31 ส.ค. 2021 เวลา 02:34 • ความคิดเห็น
ทุกวันนี้บ้านเมืองของเรากำลังต้องการความสมานฉันท์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหลักในการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า ความสมานฉันท์ ความเป็นเอกภาพ ความสามัคคีกันในสังคมจะเกิดขึ้นได้
จะต้องยึดหลักสำคัญคือ การไม่มีอคติ4 หรือการไม่ลำเอียง 4 ประการ ได้แก่
1. ไม่ลำเอียงเพราะความรัก คือ ไม่มีฉันทาคติ
2. ไม่ลำเอียงเพราะความชัง คือ ไม่มีโทสาคติ
3. ไม่ลำเอียงเพราะความกลัว คือ ไม่มีภยาคติ
4. ไม่ลำเอียงเพราะความหลง คือ ไม่มีโมหาคติ
เนื่องจากอคติ 4 นี้ เป็นเหตุแห่งความแตกแยก กล่าวคือ
1. ฉันทาคติ
ลำเอียงเพราะความรัก เช่นการตัดสินสิ่งต่างๆ โดยเอาความรัก ความชอบ เป็นที่ตั้ง เมื่อรักใครชอบใคร ก็จะเข้าข้างคนนั้น หรือฝ่ายนั้น ๆ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องบางครั้งถึงกับหลับหูหลับตาเข้าข้างพรรคพวกเดียวกัน ทั้งที่ในใจลึก ๆ ก็รู้ว่าผิด
2. โทสาคติ
ลำเอียงเพราะความชัง เช่น เมื่อเกลียดชังใครไม่ชอบใจใคร ก็เห็นเขาเป็นศัตรู เมื่อมีเรื่องมีราวใด ๆ เกิดขึ้น ก็พร้อมจะกล่าวโทษ โยนความผิดให้เขา โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง บางครั้งอาจถึงกับหาเรื่องเขาเพราะความเกลียดชังก็มี
3. ภยาคติ
ลำเอียงเพราะความกลัว เช่น การยอมเข้าข้างคนผิด เพราะกลัวว่าจะมีภัยมาถึงตัว บางครั้งแม้จะรู้ว่าความจริงคืออะไรก็ไม่กล้าที่จะยืนอยู่ข้างความถูกต้อง กลับเอาความอยู่รอดปลอดภัยของตนเป็นที่ตั้ง ความลำเอียงเช่นนี้ ย่อมทำให้สังคมบิดเบี้ยว ไม่มีใครกล้าทักท้วงการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
4. โมหาคติ
ลำเอียงเพราะความหลง เช่น การที่คนเราถูกชักจูงไปในทางที่ผิด หลงเข้าข้างคนผิด เพราะไม่ทันได้ไตร่ตรองพิจารณา หรือการที่คนเราขาดข้อมูล ขาดความรู้ความข้าใจ ทำให้รู้เท่าไม่ถึงการณ์เป็นเหตุให้ตัดสินสิ่งต่าง ๆ ผิดพลาดได้
อคติทั้ง 4 นี้หากเกิดขึ้นเมื่อใดก็จะทำให้สังคมเกิดการแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า เพราะคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ย่อมจะต่อสู้เพื่อแสวงหาความเป็นธรรม นับแต่โบราณกาลในทุกสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมชาวพุทธ
หรือสังคมของศาสนาใดก็ตามล้วนใช้ความยุติธรรมเป็นหลักในการวางรากฐานสังคม ประสบการณ์ที่สั่งสมมาทำให้รู้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ขาดความเป็นธรรมแล้ว สังคมจะปั่นป่วนวุ่นวาย
ดังนั้นในการปกครองทุกระบอบจะต้องมีกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้น และพยายามให้ความเป็นธรรมมากที่สุด ถ้ากระบวนการยุติธรรมขาดความเป็นธรรมเมื่อใด เมื่อนั้นสังคมจะมีปัญหา
และอาจลุกลามสร้างความเสียหายใหญ่หลวงตามมา ตรงกันข้ามถ้ากระบวนการยุติธรรมยังคงอยู่ แม้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ หากกระบวนการตัดสินดำเนินไปอย่างยุติธรรม รับฟังความเห็นข้อมูลหลักฐานจากคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายอย่างเสมอกัน จากนั้นจึงตัดสินอย่างเที่ยงธรรม
ผู้ที่ถูกตัดสินว่าผิดก็พอจะยอมรับคำตัดสินนั้นได้ รวมถึงพรรคพวกเพื่อนฝูงก็พอจะยอมรับได้เช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้เรื่องราวความขัดแย้งนั้นๆ ย่อมจบลงได้ แต่ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่เป็นธรรมขึ้นมาเมื่อใด เมื่อนั้นปัญหาจะตามมามากมายทีเดียว
