1 ก.ย. 2021 เวลา 10:00 • ข่าว
วารสารการแพทย์อเมริกันเผยงานวิจัย ชี้วัคซีน Moderna กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า Pfizer 2 เท่า หลังฉีดครบ 2 โดส
เว็บไซต์ JAMA Network วารสารทางการแพทย์ของสมาคมการแพทย์อเมริกัน (American Medical Association) เผยแพร่ผลการวิจัยล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (30 สิงหาคม) เปรียบเทียบผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดี ในร่างกาย หลังการฉีดวัคซีนต้านโควิดของ Moderna และ Pfizer-BioNTech ครบ 2 โดส โดยพบว่าวัคซีน Moderna สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าถึง 2 เท่า
การศึกษาวิจัยดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในงานวิจัยแรกๆ ที่เปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นจากการฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิด ขณะที่ทีมนักวิจัย ไม่ได้ตรวจสอบว่าความแตกต่างในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันดังกล่าว ทำให้วัคซีนทั้ง 2 ชนิด มีประสิทธิภาพแตกต่างกันหลังฉีดครบ 2 โดสในช่วงระยะเวลาหนึ่งหรือไม่ ซึ่งผลการทดลองทางคลินิกขั้นสุดท้ายของวัคซีน Moderna และ Pfizer ต่างก็มีประสิทธิภาพต้านทานเชื้อโควิดที่สูงกว่า 90%
ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันในกลุ่มพนักงานกว่า 1,600 คน ในเครือข่ายโรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่งของเบลเยียม โดยวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดหลังการฉีดวัคซีนราว 6-10 สัปดาห์ ซึ่งผู้เข้าร่วมการวิจัยทั้งหมดไม่เคยติดเชื้อโควิดก่อนที่จะได้รับการฉีดวัคซีน
ผลการวิจัยพบว่า ระดับภูมิคุ้มกันของผู้ที่รับการฉีดวัคซีน Moderna ครบ 2 โดส เฉลี่ยอยู่ที่ 2,881 หน่วยต่อมิลลิลิตร ขณะที่ผู้ได้รับการฉีดวัคซีน Pfizer 2 โดส มีระดับภูมิคุ้มกันเฉลี่ย 1,108 หน่วยต่อมิลลิลิตร
ทั้งนี้ นักวิจัยชี้ว่าความแตกต่างในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนทั้ง 2 ชนิด อาจอธิบายได้จากปริมาณสารออกฤทธิ์ในวัคซีน Moderna ที่มีถึง 100 ไมโครกรัม ซึ่งสูงกว่าวัคซีน Pfizer ที่มีปริมาณสารออกฤทธิ์ราว 30 ไมโครกรัม หรืออาจเป็นเพราะช่วงเวลาระหว่างการฉีดวัคซีน 2 โดส ซึ่งวัคซีน Moderna มีระยะห่างในการฉีดโดสแรกและโดสที่ 2 อยู่ที่ 4 สัปดาห์ เทียบกับวัคซีน Pfizer ที่มีระยะห่างระหว่างการฉีดโดสแรกและโดสที่ 2 น้อยกว่าที่ 3 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าความแตกต่างของระดับภูมิคุ้มกันดังกล่าวมีความสำคัญในทางการแพทย์ โดยเดวิด เบนเกเซอร์ นักชีวสถิติของมหาวิทยาลัยเอมอรี ในเมืองแอตแลนตาของสหรัฐฯ เตือนให้ระวังการสรุปผลวิจัยในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากวัคซีนของ Moderna มีประสิทธิภาพโดยเฉลี่ยที่ลดลงช้ากว่าวัคซีน Pfizer เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และการให้ข้อสรุปดังกล่าวต้องใช้สมมติฐานมากมายที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบ
ขณะที่เขาตั้งข้อสังเกตว่า วัคซีนทั้งสองชนิดสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง อีกทั้งการศึกษาวิจัยอื่นๆ ที่ผ่านมา ยังแสดงให้เห็นว่าระดับภูมิคุ้มกันที่ค่อนข้างต่ำก็สามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้
อย่างไรก็ตาม เดโบราห์ สตีนเซลส์ นักจุลชีววิทยาจากโรงพยาบาล Ziekenhuis Oost-Limburg ในเบลเยียม ซึ่งเป็นผู้เขียนนำในงานวิจัยฉบับนี้ ระบุความเป็นไปได้ว่า ระดับภูมิคุ้มกันช่วงต้นที่สูงขึ้นหลังฉีดวัคซีน 2 โดส อาจสัมพันธ์กับระยะเวลาในการป้องกันการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนโดยไม่มีอาการป่วยรุนแรง
1
นอกจากนี้ หากระดับภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นได้รับการยืนยันว่ามีความสำคัญ วัคซีน Moderna อาจดีกว่าสำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งร่างกายไม่ตอบสนองต่อวัคซีนได้ดีนัก
ก่อนหน้านี้ Pfizer ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าวัคซีนของทางบริษัทยังมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันเชื้อโควิด รวมถึงป้องกันอาการป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อจนต้องรักษาในโรงพยาบาล
ซึ่งจากการวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องในการศึกษาทดลองขั้นสุดท้าย แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการจะค่อยๆ ลดลง เมื่อผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ขณะที่ข้อมูลจากการทดลองเบื้องต้นยังพบว่า การฉีดวัคซีน Pfizer โดสที่ 3 ในช่วงเวลาหลังจากฉีด 2 โดสแรก อย่างน้อย 6 เดือน จะกระตุ้นการเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายได้อย่างมีนัยสำคัญ
ภาพ: Photo Illustration by Marcos del Mazo/LightRocket via Getty Images
เรื่อง: วิโรจน์ เลิศจิตต์ธรรม
โฆษณา