14 ก.ย. 2021 เวลา 03:07 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
จะเกิดอะไรขึ้นหากทุกคนสามารถทำตัวเป็น 'ธนาคาร' เองได้ ?
#เจาะลึกโดยเดอะซีเรียส
#มีภาคต่อ
The Serious - When all becomes 'Bank'
หากท่านเคยติดตามข่าวเศรษฐกิจอยู่บ้าง ท่านคงคุ้นชินกับประโยคที่ว่า ‘เศรษฐกิจไม่ดี แบงค์ไม่ชอบปล่อยกู้’ หรือในบางคนอาจมีประสบการณ์ขอสินเชื่อ/บัตรเครดิตลำบากเพราะธนาคารบอกว่า ‘คุณลูกค้าทำอาชีพอิสระ ไม่มีเงินเดือนประจำ ไม่เข้าเงื่อนไขพิจารณา’
บางครั้ง แม้ธนาคารจะผ่อนปรนเงื่อนไขการพิจารณาสินเชื่อลงมาบ้าง แต่ก็ต้องแลกกับ ‘หมวดสินเชื่อ’ ที่ท่านจะขอได้เช่น แทนที่จะได้สินเชื่อบัตรกดเงินสดซึ่งอัตราดอกเบี้ยอาจอยู่ที่ไม่เกิน 16% กลับต้องขอสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งอัตราดอกเบี้ยอาจเลยเถิดไปถึง 25-33%
ในขณะเดียวกัน ผู้มีวินัยทางการเงินอีกกลุ่มหนึ่ง ‘ซึ่งอาจพอมีเหลือเก็บอยู่บ้าง’ กลับต้องยอมรับสภาพอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ‘ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน’ ที่ราว ๆ 0.25-0.40% หากฝากในระยะสั้น ๆ หรืออาจจะได้ 1% กว่า ๆ ถ้าขยับไปฝากประจำ ซึ่งส่วนต่างเหล่านั้น ก็คือกำไรของตัวกลางทางการเงินที่เราเรียกว่า ‘ธนาคาร’ นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้แนวคิดการเงินแห่งอนาคตรูปแบบหนึ่งที่เรียกกันว่า ‘ดีไฟน์ (DeFi)’ หรือ Decentralized Finance นั้น จึงกำเนิดขึ้นโดยมีแนวคิดที่สำคัญคือ อยากทำให้ธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ของคนทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน ฝากทรัพย์สิน ไปจนถึงการกู้ยืมเงินนั้น ไม่ต้องผ่านตัวกลางหรือธนาคารที่เราเรียกกัน
หลักการของ DeFi แบบง่าย ๆ คือ การมีระบบประมวลผลกลาง (บล็อกเชน) (ซึ่งไม่มีใครคนใดคนหนึ่งควบคุมได้) ทำตัวเป็นธนาคาร เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเลือกทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้เอง เช่นตัดสินใจว่าจะปล่อยกู้ให้ใคร ในอัตราดอกเบี้ยเท่าไร จะเสนอกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยเท่าไร เป็นต้น
อย่างไรซะหลักการดังกล่าวคงต้องใช้เวลาฟักตัวอีกสักหน่อย จนกว่าจะได้รับความไว้วางใจ (proven and tested) เฉกเช่นเดียวกับที่ระบบธนาคารได้พัฒนามาเป็นเวลากว่าหลายร้อยปี (พันปี)
แล้วถ้าสมมติว่า DeFi สำเร็จแล้ว (ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของเราวันนี้) โลกจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราจะมาวิเคราะห์กัน
1. ธุรกรรมต่าง ๆ จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
เนื่องจากธุรกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นบนระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ท่านจะลืมการเซ็นต์เอกสารโอน เติม จ่าย กู้เงิน เพราะทุกอย่างอยู่บนระบบดิจิทัล การพิจารณาสินเชื่ออาจใช้เวลาเพียงหนึ่งในพันวินาที (millisecond) จากเดิมที่อาจต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์
2. ต้นทุนโดยรวมต่ำลง
การที่ต้นทุนของทั้งระบบต่ำลง เนื่องจากไม่ต้องมีสำนักงาน ไม่ต้องมีพนักงานพิจารณาสินเชื่อ นั่นหมายถึง โอกาสในการที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จะถูกลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ใช้งาน และเศรษฐกิจโดยรวม
3. ลดความเหลื่อมล้ำ
จากเดิมที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ จะเป็นส่วนที่ธนาคารได้รับไป ดังนั้น เมื่อธนาคารถูกทดแทนด้วยระบบกลางที่มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง ส่วนต่างนั้นก็จะถูกคืนกลับไปยังผู้ฝากในรูปของดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขึ้น และคืนกลับผู้กู้ในรูปของดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกลง (เกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่ได้พิมพ์ผิดนะ)
4. ผลิตภัณฑ์ทางการเงินจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว
โดยปกติแล้วธนาคารจะเป็นผู้คิดค้นและตัดสินใจว่าจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใดให้แก่ลูกค้า ซึ่งมักใช้เวลายาวนานเนื่องจากการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด การไม่ต้องการรับความเสี่ยง ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดของ DeFi ที่คนทั่วไปสามารถตัดสินใจเองได้ว่าจะยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน
แม้จะเล่ากันมาขนาดนี้ ใช่ว่า DeFi จะดีไปเสียหมด ซึ่งถ้าหากอยากรู้ก็ช่วยกันกดติดตาม The Serious ของเราไว้ก่อน และเราจะมาไขจุดอ่อนของ DeFi กันต่อในตอนถัดไป
#TheSerious #เศรษฐกิจการเงิน
#DeFi
โฆษณา