็นมาตรฐานเดียวกัน ขนาดขวดเท่ากันแต่ยังคงเป็นขวดแก้วที่ลูกค้าต้องส่งคืนแก่สาวยาคูลท์
👉 ปี ค.ศ. 1968 เปลี่ยนจากขวดแก้วเป็นขวดพลาสติก ลดภาระของสาวยาคูลท์ เปลี่ยนฝาเป็นฝาฟอยล์เพื่อช่วยรักษาคุณภาพ
(ขอบคุณภาพจาก proprofs.com)
ทำไมปัจจุบันมีแค่ขนาดเดียว❕❔
👉แม้ว่าในปี 2018 ยาคูลท์จะออกสินค้าใหม่เป็นยาคูลท์ขวดสีเขียวที่มีน้ำตาลน้อยลง แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปคือขนาดขวด ยังเท่าเดิมและมีขนาดเดียวคือ 80 มล.
เหตุผลเพราะในหนึ่งขวดมี จุลินทรีย์ในปริมาณที่พอดีต่อร่างกาย หากมีในร่างกายมากเกินอาจทำให้ท้องเสียได้นั่นเองค่ะ
💬อ่านจบแล้วมีความคิดเห็น ความรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้
สามารถแลกเปลี่ยนพูดคุยกันได้เสมอนะคะ
ขอบคุณผู้อ่านทุกคน ขอให้ทุกวันเป็นวันที่ดี สุขขีตลอดวันนะคะ 😊🙏🏼
โฆษณา