3 ก.ย. 2021 เวลา 03:05 • ประวัติศาสตร์
ตรังเกบาร์ - สถานีการค้าของเดนมาร์ก🇩🇰ที่ค้าขายกับพระเจ้ากรุงธนบุรี
ภาพวาดป้อมดานสบอร์ก เมืองตรังเกบาร์
การศึกษาประวัติศาสตร์ธนบุรีตามบทเรียนทั่วๆไป เราจะเห็นความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนเป็นหลัก และเห็นบทบาทของชาติตะวันตกน้อยมาก เนื่องจากเพิ่งผ่านพ้นสงครามเจ็ดปี (ค.ศ.1756-1763) มาไม่นาน แต่มีชาตินึงที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับสงครามครั้งนี้ จนสามารถตั้งสถานีการค้าขายในอินเดียและสานสัมพันธ์กับกรุงธนบุรีเป็นระยะเวลาสั้นๆ (ค.ศ.1767-1782) ชาตินั้นคือ เดนมาร์ก
เดนมาร์กตั้งสถานีการค้าในอินเดียหลังเห็นความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของบริษัทอินเดียตะวันออกทั้งอังกฤษ 🏴󠁧󠁢󠁥󠁮󠁧󠁿 และดัตช์ 🇳🇱 จึงได้ก่อตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกของเดนมาร์กในปี ค.ศ.1616 และอีก 4 ปีต่อมา กองเรือเดนมาร์กนำโดย โอเว่ เจดเด (Ove Gjedde) ได้เดินทางถึงเมืองทารังกัมบดี (Tharangambadi) และได้ทำข้อตกลงกับกษัตริย์รกุนาถ (Raghunatha) แห่งธัญจปุระ (Thanjavur) เพื่อตั้งสถานีการค้าในอินเดียและป้อมปราการชื่อดานสบอร์ก (Fort Dansborg) ซึ่งคนเดนมาร์กเรียกชื่อเมืองทารังกัมบดีว่า "ตรังเกบาร์" (Tranquebar)
ป้อมดานสบอร์ก เมืองทารังกัมบดี (ตรังเกบาร์) ในปัจจุบัน
เมืองตรังเกบาร์นอกจากเป็นสถานีการค้าของเดนมาร์กแล้ว ยังเป้นสถานที่เผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์สาขาลูเธอรันอีกด้วย ดังจากที่มีการสร้างโบสถ์ไซออน (ค.ศ.1701) และโบสถ์นิวเยรูซาเลม (ค.ศ.1717)
โบสถ์ไซออน โบสถ์ลูเธอรันแห่งแรกในอินเดีย https://www.thehindu.com/society/history-and-culture/tharangambadis-tug-of-war-with-time/article23989596.ece
ในช่วงคริสตทศวรรษที่ 1770 บริษัทเดนิชเอเชียติก ดำเนินการค้ากับกรุงธนบุรี ผ่านทางฟรานซิส ไลท์ พ่อค้าชาวอังกฤษ เนื่องด้วยสองพี่น้องตระกูลบราวน์ (เดวิด บราวน์ - David Brown เจ้าเมืองตรังเกบาร์ และ จอห์น บราวน์ - John Brown คณะกรรมการบริหารในบริษัท) ดังมีหลักฐานปรากฏถึงสองครั้งดังนี้
(ซ้าย) เดวิด บราวน์ เจ้าเมืองตรังเกบาร์ (ขวา) จอห์น บราวน์ คณะกรรมการบริหารบริษัท เดนิช เอเชียติก
ครั้งที่ 1 (ค.ศ.1770)
""..จวบจนสมัยธนบุรีการติดต่อการค้าระหว่างประเทศไทยกับเดนมาร์กได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง ดังปรากฏหลักฐานในเอกสารของ A. Eggers - Lura เรื่อง "The Danes in Siam during the End of the last century" ระบุว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๓ (ค.ศ. ๑๗๗๐) รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้มีการสั่งซื้อปืนใหญ่จากบริษัท Danish Royal Asiatic Company ของเดนมาร์ก จำนวน ๑๐,๐๐๐ กระบอก โดยให้สัญญาระบุว่า ประเทศไทยจะจ่ายค่าปืนใหญ่เป็นดีบุก จากนั้นเดนมาร์กได้สั่งอาวุธปืนใหญ่จากโคเปนเฮเกนมายังกรุงธนบุรี แต่เมื่อนำปืนใหญ่จำนวน ๓,๐๐๐ กระบอกมาทดสอบปรากฏว่าปืนใหญ่ ๕๒๑ กระบอก เกิดระเบิดขึ้น ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกเลิกที่จะซื้อปืนใหญ่จากเดนมาร์ก.." (นานาสาระประวัติศาสตร์ จากเอกสารต่างประเทศ เล่ม ๓, หน้า ๒๓๙)"
