13 ก.ย. 2021 เวลา 01:40 • ปรัชญา
"ดับที่เหตุแห่งทุกข์ ไม่ใช่ที่ตัวทุกข์"
" ... ธรรมะของพระพุทธเจ้าเต็มไปด้วยเหตุกับผล
ทำเหตุอย่างนี้ มีผลอย่างนี้
ทำเหตุดี มีผลดี ทำเหตุชั่วก็มีผลชั่ว
ผลชั่วก็เป็นผลของความทุกข์
เวลาเราจะแก้ปัญหาหรือแก้ทุกข์
เราเลยไม่ได้ไปแก้ที่ตัวปัญหาหรือตัวทุกข์
แก้ต้องแก้ที่ต้นเหตุ
สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับ สิ่งนั้นถึงจะดับ
ไปแก้ตัวผลไม่ได้
อย่างเราเกิดมามีร่างกายอย่างนี้
ร่างกายนี้เป็นผล เป็นวิบาก
เกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายไป
เราจะไปแก้ให้มันไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ทำไม่ได้
ถ้าไม่อยากจะแก่ ไม่อยากจะเจ็บ ไม่อยากจะตาย
ก็ต้องไม่เกิด
ถ้าทำเหตุแล้ว ผลมันต้องมี
เหมือนอย่างเราซุ่มซ่าม เดินหกล้มหัวแตกอะไรอย่างนี้
หัวมันฟาดพื้นไปแล้ว อยากให้มันไม่แตก มันไม่ได้
ก็ต้องทำเหตุ อย่าซุ่มซ่าม
คนส่วนใหญ่ไม่ได้มุ่งที่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
แต่มุ่งไปแก้ที่ตัวปัญหา หรือตัวทุกข์
อย่างภาวนาก็อยากไม่ทุกข์ ๆ
ทุกข์มันเป็นตัววิบาก แก้ไม่ได้
มันมีศัพท์ธรรมะอยู่กลุ่มหนึ่งชื่อไตรวัฏฏ์
วัฏฏะเริ่มจากกิเลส แล้วก็กรรม แล้วก็วิบาก
วิบากเป็นผลจากการกระทำกรรม
กรรมเกิดขึ้นเพราะว่ามีอกุศล มีกิเลส
พอมีกิเลสก็เลยกระทำกรรม กระทำกรรมแล้วก็มีวิบาก
1
“ศาสนาพุทธจะไม่แก้ที่ผล ผลคือตัววิบาก
การแก้ปัญหาเราจะแก้ที่ต้นเหตุ”
อย่างบางคนปากร้าย ใจร้าย ชอบเอาเปรียบ
แต่อยากให้คนรัก ถูกคนเขาเกลียด
ที่ถูกเกลียดเพราะทำกรรมไม่ดี ไประรานเขา
ทำไมไปทำกรรมไม่ดี เพราะมีกิเลส
อยากโน้นอยากนี้ มีความโกรธ
พอมีกิเลสแล้วก็ไปทำกรรม
อย่างไปด่าเขา ไปแกล้งเขา ไปเบียดเบียนเขาอะไรนี่
ก็ได้รับวิบาก เขาเกลียด
คนก็ชอบคิดว่าทำอย่างไรเขาจะหายเกลียดเรา
คิดจะแก้ที่ความเกลียด ไม่อยากให้เขาเกลียดเรา
อยากให้ทุกคนรักเรา
แต่ไม่มองต้นเหตุที่ทำให้เขาไม่รัก
ไม่มองถึงต้นเหตุที่ทำให้เขาเกลียดอะไรอย่างนี้
ฉะนั้นศาสนาพุทธจะไม่แก้ที่ผล ผลคือตัววิบาก
การแก้ปัญหาเราจะแก้ที่ต้นเหตุ
พระพุทธเจ้าท่านก็สาวจากผลไปหาเหตุ
ผลคือความทุกข์ ท่านดูว่าความทุกข์มันเกิดจากอะไร
มีอะไรมีอยู่ ความทุกข์ถึงมีอยู่
ความทุกข์ เช่น ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มีอยู่
เพราะมีความเกิด มีชาติ
ท่านก็ดูต่อไป ทำไมถึงมีชาติ ทำไมถึงมีความเกิด
เพราะว่ามันมีความดิ้นรนของจิต จิตมันดิ้นรน
เพราะมันมีความยึด มันยึดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
ยึดในเรื่องราวที่คิด ยึดถือในความคิดความเห็น
ยึดถือในแบบแผน วิธีปฏิบัติที่งมงาย
ยึดถือในความหลงผิด ในความเชื่อถือว่าตัวเรามีจริง ๆ
เรายึดอยู่ว่าตัวเรามีจริง ๆ
ท่านสาวต่อไปอีก ทำไมมันถึงยึด
มันยึดเพราะมันมีความอยาก
ทำไมมันมีความอยาก
เพราะว่ามันมีความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์มายั่ว
มีสุข มีทุกข์ มีความไม่สุขไม่ทุกข์มายั่ว
พอมีความสุขเกิดขึ้น ก็อยากได้ อยากมี อยากเป็น
มีความทุกข์เกิดขึ้น ก็อยากให้มันหมดไป สิ้นไป
ฉะนั้นมันก็มาจากตัวเวทนาอีกทีหนึ่ง ตัวอยาก
ท่านก็ดูต่อไปอีก ทำไมมันอยาก อยากมันมาจากไหน
อยากมันเกิดตอนไหน
ความอยากมันเกิดตอนที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
มันกระทบอารมณ์
กระทบอารมณ์ที่ดีก็ชอบ กระทบอารมณ์ที่ไม่ดีก็ไม่ชอบ
ถ้าชอบก็อยากให้มันมีอีก อยากให้มันคงอยู่
ถ้าไม่ชอบก็อยากให้มันหมดไปสิ้นไป
ก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์
ตัวนี้ตัวแสบ
ในโลกนี้มีใครหวาดระแวงเกรงกลัวความสุขบ้าง ไม่มี
มีแต่เราหวาดระแวงเกรงกลัวความทุกข์
เพราะฉะนั้นใจเราจะมีความอยากตามมาตลอด
เราอยากสุข เราอยากไม่ทุกข์
เพราะเราติดอกติดใจในความสุข
เราเกลียดชังในความทุกข์
พระพุทธเจ้าท่านก็สอนต่อไปอีก ดูลงไปสิ
ความสุข ความทุกข์มันเกิดเพราะอะไร
มันเกิดตอนไหน
ความสุข ความทุกข์อยู่เฉย ๆ มันไม่เกิดหรอก
มันเกิดเมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย
กระทบรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย
มันเกิดเมื่อใจกระทบธรรมารมณ์
อย่างใจเรากระทบความคิดอย่างนี้ แล้วมีความสุข
คิดอย่างนี้มีความทุกข์
ฉะนั้นสุข ทุกข์ มันก็มาจากผัสสะอีกที
อาศัยผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นมา
ผัสสะมีได้เพราะเรามีตา มันก็เลยเห็นรูป
เพราะมีหู มันก็เลยได้ยินเสียง
มีจมูก มีกลิ่น มีลิ้น มีจมูกก็มีกลิ่น มีลิ้นก็มีรส
มีร่างกายก็สัมผัสความเย็น ความร้อน ความอ่อน
ความแข็ง ความตึง ความไหว
มีใจก็สัมผัสความคิดนึกปรุงแต่ง
อาศัยผัสสะก็เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา
มีผัสสะก็เพราะว่ามีอายตนะ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ถึงกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ได้
กระทบแล้วมันก็เกิดสุข เกิดทุกข์ขึ้นมา
เกิดสุข เกิดทุกข์ขึ้นมา ใจก็มีความหิวโหย
หิวความสุข อยากให้ความสุขอยู่นาน ๆ
ความสุขหายไปก็อยากให้ความสุขกลับมา
ตรงที่ความสุขยังไม่มี อยากให้มันมี เรียกว่ากามตัณหา
ตรงที่มันมีแล้ว อยากให้มันอยู่นาน ๆ เรียกว่าภวตัณหา ตรงที่มันมีแล้ว ไม่ชอบมัน เขาเรียกเกิดวิภวตัณหา
นี่กระบวนการของมัน
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรามีขึ้นมาเพราะอะไร
เพราะมันมีจิต มันมีจิตที่หยั่งลง
อย่างบางทีเราภาวนา จิตรวมลงไปเลย
จิตดับลงไปเลย แล้วต่อมาจิตยังเคลื่อนขึ้นมา
มันกระทบความรู้สึกก่อนทางใจ
มันเกิดนามธรรมขึ้น ปรากฏขึ้นมา
แล้วมันขยายความรับรู้ออกไปอีกช็อตหนึ่ง
อีกระดับหนึ่ง
กระทบไปที่ร่างกาย ร่างกายก็ปรากฏขึ้นมา
ฉะนั้นอาศัยวิญญาณก็เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป
นามมันมาก่อน
เวลาเราภาวนา เรารู้เลย จิตเคลื่อนขึ้นมา
ยังไม่มีร่างกาย มีความรู้สึกเกิดขึ้นก่อน
แล้วพอความรู้สึก มันเหมือนแสงสว่าง
มันเหมือนแสงสว่างจุดไฟขึ้นในที่มืด
ก็เห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ ๆ ก่อน
สิ่งที่อยู่ใกล้ๆ กับจิตใจเราก็คือพวกนามธรรม
ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเกิดขึ้นชัดเจนขึ้นมาก่อน
พอเราสุมไฟสว่างมากขึ้น
ก็เห็นของที่อยู่ห่างขึ้นก็คือร่างกาย
อันนี้ในตำราเขาไม่ได้พูดไว้หรอก
หลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อเห็นอย่างนั้น
อาจจะเห็นถูกหรือเห็นผิด ก็ฟังหูไว้หู
เราค่อยภาวนาของเราเอาเอง
แล้วดูว่าถูกหรือไม่ถูก วิญญูชนรู้ด้วยตัวเอง
ตอนนั้นไปนั่งภาวนาอยู่วัดสนามใน
ไปฟังหลวงพ่อเทียน แล้วหลวงพ่อก็มาขยับๆๆ ไป
จิตรวม ทุกอย่างหายไปหมดเลย
แล้วพอจิตมันปรากฏขึ้น ผุดขึ้นมา
มันเหมือนแสงสว่างผุดขึ้น
กระทบเข้ากับความรู้สึกนึกคิด
แล้วแสงมันก็สว่างมากขึ้นกระทบออกมาถึงร่างกาย
ร่างกายก็ปรากฏขึ้น ตัววิญญาณมันทำงานขึ้นมา
ตัวจิตมันทำงานขึ้นมา ก็เลยได้รูปได้นามมา
ตัวจิตมันทำงานขึ้นมาได้
เพราะความปรุงที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในของจิต
คือตัวสังขาร
ท่านก็ดูต่อไป สังขารเป็นความปรุงดีบ้าง ปรุงชั่วบ้าง
ปรุงความว่างบ้าง แล้วแต่จะปรุง
ถ้าปรุงอะไรมันก็เกิดจิตขึ้นมาทั้งนั้น
เห็นไหมจิตมันก็เกิดขึ้นเป็นคราว ๆ ไม่ใช่ของอมตะ
มีจิตเกิดขึ้น เป็นวิญญาณ ปฏิสนธิวิญญาณเกิด
ก็เกิดรูป เกิดนาม อาศัยสังขารปรุง
ตัวสังขารมันปรุงมาจากอวิชชา
มีอวิชชาเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด
ฉะนั้นตราบใดที่ยังมีอวิชชา ยังมีกิเลสอยู่
จิตมันก็ทำงาน
ตรงที่จิตทำงานนั้นก็เรียกว่าจิตมันทำกรรม
คือตัวสังขารนั่นล่ะ ตัวภพนั่นล่ะ
ตัวสังขารก็คือการทำงานของจิต
ตัวภพก็คือการทำงานของจิต
เกิดจากกิเลส เกิดจากอวิชชา
ความไม่รู้แจ้งเห็นจริงในรูป นาม กาย ใจ
จริง ๆ ก็คือไม่รู้จักโลก
พระพุทธเจ้าสอนวิปัสสนากรรมฐาน
เพื่อให้เราตัดตรงเข้ามาแก้ที่ต้นเหตุที่แท้จริง
คือความไม่รู้อริยสัจหรือตัวอวิชชา
ไม่รู้จักตัวทุกข์
ไม่รู้จักตัวสมุทัย
ไม่รู้จักตัวนิโรธ
ไม่รู้จักตัวมรรค
ไม่รู้หน้าที่ต่อตัวทุกข์
ไม่รู้หน้าที่ต่อสมุทัย ต่อนิโรธ ต่อมรรค
สิ่งที่เรียกว่าโลก ก็มีรูปธรรม นามธรรมเท่านั้นเอง
ถ้ารู้จักรูปธรรมทั้งหลาย
มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้
มีแต่ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามเหตุปัจจัย
นามธรรมทั้งหลายมีเหตุก็เกิด
หมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัย
ถ้าเห็นอย่างนี้ เรียกทำลายอวิชชาลงไปได้
อวิชชาคือการไม่รู้อริยสัจ
ไม่รู้ว่าทุกข์ก็คือตัววิบาก มาจากเหตุ
เหตุมีทั้งเหตุฝ่ายดี เหตุฝ่ายชั่ว ก็เป็นเหตุเหมือนกัน
มันมาจากความไม่รู้แจ้งแทงตลอด
ในรูปธรรมนามธรรมนี้
ฉะนั้นการที่พระพุทธเจ้าสอนวิปัสสนากรรมฐาน
สอนเพื่อให้เราตัดตรงเข้ามาแก้ที่ต้นเหตุที่แท้จริงเลย
คือความไม่รู้อริยสัจหรือตัวอวิชชา
ไม่รู้จักตัวทุกข์
ไม่รู้จักตัวสมุทัย
ไม่รู้จักตัวนิโรธ
ไม่รู้จักตัวมรรค
ไม่รู้หน้าที่ต่อตัวทุกข์
ไม่รู้หน้าที่ต่อสมุทัย ต่อนิโรธ ต่อมรรค ... "
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
5 กันยายน 2564
ติดตามการถอดไฟล์บรรยายฉบับเต็มจาก :
ขอบคุณรูปภาพจาก : Pexels , Unsplash , เสรีชน : เสรีธรรม

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา