6 ก.ย. 2021 เวลา 01:30 • ความคิดเห็น
สภากาชาดขาดเลือด เกย์อยากช่วยบริจาค แต่เขาไม่รับเลือดเกย์
ถ้าคุณมีเพศกำเนิดชาย ที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศชายมาก่อน ทางสภากาชาดขอไม่รับบริจาคเลือดจากคุณอย่างถาวร
นั่นหมายความว่าไม่ว่าคุณจะนิยามตัวเองว่าเป็นเกย์ ไบ สาวประเภทสอง ผู้หญิงข้ามเพศ หรือแม้แต่ผู้ชาย ฯลฯ แต่ถ้าคุณเคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศชายมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเกย์ ไบ ผู้ชาย สาวประเภทสอง ผู้หญิงข้ามเพศ ฯลฯ สภากาชาดจะไม่รับเลือดจากคุณอย่างถาวรครับ
2
แม้ทางสภากาชาดจะมีเหตุผลในการไม่รับบริจาคเลือกจาก แต่เหตุผลเหล่านี้มีประเด็นให้ได้ถกเถียงอยู่ตลอด เพราะนอกจากจะเป็นเหตุผลที่ใช้ไม่ค่อยได้จริงในทางปฏิบัติแล้ว ยังแฝงไปด้วยการเลือกปฏิบัติทางเพศ และที่สำคัญอาจกระทบต่อความเป็นความตายของผู้ป่วยที่รอบริจาคเลือด ท่ามกลางวิกฤตขาดเลือดที่สภากาชาดเองเผชิญอยู่บ่อย ๆ
🔴 สภากาชาดไม่รับบริจาคเลือดจากคนกลุ่มนี้อย่างถาวร เพราะประเมินว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีเชื้อ HIV โดยหากผู้บริจาคเลือดเพิ่งได้รับเชื้อ HIV มาในช่วง Window Period แล้วมาบริจาคเลือด จะไม่สามารถตรวจเจอเชื้อ HIV ได้ ทำให้เลือดที่บริจาคมีเชื้อ HIV ติดไปด้วย และถึงแม้ว่าจะได้รับเชื้อมาเกิน Window Period แล้วมาตรวจเจอตอนบริจาคเลือด ก็ถือว่าสิ้นเปลืองทรัพยากรในการรับบริจาค ทางสภากาชาดเลยตัดปัญหาไม่รับไปเสียเลยครับ
แต่
HIV สามารถติดได้โดยไม่จำกัดเพศ แม้บางกลุ่มจะมีความเสี่ยงต่ำกว่าแต่ก็ยังมี เปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงอยู่ดี และในปัจจุบันมีการตรวจหา HIV โดยใช้วิธี NAT ซึ่งสามารถย่นระยะเวลา Window Period จาก 30 วันเหลือ 7 วันได้ ทำให้มีความเสี่ยงน้อยลงกว่าเดิมมาก การตัดโอกาสในการบริจาคอย่างถาวรจะคุ้มกับโอกาสที่เสียไปในการได้รับเลือด โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติขาดเลือดที่มีคนนอนรอความเป็นความตายจากเลือดอยู่หรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีคำถามชวนคิดที่ว่า
❶ ถ้าเคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศชายจริง แต่หลังจากนั้นไม่เคยมีอีกนานมาก หรือมีผลตรวจยืนยันว่าไม่มีเชื้อ HIV ทางสภากาชาดจะยังคงไม่รับเลือดจากคนกลุ่มนี้อย่างถาวรหรือไม่
❷ และต่อให้สภากาชาดมีข้อกำหนดไม่รับเลือดจากคนกลุ่มนี้อย่างถาวร ข้อกำหนดที่ว่านี้สามารถใช้ได้จริงในแง่ปฏิบัติหรือไม่ เพราะต่อให้มีแบบฟอร์มให้กรอกและมีการซักประวัติจากเจ้าหน้าที่ ใคร ๆ ก็สามารถปกปิดข้อมูลได้
🔴 อีกหนึ่งเหตุผลในการไม่รับบริจาค คือก่อนหน้านี้มีกรณีที่คนไม่กล้าไปตรวจ HIV โดยตรง เลยไปบริจาคเลือดแทนโดยหวังผลว่าหากบริจาคเลือดแล้วตรวจพบ HIV ทางสภากาชาดจะส่งจดหมายไปแจ้งเองที่บ้าน แต่ถ้าคุณเพิ่งมีความเสี่ยงมาในระยะต่ำกว่า Window period และได้รับเชื้อ HIV มาจริง ๆ จะไม่สามารถตรวจเจอเชื้อในเลือดได้ แต่เลือดที่บริจาคไปจะมีเชื้ออยู่
คำถามชวนคิดคือ
❶ แล้วสภากาชาดรู้ได้อย่างไรว่าคนที่มาบริจาคเลือดเพื่อหวังผลตรวจ HIV หรือเจ้าของเลือดที่มี HIV เป็นคนจากกลุ่มนี้ ในเมื่อไม่ได้มีการระบุเจาะจงในช่วงแรก และในช่วงหลังคนกลุ่มนี้ก็ไม่สามารถบริจาคได้อยู่แล้ว
❷ และในปัจจุบันที่สังคมเปิดกว้างเรื่องเพศศึกษามากขึ้น การตรวจ HIV เป็นเรื่องง่ายและสะดวกสบายมากขึ้น แถมล่าสุดยังมีชุดตรวจเองที่บ้านได้ สภากาชาดคิดว่าจำนวนผู้ที่ยอมลงทุนไปบริจาคเลือดเพียงเพื่อตรวจ HIV จะยังมีเท่าเดิมจนใช้เป็นเหตุผลในการไม่รับเลือดจากคนกลุ่มนี้อย่างถาวรหรือไม่
2
❸ หรือต่อให้ยังมีคนไปบริจาคเลือดเพื่อหวังตรวจ HIV จริง ๆ การออกข้อห้ามนี้สามารถห้ามได้จริง ๆ หรือไม่ จะดีกว่าไหมหากมีการมุ่งเน้นที่การให้ความรู้ที่ถูกต้องและแนะนำช่องทางการตรวจ HIV ที่ดีกว่า
จริง ๆ แล้วประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรครับ เคยมีการยื่นเรื่องขอให้สภากาชาดทบทวนกฎข้อห้ามนี้แล้ว เพราะหลายต่อหลายประเทศก็ได้เปลี่ยนแปลงและยกเลิกกฎข้อนี้ไปแล้ว หรือแม้แต่สภากาชาดเองจะยังกังวลและต้องการลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด ก็สามารถลดข้อกำหนดมาเป็นงดการมีเพศสัมพันธ์ก่อนบริจาคเลือด 7 วันเพื่อให้เลย Window Period และสามารถตรวจพบ HIV ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องห้ามบริจาคถาวร
สุดท้ายแล้ว ต่อให้สภากาชาดตัดสินใจไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดดูเหมือนจะไม่ใช่กลุ่มผู้ถูกห้ามบริจาคเลือด แต่เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ความเป็นความตายขึ้นอยู่กับสต็อกเลือดที่สภากาชาดขาดแคลนอยู่บ่อย ๆ
มันคงเป็นเรื่องน่าหดหู่นะครับ ถ้ามีใครสักคนนอนรอเลือดอยู่ แล้วมีผู้ชายคนหนึ่งที่สุขภาพแข็งแรงเลือดปกติสมบูรณ์พร้อมบริจาคให้ แต่สภากาชาดไม่รับเลือดของคนนี้เพราะเขาชอบผู้ชายด้วยกัน โดยสภากาชาดมองว่าเขาเป็นกลุ่มเสี่ยงถาวร
แล้วเพื่อน ๆ ผู้อ่านคิดว่าในยามที่สภากาชาดเผชิญวิกฤติขาดเลือดอยู่บ่อย ๆ เช่นนี้ สภากาชาดควรทบทวนกฎข้อห้ามนี้หรือไม่ หรือยังควรงดรับบริจาคอย่างถาวรอย่างนี้ตลอดไปครับ?
▔▔▔▔▔▔▔▔▔▔▔▔▔▔▔
✒ #TheColumnist - ขอบคุณสำหรับการกดไลก์ กดติดตาม และเป็นกำลังใจให้พวกเราในการแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร และแนวคิดใหม่ ๆ นะครับ
โฆษณา