เมื่อคนในสังคมผิดหวังจากกระบวนการยุติธรรมก็อาจจะเกิดการแสวงหาความเป็นธรรมด้วยวิถีทางของตัวเอง สร้างปัญหาตามมาอีก เพราะกติกาหรือหลักการของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกันไม่ใช้กติการ่วมที่ทุกคนในสังคมยอมรับยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาจากการแสวงหาความยุติธรรมดัวยวิธีการของตนเองหรือพรรคพวกของตนเองนี้ สามารถลุกลามกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ หรือระดับโลกได้เลยทีเดียว
เพราะฉะนั้นในทุกสังคม ที่มีคนอยู่ตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป เช่นในครอบครัว ถ้าตัดสินเรื่องราวต่าง ๆ อย่างเที่ยงธรรม ปัญหาจะน้อย เพราะมีเหตุมีผลที่ทุกคนยอมรับได้ ไม่ได้กลั่นแกล้งกัน แต่เมื่อใดขาดความเที่ยงธรรม อคติเกิดขึ้น ปัญหาจะเกิดขึ้นตามมา
ถ้าต่างฝ่ายต่างคิดว่าตนถูก ฝ่ายตรงข้ามผิด แล้วจะสมานฉันท์กันได้อย่างไร จะสมานฉันท์ได้ต้องมีทางเดียว คือ มีหลักการยึดเอาความถูกต้องความจริง เป็นตัวตัดสิน เพราะความถูกต้องตรงตามความจริงนั้น เป็นสิ่งที่เห็นร่วมกันได้ แต่ถ้าตัดสินโดยถือว่า ใครเป็นพวกใคร ไม่ว่าสังคมไหนย่อมไม่มีทางสมานฉันท์ได้เลย
ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อไม่มีอคติทั้ง 4 ประการซึ่งเราทุกคนต่างก็มีส่วนในเรื่องนี้ ใครที่ชอบเลือกข้างเลือกฝ่ายนั้น เลิกเสียเถิด เราเลือกส่วนรวมดีกว่า เลือกประเทศชาติดีกว่า อย่าไปเลือกใครคนใดคนหนึ่งเลย มองถึงความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรือง ความมั่นคงของสังคมประเทศชาติพระพุทธศาสนาเป็นหลัก แล้วเลิกถือเขาถือเรา เลิกแบ่งฝั่งแบ่งฝ่ายกันเสียเถิด
นอกจากนั้นจึงอย่าตัดสินเรื่องใดๆตามความชอบหรือไม่ชอบของเรา อย่าตัดสินหรือสื่อเรื่องราวใด ๆ ออกไปเพียงเพราะความกลัวโดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชน ซึ่งมีอิทธิพลมากต่อคนในสังคมขอให้สื่อออกไปตามความเป็นจริง อย่าสื่อออกไปเพียงเพราะเห็นผลประโยชน์เฉพาะหน้า หรือเพราะความกลัวจะถูกลงโทษถูกกลั่นแกล้ง
และทุกคนจะต้องพยายามฝึกตนเองให้มีปัญญาเพิ่มขึ้น เมื่อรับฟังข่าวสารใด อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าให้สังคมของเราเป็นสังคมข่าวลือแต่ให้แสวงหาความจริง มองภาพรวมให้ออก ศึกษาให้มาก ถ้าสังคมโดยรวมเป็นสังคมที่มีปัญญา ย่อมยากที่จะถูกชักจูงไปในทางที่ผิดสังคมก็จะเกิดเสถียรภาพมากขึ้น
เมื่อสมาชิกในสังคมเป็นผู้มีปัญญาผู้มีอำนาจก็จะเกรงใจ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีอำนาจฝ่ายไหน เมื่อรู้ว่าไม่สามารถหลอกลวงประชาชนได้ ก็จะทำทุกอย่างด้วยความถูกต้อง แล้วความเป็นธรรมความจริงใจก็จะเกิดมากขึ้น ๆ ไม่นานสังคมไทยก็จะเป็นสังคมที่สงบสุขด้วยความสมานฉันท์ เป็นสังคมที่พัฒนาแล้วอย่างแท้จริง
นี่คือหลักการสร้างความสมานฉันท์แบบชาวพุทธ คือ ใช้ความยุติธรรม ไม่ลำเอียง ไม่เลือกข้างแบ่งฝ่าย แต่ตัดสินอย่างเป็นธรรม ตามความเป็นจริง ไม่เอาความรัก ความชัง ความกลัว มาเป็นตัวตัดสิน รวมทั้งไม่ปล่อยให้ความโง่เขลาความไม่รู้มาทำให้เกิดความผิดพลาดในการตัดสิน แต่แสวงหาปัญญาแล้วตัดสินทุกอย่างตาม
ความถูกต้องและความเป็นจริง เมื่อเป็นเช่นนี้จุดร่วมของสังคมจะเกิดขึ้น ความเห็นร่วม (Consensus) จะเกิดขึ้นได้ แล้วความสามัคคีสมานฉันท์จึงจะเกิดขึ้น ความเจริญก้าวหน้าจึงจะตามมาในที่สุด
โฆษณา