16 ก.ย. 2021 เวลา 13:38 • ประวัติศาสตร์
วาระสุดท้ายอันแสนเศร้าของโยส เซาเต็น หัวหน้าสถานีการค้าดัตช์อีสต์อินเดียประจำอยุธยา
"...พระนครศรีอยุธยานี้จึงเป็นนครที่โอ่อ่า เต็มไปด้วยวิหารจำนวนมากกว่า 300 และก่อสร้างขึ้นอย่างวิจิตรพิสดารที่สุด โบสถ์วิหารเหล่านี้มีปรางค์ เจดีย์ และรูปปั้นรูปหล่ออยู่มากมาย ใช้ทองฉาบอยู่ภายนอกสีเหลืองอร่ามทั่วไปหมด เป็นพระมหานครที่สร้างอยู่ข้างฝั่งแม่น้ำ โดยมีผังเมืองวางไว้อย่างเป็นระเบียบ จึงเป็นนครที่สวยงามมาก ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม มีประชาชนหนาแน่น และเต็มไปด้วยสินค้าสิ่งของจำเป็นแก่ชีวิตนำเข้ามาขายจากนานาประเทศ เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ ยังไม่มีพระมหากษัตริย์องค์ใดในแถบนี้ของโลกที่จะมีเมืองหลวงใหญ่โตมโหฬารวิจิตรพิสดาร และสมบูรณ์เหมือนพระมหากษัตริย์ ณ ราชอาณาจักรนี้..."
(จดหมายเหตุของโยส เซาเต็น พ่อค้าฮอลันดาในสมัยพระเจ้าทรงธรรม) ตีพิมพ์ 1638
ภาพวาดกรุงศรีอยุธยา โดย Johannes Vingboons จิตรกรชาวดัตช์ จัดแสดงที่ Rijksmuseum ประเทศเนเธอร์แลนด์
คำบรรยายนี้บางบอกถึงความรุ่งเรืองของอยุธยาในฐานะศูนย์กลางการค้าย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วงศตวรรษที่ 17 แต่วาระสุดท้ายของผู้เขียนบันทึกเล่มนี้กลับไม่งดงามเหมือนอยุธยาที่เขาเคยเห็น และนี่คือเรื่องราวชีวิตของโยส เซาเต็น หัวหน้าสถานีการค้าดัตช์อีสต์อินเดีย (VOC - Verenigde Oost-Indische Compagnie) ประจำอยุธยา
โยส หรือ ยุสตุส เซาเต็น (Joost/Justus Schouten) เกิดที่รอตเตอร์ดัมประมาณปี ค.ศ.1600 และเดินทางมาปัตตาเวีย เมืองหลวงของอินเดียตะวันออกเนเธอร์แลนด์ใน ค.ศ.1622
เซาเต็นเข้าทำงานในคลังสินค้าดัตช์ที่อยุธยาในปี ค.ศ. 1624 ก่อนติดตามวิลเลม แจนเซ่น ในฐานะเลขานุการเดินทางสำรวจเส้นทางไปญี่ปุ่นในปีถัดมา
วันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1628 เซาเต็นและอาเดรียน เด มารีส์ ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เพื่อนำพระราชสาสน์ เครื่องราชบรรณาการจากเจ้าชายเฟรเดริก เฮนรีแห่งเนเธอร์แลนด์มาถวาย ระหว่างที่ขนถ่ายสินค้าลงเรือจากอยุธยาไปยังปัตตาเวีย สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสด็จสวรรคต 12ธันวาคม ค.ศ. 1628 เซาเต็นและเด มารีส์ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระเชษฐาธิราชในวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1629 เพื่อรับพระราชสาสน์เครื่องราชบรรณาการ (พระแสงดาบประดับทับทิม พระแสงหอกประดับทับทิม ฉลองพระองค์ถักดิ้นทองดิ้นเงิน ฯลฯ) และของที่ระลึกแด่เจ้าผู้ปกครองเนเธอร์แลนด์และผู้ว่าราชการเมืองปัตตาเวีย
เซาเต็นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าสถานีการค้าดัตช์อีสต์อินเดียประจำอยุธยาตั้งแต่ปี ค.ศ.1633-36 ในปี ค.ศ.1634 VOC อนุมัติให้เซาเต็นสร้างสถานีการค้าเป็นการถาวร อันประกอบด้วยตึกแดง(สำนักงานใหญ่) คลังสินค้า บ้านเรือน และขุดคลองเข้ามาในสำนักงาน โดยใช้งบประมาณ 10,000 กิลเดอร์ (750,000 ดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน)
บ้านฮอลันดา ตั้งขึ้น ณ สถานีการค้าเดิมของ VOC
เซาเต็นได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในปี ค.ศ. 1636 และได้บรรยายการเข้าเฝ้าในท้องพระโรง รวมไปถึงการเสด็จพระราชดำเนินทั้งทางสถลมารค (ทางบก) และชลมารค (ทางน้ำ) นอกจากนี้ยังได้อธิบายการตัดสินคดีความ รายได้ของรัฐ การสืบทอดอำนาจ กิจการทหาร ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ช้างเผือก ศาสนา ครอบครัว บ้านเรือน และการประกอบอาชีพภายในอาณาจักรอยุธยา ก่อนเดินทางกลับเนเธอร์แลนด์ เพื่อตีพิมพ์บันทึกการเดินทางในปี ค.ศ. 1638
ค.ศ. 1640 เซาเต็นเดินทางกลับปัตตาเวียและทำงานในกรรมการบริหารอินเดียของบริษัท VOC ในฐานะ สมาชิกสภาวิสามัญ ในอีก 2 ปีต่อมา เขาได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารได้สนับสนุนอเบล แทสมันในการเดินทางสำรวจมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งต่อมาแทสมันได้ตั้งชื่อเกาะที่อยู่ชายฝั่งตะวันออกทางแทสมาเนีย ว่า "เกาะเซาเต็น"
เกาะเซาเต็น
เซาเต็นถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็นที่ปัตตาเวียใน 11 กรกฎาคม ค.ศ.1644 จากกรณีที่เขามีความสัมพันธ์กับนายทหารฝรั่งเศส ซึ่งเซาเต็นได้รับสารภาพว่าเขามีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ชายถึง 19 คนนับตั้งแต่เดินทางออกจากเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1637 ซึ่งใน 3 จาก 19 นั้นเป็นหัวหน้ากะลาสีเรือ, ทหาร และลูกครึ่งพื้นเมืองกับชาวยุโรป โดยความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศเถือเป็นความผิดที่ร้ายแรงสำหรับชาวคริสต์ในยุคสมัยนั้น แอนโทนี่ ฟาน ดีเม็น ผู้ว่าราชการเมืองปัตตาเวีย ได้พิจารณาถึงคุณงามความดีและคำสารภาพของเซาเต็น จึงได้ตัดสินให้บีบคอเซาเต็นให้ตายก่อนนำไปเผา ส่วนคู่ขาทั้งสามคนถูกจับนัดใส่กระสอบแล้วนำไปถ่วงน้ำ หลังจากประหารชีวิตได้ 2 วัน ทรัพย์สินทั้งหมดของเซาเต็นถูกริบ ร่างกายเหลือแต่เถ้าถ่าน เหลือเพียงแต่ลายเซ็นและบันทึกการเดินทางที่ยังคงเป็นหลักฐานแสดงความรุ่งเรืองของอยุธยาและชีวิตของเขา
บันทึกและลายเซ็นของโยส เซาเต็น จาก Uytloopigh Verhael

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา