6 ก.ย. 2021 เวลา 05:30 • สิ่งแวดล้อม
นับถอยหลัง 1 เดือน ฝนกระหน่ำหนัก เสี่ยงน้ำท่วม ซ้ำรอยปี 54 หรือไม่?
🔸ภาวะโลกร้อน ทำให้ระดับน้ำทะเลสูง สภาพอากาศแปรปรวน ภัยแล้ง ฝนตกหนัก น้ำท่วมรุนแรงหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งมณฑลเหอหนาน ประเทศจีน และอเมริกาเหนือเขตหนาว กำลังเผชิญกับคลื่นความร้อน เกิดไฟป่าสร้างความเสียหายราวกับวันสิ้นโลก
1
🔸ภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นบนโลก เหมือนคำเตือนหายนะกำลังมาเยือน จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก รายงานว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม หรือคลื่นความร้อน เพิ่มขึ้น 5 เท่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตมากถึง 2 ล้านคน มูลค่าความเสียหายสูงถึง 3.64 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
2
🔸ปีนี้ประเทศไทยต้องระวัง จะเจอกับปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยช่วงกลางเดือน ก.ค.-ก.ย. ฝนจะตกชุกหนาแน่น และฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะเดือน ส.ค.-ก.ย. จะมีพายุหมุนเขตร้อน อีก 2-3 ลูก
สถานการณ์ปีนี้จะมีโอกาสน้ำจะท่วมใหญ่ เหมือนปี 2554 หรือไม่? และพื้นที่เสี่ยงบริเวณใดควรเฝ้าระวัง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ ขออย่าได้ประมาทเด็ดขาด ในขณะที่สถานการณ์ระบาดของโควิด ยังไม่น่าไว้วางใจ
"รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์" ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินภาพรวมสถานการณ์ในปีนี้จนถึงปัจจุบัน พบว่า อยู่ภายใต้สถานการณ์โอบล้อมจากปรากฏการณ์มหาสมุทรอินเดีย มีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ รวมถึงทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเรียกว่า Negative IOD มีค่าเป็นลบ เกิดความแปรปรวนในมหาสมุทรอินเดีย และเกิดปรากฏการณ์ลานีญา สูงขึ้นในฝั่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คล้ายกับปี 2553 และคล้ายกับปี 2563 เล็กน้อย
2
เพราะฉะนั้นต้องย้อนดูว่าในปี 2553 และปี 2563 เกิดอะไรขึ้นบ้าง อย่างปี 2553 เกิดน้ำท่วมใหญ่ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และน้ำท่วมลุ่มน้ำป่าสัก จ.พระนครศรีอยุธยา และปีที่แล้ว เกิดน้ำท่วม จ.นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ปราจีนบุรี และสระแก้ว
2
จับตาพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ภาคใต้น่าห่วง ช่วง ต.ค.-พ.ย.
“พอเห็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นคล้ายๆ กัน ทำให้ต้องจับตาดูปีนี้ แม้ภาพรวมปริมาณฝนในช่วงแรกมีน้อย แต่ฝนจะเริ่มเร่งตัวตกมากขึ้นในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่ ก.ย.ไปจนถึง พ.ย. จะเกิดเหตุการณ์คล้ายกัน แต่จะไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 แต่จะน้ำท่วมเหมือนปี 2553 ในพื้นที่ภาคกลาง เช่น อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และชุมชนที่ตั้งอยู่ริมน้ำ”
4
ในส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วม 40% โดยเฉพาะ จ.นครราชสีมา เกิดฝนตกหนัก ขณะที่ภาคตะวันออก มีความเสี่ยง 50% เกิดน้ำท่วม
ซึ่งที่ผ่านมาฝนตกหนักน้ำท่วมในพัทยา และที่น่าห่วงมากสุดในพื้นที่ภาคใต้ ต้องระวังเป็นพิเศษช่วงเดือน ต.ค. ถึง พ.ย. มีโอกาสเกิดน้ำท่วมใหญ่ ทั้งจ.นครศรีธรรมราช และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
แต่หาดใหญ่มีโครงการบรรเทาอุทกภัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้โชคดีไป น้ำจะไม่ท่วมใหญ่เหมือนปี 2553
1
💢เหลือ 1 เดือน รับมือน้ำท่วม เร่งคัดแยกผู้ป่วยโควิด
ส่วนปีนี้จะมีพายุเข้ามากี่ลูก ยังคาดเดายาก แต่จะเข้ามาอย่างแน่นอนจากปรากฏการณ์ลานีญา เมื่อมีความชื้นมากก็จะก่อให้เกิดพายุ โดยแต่ละปีจะมีพายุเข้ามาอย่างน้อย 2 ลูกอยู่แล้ว แต่การจะรู้ล่วงหน้าต้อง 3-5 วัน ก่อนพายุเข้ามา เพื่อการอพยพผู้คน
3
“ถ้าพายุเข้ามา และยิ่งช่วงนี้เกิดสถานการณ์โควิด ถือเป็นภัยพิบัติซ้ำซ้อน เพราะฉะนั้นแล้วหลักการที่ดีที่สุด ต้องคัดแยกผู้ป่วย และตรวจเชื้อโดยเร็ว เพื่อเตรียมความพร้อมในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่มีอาสาสมัคร หรือใครกล้าเข้าไปช่วยเหลือ เพราะทุกคนกลัวติดโควิด ยกตัวอย่างอินเดีย เมื่อเกิดน้ำท่วมช่วงโควิด มีความวุ่นวายมาก ดังนั้นเหลือเวลาอีก 1 เดือน ต้องเร่งคัดแยกผู้ป่วยโควิด เตรียมรับมือ”
2
ในเรื่องของพื้นที่อพยพผู้ประสบภัยน้ำท่วม ไม่ควรเป็นอาคารชั้นเดียว เพราะมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโควิด ควรเป็นอาคารซึ่งมีหลายชั้น อาจให้คนที่ติดโควิดอยู่ชั้นบน แยกออกมาอย่างชัดเจน และพื้นที่อพยพไม่ควรอยู่ใกล้โรงพยาบาล เพื่อไม่ให้หมอพยาบาลทำงานหนักมากขึ้น และป้องกันโควิดแพร่ระบาดไปยังผู้ป่วยในโรงพยาบาล เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ดังนั้นการอพยพผู้ประสบภัยก็ไม่ปกติเช่นกัน ในช่วงภัยพิบัติซ้ำซ้อน
“ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด ในแต่ละพื้นที่ ต้องมีองค์ความรู้ในการเตรียมแผนรองรับ หากเกิดสถานการณ์น้ำท่วม เพราะหากไม่เตรียมพร้อมจะเกิดปัญหา เกรงว่าอาสาสมัครกู้ภัยที่จะเข้าไปช่วยมีน้อยลง อาจกลัวติดโควิด หรือแม้แต่ทหารคงไม่กล้าเข้าพื้นที่ไปช่วยผู้ประสบภัย ใครๆ ก็กลัวติดโควิด ต้องรีบป้องกันรับมือล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุ”.
2
ผู้เขียน : ปูรณิมา
โฆษณา