3 ก.ย. 2021 เวลา 12:19 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
D.P. หน่วยล่าทหารหนีทัพ : เมื่อการเกณฑ์ทหารไม่ใช่คำตอบของทุกคน
1
“ถ้าเขาไม่ได้เข้ากรม ก็คงไม่มีเรื่องให้เขาต้องหนีทหารหรือเปล่าครับ”
3
D.P. หน่วยล่าทหารหนีทัพ (2021)
เรื่องราวในซีรีส์อยู่ในช่วงปี 2014 โดยเล่าคู่ขนานไประหว่างโลกของพลเรือนและโลกของทหาร ผ่านสายตาของทหารเกณฑ์ที่เพิ่งเข้ามาใหม่ พลทหารอันจุนโฮ (แสดงโดย จองแฮอิน) ที่โดนทหารรุ่นพี่กลั่นแกล้งอยู่เสมอ แต่โชคดีได้มาอยู่หน่วย D.P. (Deserter Pursuit) ที่มีหน้าที่ตามล่าทหารหนีทัพ
นอกจากที่เขาจะไม่ต้องอยู่ในกรมตลอดเวลา ยังทำให้เขาได้มองเห็นความดำมืดต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ภายใต้กองทัพแห่งนี้ ทหารเกณฑ์หลายคนถูกทารุณอย่างไม่มีเหตุผล (หรือที่เรียกว่าถูกซ่อม) หลายคนที่ทนไม่ได้จึงพยายามหนีทหาร หรือไม่ก็หนีจากโลกนี้ไปเลย
วันนี้ Bnomics จึงอยากชวนทุกคนดูซีรีส์เรื่องนี้ผ่านมุมมองของเศรษฐศาสตร์ แล้วตระหนักถึงปัญหาที่ซ่อนอยู่หลังกำแพงค่ายทหารแห่งนี้
📌 เกิดเป็นชายต้องรับใช้ชาติด้วยการเกณฑ์ทหาร?
“ชายที่มีสัญชาติสาธารณรัฐเกาหลีทุกคน ต้องเข้ารับราชการทหารโดยสุจริต ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติ”
ในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยสงคราม ไม่ว่าประเทศนั้นจะปกครองโดยระบบประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ก็ล้วนแล้วแต่ต้องเกณฑ์พลเรือนมาเป็นทหารกันทั้งสิ้น แต่หลังจากสิ้นสุดสงครามเย็น หลายๆ ประเทศประชาธิปไตยได้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารนี้และแทนที่ด้วยทหารมืออาชีพแทน
ข้อมูลการเกณฑ์ทหารทั่วโลก
สหราชอาณาจักรยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปตั้งแต่ปี 1957 และประเทศแถบยุโรปก็ได้ยกเลิกไปตามๆ กันตั้งแต่นั้น
ส่วนบางประเทศก็มีแพลนที่จะยกเลิกการเกณฑ์ทหารและเปลี่ยนไปใช้ระบบอื่นที่จะช่วยให้กองทัพมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น อิหร่าน
1
หลายๆ ประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ก็ยังคงมีรูปแบบของการเกณฑ์ทหารอยู่ แต่จะมีคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารจริงๆ เนื่องจากมีการยกเว้นให้พิเศษ เช่น ไทย (ได้ยกเว้นสำหรับคนที่ผ่านการเรียนหลักสูตรรักษาดินแดน)
ในแถบเอเชีย ประเทศเวียดนาม ลาว เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ยังคงมีการเกณฑ์ทหารอยู่
ประเทศแถบตะวันออกกลางมีการเกณฑ์ทหารโดยทั่วไปสำหรับทุกคน เช่น อิสราเอล ทั้งชายและหญิงต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารโดยไม่มีข้อยกเว้นเป็นระยะเวลา 2-3 ปี
น้อยกว่า 30 ประเทศทั่วโลกที่ยังมีการบังคับให้คนในทุกช่วงวัยต้องผ่านการรับราชการทหารให้ครบเกณฑ์ ประกอบไปด้วย คิวบา โคลอมเบีย แองโกลา เอริเทรีย และซูดานใต้ รวมถึงฟินแลนด์ ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ (ซึ่งสามารถทดแทนด้วยการทำงานบริการสาธารณะได้)
อย่างไรก็ดี สาธารณรัฐเกาหลีที่มีพรมแดนติดกับเกาหลีเหนือ ยังมีการเกณฑ์ทหารมาตั้งแต่ปี 1957 จนถึงปัจจุบัน โดยผู้ชายทุกคนที่อายุระหว่าง 18 - 28 ปีต้องเข้าไปฝึกเป็นเวลา 2 ปี (ภายหลังลดลงเหลือ 18 เดือน) จะมีข้อยกเว้นเพียงไม่กี่กรณีเท่านั้น เช่น ผู้พิการทุพพลภาพตามที่กฎหมายกำหนด หรือทำชื่อเสียงให้ประเทศในด้านกีฬาและดนตรีคลาสสิก ซึ่งจะเห็นได้จากตอนต้นเรื่อง ที่ชายที่มีฐานะดีหรือมีเส้นสาย ก็ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายนี้เพื่อหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร
D.P. หน่วยล่าทหารหนีทัพ (2021)
ถ้าพูดกันตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว มีงานวิจัยหนึ่งได้ชี้ให้เห็นว่า การเกณฑ์ทหารเป็นวิธีที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนักในการจะสร้างกองทัพขึ้นมา
หากอ้างอิงจากหลักการแบ่งงานกันทำ (Specialization) และการได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (comparative advantage) ที่ว่าถ้าคนเราทำสิ่งๆ หนึ่งจนชำนาญ ก็จะทำให้เราทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า แล้วก็จะเกิดความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ การเป็นทหารเองก็ควรอาศัยคนที่เคยได้รับการฝึกฝนเกี่ยวกับอาวุธมาบ้าง การที่ไปนำทุกคนมาเป็นทหารเกณฑ์โดยไม่ได้คำนึงถึงประสิทธิภาพโดยเปรียบเทียบของเขาเมื่อทำงานอย่างอื่น ส่งผลให้การเกณฑ์ทหารไม่สามารถจับคู่คนกับงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
1
ถึงแม้ในแง่ของงบประมาณรัฐ การเกณฑ์ทหารจะถูกกว่าการจ้างทหารมืออาชีพ เนื่องจากทหารเกณฑ์ได้รับเงินน้อยกว่าค่าจ้างทหารมืออาชีพ สำหรับเกาหลีใต้ในปัจจุบัน ทหารเกณฑ์จะได้รับเงินเดือนราว 466 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นเพียง 40% ของค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น แต่ต้องอย่าลืมนึกถึงต้นทุนอื่นที่แฝงอยู่ด้วย อย่างเช่น ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ที่หมายถึง โอกาสที่ทหารเกณฑ์เหล่านั้นอาจจะได้ไปทำงานอื่นที่เหมาะกับความสามารถและได้ค่าตอบแทนดีกว่า หรือโอกาสที่จะได้รับการศึกษาที่สูงกว่านี้ หากไม่ต้องแบกรับหน้าที่เพื่อชาติในช่วงวัยที่กำลังจะสร้างเนื้อสร้างตัว
📌 ต้นทุนทางเศรษฐกิจของการเกณฑ์ทหาร
ถ้ามองในระดับตัวบุคคล มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการเกณฑ์ทหารทำให้ระดับรายได้ที่คนๆ หนึ่งจะได้ตลอดชีวิตของเขาลดลง จากการที่รายได้หายไปประมาณ 5 - 15% และส่งผลต่อทุนมนุษย์ในการตัดสินใจที่จะศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หลายคนต้องเลื่อนแผนที่จะเรียนต่อออกไปก่อน เนื่องจากต้องเข้ากรมพอดี อีกทั้งความรู้ความสามารถทางเทคนิคต่างๆ อาจหายไประหว่างที่ต้องเข้ากรมไปเกือบ 2 ปี ซึ่งส่งผลให้ทุนมนุษย์โดยรวมในเศรษฐกิจ และประสิทธิภาพของแรงงานลดลงอีกด้วย
งานวิจัยของ Lau et al. (2004) ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบในระยะยาวต่อเศรษฐกิจที่เกิดจากการเกณฑ์ทหาร โดยหากสมมติว่าประชาชนทุกคนต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร 1 ปี ตอนอายุ 18 ปี พบว่าระดับ GDP ในระยะยาวจะลดลงไปถึง 1% ซึ่งก็สอดคล้องกับงานวิจัยเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นว่าสำหรับประเทศกลุ่ม OECD ระดับรายได้ของคนวัยทำงานและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลงเมื่อมีการเกณฑ์ทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแรงงานจำนวนมากต้องถูกเกณฑ์ทหาร และเมื่อระยะเวลาการเกณฑ์ทหารยาวนานขึ้น
📌 การเกณฑ์ทหารของเกาหลีใต้ในปัจจุบัน
แม้ว่าในปัจจุบัน การเกณฑ์ทหารของเกาหลีใต้ยังคงมีอยู่ เนื่องจากประเด็นความมั่นคงของประเทศ แต่ก็มีประเด็นถกเถียงมากมายเกี่ยวกับสวัสดิการและความเป็นอยู่ของทหารเกณฑ์ภายในค่ายทหาร จากการที่มีรายงานการฆ่าตัวตายของทหารในกรม การถูกกดขี่จากผู้ที่เหนือกว่า หรือการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
อย่างไรก็ดี เกาหลีใต้เริ่มมีความพยายามจะปฏิรูปกองทัพและปรับกฎเกณฑ์บางอย่างให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น จากมุมมองของกระทรวงกลาโหม ในอนาคตจำนวนประชากรชายสัญชาติเกาหลีที่ต้องเกณฑ์ทหารในแต่ละปี จะลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากการกลายเป็นสังคมสูงวัย
และคาดว่าในปี 2039 จะเหลือเพียง 186,000 คนเท่านั้น ทางกองทัพจึงได้เริ่มมีการเปลี่ยนผ่านโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น ลดขนาดของกำลังพลลง และรับสมัครพลเรือนที่มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น เพื่อให้รองรับกับอนาคตที่จำนวนทหารจะลดลง
เกาหลีใต้ประมาณการว่าทหารเกณฑ์จะไม่เพียงพอกับความต้องการ
ทั้งนี้ คาดว่าจะลดจำนวนกำลังทหารลงจาก 599,000 นาย ให้เหลือประมาณ 522,000 ราย ในปี 2022 ซึ่งจะเป็นทหารเกณฑ์อยู่ที่ 274,000 นาย ส่วนที่เหลือเป็นการสมัครเป็นทหารแบบสมัครใจ และมีแผนที่จะเพิ่มเงินเดือนของทหารยศจ่าให้อยู่ที่ 582 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2022
1
เงินเดือนของทหารยศจ่าในประเทศเกาหลีใต้
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทางรัฐสภาของเกาหลีก็ยังได้ผ่านกฎหมายให้ศิลปิน K-Pop ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศและถูกเสนอชื่อโดยกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว
อาทิ วง BTS สามารถผ่อนผันการเกณฑ์ทหารได้ไปจนอายุ 30 ปี เนื่องจากถือว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อชื่อเสียงของประเทศ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี
จนกฎหมายนี้ถูกเรียกว่า “BTS Military Service Act” ซึ่งกฎหมายนี้ก็ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2021 เป็นต้นมา
1
“BTS Military Service Act” กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2021
เมื่อดูซีรีส์เรื่องนี้จบลง นอกจากเราจะมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้ค่ายทหารที่เต็มไปด้วยระบบอำนาจนิยมและระบบอาวุโส ระบบเส้นสาย การถูกด้อยค่าความเป็นมนุษย์ และการเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อหน้า จนทำให้เกิดความรุนแรงเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
1
D.P. หน่วยล่าทหารหนีทัพ (2021)
เราจะตระหนักได้ว่า ทหารเกณฑ์เหล่านี้ ก่อนที่จะมาเข้ากรม ก็เป็นเพียงพลเรือนคนหนึ่ง เป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของพ่อแม่ เป็นสามี เป็นแฟน เป็นพ่อ เป็นพี่ชายหรือน้องชายของใครสักคน ที่กำลังเรียนหรือทำงานอยู่อย่างแข็งขัน และมีคนรอคอยให้เขากลับบ้านไปอย่างปลอดภัย เพียงแต่ช่วงระยะนี้ต้องมาแบกรับหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ คือ “การปกป้องประเทศชาติ”
2
สังคมจึงควรตั้งคำถามว่า หากประเทศชาติจำเป็นต้องได้รับการปกป้องโดยทหารแล้วนั้น แต่เหตุใดทหารเหล่านี้ถึงยังไม่ได้รับการปกป้องสิทธิและความเป็นมนุษย์ของเขาเท่าที่ควร?
2
#DP #ซีรี่ส์เกาหลี #เกณฑ์ทหาร
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา