19 ก.ย. 2021 เวลา 04:06 • กีฬา
ประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลง เมื่อ “เวทีมวยลุมพินี” ทลายอคติทางเพศจัดมวยหญิงชกครั้งแรกรอบ 65 ปี
ความเสมอภาคทางเพศ เป็นประเด็นที่โลกยุคปัจจุบันกำลังออกมาพูดถึง เช่นเดียวกับในวงการมวยไทยอาชีพบ้านเรา
หลายคนตั้งคำถามว่า เหตุใดนักชกหญิงไทยทำผลงานไปไม่ถึงขีดสุดสักที ? คำตอบนั้นอาจเริ่มตรงจุดที่โอกาสในเส้นทางสายกำปั้นของผู้ชายกับผู้หญิงไม่เท่าเทียมกัน
เพราะความเชื่อบางอย่างที่ยกให้ “มวยไทย” เป็นกีฬาที่สะท้อนความเป็นบุรุษเพศ และเวทีมวยถือเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ จึงกลัวว่าหากปล่อยให้สุภาพสตรีขึ้นไปชก อาจจะมีของเสียอย่างเช่น ประจำเดือนหล่นลงบนผืนผ้าใบของเวทีมาตรฐาน
นั่นจึงเป็นที่มาของข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงแตะต้องเวทีมวย ราชดำเนิน และ ลุมพินี ซึ่งเป็นข้อห้ามที่มีมาช้านาน ตั้งแต่อดีตที่ผ้าอนามัยยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในสังคม
“นักมวยหญิง” สามารถขึ้นชกได้แค่เวทีภูธรและเวทีมวยรอบนอกเท่านั้น อีกทั้งรายได้ของนักชกหญิงก็น้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ชาย เพราะมวยหญิงไม่ได้เป็นที่นิยมในบ้านเรา แถมยังต่อยบนเวทีใหญ่ไม่ได้อีก
เด็กสาวหลายคนที่ฝึกฝนมวยมาตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อถึงจุดหนึ่งจึงหันหลังให้กับผืนผ้าใบ เพราะไม่สามารถต่อยอดได้ จนประเทศเราต้องสูญเสียทรัพยากรนักกีฬามวยหญิงไปมากมาย ด้วยความเชื่อที่ส่งต่อกันมาว่า “ผู้หญิง” ห้ามแตะเวทีมาตรฐาน
อย่าว่าแต่ขึ้นชก แค่จะถอดมงคลให้นักมวยหรือแตะพื้นเวทีราชดำเนินกับลุมพินี ผู้หญิงก็ไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะจะถูกกีดกันไว้ให้เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่มีสิทธิ์ทำได้
ซ้ำยังมีเรื่องเล่าขานอีกว่า หากวันไหนมีนักท่องเที่ยวหญิงชาวต่างชาติไปแตะต้องเวทีมวย จะทำให้การแข่งขันในวันนั้น นักมวยจะบาดเจ็บเลือดตกยางออกมากกว่าปกติ
อย่างไรก็ตามความเชื่อดังกล่าว เริ่มถูกตีความในมุมมองที่เปลี่ยนไป เพราะยุคสมัยปัจจุบัน “ผู้หญิง” เริ่มเข้ามามีที่ยืนในโลกของกีฬาต่อสู้ หลายองค์กรกีฬา อาทิ UFC, ONE Championship หันมาลุยตลาดมวยหญิงเต็มตัว กล้าดันให้ไปขึ้นชกเป็นคู่เอก เพราะความนิยมที่ไม่น้อยไปกว่ามวยชาย จนสามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดได้อย่างมหาศาล
เช่นเดียวกับในวงการมวยไทยในยุคหลัง เริ่มมีสุภาพสตรีก้าวขึ้นมามีบทบาทในการขับเคลื่อนมวยไทยอาชีพ อาทิ "ผู้พันแอล"พ.ท.หญิง ภณิชชา ธีระเดชพงศ์ โปรโมเตอร์ผู้จัดมวยที่เป็นผู้หญิงคนแรกของเวทีลุมพินี
"ซ้อเอ๋ จิตรเมืองนนท์" สุนทรี โลหะพืช ผู้จัดการค่ายมวยจิตรเมืองนนท์, “มาดามโอ๋” ปริยากร รัตนสุบรรณ โปรโมเตอร์และผู้บริหารรุ่นสองของศึกวันทรงชัย, มะลิ วัฒนะยา เจ้าของค่ายมวย ม.วัฒนะ ชาวแคนาดา
รวมไปถึง นักมวยหญิงอย่าง “แสตมป์ แฟร์เท็กซ์” ก็ก้าวขึ้นไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย จากการคว้าแชมป์โลก 2 ประเภททั้ง มวยไทยและคิกบ็อกซิ่งของ ONE Championship
ขณะเดียวกันในมหกรรมโอลิมปิก เกมส์ 2021 ประเทศไทยก็มีฮีโร่จากกีฬา “มวยสากลสมัครเล่น” แค่เพียงคนเดียว นั่นก็คือ สุดาพร สีสอนดี นักมวยหญิงทีมชาติไทย
เมื่อโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป วงการมวยไทย จึงมาถึงจุดเริ่มต้นที่ต้องปรับเปลี่ยนมุมมองความเชื่อใหม่ เพื่อทลายกำแพงอคติทางเพศที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 65 ปี
"พี่มองว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เข้าใจว่าเป็นประเพณีความเชื่อของคนโบราณที่ปฏิบัติต่อกันมา แต่เราอยากเปิดโอกาสให้นักมวยหญิงได้ขึ้นชกบ้าง ไม่ใช่เพื่อโอกาสอย่างเดียว แต่ยังเป็นการแสดงออกถึงความเท่าเทียม”
“เราได้คุยธุรกิจกับทางสหรัฐอเมริกาไว้แล้วด้วย เขาขอซื้อสัญญาณการชกมวยหญิงคู่แรกในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ก่อตั้งเวทีลุมพินีมา ตั้งแต่ปี 2499 เป็นการชกกันของ บัวขาว มกช.ชัยภูมิ กับ เสน่ห์จันทร์ สจ.โต้งปราจีน ในวันที่ 18 กันยายน 2564”
“ต้องยอมรับว่าน้องทั้งสองไม่ใช่มวยดัง แต่ที่พี่ตัดสินใจเอามา เพราะประสบการณ์มวยของน้องไม่ธรรมดา แต่เป็นมวยบ้านนอกที่ขาดโอกาส และไม่เคยคิดมาก่อนว่าผู้หญิงจะมีสิทธิ์ขึ้นไปยืนบนผืนผ้าใบเวทีมวยลุมพินีอย่างที่เคยเห็นนักมวยชายขึ้นชก”
“ทันทีที่ทราบข่าว ครอบครัวของสองนักมวยหญิงร้องไห้กันทั้งบ้านด้วยความดีใจ" สิทธิรุจน์ เสถียรจารุพงศา เจ้าของแอปพลิเคชัน Go social ผู้ถือลิขสิทธิ์และร่วมธุรกิจกับสนามมวยลุมพินี เจ้าของไอเดียที่อยากเห็นความเท่าเทียมในวงการมวยไทย เปิดเผยกับ Main Stand ถึงเหตุผลที่จัดมวยหญิงครั้งแรกในประวัติศาตร์ของเวทีมวยลุมพินี
น่าเสียดายที่ว่าบันทึกประวัติศาสตร์นี้อาจไม่สมบูรณ์แบบ เพราะต้องโยกย้ายสถานที่ไปจัดบริเวณสตูดิโอชั้น 5 ตึกข้างเวทีมวยลุมพินีแทน ไม่ใช่ในสนามมวย เพราะสถานการณ์โควิด-19 ในบ้านเรา ที่ภาครัฐผ่อนปรนให้จัดได้ในสถานที่เปิด และห้ามไม่ให้มีผู้ชมเข้าสนาม
แต่ทั้งผลการแข่งขัน และสถานที่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ เท่ากับความกล้าหาญที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างให้เกิดกับวงการมวยไทย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มาต่อยในเวทีมวยมาตฐาน หลังจากถูกปิดกั้นโอกาสมานานถึง 65 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งสนามมวย
โดยแผนงานหลังจากนี้ สิทธิรุจน์ เสถียรจารุพงศา เผยว่า หากทุกอย่างลงตัวและได้รับอนุญาตให้ย้ายกลับมาจัดมวยในเวทีได้ตามปกติ ก็จะจัดมวยหญิงให้ขึ้นชกทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ พร้อมขึ้นป้ายให้คู่เอกเป็นนักมวยผู้หญิง
เพื่อนำไปเผยแพร่สัญญาณถ่ายทอดสดให้ทุกคนได้รับชม และเพื่อบอกกับโลกว่า “มวยไทย” พร้อมแล้วสำหรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ … ยุคที่ เวทีมวยมาตรฐาน ไม่ใช่สถานที่ต้องห้ามของมวยหญิงอีกต่อไป
เรื่อง : สุรทัศ จารุมณี
ภาพ : อรรนพ สะตะ
โฆษณา