3 ก.ย. 2021 เวลา 10:16 • ความคิดเห็น
เป็น"ลูกน้อง" จะอยู่อย่างไรให้รอด กับหัวหน้าแย่ ๆ (อ่านเถอะไม่มีคำตอบที่ชัดเจนให้นะ) ตามข่าวมีผู้ต้องหากระทำความผิดขณะถูกจับกุมบอกกับนักข่าวว่า "ทำไปเพราะนายสั่ง" ??
ระบบราชการ ตำแหน่งหัวหน้าระดับต่างๆ เรียกว่าเป็นผู้บังคับบัญชา(บังคับคือ ใช้อำนาจบีบให้ทำตาม เป็นคำกริยา ฯลฯ,บัญชาคือสั่งการ)  ส่วนรัฐวิสาหกิจ บ้างก็เรียกว่าเป็นผู้บริหาร บ้างก็ว่าเป็นผู้บังคับบัญชา เอกชนได้ยินบ่อยๆ เรียก Boss
ถ้าใครมีหัวหน้าที่ดีก็ทำงานได้อย่างมีความสุข แต่ถ้าไม่ใช่ก็ซวยไป
เอาแบบที่พบเจอกันบ่อยๆ  เจอมารู้เห็นมาด้วยตัวเอง (ไม่ได้ค้นหาเอามาจากใน google ครับ) เช่นบ้าอำนาจ เอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้ลูกน้อง พวกไม่เอาถ่าน ไม่มีความรู้ โง่อวดฉลาด เป็นต้น  บางคนเถียงว่าหัวหน้าแบบนี้ไม่มีเป็นไปไม่ได้ ขอเถียงว่าเป็นได้และเป็นจริง ระบบราชการ หน่วยงานของรัฐ ที่พิจารณาตามหลักอาวุโส เด็กฝากนักการเมือง ผู้มีอิทธิพลฝากมา เป็นต้น ที่เคยเจอมาผู้บริหารระดับกลางๆ 10 คนจะมีพวกนี้ 2-3 คน หน่วยงานอื่นๆ สัดส่วนมากน้อยคงต่างกัน เมื่อเป็นลูกน้องเขาก็อย่าไปคิดมากถึงที่มาของเขาเลย กัดกร่อนใจของเราเองเปล่าๆ คิดเพียงว่าเราจะอยู่อย่างไร
มาเริ่มต้นที่ (1)หัวหน้าประเภท"บ้าอำนาจ" อำนาจมี 5 ประเภท 1.อำนาจตามกฎหมาย 2.อำนาจเกิดจากการให้คุณ 3.ให้โทษ 4.อำนาจอ้างอิง 5.อำนาจที่เกิดจากความศรัทธา ส่วนคำว่าบ้าคือไม่มีเหตุผล บัญชาการอย่างไม่มีเหตุผล ห้ามลูกน้องแสดงความคิดเห็น ถ้าลูกน้องเห็นต่างแม้ในรายละเอียดบ้างจะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ไร้สติของขึ้นทันที ชอบแต่คำว่า "ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน" ที่ไม่รับฟังความเห็น มักมีความรู้น้อย กลัวเสียหน้ากลัวว่าจะตอบคำถามไม่ได้ และเกลียดคนเก่งเสมอ กับเมื่อมีโอกาสก็จะย้ายสับเปลี่ยนงานให้รู้ว่านี่คือการแสดงอำนาจ
ดังนั้น เป็นลูกน้องควรห่างๆ ไว้แหละดี ถ้าการสั่งการเรื่องที่ถูกต้องก็โอเคไม่มีปัญหา แต่หากคำสั่งนั้นเป็นเรื่องที่ผิดไม่ถูกต้องลูกน้องปฏิเสธได้ แต่ในโลกของความเป็นจริงมันปฏิเสธไม่ได้สำหรับเจ้านายพวกบ้าอำนาจ (ควรบันทึกหลักฐานการสั่งการเก็บไว้เสมอไม่ว่าจะเป็นเสียงหรือเอกสาร และควรเสนอความเห็นเป็นหลักฐานได้ถ้าจำเป็น) การเสนอข้อคิดเห็นต่อหัวหน้าแบบนี้ต้องมีศิลปะ(ใช้ประโยคพูดอย่างไร เมื่อไร อารมณ์แบบไหนเขาถึงจะฟัง ต้องพยายามอ่านนิสัยนายให้ออก) สุดท้ายเมื่อปฏิเสธไม่ได้ก็ควรเตะถ่วงเวลาไปเลื่อยๆ ต้องฉลาดเอาตัวรอดให้ได้ การลงมือปฏิบัติก็ต้องทำตามขั้นตอนที่ถูกต้องเท่านั้น อย่าหวังว่าใครจะปกป้องความผิดให้ถูกจับได้
*ตรงกันข้าม: หัวหน้างานที่ดีจะสั่งงานอย่างมีเหตุผลชัดเจน และรับฟังความเห็นตอบคำถามข้อสงสัยของลูกน้องได้
(2) ประเภท"โง่แล้วอวดฉลาด"  พูดจาทำรู้เก่งรับปากได้หมดแต่ลงมือทำก็ไปไม่เป็น ชอบหางานให้ลูกน้องทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่  มักทำตัวเป็นผู้รู้ เรียกลูกน้องมาคุยบ่อยๆ สอนงานแบบผิดๆ หรือไม่มีสาระ  ทันทีที่เอ่ยปากลูกน้องก็รู้ทันรู้แล้ว  บางทีเมื่อวันก่อนลูกน้องเล่าให้ฟังวันรุ่งขึ้นเรียกลูกน้องมาประชุม เอาคำพูดของลูกน้องมาพูดสอนกลับในที่ประชุม ลูกน้องก็ออกมาบ่น "กูสอนมึงไปเมื่อวานวันนี้มึงดันมาสอนกู"
หัวหน้าต้องมีความรู้ในงานตามหน้าที่อย่างชัดเจน มีวิธีคิด รู้หลักการกระบวนการพอสมควร  เช่นงานเอกสาร หัวหน้าควรรู้ว่าดีถูกต้องคืออะไร แต่ก็ไม่จำเป็นต้องรู้เทคนิคการใช้เครื่องพิมพ์ เป็นต้น
การเรียนรู้เป็นสิ่งดี กับการอวดรู้เป็นคนละเรื่องกัน เมื่อไม่รู้แต่อวดว่ารู้ พวกนี้จะไม่มีพัฒนาไม่เรียนรู้อะไรใหม่ๆ โดยสิ้นเชิง
ใครเป็นลูกน้องให้ทนๆ กันไป ศึกษาธรรมะบ้างก็ดี
ถ้าเจอหัวหน้าแบบ (1)+(2) ก็หนักหนาสาหัส บ้าอำนาจ ไม่ฉลาดแถมขยันอีกอันนี้นรกเลย
*ตรงกันข้าม: หัวหน้างานที่ดีจะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ อ่านหนังสือเยอะๆ  อ่านซ้ำๆ ก็จะเข้าใจมากขึ้นอ่านให้เห็นภาพรวมเนื้อหาในเล่มให้ได้ นำมาประยุกต์ใช้งาน
(3) นายบางคน "เอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้ลูกน้อง" เป็นคนเห็นแก่ตัว มักงกขี้เหนียว ใจแคบ จะชอบประจบกับเจ้านายระดับสูงๆ ชอบพูดว่าตนเองดี อวดอวยตนเอง กับเจ้านายระดับสูง มักจะไม่ให้ลูกน้องระดับรองลงมาเข้าไปพบร่วมพูดคุยกับเจ้านายระดับสูงด้วย นินทาใส่ร้ายสรรหาข้อบกพร่องมาดิสเครดิตด้อยค่าคู่แข่งระดับเดียวกัน  หากมีข้อบกพร่องจะว่าเป็นความผิดของลูกน้องหรือคนอื่น จ้องจับผิดลูกน้อง ไม่ไมีการสอนงาน
ดังนั้น เป็นลูกน้องควรทำใจนิ่งๆ อดทนแม้จะรู้สึกเกลียดหัวหน้ามากแค่ไหนก็ตาม คนประเภทนี้ไม่นานนายระดัยสูงก็รู้ทัน
*ตรงกันข้าม: หัวหน้าที่ดีต้องทำตัวเป็นโค้ช, จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้แม้ว่าจะผลจากการกระทำของลูกน้องก็ตาม, ความพึงพอใจของลูกน้องสำคัญกว่าความพึงพอใจของลูกค้า(ES สำคัญกว่า CS)
(4) พวก"ไม่เอาถ่าน" ไม่เอาถ่านเปรียบเหมือนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่มีแบตเตอรี่ จะไม่กระตือรือร้น อยู่ไปวันๆ เช้าชามเย็นชาม ลูกน้องพวกขี้เกียจด้วยก็ชอบสบายดี  ส่วนลูกน้องที่เก่งขยัน ก็มักจะเปลียนเป็นเชื่อยหรือขี้เกียจตาม คุณภาพงานตกต่ำไม่พัฒนา  ลูกน้องบางคนก็จะไปทำงานรับจ็อบอื่นหรือสร้างกิจการส่วนตัว
ใครมีเจ้านายแบบนี้ก็สบายดีไม่เครียด แต่ต้องระวัง การทำงานแบบตั้งรับมากเกินไป มันก็เหนื่อยภายหลัง ปัญหาถูกสะสมไว้นาน จะมาถมทับภายหลังได้ ยามเมื่อหน่วยเหนือติดตามเร่งรัดสอบถามความก้าวหน้างาน จะให้ลูกน้องตอบหรือไปชี้แจงแทน เมื่อไม่มีผลงานลูกน้องจะเครียด เป็นลูกน้องที่ดีก็อย่าเฉื่อยชาตาม  งานน้อยก็ยิ่งดีเอาเวลามาพัฒนาระบบการงานของตนเอง และฝีมือ พัฒนาความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น
(5) เจ้านาย "สายบันเทิงเริงรมย์" ชอบจัดงานอีเว้นท์จัดกิจกรรมสันทนาการบ่อยๆ ไปราชการเพื่อแสวงหาความสุข ชอบดื่ม ชอบร้องเพลง มักให้นโยบายแบบชัดๆ ว่างานตามหน้าที่ขออย่าให้มีปัญหาก็พอให้ใส่ใจแค่ร้อยละ 40 ก็พอ เน้นที่กิจกรรม 60 สร้างจัดกิจกรรม event ต่างๆ บ่อย มีค่าใช้จ่ายกับกิจกรรมต่างๆ ลูกน้องก็ต้องหามา ก็จะสอนเทคนิกการทุจริตยักยอกหาเงินมาใช้
อันนี้เป็นลูกน้องจะทำอย่างไร ในแง่ของงานก็สบาย มีความสุขสนุกสนาน สำหรับเรื่องทุจริต หาเงินนั้นจะค่อยเพาะเชื้อจนเป็นนิสัย ยามเมื่อโป๊ะแตกภายหลังลูกน้องก็ซวยส่วนนายก็จะรอดตัว อย่าสร้างแผลติดตัวให้เป็นวัวสันหลังหวะอนาคตยังอีกไกล ส่วนงานในหน้าที่อย่าหมกมุ่นปล่อยประละเลยเพลินกับกิจกรรมที่ไม่ใช่หน้าที่ มันจะสะสมปัญหาไว้ภายหลัง ลูกน้องเองนั่นแหละเดือดร้อน
*ตรงกันข้าม(รวม 4,5): หัวหน้างานที่ดีต้องมีคุณธรรมซื่อสัตย์ ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของลูกน้อง, หัวหน้างานที่ดีต้องไม่หนี
สรุปสุดท้าย
มีบางคนอาจงงๆ ว่าเฮ้ย! เจ้านายแบบนี้มีจริงด้วยเหรอ ขอตอบว่าเยอะครับ ถ้าเป็นเอกชนเขาก็คงไม่เอาไว้  แต่หน่วยงานภาครัฐการให้ออกยากกว่าให้เข้าทำงาน
อ้าว! แล้วเขาแต่งตั้งกันมาได้อย่างไร? คำตอบก็คือคุณภาพคนที่มีอำนาจแต่งตั้งนั่นแหละ เมื่อผู้มีอำนาจไม่มีการ "การประเมินศักยภาพที่เป็นจริงของบุคลากรอย่างเป็นระบบ" ทำตามที่เขาหรือใครก็ไม่รู้ทั้งคนในคนนอกเสนอชื่อฝากกันมา หรือวิ่งเต้นให้ผลประโยชน์มาก ก็โอเคหมด "มาตรฐานนิยามว่าคนดีงานดี" คืออย่างไร เมื่อไม่มีมาตรฐานเกณฑ์วัดการประเมินศักยภาพที่ดี และหลายมิติ  ที่สุดก็ได้แบบนี้แหละปะปนเข้ามา และยิ่งไม่ใส่ใจที่จะ "อบรมพัฒนาบุคลากรระดับหัวหน้างาน" ก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ ถ้าโชคดีหน่วยงานนั้นมีผู้บริหารระดับสูงที่ดีเขาก็จะหาทางดร็อปไม่ให้หัวหน้าประเภทนี้เติบโตไปต่อ
ใครเป็นลูกน้องของหัวหน้างานไม่มีคุณภาพ รวมๆ สรุปก็คือทนๆ กันไป เอาธรรมเข้าข่มบ้าง ไม่นานเขาไป สำคัญที่สุดอย่าทำความผิดกฎระเบียบหรือ กฎหมายเสียเอง "อย่าเป็นวัวสันหลังหวะ" อย่าแบกรับเอาความเลวร้ายของหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาไว้ที่บ่าของคุณ
ขอให้ "ลูกน้อง" ทุกคนโชคดีครับ
(กดติดตาม แจ้งเตือน
กดไลค์ได้ครับ)
ดนัย แดงฉ่ำ
*แนะนำหาอ่านรายละเอียดจากหนังสือ 51 วิธีคิดของหัวหน้าที่ลูกน้องอยากทำงานด้วย
**ใครเจอหัวหน้างานแบบอื่นๆ เม้นบอกกันมาบ้างครับ
หัวหน้างานมือใหม่ https://www.blockdit.com/posts/5f7b1181957ee04c38b0761a
โฆษณา