ปืนใหญ่เดนมาร์กจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ของรัฐในเชนไน
ครั้งที่ 2 (7 ธันวาคม ค.ศ.1776 ตามจดหมายภาษาโปรตุเกส)
"ณวาบ (Nawab - มหาเศรษฐี หรือ เจ้าเมืองแขก) เจ้าพระยาพระคลัง ผู้ใหญ่ ณ กรุงเทพมหานคร มีธุระจิตสนิทเสน่หา มาถึงยองบรอน (John Brown) เสนาเจ้าดีรมัคผู้เป็นเจ้าเมืองตรังกาบาท ด้วยพระบาทสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าที่สูงใหญ่ มีพระบรมราชโองการพระบันฑูรสุรสิงหนาทเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมว่า หน้ามรสุม ปีวอก อัฐศก กปิตันเหล็กออกมาจากซื้อปืน ณ เมืองตรังกาบาทพันบอกเข้าไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย จึงแต่งให้กปิตันเหลกออกมาจัดซื้อ ณ เมืองตรังกาบาท ขอให้เจ้าเมืองตรังกาบาท เห็นแก่ทางพระราชไมตรี และไมตรีช่วยทำนุบำรุงจัดแจงให้กปิตันเหลกได้ปืนหมื่นบอกเข้ามาจงสะดวก
"กปิตันเหล็ก" พระยาภักดีราชกปิตัน (ฟรานซิส ไลท์)
ถ้าเจ้าเมืองตรังกาบาท จะต้องการดีบุกก็ให้แต่งกำปั่นเข้ามารับเอาดีบุกแก่กปิตันเหลก ณ เมืองถลางหกบอกต่อภารา ถ้าจะต้องการงาช้างเนื้อไม้สินค้าสิ่งใด ณ กรุงเทพพระมหานคร กปิตันเหลก รู้ราคาอยู่แล้ว ให้แต่งกำปั่นบรรทุกปืนเข้ามาส่งได้เถีงกรุงเทพพระมหานคร จะคิดราคาให้ครบตามจำนวนค่าปืนมิให้ค้างเกินขัดสนอยู่ได้ ประการนึงถ้าเจ้าเมืองตรังกาบาทจะแต่งกำปั่นบรรทุกผ้าแพรพรรณสินค้าเข้าไปค้าขาย ณ กรุงเทพมหานคร แลราคาผ้าพรรณงาช้างเนื้อไม้สิ้น ณ กรุงเทพมหานคร ควรนั้น กปิตันเหล็กรู้อยู่แล้วให้แต่งกำปั่นบันทุกเข้าไปเถิด เราจะช่วยทำนุบำรุงมิให้ผ้าแพรพรรณของเจ้าเมืองตรังกาบาตกค้างอยู่ได้เป็นอันขาด หนังสือมา ณ เดือนอ้าย แรมสิบค่ำ จุลศักราชพันร้อยสามสิบแปด ปีวอก อัฐศก"
จากนั้นการค้าระหว่างเดนมาร์กกับกรุงธนบุรีเริ่มซบเซา เนื่องจากเดนมาร์กติดพันกับสงครามนโปเลียน (ค.ศ.1803-1815) ส่วนกรุงธนบุรีมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินจนย้ายเมืองหลวงไปอยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาในปี ค.ศ.1782 และทำสงครามกับพม่าอยู่ตลอด ทำให้เดนมาร์กขายตรังเกบาร์ให้กับอังกฤษในปี ค.ศ.1845 และตรังเกบาร์ได้เปลี่ยนชื่อเป็นทารังกัมบดีหลังอินเดียประกาศเอกราชในปี ค.ศ. 1947 และเป็นส่วนหนึ่งของรัฐทมิฬนาดูจนถึงปัจจุบัน
ข้อมูลอ้างอิง
- facebook(ดอท)com/181718382325246/posts/554805018349912/
- facebook(ดอท)com/181718382325246/posts/888063225024088/
- facebook(ดอท)com/archivisttranung.melayu/posts/1169083653540021
โฆษณา