6 ก.ย. 2021 เวลา 06:37 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
แสงเหนือ แสงใต้ เกิดขึ้นได้อย่างไร?
แสงขั้วโลกที่เกิดในแถบขั้วโลกเหนือ เรียกว่า แสงเหนือ (Northern Light หรือ Aurora Borealis) แสงขั้วโลกที่เกิดในแถบขั้วโลกใต้ เรียกว่า แสงใต้ (Southern Light หรือ Aurora Australis) มีงานวิจัยบอกว่า แสงเหนือ และแสงใต้นั้น มักจะเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน มีรูปร่างและสีเหมือนกัน แต่จะปรากฏเป็นลักษณะของภาพสะท้อนเงากระจกต่อสายตาผู้พบเห็น
แสงขั้วโลกเกิดจากอนุภาคพลังงานสูงซึ่งถูกปลดปล่อยจากดวงอาทิตย์ขณะที่กำลังหมุน อนุภาคเหล่านี้เคลื่อนที่มากับลมสุริยะ มุ่งหน้าเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก เนื่องจากสนามแม่เหล็กบนผิวโลก ในขณะที่อนุภาคเคลื่อนที่ผ่านชั้นบรรยากาศโลกที่ระดับความสูง 80-640 กิโลเมตรจากพื้นดิน จะชนกับโมเลกุลของก๊าซในชั้นบรรยากาศ และปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสงที่ตามนุษย์มองเห็นได้
แสงขั้วโลกจะปรากฏเป็นสีและรูปร่างที่แตกต่างกัน โดยที่รูปร่างของแสงขั้วโลกนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะของสนามแม่เหล็กบนผิวโลก รูปร่างที่พบเห็นบ่อย คือเป็นแสงเรืองรองกระจายอยู่บนท้องฟ้า หรือมีลักษณะเป็นลำแสงชัดเจน หรือมีหน้าตาเหมือนม่านหมอกของละอองแสง
ส่วนสีของแสงขั้วโลกขึ้นอยู่กับความสูงที่เกิดการชนกันของอนุภาคจากดวงอาทิตย์ และโมเลกุลของก๊าซในชั้นบรรยากาศโลก รวมถึงชนิดของก๊าซด้วย ซึ่งหลักๆ ได้แก่ ออกซิเจน และไนโตรเจน สีของแสงขั้วโลกที่ปรากฏบ่อยที่สุดคือ สีเขียวและสีชมพู รองลงมาคือสีแดง สีเหลือง และสีม่วงตามลำดับ
นักวิทยาศาสตร์พบว่า แสงขั้วโลก ไม่ได้มีเฉพาะบนโลกเท่านั้น แต่พบในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ที่มีสนามแม่เหล็ก อย่างเช่น ดาวจูปิเตอร์ ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ด้วยเช่นกัน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา