3 ก.ย. 2021 เวลา 09:00 • คริปโทเคอร์เรนซี
CBDC คืออะไร…แล้วคนไทยจะได้ใช้เมื่อไร?
กระแสความสนใจในคริปโตเคอร์เรนซี อย่าง Bitcoin, Ethereum และเงินสกุลดิจิทัลอื่นๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับทิศทางของโลกการเงินที่กำลังมุ่งสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดหรือ Cashless Society ที่นับวันคนจะยิ่งควักเงินกระดาษออกมาจับจ่ายกันน้อยลงทุกที ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต่างเร่งศึกษาและพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลของตัวเอง หรือที่เรียกกันว่า CBDC ซึ่งย่อมาจาก Central Bank Digital Currency ขึ้นมา
1
แล้ว CBDC ที่ว่าคืออะไร? CBDC ตามความเข้าใจแบบง่ายๆ ก็คือ เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเช่นเดียวกับสกุลเงิน Fiat หรือเงินกระดาษปกติ ในกรณีของไทย CBDC ก็คือเงินบาทหรือธนบัตรที่ออกโดยแบงก์ชาติ เพียงแต่อยู่ในรูปแบบ ‘ดิจิทัล’ เท่านั้นเอง ซึ่งเราเรียกกันว่า ‘บาทดิจิทัล’
โดย CBDC สามารถถูกนำไปใช้ได้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่การชำระเงินระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale) ไปจนถึงการใช้ในระดับรายย่อย (Retail) หรือ การนำมาจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันของพวกเรานั่นเอง
2
อธิบายมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจยังสงสัยว่า แล้วไอ้เจ้า CBDC นี่มันต่างจากคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และสเตเบิลคอยน์ (Stablecoin) ที่ออกโดยภาคเอกชนอย่างไร?
ข้อแตกต่างที่ชัดเจนก็คือ CBDC ถือเป็น ‘สกุลเงิน’ ในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งมีคุณสมบัติในการเป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการได้ตามกฎหมาย สามารถรักษามูลค่า และเป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้ ซึ่งต่างจากคริปโตเคอร์เรนซีที่ออกโดยภาคเอกชน ซึ่งมักจะมีมูลค่าที่ผันผวนจากการใช้เพื่อเก็งกำไร ไม่มีกฎหมายรองรับ จึงไม่เหมาะสำหรับการนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ
2
ขณะที่สเตเบิลคอยน์ แม้จะถูกพัฒนาขึ้นบนฐานของเทคโนโลยีบล็อกเชน เหมือนกับ CBDC และมีเงินสกุลปกติ หลักทรัพย์ หรือทรัพย์สิน เช่น ทองคำ ค้ำประกันให้มูลค่ามีความไม่แน่นอนลดลงบ้าง แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายรองรับให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเช่นกัน
ปัจจุบันมีประเทศใดบ้างที่เริ่มใช้ CBDC ไปแล้ว แล้วคนไทยจะได้ใช้เมื่อไร?
จีนถือเป็นชาติแรกที่ประกาศใช้เงินหยวนดิจิทัลสำหรับประชาชนอย่างเป็นทางการไปแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ขณะที่สวีเดนก็ได้เริ่มทดสอบการใช้เงินสกุลโครนาดิจิทัล หรือ e-krona ไปแล้วเช่นกัน และยังมีอีกธนาคารกลางในอีกหลายประเทศที่กำลังเดินหน้าศึกษาและทดลองเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่น ธนาคารกลางอังกฤษและแคนาดา
สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็ถือเป็นธนาคารกลางแห่งแรกๆ ของโลก ที่ได้เริ่มศึกษาและพัฒนา CBDC โดยเริ่มต้นทดสอบระบบการชำระเงินต้นแบบในระดับสถาบันการเงิน (Wholesale) ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งมาตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้ชื่อโครงการ ‘อินทนนท์’
1
นอกจากนี้ ธปท. ยังได้ร่วมมือกับธนาคารกลางฮ่องกงและธนาคารกลาง UAE ทดสอบระบบโอนเงินสกุลดิจิทัลข้ามประเทศระหว่างกันไปแล้วด้วย
1
วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อไม่นานมานี้ว่า การศึกษา CBDC ของ ธปท. ในปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมาก และอยู่ในขั้นตอนการต่อยอดศึกษา ออกแบบและพัฒนา CBDC สำหรับภาคธุรกิจ
โดยวชิราระบุว่า ธปท. มีแผนจะเริ่มทำ Pilot Test เพื่อทดสอบการใช้ CBDC สำหรับการใช้งานในภาคประชาชน หรือ Retail CBDC ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 โดยเบื้องต้นจะเป็นการทดลองใช้งานภายใน ธปท. ก่อน โดยเน้นการทดสอบระบบกลาง ซึ่งจะมีผู้ให้บริการเข้ามาร่วมทดสอบด้วย เมื่อมั่นใจในเรื่องของระบบและรูปแบบต่างๆ แล้วจึงจะเริ่มขยายวงทดสอบออกไปภายนอก
อย่างไรก็ดี วชิรายังมองว่าการเปิดใช้ Retail CBDC ในวงกว้างระดับประเทศอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจาก ธปท. ยังต้องศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องกฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ รวมถึงการดูแลความปลอดภัยทางด้านเทคโนโลยีที่นำมาใช้ และรูปแบบที่ต้องไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน
1
เรื่อง: ดำรงเกียรติ มาลา
โฆษณา