13 ก.ย. 2021 เวลา 08:43 • ข่าวรอบโลก
การประท้วงขึ้น ค่ารถไฟฟ้า กรณีศึกษาในต่างประเทศ
การประกาศยกเลิกตั๋วรายเดือนรถไฟฟ้า BTS สิ้นสุดปลายเดือน ก.ย.นี้ ทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายระบบขนส่งสาธารณะเพิ่ม ซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจ เนื่องจากการระบาดโควิด-19
บทความโดย กันต์ เอี่ยมอินทรา
การประท้วงขึ้น ค่ารถไฟฟ้า กรณีศึกษาในต่างประเทศ
ระบบขนส่งสาธารณะที่ดีถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความเจริญของเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก เพราะระบบขนส่งสาธารณะที่ดีนอกจากจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาเมืองจากที่เคยกระจุกตัวให้กระจายออกไปยังแนวเส้นหรือรางของระบบ ซึ่งจะช่วยกระจายความเจริญแล้วยังช่วยกระจายเม็ดเงินให้หมุนเวียนในบริเวณรายรอบระบบแล้ว
ระบบขนส่งสาธารณะที่ดีที่ประชาชนสามารถสามารถเข้าถึงได้นั้นยังช่วยประชาชนและประเทศชาติในเรื่องของปัญหาจราจรและมลพิษในกรณีของรถไฟฟ้าในเมืองใหญ่ และลดต้นทุนค่าสินค้าอันเนื่องมาจากการขนส่งทำให้สินค้ามีความคุ้มค่าเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งได้ในกรณีการเชื่อมต่อระหว่างเมืองหรือแหล่งผลิตต้นทางกับผู้บริโภคปลายทาง
คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนอันเนื่องมาจากการมีระบบการขนส่งที่ดีนั้นนอกจากจะลดความเครียดจากรถติด ลดปัญหาสุขภาพจากมลพิษ ยังเพิ่มความสุขจากเวลาในการเดินทางที่ลดลงอันเนื่องมาจากระบบรางที่ดีหรือการกระจายความเจริญของเมือง เวลาที่เพิ่มขึ้นก็คือโอกาสของประชาชนในการพักผ่อนหย่อนใจหรือจะแม้แต่การสร้างรายได้เพิ่ม
4
ดังนั้น ในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเทศที่เจริญแล้วจึงมีความพยายามที่จะส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางด้วยระบบการขนส่งสาธารณะมากกว่ารถยนต์ส่วนตัว การขึ้นราคาของระบบขนส่งมวลชนสาธารณะจึงเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนที่รัฐบาลในต่างประเทศให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะมันกระทบต่อปากท้องของประชาชนซึ่งหมายความถึงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง
การค้าและการตั้งราคาในระบบตลาดแบบเสรีนั้นไม่จำเป็นต้องถูกควบคุมโดยรัฐเพราะในตลาดเสรีนั้นมีคู่แข่ง ขณะที่การค้าแบบผูกขาดหรือระบบสัมปทานนั้นจำเป็นต้องพึ่งพาการควบคุมจากรัฐ ความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของประชาชนกับผลประโยชน์ของผู้รับสัมปทานจึงควรได้รับความสนใจดูแลอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้
1
ผลวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า การตั้งราคาของรถไฟฟ้ากรุงเทพฯนั้นถือว่าสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของไทย เทียบกับประเทศอื่น ๆ คิดเป็นเที่ยว ๆ ละ 28.3 บาท หรือเป็นเดือน ๆ ละ 1,000-1,200 บาท ซึ่งไม่เป็นมิตรกับผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้เฉลี่ยวันละ 300-400 บาท ต่างจากประเทศอื่นที่ถึงแม้ราคาค่าโดยสารระบบรางนั้นดูแล้วใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ แต่ต้องวิเคราะห์ให้ลึกถึงค่าแรงขั้นต่ำของประเทศนั้น ๆ ที่สูงกว่ากรุงเทพฯอย่างมีนัยสำคัญด้วย
ค่าเฉลี่ยราคาการเดินทางต่อเที่ยวของคนในกรุงเทพที่ 28.3 บาทซึ่งเดิมนั้นก็แพงอยู่แล้วเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำและเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ นั้นจะถูกปรับขึ้นอย่างแน่นอนอันเนื่องมาจากการยกเลิกตั๋วรายเดือนของ BTS
ยกตัวอย่างง่าย ๆ หากขึ้นจากต้นทางอ่อนนุชไปยังปลายทางจตุจักรที่ด้วยบัตรรายเดือนจะต้องจ่าย 26-31 บาทต่อเที่ยว การยกเลิกบัตรรายเดือนจะทำให้ค่าเดินทางต่อเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นอัตราปกติที่ 44 บาทต่อเที่ยว หากคิดคำนวณการเดินทางไปกลับคูณกับจำนวนวันทำงาน 21 วันต่อเดือน ประชาชนจะต้องควักเงินจากกระเป๋าจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 546-756 บาทต่อเดือน
1
จะสังเกตได้ว่าในต่างประเทศนั้น หากมีการขึ้นค่าโดยสารในระบบขนส่งสาธารณะครั้งใด ก็จะมีการประท้วงตามมาเหมือนเงา โดยเฉพาะในประเทศประชาธิปไตยเต็มใบ ยิ่งในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจปัจจุบันที่ประชาชนทำมาหากินกันอย่างยากลำบาก ค้าขายยาก รายได้ลด ขณะที่รายจ่ายไม่ลดไม่พอยังเพิ่มขึ้นในกรณีของการยกเลิกค่าโดยสารรายเดือนของรถไฟฟ้า BTS
การยกเลิกตั๋วรายเดือนของ BTS นี้ยิ่งทำให้เห็นชัดว่า ในชีวิตจริงแล้วเรายังห่างไกลกับสโลแกน “กรุงเทพชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” อย่างแท้จริง
โฆษณา