18 ก.ย. 2021 เวลา 15:00 • สุขภาพ
เราแกะยาออกจากแคปซูล 💊 ได้หรือไม่?
2
ยาเม็ดแคปซูลเป็นรูปแบบยาที่พบเห็นได้ทั่วไปตามท้องตลาด และเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยใช้ยาในรูปแบบนี้มาแล้วและอาจมีคำถามว่า เราสามารถแกะผงยาออกจากแคปซูลได้หรือไม่ ซึ่งการที่จะตอบคำถามนี้ได้ เราก็ต้องรู้ก่อนว่าเปลือกแคปซูลของยาแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันอย่างไร
.
ชนิดของเปลือกแคปซูล 💊
1
1️⃣ เปลือกแคปซูลชนิดที่มีผลต่อการปลดปล่อยตัวยา
เปลือกของแคปซูลเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้ทำหน้าที่ควบคุมการปลดปล่อยตัวยา การแกะยาออกจากแคปซูลชนิดนี้อาจทำให้ได้ยาในขนาดที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้ไม่ได้รับผลการรักษาตามต้องการหรืออาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากยามากขึ้น
ดังนั้น ❌ ห้ามแกะแคปซูลชนิดนี้
ตัวอย่าง
ยาแคปซูลป้องกันการแข็งตัวของเลือดดาบิกาแทรน (Dabigatran) ตัวแคปซูลทำหน้าที่ควบคุมให้ยาค่อย ๆ ถูกปลดปล่อยออกมา การแกะยาออกจากเปลือกแคปซูลชนิดนี้จะทำให้ได้รับยาในปริมาณที่มากกว่าปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะเลือดออกมากผิดปกติได้ เป็นต้น
.
2️⃣ เปลือกแคปซูลชนิดที่ไม่มีผลต่อการปลดปล่อยตัวยา
ตัวเปลือกไม่มีผลต่อการปลดปล่อยยา แต่ควรพิจารณาลักษณะของยาที่บรรจุภายในด้วยว่าเราสามารถแกะยาออกจากเปลือกแคปซูลได้หรือไม่ ดังนี้ 👇
💊 กรณีภายในบรรจุเม็ดเพลเลต (Pellets)
เม็ดเพลเลตคือ อนุภาคยาขนาดเล็กหลายอนุภาคมาอยู่รวมกันและเม็ดเพลเลตนี้สามารถถูกออกแบบให้ควบคุมการปลดปล่อยยาได้เช่นกัน
ตัวอย่าง
ยามอร์ฟีน (Morphine) แคปซูลบางชนิดหรือ ยาลดกรดโอมีพลาโซล (Omeprazole) เป็นต้น
⚠ เราสามารถแกะยาออกจากเปลือกแคปซูลได้ แต่ห้ามบดหรือทำให้เม็ดเพลเลตแตก
💊 กรณีภายในบรรจุผงยา
เนื่องจากบรรจุยาในลักษณะของผง จึงสามารถ ✔️ แกะแคปซูลได้ แต่เมื่อแกะยาออกจากเปลือกอาจส่งผลให้ได้รับยาน้อยกว่าปกติได้ เพราะมีโอกาสที่ผงยาจะตกค้างในเปลือกแคปซูลนั่นเอง
💊 กรณีภายในบรรจุผงยาที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้สัมผัส
ผงยาบางชนิดหากแกะออกจากเปลือกแคปซูลแล้วมีการฟุ้งกระจายและผู้ใช้สัมผัสกับผงยาโดยตรงอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น เป็นสารก่อมะเร็ง หรือมีพิษต่อระบบสืบพันธุ์ได้
.
แม้ว่าจะเป็นยารูปแบบแคปซูลเหมือนกัน บางชนิดแกะผงยาออกจากเปลือกแคปซูลได้ บางชนิดแกะออกจากเปลือกแคปซูลไม่ได้ การรับประทานยาแคปซูลโดยการกลืนทั้งเม็ดจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด แต่หากมีความจำเป็น ไม่สามารถกลืนแคปซูลยาได้ จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ไม่ควรตัดสินใจแกะแคปซูลยาด้วยตนเอง 👩‍⚕️
.
.
เรียบเรียงโดย : สุขภาพดีไม่มีในขวด
ขอบคุณข้อมูลจาก : ภญ.นันทพร เล็กพิทยา, ภญ.เบญญาภา เพชรปวรรักษ์ งานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.https://bit.ly/3xMgiRC
โฆษณา