27 ส.ค. 2021 เวลา 12:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Sky Castle : การศึกษาที่ฆ่าฉัน ... เมื่อการศึกษาจะถูกสงวนไว้สำหรับคนที่พร้อมกว่าเท่านั้นหรือ?
2
“การเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยจึงถูกจัดขึ้นมา สำหรับเด็กที่พร้อมเท่านั้น”
2
Sky Castle
“ค่าเลือกอันดับคณะมหาวิทยาลัย 10 อันดับ 900 บาท ไม่แพงเลย ถูกมาก”
3
ดร.พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบ TCAS ได้พูดประโยคข้างต้นไว้ตั้งแต่ต้นปี จนกระทั่งประโยคด้านล่างที่ถูกพูดเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากในสถานการณ์เช่นนี้ เงิน 900 บาทสำหรับหลายครอบครัวอาจจะเป็นเงินก้อนเดียวกับที่ต้องใช้ยังชีพกันทั้งครอบครัว
หากเป็นเช่นนี้แล้ว เด็กๆ ที่มีความสามารถหลายคนอาจต้องถูกตัดโอกาสเพียงเพราะไม่มีเงิน ทั้งๆ ที่การศึกษาที่สูงขึ้นสามารถเป็นบันไดที่พาเขาออกจากความยากจน หรือโลกนี้จะช่างอยุติธรรม ที่มีเพียงแค่คนซึ่งมีกำลังทรัพย์มากเท่านั้น ที่เอื้อมถึงการศึกษาดีๆ ได้?
ซีรีส์เกาหลีเรื่อง Sky Castle ที่สะท้อนสังคมชั้นสูงและการแข่งขันกันทางการศึกษา อาจจะทำให้เราได้เห็นภาพนี้ได้ชัดขึ้น
โดยเนื้อเรื่องจะฉายให้เห็นภาพของครอบครัว 5 ครอบครัวที่มีหน้ามีตาทางสังคม ส่วนใหญ่เป็นศาสตราจารย์ แพทย์ อัยการ ทั้ง 5 ครอบครัวนี้อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน Sky Castle
ทุกครอบครัวโดยเฉพาะเหล่าแม่ๆ จะพยายามแข่งขันกันทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกสอบติดแพทย์ของมหาวิทยาลัยดังๆ ในเกาหลี ที่เรียกย่อๆ ว่า SKY ประกอบด้วย National Seoul University, Korea University และ Yonsei University จนถึงขนาดใช้เส้นสายระดับ VVIP เพื่อจ้างโค้ชที่เคยเป็นกรรมการคุมสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาโค้ชลูกตั้งแต่มัธยมปลายให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ตามที่ต้องการ (แล้วนำมาเปรียบเทียบกันระหว่างลูกฉันกับลูกเธอ ว่าใครสำเร็จกว่ากัน) นอกจากนี้ ในเรื่องยังมีปมซับซ้อนอีกมากมายที่เสียดสีวงการการศึกษาได้อย่างน่าสนใจ
วันนี้ Bnomics จึงอยากจะพาทุกคนไปมองปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในระบบการศึกษาของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันที่กำลังเกิดกับอีกหลายประเทศในเอเชีย รวมถึงไทยด้วย
📌 การศึกษา คือ รากฐานของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
คุณ Theodore Schultz นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1979 กล่าวไว้ว่า การลงทุนในทุนมนุษย์ผ่านทางโรงเรียนของรัฐ จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ และผลตอบแทนของการลงทุนในการศึกษานี้จะยิ่งเห็นได้ชัดในประเทศที่มีรายได้น้อย
การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของเกาหลีใต้ เป็นหลักฐานหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าทฤษฎีนี้เป็นความจริง โดยจะเห็นได้จากหนึ่งในปัจจัยที่รัฐบาลในขณะนั้นให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือการขยายระบบการศึกษา เพื่อเตรียมประชากรให้พร้อมกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพราะรู้ดีกว่าประชากรที่มีคุณภาพจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
แม้ว่าทรัพยากรของโรงเรียนส่วนมากจะถูกทำลายไประหว่างที่เกิดสงครามเกาหลี (1950 - 1953) และครูที่ส่วนใหญ่ที่เป็นชาวญี่ปุ่นได้กลับประเทศไป หลังจากที่เกาหลีได้รับอิสรภาพ แต่นั่นไม่สามารถหยุดยั้งความพยายามของรัฐบาลที่จะสร้างระบบการศึกษาให้ครอบคลุมได้
ประธานาธิบดีอีซึงมัน (1948 - 1960) ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐเกาหลีได้ขยายการศึกษาระดับประถมออกไปให้มากขึ้น ผ่านการสร้างวิทยาลัยครูเพื่อที่จะเพิ่มปริมาณครูประถมได้อย่างรวดเร็ว ผลที่ตามมาคือจำนวนเด็กที่เข้าเรียนชั้นประถมเพิ่มขึ้นเป็น 4.94 ล้านคนในปี 1965 จากที่ในปี 1945 อยู่ที่เพียง 1.37 ล้านคนเท่านั้น
ต่อมาในช่วงที่นายพลปาร์ค จุง ฮี ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี (1961 - 1979) เศรษฐกิจได้เติบโตขึ้นเป็นอย่างมากจากนโยบายอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลได้วางไว้ ตลอดจนแนวนโยบายที่ส่งเสริมการศึกษาของประชาชนให้มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของประเทศในขณะนั้น
1
เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น และประชาชนได้รับการศึกษาระดับประถมมากขึ้น จึงเริ่มมีความต้องการที่จะศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมมากขึ้นตามไปด้วย ขณะนั้นทั้งโรงเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายไม่ว่าจะรัฐหรือเอกชนสามารถมีสิทธิเลือกนักเรียนได้ผ่านการสอบเข้า แล้วก็เริ่มมีการจัดอันดับโรงเรียนเกิดขึ้น
ด้วยความที่พ่อแม่ชาวเกาหลีใต้เชื่อว่าการศึกษาจะนำไปสู่โอกาสในการประสบความสำเร็จที่มากกว่า โดยเฉพาะถ้าได้เรียนโรงเรียนดีๆ มหาวิทยาลัยชื่อดัง โอกาสที่จะได้ทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่คงไม่ไกลเกินเอื้อม การสอบแข่งขันจึงเริ่มดุเดือดมากยิ่งขึ้น จนมีกวดวิชาผุดขึ้นมาเป็นจำนวนมากตั้งแต่นั้น
📌 ถ้าการศึกษาคือการลงทุน ... แล้วคนไม่มีทุนจะทำอย่างไร?
1
เมื่อรัฐบาลเห็นปัญหาเช่นนั้นจึงไม่รอช้าที่จะออกนโยบายเพื่อให้โรงเรียนทุกแห่งเท่าเทียมกัน กำหนดให้เด็กๆ ถูกส่งเข้าไปเรียนตามเขตของตนเองทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชนโดยระบบสุ่ม เริ่มต้นจากโรงเรียนมัธยมต้นในกรุงโซลเป็นที่แรกในปี 1969 ก่อนที่จะขยายไปยังเมืองอื่นๆ และขยายไปยังระดับชั้นมัธยมปลาย
ด้วยนโยบายข้างต้น จึงทำให้โรงเรียนรัฐและเอกชนมีค่าเล่าเรียนที่ไม่แตกต่างกันมาก คุณภาพของครู และเนื้อหาที่เรียนก็ใกล้เคียงกัน ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหาการแข่งขันกันระหว่างโรงเรียนได้ แต่การแข่งขันระหว่างนักเรียนด้วยกันเองก็ยังคงอยู่ เพียงแค่ขยับขึ้นไปอีกขั้น เป็นการแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัยแทน
จนถึงปัจจุบัน แม้จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหลายต่อหลายครั้ง แต่ทว่าเกาหลียังคงมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดจนก่อให้เกิดปัญหาทางด้านการศึกษาและสังคม ทำให้โรงเรียนมัธยมปลายหลายๆ แห่งปรับหลักสูตรการสอนเป็นการ “เรียนเพื่อสอบเข้า” และการเรียนกวดวิชาจึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากแม้ว่าจะราคาสูงก็ตาม
1
ค่าใช้จ่ายในการเรียนกวดวิชาโดยแบ่งตามระดับชั้นในเกาหลีใต้
จากข้อมูลพบว่า ในปี 2016 ผู้ปกครองชาวเกาหลีใต้โดยเฉลี่ยใช้จ่ายไปกับเรื่องการศึกษา 11% ของรายได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้สูงพอๆ กับค่าใช้จ่ายภายในบ้านเลยทีเดียว และค่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาจะยิ่งสูงขึ้นอีกในครอบครัวที่มีรายได้มากขึ้น
อัตราการเข้าเรียนกวดวิชาในประเทศเกาหลีใต้
แน่นอนว่าการที่ผู้ปกครองลงทุนไปกับการส่งลูกเข้าเรียนกวดวิชาก็เนื่องจากเขาคาดว่า กวดวิชาสามารถช่วยให้ลูกได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง จบออกมาทำงานในบริษัทใหญ่โต มีหน้าที่การงานมั่นคงดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว โดยเฉพาะผู้ปกครองที่มีลูกคนเดียว ยิ่งจ่ายเงินค่ากวดวิชาให้ลูกมากกว่าผู้ปกครองที่มีลูกหลายคน
แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แม้แต่ครอบครัวที่ไม่มีรายได้เลยก็ยังจ่ายค่าเรียนกวดวิชาให้ลูกราวๆ 92 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน และมักจะพบกรณีที่ผู้ปกครองกู้เงินมาเพื่อจ่ายค่าเรียนกวดวิชาเหล่านี้อีกด้วย
รายจ่ายครัวเรือนเกาหลีใต้สำหรับการศึกษา โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 11% ของรายได้หลังหักภาษี
ในปัจจุบัน การสอบซูนึง (College Scholastic Ability Test) สำหรับเข้ามหาวิทยาลัยเกาหลี จัดขึ้นแค่ครั้งเดียวใน 1 ปี ถือเป็นการสอบสำคัญที่ตัดสินชีวิตเด็กเกาหลี มีผู้เข้าสอบกว่า 5 แสนคน แต่ผู้ที่จะสมหวังได้เข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ 3 อันดับแรก (SKY) ได้นั้นมีเพียง 1.9% เท่านั้น (ซึ่งไม่ต่างจากไทย) จึงมีผู้พลาดหวังในแต่ละปีจำนวนมากที่รอสอบใหม่ในปีต่อไปอยู่เรื่อยๆ จนกว่าจะติด ทำให้การแข่งขันยิ่งเข้มข้นมากและกวดวิชาเลยกลายเป็นสิ่งที่ดูจะจำเป็นอย่างยิ่ง
รัฐบาลเกาหลีเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมามีการออกกฎเพื่อจำกัดโรงเรียนกวดวิชาอยู่หลายครั้ง (เช่นเดียวกันกับจีน) และมีการกำหนดเวลาเปิดปิด แต่เนื่องจากยังคงมีความต้องการเรียนกวดวิชาอยู่มาก
โรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้จึงหาทางปรับเปลี่ยนรูปแบบ อาทิ สอนออนไลน์ หรือผู้ปกครองบางคนก็จ้างติวเตอร์ส่วนตัวมาสอนลูกที่บ้านเลย
เห็นได้ชัดว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง ฐานะของพ่อแม่ถือเป็นปัจจัยกำหนดอนาคตของลูกที่สำคัญอย่างยิ่ง เด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะดี ย่อมมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดีกว่า ซึ่งในข้อนี้ผู้ที่ออกแบบระบบการศึกษาก็น่าจะรู้ดีอยู่แล้ว
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ผู้ออกแบบระบบการศึกษาควรทำเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ไม่ใช่ยอมรับว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่พร้อมกว่า แต่ควรจะหาทางออกแบบระบบให้เอื้อต่อเด็กที่มีรายได้น้อย ให้เขายังมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้เช่นกัน
เด็กที่มีรายได้น้อยหลายคน เขาฝันถึงการได้เข้ามหาวิทยาลัย ฝันถึงโอกาสที่จะช่วยให้ครอบครัวหลุดพ้นจากความยากจน หลายคนเป็นเด็กที่มีศักยภาพมาก
4
หากประตูในการเข้าสู่มหาวิทยาลัยของเด็กเหล่านี้ถูกปิดลง เพียงเพราะไม่มีเงิน ... การศึกษาอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างที่หลายคนเคยกล่าวไว้ แต่กลับเป็นสิ่งที่แบ่งระหว่างคนที่มีกับไม่มีเสียมากกว่า
2
และท้ายสุดแล้ว เราจะพบว่า การศึกษาที่ไม่เท่าเทียม จะกลายเป็นเครื่องมือที่ซ้ำเติม ทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนยิ่งแยกห่างกันออกไป กลายเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของสังคมและประเทศต่อไป
3
#SkyCastle #การศึกษา #เกาหลีใต้
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
Kim, Sunwoong & Lee, Ju Ho. (2010). Private Tutoring and Demand for Education in South Korea. Economic Development and Cultural Change. 58. 259-296. 10.1086/648186.
Hultberg, Patrik & Calonge, David & Choi, Ty. (2021). Optimal levels of private tutoring investment in South Korea. International Journal of Education Economics and Development. 12. 97-115. 10.1504/IJEED.2021.10035303.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา