12 ก.ย. 2021 เวลา 01:10 • ปรัชญา
"จุดที่พอดี"
" ... ทำอย่างไรให้มันพอดี ?
เริ่มต้นอย่างไรก็ตึง ไม่ต้องตกใจ
พอเราคิดถึงการปฏิบัติ มันจะตึงอัตโนมัติ
เราไม่ใช่เด็กที่ไม่ได้คาดหวังอะไรจากการปฏิบัติ
โต ๆ แล้ว อย่างไรมันก็คาดหวัง
ฉะนั้นเบื้องต้นมันตึง ตึงก็ไม่เป็นไร ดีกว่าหย่อน
ถ้าเบื้องต้นหย่อนเลย ไม่ได้กินหรอก ก็เหลวไหลไปเลย
เบื้องต้นก็ตั้งใจหายใจเข้าพุท หายใจออกโธตั้งใจไว้
พอหนีไปคิดเรื่องอื่น โยนมันทิ้งไปเลย
กลับมาหายใจต่อ มันจงใจที่จะให้จิตอยู่กับลมหายใจ
หรือให้จิตอยู่กับพุทโธ
เบื้องต้นก็จงใจไปก่อน แล้วรู้ว่าจงใจค่อย ๆ สังเกตไป
จงใจแรง แน่น หน้าอกนี้แน่นเลย จงใจมาก
ดีกว่าหลง จงใจปฏิบัติ ไปสุคติได้
ถ้าย่อหย่อนแล้วหลง ๆ ไป ไปทุคติ
ฉะนั้นตึงดีกว่าหย่อน แต่ถ้าตึงจนร่างกายพิกลพิการ
จิตใจเครียด ตึงมาก ดีไม่ดีเป็นโรคซึมเศร้าไปเลยก็ได้
มันเครียดมากเกินไป
ค่อย ๆ สังเกตเอา เราจะเห็นว่าตรงนี้ตึงไป
มันตึงเพราะมันโลภ มันอยากดี อยากสุข อยากสงบ
พอมันรู้ทันต้นเหตุของความตึง ก็คือตัวอยากนี่เอง
เรารู้ทันจิตที่อยาก ความตึงมันก็ค่อย ๆ ลดลง ๆ
มันจะพอดี
3
แต่ถ้าเริ่มต้นหย่อนไป หายไปเลย
ถ้าเริ่มต้น ตึงหน่อย ๆ อย่าตึงเยอะ
ไม่ใช่เริ่มต้นต้องตึงสุดขีดอย่างนี้ อันนี้เว่อไป
ธรรมดาอยู่นี่ตึงอยู่แล้วล่ะ
เราก็ค่อยสังเกต ทำไมภาวนาแล้วมันเหนื่อย
หายใจแล้วมันเหนื่อย ภาวนาแล้วมันอึดอัด
มันแน่นหน้าอกอะไรอย่างนี้ สังเกตไป
โอ้ มันอยากดี มันอยากสุข อยากสงบ
พอรู้ทันต้นตอ รู้ทันตัวอยาก
ความอยากดี อยากสุข อยากสงบดับไป
ใจมันจะเริ่มลดระดับลงจากความตึง
ค่อย ๆ ลดลงมา มันจะสู่จุดที่พอดี
1
จุดที่พอดีเหมือนจุดเล็ก ๆ จุดเดียว
หย่อนนี่ยาวนาน พอดีนิดเดียว ตึงก็ยาว
ตรงที่มันพอดี จิตมันตั้งมั่น มันสงบ
มันตั้งมั่นโดยไม่ได้จงใจ ไม่ได้เจตนา มันเป็นเอง
แต่ก่อนจะมาถึงตรงนี้ มันก็เจตนามาก่อน
เรารู้ทันตัณหา ตัวอยากดี รู้ทัน ตัณหาดับ
ใจมันจะค่อย ๆ ภาวนาไปแป๊บเดียว
มันก็เข้าที่พอดี
จุดที่ดีพอดีเป็นจุดที่ถูกทำขึ้นมาไม่ได้
อย่านึกว่าจะทำปุ๊บถูกพอดีเป๊ะ ทำไม่ได้หรอก
สิ่งที่ดีทำไม่ได้ ที่ทำทีไรเลวทุกที ไม่ตึงไปก็หย่อนไป
แต่สิ่งที่ดี มันเกิดจากเรามีสตินี่ล่ะ
เรารู้ทันว่ามันตึงเกินไป
รู้ทันต้นเหตุว่าตัณหามันพาให้ตึง
อาศัยสติรู้ทัน จิตหมดตัณหา
ภาวนาไปแล้วมันจะพอดีเอง
ฉะนั้นจุดที่พอดีทำขึ้นมาไม่ได้
พอพอดีแล้วก็ไม่ต้องรักษา
มันเสื่อมไป เราก็รู้ทันไปอีก มีสติไปเรื่อย
จิตเคลื่อนออกไป รู้ทันอีก จิตก็กลับเข้ามาตั้งมั่น
ต้องมีอารมณ์กรรมฐาน
อย่านึกว่าแน่ ไม่ต้องใช้อารมณ์กรรมฐาน
ไม่ต้องมีวิหารธรรมอะไรอย่างนี้ ไม่แน่จริงหรอก
ถ้ามันไม่จำเป็นพระพุทธเจ้าไม่สอนให้ทำ
ท่านสอนให้เรามีอารมณ์กรรมฐาน
อย่างเราจะอยู่กับพุทโธ ธัมโม สังโฆ
อยู่กับลมหายใจ อยู่กับร่างกาย
ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกอะไรก็ได้
คิดถึงทาน คิดถึงศีลที่เรารักษาไว้ดี ทำไว้ดีแล้ว
ก็ต้องมีเครื่องอยู่
เครื่องอยู่อย่างพวกกสิณอะไรอย่างนี้
หลวงพ่อไม่ค่อยแนะนำ
กสิณเล่นแล้วมันชอบออกนอก
พวกอนุสติปลอดภัยกว่า
มีสติระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
คิดถึงทานที่ทำแล้วที่ดี คิดถึงศีลที่ทำแล้วที่ดี
คิดถึงความสงบ คิดถึงคนดี ๆ คิดถึงแล้วเรามีความสุข
เรียกเทวตานุสติอะไรอย่างนี้ ... "
2
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
29 สิงหาคม 2564
ติดตามการถอดไฟล์บรรยายฉบับเต็มจาก :
ขอบคุณรูปภาพจาก : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา