10 ก.ย. 2021 เวลา 03:25 • ประวัติศาสตร์
ราชวงศ์ปราสาททอง เริ่มด้วยเลือด จบด้วยเลือด
เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ยึดอำนาจสมเด็จพระเชษฐาธิราช (ภาพจากศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา)
ตลอด 417 ปีของประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ราชวงศ์ปราสาททองเป็นราชวงศ์ที่ปกครองอยุธยาเพียง 58 ปี มีกษัตริย์ 4 พระองค์ปกครองบ้านเมือง และทุกการเปลี่ยนผ่านรัชสมัยจบลงด้วยการนองเลือดทั้งสิ้น และจุดเริ่มต้นของราชวงศ์ปราสาททองนั้นเกิดขึ้นและสิ้นสุดอย่างไร สามารถติดตามเรื่องราวของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์ปราสาททองแต่ละพระองค์ตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง, สมเด็จเจ้าฟ้าไชย, สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา และสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
1. สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ค.ศ.1630-1656)
เดิมรับราชการเป็นขุนนางในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็น "เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์" โดยมีส่วนช่วยเหลือให้พระเชษฐาธิราชขึ้นครองราชย์
ต่อมาสมเด็จพระเชษฐาธิราชมีความขัดแย้งกับเจ้าพระยากลาโหมฯ ในกรณีที่มีข้าราชการไปร่วมงานศพมารดาเจ้าพระยาเป็นจำนวนมาก จนไม่มีข้าราชการมาเข้าเฝ้าพระองค์ ทำให้พระองค์ระแวงเจ้าพระยากลาโหมจึงวางแผนจะจับกุม แต่เจ้าพระยากลาโหมฯ รู้ทันจึงนำกองกำลังยึดพระบรมมหาราชวัง และจับพระเชษฐาธิราชสำเร็จโทษเสีย ในปี ค.ศ.1630 แล้วอัญเชิญพระอาทิตยวงศ์ พระอนุชาของพระเชษฐาธิราชขึ้นเป็นกษัตริย์
พระอาทิตย์วงศ์ขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อพระชนมายุ 9 พรรษา ไม่สามารถออกว่าราชการได้ ตลอดระยะเวลา 6 เดือนพระองค์ได้แต่วิ่งเล่นให้เจ้าพนักงานตามอยู่ตลอด บรรดาขุนนางจึงมีมติถอดพระอาทิตยวงศ์ออกจากกษัตริย์ และอัญเชิญเจ้าพระยากลาโหมขึ้นเป็นกษัตริย์พระนาม "สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 5" หรือ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ต่อมาพระอาทิตย์วงศ์ได้ก่อการกบฎในปี ค.ศ.1647 แต่ไม่สำเร็จ ถูกจับสำเร็จโทษในภายหลัง
เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีเชื้อสายดั้งเดิมเป็นขุนนาง ไม่ได้เป็นพระญาติกับพระมหากษัตริย์ใดๆ พระองค์จึงต้องสร้างความชอบธรรมด้วยการสร้างวัดไชยวัฒนารามบนพื้นที่บ้านเกิดเดิมของพระองค์ สร้างพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ "พระที่นั่งศิริยโสธรมหาพิมานบรรยงก์" สร้างปราสาทนครหลวง ซึ่งทั้งสามสถานที่นี้มีสถาปัตยกรรมและแผนผังที่มาจากกัมพูชาที่พระองค์ทำสงครามเอาชนะมาได้ในช่วงปี ค.ศ.1631-1632 สะท้อนถึงแนวคิดจักรพรรดิราช คือการเป็นราชาเหนือราชาทั้งปวง
แผนที่กรุงศรีอยุธยาโดยโจฮันเนส วิงบูนส์ ปี ค.ศ.1665 และภาพสมเด็จพระเจ้าปราสาททองตามจินต
นอกจากนี้ พระเจ้าปราสาททองยังได้ประกอบพิธีอินทราภิเษกและพิธีลบศักราช เมื่อจุลศักราช 1000 (ค.ศ.1648) เพื่อสร้างความชอบธรรมในการขึ้นครองราชย์และสร้างความอบอุ่นใจให้กับประชาชนพระสงฆ์ชีพราหมณ์ว่าพ้นกลียุคแล้ว รวมไปถึงการสร้างพระพุทธรูปปางทรมานท้าวมหาชมพู(พระพุทธรูปทรงเครื่อง) และปางปาลิไลยก์ เพื่อหวังจะเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปในอนาคต
ในการวางรัชทายาท พระองค์ทรงเลือก เจ้าฟ้าไชย พระราชโอรสที่เกิดนอกเศวตฉัตรเป็นรัชทายาทลำดับที่ 1 โดยวาง พระศรีสุธรรมราชา พระอนุชา และพระนารายณ์ราชกุมาร(สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในเวลาถัดมา) พระราชโอรสต่างมารดา ในปี ค.ศ.1656 เมื่อพระองค์ใกล้เสด็จสวรรคต พระองค์ได้มอบพระแสงขรรค์ไชยศรีแด่เจ้าฟ้าไชย หลังจากมอบได่้ 3 วัน ก็เสด็จสวรรคต
2.สมเด็จเจ้าฟ้าไชย (ค.ศ.1656)
เจ้าฟ้าไชยมีหลักฐานว่าประสูติเมื่อใดไม่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าประสูติในช่วงปี ค.ศ.1619-1621 ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองยังคงรับราชการเป็นขุนนางอยู่ เพราะพระองค์ทรงผ่านพระราชพิธีโสกันต์ในปี ค.ศ.1632 ที่เกาะบ้านเลน (อ.บางปะอิน)
เจ้าฟ้าไชยมีสถานะเป็นรัชทายาทอันดับ 1 เนื่องด้วยเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปราสาททองที่มีพระชนมายุมากที่สุด และได้รับพระแสงขรรค์ไชยศรีจากพระหัตถ์ของพระเจ้าปราสาททองก่อนสวรรคตในปี ค.ศ.1656
ระยะเวลาการขึ้นครองราชย์ของเจ้าฟ้าไชยไม่มีหลักฐานแน่ชัด หากยึดตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล และฉบับพระราชหัตถเลขา ต่างระบุไว้ว่าเจ้าฟ้าไชยครองราชย์ถึง 9 เดือน ในขณะที่บันทึกเอกสารชาวดัตช์ ระบุว่าเจ้าฟ้าไชยครองราชย์ได้เพียง 2-3 วันเท่านั้น
ซึ่งจุดจบของเจ้าฟ้าไชย หลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ระบุไว้คล้ายคลึงกัน คือโดนกองกำลังของพระศรีสุธรรมราชา (พระปิตุลา-อา) และพระนารายณ์ (พระอนุชาต่างมารดา) ร่วมกันยึดอำนาจ และจับเจ้าฟ้าไชยสำเร็จโทษ ณ วัดโคกพระยา เป็นอันปิดฉากกษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์ปราสาทหลวงด้วยเลือด
3.สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา (ส.ค.-ต.ค.1656)
พระศรีสุธรรมราชาเป็นพระอนุชาในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แตพระเจ้าปราสาททองไม่ไว้วางพระทัย เนื่องจากมีนิสัยไม่เหมาะสมปกครองบ้านเมือง เมื่อพระเจ้าปราสาททองสวรรคต พระนารายณ์จึงติดต่อพระศรีสุธรรมราชาในการยึดอำนาจจากสมเด้จเจ้าฟ้าไชย และมอบราชบัลลังก์ให้พระศรีสุธรรมราชาขึ้นปกครองเป็นกษัตริย์ และแต่งตั้งพระนารายณ์เป็นพระมหาอุปราช
ความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาและพระนารายณ์มีความขัดแย้งในการบริหารบ้านเมืองอยู่เนืองๆ และมาถึงจุดสิ้นสุดเมื่อพระศรีสุธรรมราชาหมายสร้างสัมพันธ์กับพระราชกัลยาณี (กรมหลวงโยธาทิพ) พระขนิษฐาในพระนารายณ์ แต่พระราชกัลยาณีปฏิเสธ จึงไปหาพระเชษฐา พระนารายณ์จึงวางแผนยึดอำนาจโดยอาศัยกองกำลังต่างชาติทั้งมอญ ญี่ปุ่น เปอร์เซีย รวมถึงฝรั่ง เข้ายึดพระบรมมหาราชวังและจับสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาสำเร็จโทษ ปิดฉากชีวิตบนราชบัลลังก์เพียง 80 วันในเดือนตุลาคม และเป็นเหตุการณ์ล้มล้างอำนาจครั้งที่ 2 ในรอบ 1 ปี
โคลงภาพพระราชพงศาวดาร พระนารายณ์ยกทัพยึดอำนาจสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา
4.สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (1656-1688)
หลังจากที่พระนารายณ์เป็นผู้นำผ่านการยึดราชบัลลังก์ถึง 2 ครั้งในรอบปี ทำให้พระองค์เห็นว่าอยุธยาไม่ปลอดภัย ประกอบกับเกิดเหตุการณ์เรือรบดัตช์ปิดแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้พระองค์ทรงเลือกหาเมืองหลวงที่ 2 ไว้ประทับเพื่อความปลอดภัยและสำราญพระราชหฤทัยยามออกไปล่าสัตว์ ซึ่งก็คือ เมืองลพบุรี โดยใช้เวลาประทับที่ลพบุรีถึง 8-9 เดือน/ปี
แม้พระองค์จะพยายามสร้างเจริญรุ่งเรืองให้กับกรุงศรีอยุธยาให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกมากแค่ไหน แต่ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของพระองค์ คือ การเฟ้นหารัชทายาทสืบทอดผลงานพระองค์ พระนารายณ์ไม่ไว้วางพระทัยในพระอนุชาอย่างเจ้าฟ้าน้อย และเจ้าฟ้าอภัยทศ รวมไปถึงพระอนุชาอีกพระองค์หนึ่งอย่าง พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ก็เคยพยายามโค่นล้มอำนาจพระนารายณ์แต่ไม่สำเร็จ แม้พระองค์จะพยายามมีพระโอรสแต่ไม่ประสบความสำเร็จ มีเพียงพระราชธิดา คือ กรมหลวงโยธาเทพ จึงเปลี่ยนจากการหาพระทายาท เป็นการรับเลี้ยงบุตรชายจากข้าราชการต่างๆ โดยมี พระปีย์ เป็นหนึ่งในบุตรชายที่พระนารายณ์เลี้ยงดูประดุจพระราชโอรส
ด้วยความที่พระปีย์เป็นบุคคลใกล้ชิดพระนารายณ์ จึงถูกหมายตาว่าเป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป ทำให้บุคคลต้องการคบหาเพื่อประโยชน์ในการบริหารบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เสนาบดีชาวกรีกที่มีความสนิทสนมกับฝรั่งเศสมากเป็นพิเศษ จนทำให้ขุนนางไทยบางส่วนไม่พอใจ เกรงว่า อยุธยาจะเป็นดินแดนภายใต้ปกครองของฝรั่งเศส
สมเด็จพระนารายณ์ (แสดงโดยสุเชาว์ พงษ์วิไล) ประชวรใกล้สวรรคต จาก ละครตำนานพันท้ายนรสิงห์ ช่องเวิร์คพอยท์
เมื่อพระนารายณ์ประชวรใกล้สวรรคตโดยยังไม่ได้ตั้งรัชทายาท พระเพทราชา หัวหน้าขุนนางไทย จึงทำการยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์ กำจัดศัตรูทางการเมืองทั้งเจ้าฟ้าน้อย เจ้าฟ้าอภัยทศ พระปีย์และฟอลคอน รอเวลาสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตในวันที่ 11 ก.ค. 1688 และพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ เปิดอันปิดฉาก 58 ปีของราชวงศ์ปราสาททอง ราชวงศ์ที่เกิดจากการนองเลือด เปลี่ยนแปลงอำนาจด้วยการนองเลือด และจบลงด้วยการนองเลือดในที่สุด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา