5 ก.ย. 2021 เวลา 08:03 • ข่าวรอบโลก
จีนประกาศนโยบาย "รุ่งเรืองร่วมกัน" เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและขจัดความยากจน
5
ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน แถลงนโยบายในการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจและการเงินแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ในเรื่องเศรษฐกิจยุคใหม่ของประเทศจีนที่จะเน้น "ความรุ่งเรืองร่วมกัน หรือ Common Prosperity" ซึ่งจะเป็นนโยบายใหม่ของพรรคในการจัดการกับเศรษฐกิจของประเทศต่อจากนี้
4
จากการจัดอันดับมหาเศรษฐีโดย Forbes ประจำปี 2021 พบว่า ประเทศจีนมีมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ มากกว่า 3 หมื่นล้านบาท กว่า 600 คน เมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศที่มีกว่า 1,400 ล้านคน เทียบเป็นสัดส่วนง่ายๆคือ จำนวนมหาเศรษฐีในจีนมี 1.8 คนต่อประชากรล้านคน
1
Colin Zheng-Huang, Zhong Shanshan, Jack Ma 3 จาก 10 มหาเศรษญีของประเทศจีนจาก Forbes (Credit : Forbes)
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้มีรายได้สูงอีกจำนวนมาก ซึ่งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จีนมีจำนวนผู้ร่ำรวยมากขึ้น แต่กลับกระจุกอยู่ที่บางธุรกิจและบางพื้นที่เท่านั้น ทำให้ปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มมากขึ้น โดยประชากรกลุ่มที่ร่ำร่วยที่สุด กว่า 20% มีรายได้สูงกว่าคนยากจนถึง 10 เท่า
3
ขณะเดียวกันเมืองใหญ่ และ เมืองชนบท ประชากรก็มีรายได้ที่ต่างกันมาก พบว่ารายได้เฉลี่ยของประชากรในเซี่ยงไฮ้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 7,000 หยวน หรือ ประมาณ 35,000 บาทต่อเดือน ซึ่งสูงกว่าเมืองอื่นๆและชนบททั่วประเทศมากกว่าครึ่ง
2
เมืองเซี่ยงไฮ้ (Credit : Tell me China)
"ความรุ่งเรืองร่วมกัน หรือ Common Prosperity" คืออะไร
1
หลักการหรือนโยบายนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศจีน เพราะก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีเหมาเจ๋อตุง เคยนำมาใช้แล้ว ในช่วงทศวรรษที่ 1950 ในบริบทของการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมแบบคอมมิวนิสต์ในการแย่งชิงอำนาจจากเจ้าของที่ดิน ชนชั้นสูง และชาวนาที่ร่ำรวยถือครองที่ดินในชนบท เพื่อนำมากระจายให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม
1
ประธานาธิบดีเหมาเจ๋อตุง (Credit : Wall Street Journal)
ต่อมานโยบายนี้แพร่หลายในสมัยของประธานาธิบดีเติ้งเสี่ยวผิง ในช่วงทศวรรษที่ 1980 โดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เปิดเสรีมากขึ้น โดยการเปิดโอกาสให้ "คนบางกลุ่ม หรือ บางพื้นที่" มีฐานะร่ำรวยขึ้นมาก่อน เพื่อจะได้เปลี่ยนผ่านความรวย หรือ ความรุ่งเรืองร่วมกันไปยังอนาคต ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว
1
ประธานาธิบดีเติ้งเสี่ยวผิง (Credit : ThoughtCo)
จีนนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนไม่กี่ปีมานี้ กลายเป็นประเทศที่ร่ำรวย มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และอาจจะแซงหน้าสหรัฐอเมริกา เป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจ ด้านการลงทุน และเทคโนโลยี ที่เติบโตเร็วมากที่สุดในโลกด้วย
ภาคเอกชนและความมั่งคั่งของประเทศจีนทะยานสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามมาด้วย ผลเสียคือปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างมากระหว่างเมืองใหญ่กับเมืองชนบท ปัญหา "รวยกระจุก จนกระจาย" และปัญหาสังคมตามมา
ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงขึ้นมามีอำนาจตั้งแต่ปี 2012 พยายามที่จะนำนโยบายนี้มาปัดฝุ่นใช้ใหม่ เพื่อกระจายรายได้ของ"คนรวย" ไปสู่ "คนจน" โดยเป้าหมายไม่ได้เป็นไปเพื่อให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วหรือเป็นประโยชน์ต่อคนเฉพาะกลุ่ม แต่จะเป็นไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และขจัดปัญหารายได้ไม่เท่าเทียม ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่ทางพรรคต้องการจะบรรลุเป้าหมายให้ทันวาระที่พรรคคอมมิวนิสต์จะก่อตั้งครบร้อยปี ในปี 2049
10
ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง (Credit : https://www.fmprc.gov.cn/ce/ceke/eng/zfgx/t1512185.htm)
รัฐบาลจีนได้อธิบายว่า นโยบายนี้ไม่ได้เป็นการกำจัดคนรวย เพื่อไปช่วยคนจนแต่อย่างใด จุดมุ่งหมายหลักคือการกำจัดความไม่เป็นธรรมในการกระจายรายได้ ที่กระจุกอยู่แค่คนบางกลุ่ม รวมถึงรายได้ที่ผิดกฎหมาย โดยพยายามกำจัดการทุจริตและควบคุมกลุ่มเหล่านี้อย่างสมเหตุสมผลที่สุด
4
Credit : WordPress.com
นโยบายความรุ่งเรืองร่วมกัน มีอะไรบ้าง และ จะบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร
ที่ผ่านมา สีจิ้นผิง เริ่มดำเนินการปราบปราม ควบคุม กำจัด อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยธุรกิจของภาคเอกชนที่โดนเพ่งเล็ง คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ การเงิน เทคโนโลยี การศึกษา เช่น โรงเรียนกวดวิชา และสถาบันที่ผิดกฎหมาย
2
หลายคนอาจจะได้ยินข่าวก่อนหน้านี้ว่าทางการจีนมีการจัดการกับเหล่าคนดัง คนรวยที่เลี่ยงภาษี หรือ คนที่มีเรื่องอื้อฉาวทางการเงินที่ผิดปกติ รวมถึงการควบคุมภาคเทคโนโลยี ไม่ให้พนักงานทำงานเกินชั่วโมงที่กำหนด ไม่ให้เยาวชนเล่นเกมหลายชั่วโมง เป็นต้น
Credit : Reuters
เหล่านี้อยู่ภายใต้นโยบายความรุ่งเรืองร่วมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น โทรศัพท์มือถือ เกม คอมพิวเตอร์ มีจำนวนผู้บริโภคมากเกินไปจนผูกขาดตลาด และ ไม่ให้บริษัทเหล่านี้มีรายได้มากเกินไป จนไม่นำไปสู่การกระจายรายได้ไปภาคอื่นๆ
1
สิ่งที่รัฐบาลจีนพยายามทำ คือ ควบคุมรายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้สูง ปรับนโยบายภาษี นโยบายประกันสังคม สวัสดิการให้ผู้สูงอายุ การรักษาพยาบาล เพิ่มงบประมาณที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีฐานะดีขึ้น เพิ่มงบด้านการศึกษา และขยายการศึกษาให้เข้าถึงทุกที่ เพื่อให้จำนวนประชากรที่มีรายได้ปานกลางและยากจนเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการกระจายรายได้ด้วย
3
นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังสนับสนุนและส่งเสริม "ให้คนรวยนำรายได้กลับคืนสู่สังคม" ผ่านการบริจาค และการกุศลมากขึ้น ซึ่งนี่จะกลายเป็นกฎระเบียบใหม่ที่ผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ เศรษฐีพันล้าน หมื่นล้าน จะต้องคืนสู่สังคม นอกเหนือไปจากภาษีที่ต้องเสียให้รัฐบาลอยู่แล้ว
1
ภาคธุรกิจเทคโนโลยีใหญ่ๆก็พยายามตอบรับนโยบายของรัฐบาล โดยการบริจาคเงิน ช่วยเหลือสนับสนุนกรณีที่ประเทศมีภัยพิบัติร้ายแรง เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น ผู้พัฒนาเกมออนไลน์และโซเชียลมีเดีย Tencent ของจีน ออกนโยบายที่จะปรับธุรกิจเพื่อช่วยเหลือสังคม และช่วยธุรกิจขนาดกลางและเล็ก โดยบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนนโยบายความรุ่งเรืองร่วมกันของรัฐบาลจีน
2
ก่อนหน้านี้บริษัท Tencent โดนข้อหามอมเมาเยาวชนด้วยโซเชียลมีเดีย ทำให้เยาวชนติดเกมและใช้เวลาเล่นเกมมากเกินไป จนทำให้รัฐบาลต้องออกมาควบคุมไม่ให้เยาวชนเล่นเกมต่อวันมากจนเกินไป
1
แง่หนึ่งอาจมองได้ว่ามีผู้บริโภคเสพสินค้าของบริษัทนี้มากเกินไป ทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นกว่า 29% หรือประมาณกว่า 200 ล้านล้านบาท ภายใน 3 เดือน แทบจะผูกขาดธุรกิจในรูปแบบเกมแทบทั้งหมดแล้ว
1
Credit : BBC
ผลกระทบ
ผลกระทบโดยตรงในช่วงที่เริ่มนโยบายนี้จะเป็นกลุ่มมหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นอันดับแรก รัฐบาลไม่เพียงแต่ควบคุมเรื่องการกระจายรายได้ และ การบริจาคกลับคืนสู่สังคมเท่านั้น อีกแง่หนึ่งนี่จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลจีนในการควบคุมความมั่นคงทางไซเบอร์ของจีนด้วย (Cyber Security) ท่ามกลางโลกที่หมุนไปเร็ว การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกให้มนุษย์เข้าถึง "สาร" บางอย่าง เพียงแค่ปลายนิ้วคลิก ก็อาจจะสั่นคลอนความมั่นคงที่รัฐบาลจีนต้องการปกป้องได้
4
จะเห็นได้ว่ามาตรการที่รัฐบาลจีนออกมาในช่วงนี้มีความเชื่อมโยงกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมาตรการชิงหล่างที่ต้องการควบคุมดารา ศิลปิน คนดังและแฟนคลับบนโลกออนไลน์ การควบคุมจำนวนชั่วโมงที่เยาวชนสามารถเล่นเกมคอมพิวเตอร์ได้ ไปจนถึงการปราบปรามการทุจริต หนีภาษี ควบคุมรายได้ของมหาเศรษฐี ออกนโยบายบริจาคทำเพื่อสังคม และแทรกแซงบอร์ดบริหารของบริษัทต่างๆ
2
เศรษฐกิจจีนมีความซับซ้อนและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ธุรกิจและการค้ามีเสรีมาหลายปีตั้งแต่สมัยของเติ้งเสี่ยวผิง การที่รัฐบาลจะปรับและควบคุมอาจจะทำได้ยากถ้าจะเป็นการขัดขวางการพัฒนาของเอกชนและแนวคิดทุนนิยม ซึ่งทางพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็รู้ถึงความซับซ้อนและความยากนี้ ในช่วงเริ่มต้นรัฐบาลกลางพยายามที่จะผลักดันให้รัฐบาลท้องถิ่นเร่งดำเนินนโยบายเพื่อให้เห็นผลภายในปี 2035
นักเศรษฐศาสตร์ทั้งในจีนและต่างชาติ วิเคราะห์ว่านโยบายความรุ่งเรืองร่วมกันนี้อาจทำให้เกิดภาวะไม่สมดุลระหว่างผู้บริโภคและธุรกิจได้ และอาจทำให้การส่งออกและการลงทุนนอกประเทศน้อยลงเช่นกัน โดยเฉพาะของภาคเอกชน เนื่องจากโดนตรวจสอบและควบคุมมากขึ้น
และถ้ามีการขึ้นภาษีกลุ่มคนที่มีรายได้สูง หรือ เรียกเก็บภาษีผลตอบแทนจากการลงทุน อาจะทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกจากประเทศได้
1
ตั้งแต่ที่มีโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าแพร่ระบาดทั่วโลก เศรษฐกิจของจีนจะเริ่มชะลอตัวอีกครั้ง อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวกลับมาสูงขึ้น การปราบปรามและควบคุมธุรกิจของคนรวย คนดัง ส่งผลให้นักลงทุนวิตก และอาจก่อให้เกิดการชะงักในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในประเทศจีนได้
ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว รัฐบาลจีนเริ่มมาตรการควบคุมบริษัทและธุรกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม พยายามขัดขวางไม่ให้บริษัทเทคโนโลยี Ant ซึ่งถือหุ้นโดย Alibaba 33% ได้ทำธุรกิจในเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง โดยเป็นความพยายามที่จะยึดตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริษัทของ แจ็ค หม่า หนึ่งในผู้ที่ร่ำรวยที่สุดของจีนและของโลก
1
Credit : TechNode
ซึ่งจริงๆแล้วรัฐบาลจีนพยายามเข้าควบคุมหัวหน้าบริษัทที่เป็นมหาเศรษฐีแทบทุกสัปดาห์ ไม่เว้นกระทั่งเหล่าคนดัง ดารา ศิลปิน ที่มีธุรกิจ และ เศรษฐีพันล้านหน้าใหม่ด้วย
1
ผลกระทบคือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่เซี่ยงไฮ้ร่วงฮวบตั้งแต่จุดสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากการประกาศใช้กฎระเบียบและมาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ
2
ตามมาด้วยผลกระทบที่ทำให้ผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจหน้าเก่าและใหม่ ประสบภาวะความมั่งคั่งหดตัวลง มูลค่าการถือหุ้นของมหาเศรษฐีจีน 20 คนในวงการเทคโนโลยี ลดลงกว่า 16% ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
นำร่องที่มณฑลเจ้อเจียง
นโยบายความรุ่งเรืองร่วมกัน จะถูกนำมาทดลองใช้ที่มณฑลเจ้อเจียงเป็นที่แรก เนื่องจากเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ร่ำร่วยและมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง โดยเป้าหมายในการลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน และกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม ถูกกำหนดให้บรรลุเป้าภายในปี 2025
3
ก่อนหน้านี้การปรับภาษีให้เหมาะสมถูกถกเถียงและปรับใช้มาก่อนแล้วที่เซี่ยงไฮ้และฉงชิ่ง ตั้งแต่ปี 2011 แต่ก็มีความคืบหน้าน้อยมาก ซึ่งต้องดูต่อไปว่าถ้ารัฐบาลจีนปรับนโยบายเรื่องภาษีแล้ว จะมีความคืบหน้าเพิ่มเติมหรือไม่
มณฑลเจ้อเจียง (Credit : China Daily)
References:
โฆษณา