16 ก.ย. 2021 เวลา 05:28 • สุขภาพ
ใช้ยาทาสเตียรอยด์..อย่างไรให้ "ปลอดภัย"
1
ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกเป็นยาประเภทใด?
𝘵𝘰𝘱𝘪𝘤𝘢𝘭 𝘴𝘵𝘦𝘳𝘰𝘪𝘥𝘴 หรือ ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก/ ยาทาสเตียรอยด์ หมายรวมถึงรูปแบบ ขี้ผึ้ง, ครีม, โลชั่น
มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน มีบทบาทมากในการรักษาโรคผิวหนังที่มีอาการอักเสบและอาการคัน
.
ตัวอย่าง : ตัวยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก
✅ Prednisolone (ครีม)
✅ Hydrocortisone acetate (ครีม)
✅ Triamcinolone acetonide (ครีม โลชัน)
✅ Betamethasone valerate (ครีม โลชัน)
✅ Betamethasone dipropionate (ขี้ผึ้ง ครีม)
✅ Desoximetasone (ครีม)
✅ Mometasone furoate (ครีม)
✅ Clobetasol propionate (ขี้ผึ้ง ครีม โลชัน)
หากต้องการทราบว่ายาทาที่ใช้อยู่มีตัวยาสเตียรอยด์หรือไม่ สังเกตได้จากส่วนประกอบของยาในหลอด มีชื่อยาข้างต้นนี้หรือไม่
.
ความแตกต่าง ของยาทาแต่ละตัวมีหรือไม่?
มีแน่นอนค่ะ ... ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกมีความแรงแตกต่างกัน
ความแรงของยาประเมินจากการออกฤทธิ์ที่ทำให้หลอดเลือดบีบตัวร่วมกับผลที่ได้จากการศึกษาเปรียบเทียบความแรงในทางคลินิก ซึ่งความแรงขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ชนิดของตัวยาสำคัญ ชนิดของเกลือ (เอสเทอร์) ปริมาณยา และรูปแบบยา
ตัวอย่างเช่น
betamethasone มีความแรงมากกว่า hydrocortisone
betamethasone ชนิดที่เป็นเกลือ dipropionate จะมีความแรงมากกว่าชนิดที่เป็นเกลือ valerate
ดังนั้นความแรงของยามีผลต่อการเลือกใช้กับบริเวณที่ทา เช่น บริเวณใบหน้าหรือผิวอ่อนๆ ไม่ควรใช้สเตียรอยด์ที่แรงจนเกินไป เพราะอาจดูดซึมยาเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ต้องการจากการรักษาด้วยยาทา
นอกจากความแรงที่แตกต่างกันยังมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อการเลือกใช้งานที่แตกต่างกันอีกด้วย เช่น ยาในรูปแบบขี้ผึ้งจะช่วยปกคลุมผิวหนัง ลดการสูญเสียน้ำและเพิ่มการดูดซึมตัวยาสำคัญ แต่ยาประเภทขี้ผึ้งทำให้เหนอะหนะผิว ทาเป็นวงกระจายได้ยากและเป็นมันทำให้ล้างออกยาก กว่าแบบครีม หรือโลชั่น
👩‍⚕️ ซึ่งหากคุณปรึกษาการใช้ยากับแพทย์ หรือ เภสัชกร อย่างน้อยก็มั่นใจได้ว่า จะได้รับการรักษาที่มีตัวยา ความแรง รูปแบบ เหมาะสมที่สุดกับอาการของคุณนั่นเองค่ะ
.
ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกแทรกซึมผ่านผิวหนังได้มากน้อยเพียงใด?
โดยทั่วไปแล้วเพื่อผลการรักษาที่ดีตัวยาควรแทรกซึมผ่านผิวหนังชั้นหนังกำพร้าได้ในระดับความเข้มข้นที่ให้ผลในการรักษา แต่ไม่ต้องการให้ถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบกระแสเลือดของร่างกายเพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์ของยา
โครงสร้างของผิวหนังมีผลต่อการแทรกซึมและการดูดซึมยา การดูดซึมยาผ่านผิวหนังแต่ละแห่งไม่เท่ากัน เช่น การดูดซึมผ่านฝ่ามือหรือฝ่าเท้า (0.1–0.8%) แขนช่วงแรกบริเวณระหว่างข้อศอกกับข้อมือ (1%) ใบหน้า (10%) หนังศีรษะและตามซอกพับ (ราว 4%) เปลือกตาและถุงอัณฑะ (40%) เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้บริเวณที่มีการดูดซึมดีควรใช้ยาที่มีความแรงต่ำและควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีความแรงสูงรวมถึงพวกที่มีความแรงรองลงมาหากต้องใช้เป็นเวลานาน ส่วนบริเวณฝ่ามือหรือฝ่าเท้าจะใช้ยาที่มีความแรงสูง อย่างไรก็ตาม หากรอยโรคมีบริเวณกว้างควรใช้ยาที่มีความแรงลดลง เพื่อลดปริมาณยาที่ถูกดูดซึมเข้าระบบของร่างกาย
.
ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกใช้กับโรคผิวหนังชนิดใด?
✅ โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis)
✅ โรคผิวหนังอักเสบออกผื่น (eczema)
✅ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis)
✅ โรคผิวด่างขาว (vitiligo)
.
อาการไม่พึงประสงค์ของยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก
⚠️ เป็นข้อควรระวังของการใช้ยาทาสตียรอยด์ หากใช้ไม่เหมาะสม อาจเกิดผลเสียเหล่านี้ตามมาได้นั่นเอง
◾ ยากดภูมิคุ้มกันได้ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียและรา นอกจากนี้ยาอาจบดบังอาการติดเชื้อจนทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงในภายหลัง
◾ ผิวหนังบริเวณที่ทายาบางลง มีเส้นเลือดฝอยขยาย ผิวแดง ร้อน มีริ้วลาย เหี่ยวลีบ ฟกช้ำง่าย อาจเกิดรอยแผลตรงเป็นบริเวณที่ทายา การทาบริเวณหน้าอาจเกิดผื่นแดงและตุ่มแดงคล้ายสิว นอกจากนี้อาจพบผิวด่างเนื่องจากการที่มีเม็ดสีน้อยลง
◾ เกิดกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing’s syndrome) ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะกดการทำงานของต่อมหมวกไต จะพบไม่บ่อย อาจพบเมื่อใช้ยาชนิดที่มีความแรงสูงและทาเป็นบริเวณกว้างหรือทาบริเวณผิวหนังเปิด
.
👩‍⚕️ ข้อแนะนำในการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก
1. ก่อนใช้ยาต้องมั่นใจว่าผิวหนังบริเวณนั้นไม่เป็นโรคติดเชื้อ
2. ไม่ใช้เพื่อรักษาโรคหน้าแดง (rosacea) ปากแตก สิว โรคผิวหนังที่มีการติดเชื้อ
3. ไม่ควรใช้ชนิดที่มีความแรงสูงกับผิวหนังที่บาง
4. ไม่ควรใช้ชนิดที่มีความแรงสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน
5. ยาอาจกดการทำงานของต่อมหมวกไต หากใช้ชนิดที่มีความแรงสูงและใช้เป็นบริเวณกว้าง ดังนั้นจึงควรหยุดใช้ยาเป็นช่วงๆ โดยทั่วไปมักใช้ติดต่อกันไม่เกิน 2 สัปดาห์
6. การใช้ยาที่มีความแรงสูงเป็นเวลานาน หากจะลดขนาดยาควรลดอย่างช้าๆ การลดขนาดยาเร็วเกินไปอาจทำให้โรคกำเริบ
7. หลีกเลี่ยงการใช้ในสตรีมีครรภ์ หากจำเป็นต้องใช้ยาควรเลือกชนิดที่มีความแรงต่ำจนถึงความแรงปานกลางเท่านั้น และใช้เป็นเวลาสั้นๆ
.
ปัจจุบันพบว่า มีการนำยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกมาใช้อย่างไม่ถูกต้องกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากยาให้ประสิทธิผลในการทุเลาอาการได้ดีและเห็นผลเร็ว การนำมาใช้ไม่ตรงกับโรคที่เป็นอยู่จะทำให้ยาบดบังอาการของโรค ทำให้โรคนั้นไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เป็นเหตุให้โรคลุกลามหรือเป็นมากขึ้นจนอาจเกิดอันตรายที่รุนแรงได้ จึงควรใช้ยาตามข้อแนะนำข้างต้น และอยู่ในความดูแลของแพทย์และเภสัชกร
.
.
เรียบเรียงโดย : สุขภาพดีไม่มีในขวด
ขอบคุณข้อมูลจาก :
นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก (topical corticosteroids) สำหรับรักษาโรคผิวหนัง. สารคลังข้อมูลยา.
1
โฆษณา