11 ก.ย. 2021 เวลา 09:00 • การศึกษา
[ตอนที่ 40] แนะนำภาพรวมของภาษาสันสกฤต
An overview of Sanskrit language
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 2 ของซีรีส์ "นานาภาษาในเอเชียใต้" จะเป็นเรื่องราวที่แนะนำภาพรวมของภาษาสันสกฤต ภาษาสำคัญในแวดวงศาสนาและนักปราชญ์ในอินเดียโบราณ และเป็นภาษาที่แพร่หลายจากอินเดียสู่ภูมิภาคอื่น ผ่านการเผยแพร่ศาสนาฮินดู-พุทธ จนเป็นรากคำศัพท์หลายคำในดินแดนเหล่านี้ อย่างชื่อจริง-นามสกุลของคนไทยที่มีคำจากภาษาสันสกฤตอยู่มาก แต่ในปัจจุบันนี้ ภาษาสันสกฤตถือว่าเป็น "ภาษาที่ตายแล้ว" เพราะไม่มีผู้ใช้งานเป็นภาษาแม่ในการสื่อสารอีกต่อไป
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
เนื้อหาภาษาสันสกฤตในหน้าคัมภีร์ภควัทคีตา (Bhagavad Gita) และภาพแสดงพระกฤษณะกับพระอรชุนกำลังถามตอบปัญหากัน โดยคัมภีร์ภควัทคีตาเรียบเรียงขึ้นในช่วงปีที่ 400-200 ก่อนคริสตกาล แต่คัมภีร์ฉบับที่มีหน้าสีทำในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : เพลงร้องจากบทกวีในภาษาสันสกฤต "Priyam Bhāratam / ปริยัมภารตัม" (อินเดียที่รัก) ร้องโดย Gaiea Sanskrit ในปี ค.ศ.2018 (เนื้อเพลงและคำแปลอยู่ในลิงก์)
1
“ภาษาสันสกฤต” (ชื่อในภาษาอังกฤษ : Sanskrit, ชื่อในภาษาสันสกฤต : संस्कृतम् / saṃskṛtam) เป็นภาษาคลาสสิกในภูมิภาคเอเชียใต้ที่อยู่ในกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน (ซึ่งเป็นกลุ่มภาษาสายหนึ่งของตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน)
1
แผนที่แสดงการอพยพของกลุ่มชนอินโด-อารยันจากเอเชียกลางเข้ามาสู่เอเชียใต้ ซึ่งการอพยพดังกล่าวเริ่มต้นหลังปีที่ 2,000 ก่อน ค.ศ. [ที่มาของแผนที่ : https://www.sutori.com/story/ancient-india-civilizations--A7KoCwoQF1UahN6gDj3mYgrA]
ภาษาสันสกฤตถือกำเนิดขึ้นในเอเชียใต้หลังจากภาษาในกลุ่มภาษาอินโด-อารยันรุ่นก่อนหน้าได้แพร่หลายเข้ามาทางตะวันตกเฉียงเหนือของภูมิภาค ผ่านการย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชนอินโด-อารยันที่เข้ามาจากเอเชียกลางในช่วงยุคสัมฤทธิ์ตอนปลาย ก่อนที่จะมีบทบาทสำคัญในแง่มุมต่าง ๆ ดังนี้
- ภาษาสำคัญในทางศาสนา ได้แก่ ศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธและศาสนาเชน ทั้งในเชิงพิธีกรรม หลักปรัชญา ตำรา คัมภีร์ เอกสารและบันทึก
- ภาษากลางระดับภูมิภาค : ภาษาสันสกฤตเป็นภาษากลาง (Lingua Franca) ของภูมิภาคเอเชียใต้ในสมัยโบราณและสมัยกลาง
- อิทธิพลของภาษาในภูมิภาคอื่นผ่านการเผยแผ่ศาสนา : อิทธิพลของภาษาสันสกฤตเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และเอเชียตะวันออก ผ่านการเผยแพร่วัฒนธรรมและศาสนาฮินดู-พุทธในช่วงต้นสมัยกลาง ทำให้ภาษาสันสกฤตมีสถานะเป็น “ภาษาทางศาสนาและวัฒนธรรมชั้นสูง” ในดินแดนที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรม-ศาสนาเหล่านี้ ซึ่งร่องรอยอิทธิพลของภาษาสันสกฤตยังคงเหลือในภาษาตามดินแดนดังกล่าว ณ ปัจจุบัน เช่น ชื่อต่าง ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ชื่อเมือง หรือชื่อ-นามสกุลรายบุคคล)
ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาที่สืบทอดจากภาษาต่าง ๆ ยุคโบราณก่อนหน้าในกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน ภาษาที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาภาษาต้นกำเนิดภาษาสันสกฤต คือ “ภาษาพระเวท” (Vedic Sanskrit) ที่พบในคัมภีร์ฤคเวท (Rig Veda / ऋग्वेद) ซึ่งเป็นคัมภีร์ฉบับแรกสุดในคัมภีร์พระเวท (คัมภีร์ในศาสนาฮินดู) โดยมีลักษณะเป็นชุดรวมบทสวดมากกว่า 1,000 บทที่กลุ่มชนอินโด-อารยันแต่งขึ้นระหว่างปีที่ 1,500 – 1,200 ก่อนคริสตกาล ขณะที่กำลังอพยพเข้าสู่ทางตอนเหนือของอินเดีย
1
"ภาษาพระเวท" (ภาษาสันสกฤตแบบฉบับคัมภีร์ฤคเวท) เนื้อหาหน้าหนึ่งในคัมภีร์ฉบับที่ทำขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เขียนด้วยอักษรเทวนาครี ส่วนเส้นสีแดงเป็นตัวบอกระดับเสียงสูงต่ำระหว่างการกล่าวบทสวด
ในเวลาต่อมา ภาษาได้วิวัฒนาการเข้าสู่ช่วงภาษาพระเวทตอนปลาย (Late Vedic Sanskrit) ในช่วงประมาณปีที่ 1,100 – 500 ก่อนคริสตกาล ในสมัยนี้มีการแต่งคัมภีร์อุปนิษัท (Upanishads / उपनिषद्) คัมภีร์ฉบับท้ายสุดในคัมภีร์พระเวท และเป็นหลักปรัชญาส่วนสำคัญในศาสนาฮินดู ภาษาพระเวทยังมีปฏิสัมพันธ์กับภาษาอื่นที่มีอยู่ก่อนหน้าในอนุทวีปอินเดีย อย่างเช่น ภาษาสมัยโบราณที่เป็นสมาชิกในตระกูลภาษาดราวิเดียนมีอิทธิพลทางด้านระบบการออกเสียงและโครงสร้างประโยคของภาษาสันสกฤต
เมื่อเวลาผ่านไป ภาษาสันสกฤตก็เปลี่ยนแปลงแตกต่างจากภาษาพระเวทตามคัมภีร์ทางศาสนา เกิดความกังวลว่าบทสวดตามคัมภีร์ควรจะถ่ายทอดออกมาโดยไม่ผิดเพี้ยนจากภาษาเดิมเพื่อรักษาคำสอนทางศาสนา จึงเกิดการจัดทำหลักการทางภาษาศาสตร์ขึ้นกับภาษาสันสกฤต อย่างในด้านการออกเสียงหรือไวยากรณ์ ซึ่งปาณินิ (Pāṇini) นักปราชญ์ชาวอินเดียโบราณได้แต่ง “อัษฏาธยายี” (Aṣṭādhyāyī / अष्टाध्यायी “คัมภีร์ 8 บท”) ตำราที่มีเนื้อหาครอบคลุมหลักภาษาสันสกฤตสมัยโบราณมากที่สุดในช่วงปีที่ 500 ก่อนคริสตกาล
แสตมป์ของไปรษณีย์อินเดียที่แสดงรูปของปาณินิ นักปราชญ์ชาวอินเดียโบราณ [ที่มาของภาพ : https://www.thehindu.com/society/history-and-culture/panini-worlds-first-informatician/article30347920.ece]
ในช่วงนี้จึงเกิดภาษาสันสกฤตแบบผ่านการปรับมาตรฐานกฏเกณฑ์การออกเสียงและไวยากรณ์ให้เป็นระบบแล้ว เรียกว่า “ภาษาสันกฤตคลาสสิก” (Classical Sanskrit) ที่เริ่มมีตั้งแต่ช่วงกลางสหัสวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล ซึ่งคำว่า “ภาษาสันสกฤต” โดยทั่วไปมักจะหมายถึง “ภาษาสันสกฤตคลาสสิก” (ทำนองเดียวกับคำว่า “ภาษาละติน” โดยทั่วไปที่มักหมายถึง “ภาษาละตินคลาสสิก”) และตัวคำว่า “สันสกฤต” แปลว่า “ผ่านการขัดเกลา หรือการปรับแก้แล้ว”
ขณะที่เรื่องราวพวกมหากาพย์สำคัญของอินเดียอย่าง “มหาภารตะ” (Mahābhārata) และ “รามายณะ” (Rāmāyaṇa) ต่างถูกแต่งและเรียบเรียงด้วยภาษาสันสกฤตคลาสสิกในรูปแบบสำหรับใช้บอกเล่าเรื่องราว ภาษาสันสกฤตคลาสสิกรูปแบบนี้จะเรียกว่า “ภาษาสันสกฤตแบบมหากาพย์” (Epic Sanskrit) ซึ่งใช้ในตอนเหนือของอินเดีย ช่วงปีที่ 400 – 300 ก่อนคริสตกาล ซึ่งถือว่า “ภาษาสันสกฤตแบบมหากาพย์” เป็นภาษาที่ค่อนข้างอยู่ร่วมสมัยกับ “ภาษาสันสกฤตคลาสสิก”
ลักษณะการเรียนการสอนใน "คุรุกุล" [ที่มาของภาพ : https://timesofindia.indiatimes.com/blogs/desires-of-a-modern-indian/the-importance-of-the-gurukul-system-and-why-indian-education-needs-it/ ]
ภาษาสันกฤตทั้งแบบภาษาพระเวทและภาษาสันสกฤตคลาสสิกเป็นภาษาสมัยเก่าของกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน (Old Indo-Aryan) ซึ่งระหว่างช่วงหลายศตวรรษตั้งแต่ที่เกิดภาษาสันสกฤต ภาษาสันสกฤตค่อย ๆ เข้าไปผูกพันกับจารีตประเพณี แล้วจำกัดอยู่ในกลุ่มคนแคบ ๆ (แวดวงศาสนาหรือนักปราชญ์) จนไม่ได้ใช้เรียนหรือสอนในฐานะภาษาแม่ แม้ว่าจะมีการเรียนการสอนภาษาสันสกฤตตาม “คุรุกุล” (Gurukula : ระบบการศึกษาแบบพื้นเมืองของอินเดียตั้งแต่โบราณ) รวมถึงความเหินห่างออกไปจากการใช้งานในชีวิตประจำวัน วิวัฒนาการในฐานะภาษาที่มีผู้ใช้สื่อสาร (Living language) จึงได้หยุดลงไปในที่สุด
ขณะที่กลุ่มภาษาอินโด-อารยันที่สามัญชนใช้จะเรียกรวม ๆ ว่า “ภาษาปรากฤต” (Prakrit “ภาษาสามัญชน”) ภาษาปรากฤตมีความเปลี่ยนแปลงตามการใช้งานของสามัญชนแต่ละยุคสมัยที่รวดเร็วกว่า ง่ายกว่าภาษาสันสกฤตที่ใช้ในทางศาสนาและวงการนักปราชญ์ที่มีความเคร่งครัดและอนุรักษ์นิยมกว่า ภาษาปรากฤตจึงแพร่หลายในสังคมและสืบทอดสู่คนรุ่นหลังเป็นวงกว้างมากกว่า มีการปรับระบบการออกเสียงตามผู้ใช้งานให้เรียบง่ายกว่าภาษาสันสกฤต
ตัวอย่างของภาษาปรากฤต ได้แก่...
- ภาษาบาลี (Pali) ที่ใช้เขียนคัมภีร์ในศาสนาพุทธระยะแรกเริ่ม
- ภาษาปรากฤตแบบพระเจ้าอโศกมหาราช (Ashokan Prakrit) เป็นภาษาใช้ตามจารึกในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (ช่วงประมาณปีที่ 268-232 ก่อนคริสตกาล)
จารึกภาษาปรากฤตแบบพระเจ้าอโศกมหาราชที่ใช้อักษรพราหมี บนเสาอโศกในเมืองสารนาถ สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา และเป็นหนึ่งในพุทธสังเวชนียสถาน ปัจจุบันอยู่ในประเทศอินเดีย
ภาษาปรากฤตจึงมีสถานะเป็นกลุ่มภาษาอินโด-อารยันสมัยกลาง (Middle Indo-Aryan) ก่อนที่กลุ่มภาษาอินโด-อารยันสมัยกลางวิวัฒนาการต่อไปเป็นกลุ่มภาษาอินโด-อารยันสมัยใหม่ (Modern Indo-Aryan) ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในภูมิภาคเอเชียใต้ในปัจจุบัน เช่น ภาษาฮินดี ภาษาเบงกอล ภาษาปัญจาบ ภาษาคุชราต ภาษามราฐี ภาษาสิงหล เป็นต้น ช่วงเปลี่ยนผ่านที่เกิดวิวัฒนาการจากกลุ่มภาษาอินโด-อารยันสมัยกลางเป็นสมัยใหม่ อยู่ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 6 – 13
แม้ว่าภาษาสันสกฤตจะไม่มีผู้ใช้งานแล้ว แต่ภาษานี้ยังเป็นตัวช่วยสำหรับนักภาษาศาสตร์ในการศึกษาบรรพบุรุษในกลุ่มภาษาอินโด-อารยันขึ้นมาใหม่ ตรงที่รูปแบบการถ่ายทอดภาษาจากที่ปรากฏในคัมภีร์ฤคเวทที่สืบทอดเนื้อหาแบบมุขปาฐะ เป็นการถ่ายทอดผ่านการท่องจำปากเปล่าอย่างเคร่งครัด บอกต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้เนื้อหาในคัมภีร์ฤคเวทยังคงรักษาโครงสร้างประโยคและโครงสร้างภายในหน่วยคำจากภาษาสมัยโบราณ
การสืบทอดภาษาสันสกฤตจากคัมภีร์ฤคเวทแบบมุขปาฐะนั้น จะคล้ายคลึงกับกรณีบทกวีหรือบทสวดสมัยโบราณของกลุ่มภาษาอิหร่าน (บทสวดกาตาส (Gathas) ในศาสนาโซโรอัสเตอร์ที่ใช้ภาษาอเวสตะ (Avestan)) และตระกูลภาษากรีก (มหากาย์อีเลียด (Iliad)) ซึ่งการศึกษาโครงสร้างทางภาษาเหล่านี้ที่ถูกรักษาไว้จะช่วยนักภาษาศาสตร์นำข้อมูลย้อนกลับมาสร้างภาษาบรรพบุรุษของตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียนต่อไป
ภาษาสันสกฤตนั้นไม่มีตัวอักษรสำหรับใช้เป็นระบบการเขียนของตนเองโดยเฉพาะ การเลือกอักษรมาใช้เขียนเพื่อบอกเสียงภาษาสันสกฤตจึงแล้วแต่ผู้ใช้งาน สำหรับในพื้นที่อินเดียนั้น เคยมีการใช้อักษรต่าง ๆ ในตระกูลอักษรพราหมี (Brahmic scripts) ในช่วงปลายสหัสวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล แต่ในสมัยปัจจุบัน ทางอินเดียจะใช้อักษรเทวนาครีเขียนภาษาสันสกฤตเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ผู้เรียนหรือผู้ใช้ภาษาสันสกฤตในประเทศอื่นจะนำอักษรแบบอื่นมาปรับใช้ในการเขียนภาษาสันสกฤต เช่น ผู้เรียนคนตะวันตกจะใช้อักษรโรมัน หรือผู้เรียนคนไทยจะใช้อักษรไทย
ประเทศอินเดียให้สถานะและบทบาทกับภาษาสันสกฤตในฐานะภาษาที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอินเดีย ผ่านการคัดเลือกให้ภาษาสันสกฤตเป็นสมาชิกของ “กลุ่มภาษาที่ถูกกำหนด” (Scheduled languages) ที่ประกาศในรัฐธรรมนูญอินเดีย
แต่สถานการณ์ใช้งานภาษาสันสกฤตในประเทศอินเดีย ณ ปัจจุบันนั้น นอกจากฐานะมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว การใช้งานภาษาสันสกฤตยังจำกัดเป็นเพียง “ภาษาเชิงพิธีกรรม” ตามบทสวดในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ และไม่หลงเหลือผู้ใช้ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาแม่แล้ว แม้ว่าจะมีความพยายามฟื้นฟูภาษาสันสกฤตก็ตาม อย่างการก่อตั้ง “สัมปูรณานันทสันสกฤตวิศววิทยาลัย” (Benares Sanskrit College) สถาบันการศึกษาเฉพาะทางด้านการศึกษาภาษาสันสกฤตที่และสาขาที่เกี่ยวข้องเก่าแก่ที่สุดในปี ค.ศ.1791 ณ เมืองพาราณสี
แสตมป์ในปี ค.ศ.1999 แสดงภาพของ "วิทยาลัยสันสกฤตเมืองโกลกาตา" สถาบันการศึกษาเฉพาะทางด้านการศึกษาภาษาสันสกฤตที่และสาขาที่เกี่ยวข้องที่เปิดเป็นลำดับที่ 3 ของอินเดีย [Credit ภาพ : India Post, Government of India]
สำหรับตัวอย่างของไวยากรณ์ในภาษาสันสกฤตที่เด่นชัด ได้แก่...
1) ประโยคบอกเล่าส่วนใหญ่มักมีโครงสร้างประโยคเป็นแบบ SOV (ประธาน-กรรม-กริยา) ซึ่งเป็นโครงสร้างประโยคแบบเดียวกับภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษามองโกเลีย และภาษาพม่า
2) คำนามในภาษาสันสกฤตมีเพศทางไวยากรณ์ (Grammatical gender) อยู่ 3 เพศ คือ เพศชาย เพศหญิง และเพศกลาง
3) คำนามในภาษาสันสกฤตจะมี 8 การก ได้แก่...
- “Kartā” : Nominative case (กรรตุการก) - คำนามที่ผันจะเป็นประธานของประโยค
- “Karman” : Accusative case (กรรมการก) - คำนามที่ผันจะเป็นกรรมตรงของประโยค
- “Sambandha” : Genitive case (สัมพันธการก) - คำนามที่ผันจะมีหน้าที่เป็นเจ้าของ
- “Sampradāna” : Dative case (สัมปทานการก) - คำนามที่ผันจะเป็นกรรมรองของประโยค
- “Karaṇa” : Instrumental case (กรณการก) - คำนามที่ผันจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ทำกริยา
- “Apādāna” : Ablative case (อปาทานการก) - คำนามที่ผันจะใช้ในกรณีอื่น ๆ เช่น เป็นแหล่งที่มา หรือเป็นตัวเปรียบเทียบ
- “Adhikaraṇa” : Locative case (อธิกรณการก) - คำที่ผันเป็นสถานที่หรือเวลาที่เกิดกริยา
- “Sambodhana” : Vocative case (สัมโพธนาการก) - คำนามที่ผันจะเป็นคนหรือสิ่งที่ถูกเรียก
4) คำกริยาในภาษาสันสกฤตต้องผ่านการผันคำ (ประกอบคำ) ก่อนนำเข้ามาใช้ในประโยค แตกต่างจากภาษาไทยที่นำคำกริยาใส่เข้ามาในประโยคได้เลยโดยไม่ต้องผันคำกริยา
ตัวอย่างการประกอบและผันคำกริยาภาษาสันสกฤต : แบบ “สารวะธาตุกะ” (คำกริยามีองค์ประกอบ 3 ส่วน)
ธาตุ/รากศัพท์ (Root) + ปัจจัยประจำหมวดธาตุ/ส่วนต่อท้ายรากศัพท์ (Suffix) + วิภักติ/ส่วนสุดท้ายของคำกริยา (Ending)
ส่วนประกอบของคำกริยา 3 ส่วนตามที่ปรากฏในตัวอย่างนี้ ได้แก่
- รากศัพท์ (Root) เป็นส่วนหลักของคำกริยา ที่ตำราเรียนภาษาสันสกฤตในไทยจะเรียกว่า “ธาตุ”
- ส่วนต่อท้ายรากศัพท์ (Suffix) ตำราเรียนภาษาสันสกฤตในไทยจะเรียกว่า “ปัจจัยประจำหมวด” เพื่อบอกหมวดของธาตุ
**ในการประกอบคำกริยาภาษาสันสกฤต รากศัพท์/ธาตุ เมื่อต่อกับส่วนต่อท้ายรากศัพท์/suffix จะเรียกว่า “ส่วนต้นศัพท์” (Stem)
- ส่วนสุดท้ายของคำกริยา (Ending) ตำราเรียนภาษาสันสกฤตในไทยจะเรียกว่า “วิภักติ” เป็นส่วนที่ใช้บอกลักษณะหรือรายละเอียดของคำกริยา เช่น กาล (Tense) ว่าคำกริยาเกิดขึ้นในอดีต/ปัจจุบัน/อนาคต, พจน์ (Number) ของคำนามที่เป็นประธาน (ซึ่งภาษาสันสกฤตมี 3 แบบคือ เอกพจน์ ทวิพจน์ และพหูพจน์) หรือบุรุษ (Person) ของคำนามที่เป็นประธาน (เจ้าของคำกริยา) ที่ภาษาสันสกฤตมีบุรุษที่ 1-2-3 เป็นต้น
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมของ "ภาษาสันสกฤต" ในฐานะสมาชิกหนึ่งในกลุ่มภาษาอินโด-อารยันสมัยเก่า ซึ่งเป็นรากฐานทางภาษาและวัฒนธรรมที่สำคัญในอินเดียและภูมิภาคที่ได้รับอิทธพลทางศาสนาและวัฒนธรรมจากอินเดีย (อย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เข้าใจและเห็นภาพถึงประวัติความเป็นมา ความสำคัญ ลักษณะเฉพาะ ภาษาปรากฤตในฐานะอีกภาษาในกลุ่มภาษาอินโด-อารยันที่คู่ขนานไปกับภาษาสันสกฤตจนกลายเป็นกลุ่มภาษาอินโด-อารยันสมัยใหม่ รวมถึงตัวอย่างไวยากรณ์ในภาษาสันสกฤตครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
[แหล่งที่มาของข้อมูล]
- Michael Coulson, Richard Gombrich, James Benson. Complete Sanskrit. London, UK: Hodder Education; 2010.
- หนังสือ “ภาษาสันสกฤตสำหรับบุคคลทั่วไป” โดย ผศ.ดร.ระวี จันทร์ส่อง สาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤต-ฮินดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- Anna Giacalone Ramat, Paolo Ramat. The Indo-European Languages. Bristol, UK: Routledge; 1998.
- Bernard Comrie. The World’s Major Languages. Oxfordshire, UK: Routledge; 2018. https://books.google.co.th/books?id=lR9WDwAAQBAJ&source=gbs_navlinks_s
- Tim Dyson. A Population History of India: From the First Modern People to the Present Day. Oxford, UK: Oxford University Press; 2018.
- Sheldon Pollock. The Language of the Gods in the World of Men: Sanskrit, Culture, and Power in Premodern India. California, US: University of California Press; 2006.
- John J. Lowe. Transitive Nouns and Adjectives: Evidence from Early Indo-Aryan. Oxford, UK: Oxford University Press; 2017.
- Danesh Jain, George Cardona. The Indo-Aryan Languages. Oxfordshire, UK: Routledge; 2007.
- A. M. Ruppel. The Cambridge Introduction to Sanskrit. Cambridge, UK: Cambridge University Press; 2017.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา