19 ก.ย. 2021 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
ผ่าเกมค้าปลีก “เจ้าพ่อ” คาราบาว ในวงล้อม “เจ้าสัว”
2
ค้าปลีก เป็นธุรกิจที่ "เจ้าสัว" กุมขุมทรัพย์ไว้เกือบเบ็ดเสร็จ การมีหน้าใหม่เข้ามาแทรกไม่ง่าย แต่ไม่ใช่จะทำไม่ได้ เจ้าพ่อคาราบาว "เสถียร" ใช้มรรควิธี "ลัด" โต แปลงโชห่วย "แสนร้าน"สู่ "ร้านถูกดีมีมาตรฐาน" เสิร์ฟสินค้าและบริการเจาะผู้บริโภคทั่วไทย ท้าชนยักษ์ใหญ่
“ค้าปลีก” ด่านสุดท้ายที่แบรนด์จะเสิร์ฟสินค้าและบริการถึงมือ “ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย” ย้อนยุคดั้งเดิม(Traditional) ผู้ประกอบการอยากมีหน้าร้าน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการค้า ส่งสินค้าให้ลูกค้า ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล “หน้าร้านออนไลน์” มีบทบาทเบียดร้านกายภาพ(Physical) แต่ในประเทศไทย สัดส่วนใหญ่การค้าขาย “ออฟไลน์ ยังครองมาร์เก็ตแชร์มากสุด
4
ขณะที่การให้ความสำคัญด้าน “ช่องทางจำหน่าย” จะไม่แยกออนไลน์-ออฟไลน์อีกต่อไป แต่จะเชื่อมทุกช่องทางให้หลากหลายครอบคลุมลูกค้าหรือเรียกัน “ออมนิแชนแนล” เพื่อเข้าไปอยู่ในชีวิตผู้คนนั่นเอง
ทว่า “ค้าปลีก” เป็นเวทีของ “ขาใหญ่” บรรดาพี่เบิ้มของวงการธุรกิจยึดพื้นที่ไว้หมดแล้ว ยิ่ง “บิ๊กคอร์ป” บิ๊กเนม นับวันยิ่งทำให้ช่องทางจำหน่ายหน้าร้านแข็งแกร่งกว่าเดิม เพื่อสกัดหน้าใหม่ที่หวังจะมาท้าทาย
1
ใครเป็นใครในสมรภูมิค้าปลีก คนไทยรู้ดีว่า “เจ้าสัว” เป็นผู้กุมตลาดเรียบร้อยโรงเรียนธุรกิจ ไม่ว่าจะตระกูล “จิราธิวัฒน์” ที่พัฒนาศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าต่างๆ เช่น เซ็นทรัลพลาซ่า, แฟมิลี่มาร์ท ฯ ตระกูล “อัมพุช” เจ้าของเดอะมอลล์ เอ็มควอเทียร์ ฯ ตระกูล “จูตระกูล” แห่งสยามพารากอน ไอคอนสยาม สยามดิสคัฟเวอรี่ ฯ ตระกูล “โชควัฒนา” มีลอว์สัน 108 108 Shop ซูรูฮะ ตระกูล “สิริวัฒนภักดี” มีทั้งบิ๊กซี พันทิพย์ เดอะสตรีท ชัดา สามย่านมิตทาวน์ ฯ ตระกูล “เจียรวนนท์” ผู้ครองอาณาจักรค้าปลีกทั้งโลตัส แม็คโคร เซเว่นอีเลฟเว่น ไอคอนสยาม เป็นต้น
8
ทุกรายล้วนเป็นกระดูกใหญ่ คู่แข่งหน้าไหนคิดจะต่อกรต้องคิดหนัก ทั้ง “เงินทุน” ที่มามาพร้อม “องค์ความรู้” เรียกว่าอาวุธต้องครบมือก่อนออกรบ และเกมค้าปลีกรบกันยาวเหมือนกับธุรกิจอื่นๆ
4
ตลาดค้าปลีกมีมูลค่ากว่า “2.8 ล้านล้านบาท” หลายปีที่ผ่านมา อาจไม่เติบโตหวือหวา
1
จากดิจิทัลดิสรัปชั่นอย่างมาก แต่ยักษ์ใหญ่ต่างปรับตัวรับมือความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง จากดิจิทัลดิสรัปชั่นอย่างมาก แต่ยักษ์ใหญ่ต่างปรับตัวรับมือความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง
3
ขุมทรัพย์ค้าปลีกล้านล้านบาท ยังเย้ายวน ยิ่งกว่านั้นการมีช่องทางจำหน่ายของตัวเองย่อมดีกว่าพึ่งพาลมหายใจของพันธมิตร เพราะวันดีคืนดี ยอดขายห้างตก ต้องมาเบียดบีบเรียกค่าธรรมเนียมต่างๆ ชวนทำการตลาดและโปรโมชั่นจากปกติจะนำสินค้าไปวางจำหน่าบนชั้นวาง(เชลฟ์)ยากเย็นแสนเข็น ผ่านด่าน “จ่ายเงิน” หลายส่วน ทั้งค่าธรรมเนียมแรกเข้า ขายไม่ดี โอกาสหลุดจากเชลฟ์มีสูง ขายดีมากส่งสินค้าไม่ทันก็โดนปรับ ซัพพลายเออร์ยังโดน “โขกราคา” ต่ำ สารพัดตัวแปร
1
“เจ้าพ่อคาราบาว” ท้ารบค้าปลีก “เจ้าสัว”
1
ปี 2564 ค้าปลีกมี “ผู้ท้าชิง” หน้าใหม่เกิดขึ้น แต่ไม่ใหม่ซะทีเดียว เพราะเขาคือ “เจ้าพ่อคาราบาว” อย่าง เสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด หรืออีกหมวกคือเป็น “แม่ทัพของคาราบาวกรุ๊ป” ค่ายเครื่องดื่มชูกำลังที่ทำตลาดมา 20 ปีแล้ว
3
เสถียร ไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการค้าปลีก เพราะเจ้าตัวซุ่มซื้อหุ้นร้าน “ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต” จากเจ้าของเดิม และหลายปีที่ผ่านมา ได้บุกตลาดด้วยกลยุทธ์ “ป่าล้อมเมือง” ตีโอบคู่แข่งจากภูธร รุกคืบสู่เขตเมือง
1
“ซีเจ” อยู่ในตลาด 15 ปี แต่เปลี่ยนมือเจ้าของมาอยู่ภายใต้อาณาจักรของ “เสถียร” 8 ปี สร้างรายได้แตะ 17,000 ล้านบาท และเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
ยุคดิจิทัล ธุรกิจวัดกันที่ความใหญ่ไม่พอ แต่ต้องมีความเร็วหรือ Speed สูง การทยอยมาสร้างร้านทีละสาขา จ้างพนักงาน ส่งทีมซูเปอร์ไวเซอร์ไปเทรน ตรวจตราติดตามผลงานร้าน
3
มีต้องใช้สรรพกำลังไม่น้อย และยังมีภาระ “ต้นทุน” ยิบย่อยให้ต้องจ่าย ทุกตลาดมี “ทางลัด” ให้เลือกเดิน แล้วทำไมจะไม่เลือกใช้
3
บรรดาเจ้าสัว เจ้าของค้าปลีกประเภทต่างๆ
“เซเว่นอีเลฟเว่น” ของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ผุดขึ้นเป็นดอกห็ดกว่ 10,000 สาขาทั่วประเทศ ไม่ได้มาจากการลงทุนเองทั้งหมด แต่เป็นการพึ่งพลัง “พันธมิตร” ที่อยากเป็นเจ้าของร้านมาร่วมหัวจมท้ายรับไม้ต่อเป็น “แฟรนไชส์” ช่วยสปีดการเปิดสาขาทั่วประเทศ
“เครือสหพัฒน์” ของ “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” พยายามปลุกปั้นร้านสะดวกซื้อ 108 Shop แต่อุปสรรคมีมาก โดยเฉพาะการรักษามาตรฐานร้าน คุณภาพบริการ เมื่อทำเองมีโจทย์ใหญ่ จึงผนึกพันธมิตร “ลอว์สัน” เบอร์ 2 ของญี่ปุ่น มาแปลงร้าน 108 Shop เป็น “ลอว์สัน 108” ยังผนึกกับกลุ่มบีทีเอส เพื่อเปิดสาขาขนาดเล็กบนสถานีรถไฟฟ้า ช่วยสปีดธุรกิจได้อีกทาง
2
“เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ผู้ลองผิดลองถูกกับธุรกิจค้าปลีกมาหลายแบรนด์ และทุกครั้งมีทางลัดในการซื้อและควบรวมกิจการค้าปลีกในไทย ต่างประเทศ “เจ้าสัว” ต้องประลองกำลังเข้าซื้อกิจการเสมอ ได้บ้าง พ่ายให้คู่แข่งบ้าง แต่ที่สุด ความพยายามเป็นเจ้าของกิจการค้าปลีกก็สัมฤทธิ์ผล ทุ่มเงิน “แสนล้านบาท” เพื่อให้ได้ “บิ๊กซี”
3
เจ้าสัว ยึดหัวหาดเต็มไปหมด แต่ “เสถียร” กลับกล้าต่อกร และเลือกทางลัดขยายธุรกิจค้าปลีกบ้าง ซึ่ง “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” เป็นจิ๊กซอว์ใหม่ที่ เจ้าพ่อคาราบาว ใช้เป็นหมากรบ
3
ขายเครื่องดื่มชูกำลัง “คาราบาว” 20 ปี รู้จุดอ่อน
1
เสถียร เท้าความจุดเริ่มต้นของการทำ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” เกิดจากการทำธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังมา 20 ปี เห็น “ร้านโชห่วย” ทั่วไทย 3-4 แสนร้าน บางร้านยังเปิด แต่จำนวนไม่น้อยต้อง “ล้มหายตายจาก” ยิ่งกว่านั้นร้านเหล่านี้ไม่อยู่ในภาวะที่ “แข่งขัน” กับค้าปลักสมัยใหม่(Modern trade)ได้ หากปล่อยให้ “ธุรกิจฐานราก” ของประเทศอ่อนแอลงเรื่อยๆ จะกลายเป็นปัญหาที่กระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ
5
จึงมีเจตนารมย์ในการติดอาวุธให้ร้านโชห่วยแข่งขันกับห้างค้าปลีกสมัยใหม่ได้ fด้วยการนำองค์ความรู้ และเทคโนโลยี เข้าไปเสริมแกร่งให้กับผู้ประกอบการนั่นเอง แต่แค่นั้นคงไม่พอจะสู้รบกับค้าปลีกยักษ์ใหญ่ได้ ร้านจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี จัดวางสินค้าก่อนหลัง เรียงสินค้าอย่างไรจะดึงดูดลูกค้า แต่แค่นั้นไม่พอ ร้านจะต้องดี มีมาตรฐาน สะอาด ไฟสว่าง บริการสะดวกแก่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายด้วย
4
เรียกว่าเป็นการพยายามขจัดปัญหาหรือ Pain point ให้ร้านค้า และแนวทางดังกล่าว ภาครัฐ และผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่งพยายามทำมานาน แปลงร้าน “โชห่วย” เป็น “โชสวย” แต่ผลลัพธ์อาจไม่ประจักษ์นัก ยิ่งกว่านั้นการดึงดูกลูกค้าย่อมยากขึ้น เพราะผู้บริโภคยุคปัจจุบันมี “ทางเลือก” ในการซื้อสินค้าและบริการหลากหลาย ไม่ต้องไปหน้าร้าน แต่ช้อปผ่านปลายนิ้วบนออนไลน์ได้มากขึ้น
4
อีกหนึ่งมรรควิธีที่ “เสถียร” พยายามทลาย นั่นคือการต่อรองกับ “ผู้ผลิตสินค้า” หรือซัพพลายเออร์ ที่เจ้าตัวเดินสายหารือและให้คำมั่นกับซัพพลายเออร์จะไม่ “ขูดรีด” แต่ขอสินค้าในราคาที่แข่งขันได้เพื่อนำไปป้อนร้านค้าต่างๆ ซึ่งปฏิเสธไม่ไดว่าจุดด้อยอย่างหนึ่งของร้านโชห่วยคือ สินค้ามีจำนวนน้อย ไม่หลากหลาย ยิ่งกว่านั้น สินค้าที่ขายอยู่ “เป็นสินค้าขายไม่ดี มากกว่าสินค้าขายดี” ที่เป็นเช่นนั้น เพราะขาดการเก็บข้อมูล การใส่ใจในรายละเอียด เทียบกับห้างค้าปลีกสมัยใหม่ต่างๆ มีระบบ POS รู้สินค้าไหนเข้า-ออกมาก หากออกมาคือสินค้าขายดี เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค จึงต้องมีการเติมเต็มไม่ให้ขาด เพื่อเพิ่มโอกาสทำเงินนั่นเอง
7
ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ตีโจทย์ และพยายามหาซัพพลายเออร์ เพื่อนำสินค้าจำนวนมาก ไปให้ร้านค้าต่างๆนั่นเอง
“ในฐานะเคยทำคาราบาวมา 20 ปี จุดอ่อนจุดแข็งที่ซัพพลายเออร์ต้องเจอ ผมก็รับรองเรื่องหนึ่งว่า..ผมจะไม่ทำอย่างนั้น แต่ขอความร่วมมือกับซัพพลายเออร์ว่า ขอให้ส่งสินค้าให้เราในราคาที่เราไปแข่งขันได้ ไม่ต้องคิดราคาถูกที่สุด แต่ต้องเป็นจุดที่เราแข่งขันได้”
1
กินแบ่ง ไม่กินรวบ
สมรภูมิค้าปลีก “เจ้าสัว” ยึดหัวหาดไว้หมดแล้ว แน่นอนว่าประชาชนจำนวนไม่น้อย ยกสมญานามให้บางเจ้าสัว “กินรวบ” ตลาดด้วย เพราะกิจการค้าปลีกเกือบทุกประเภทอยู่ในอาณาจักรมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่ง
1
ตัวอย่าง เจ้าสัวธนินท์ มีทั้งโมเดิร์นเทรดอย่าง “โลตัส” หลักพันสาขา ร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” กว่า 10,000 สาขา ผู้บริโภคมากกว่า 10 ล้านคนเข้าใช้บริการซื้อสินค้าในแต่ละวัน ยังมีห้างค้าปลีกประเภทชำระเงินสดอย่าง “แม็คโคร” เอาใจพ่อค้าแม่ค้า ทั้งปลีก-ส่งในชุมชน เรียกว่า “รวบรวม” หน้าร้านสำคัญไว้ในพอร์ตโฟลิโอเรียบร้อย ชนิดที่เจ้าสัวอื่นยังต่อกรยาก
3
กลับมาที่ เจ้าพ่อคาราบาว “เสถียร” พยายามทำธุรกิจในมุมกลับกัน ยกการ “กินแบ่ง ไม่กินรวบ” มาซื้อใจพันธมิตร 3 ส่วน ได้แก่ ผู้ประกอบการร้านถูกดี มีมาตรฐาน ที่เข้ามาทำธุรกิจด้วยกัน เสถียร จะควักเงินลงทุนกว่า 1 ล้านบาท เพื่อปรับแต่งร้านให้ไฟ ฝ้า สว่างไสว นำระบบ POS เทคโนโลยี และองค์ความรู้ไปให้ แต่ “เถ้าแก่” ต้องวางเงินประกัน 200,000 บาท เพื่อการันตีว่าทุกวันที่นำสินค้าไปขาย จะต้อง “ส่งเงินกลับมาให้บริษัท” ซึ่งสิ้นเดือนบริษัทจะหักกำไร 15% ส่วน 85% เป็นของร้าน
5
การจัดสรรส่วนรายได้ต้องเหมาะสม เพื่อให้เถ้าแก่ร้านค้าเองอยู่ได้ เพราะพื้นฐานของมนุษย์ในการทำธุรกิจ ต้องมีรายได้เลี้ยงชีวิต ยกระดับความป็นอยู่ให้ดีขึ้น
3
“เงิน 200,000 บาท เป็นหลักประกันว่าต้องตั้งใจทำงานร่วมกับเรา เพราะเราลงทุนไป คือการนำทุกอย่างไปให้ หากร้านสามารถหาเงิน 200,000 บาทมาได้ แสดงว่าตั้งใจจะทำธุรกิจ”
4
ทั้งนี้ หลังคิกออฟร้านถูกดี มีมาตรฐาน ระยะแรกบางร้านทำเงินได้ระดับ 8,000 บาท 9,000 บาท 10,000 บาท และแตะ 12,000 บาทต่อวัน แต่ผ่านไป 3 เดือน การทำยอดขายเฉลี่ยจะเพิ่มระดับ 15,000 บาทต่อวัน บางรายทำยอดขายสูงมาก 70,000 บาทต่อวัน หรือหลัก 2 ล้านบาทต่อเดือนด้วย
6
ส่วนซัพพลายเออร์ นอกจากเจรจาค้าขายในระดับเหมาะสม เพื่อให้แข่งขันได้ ยังเปิดกว้างในการผนึก “ซัพพลายเออร์ท้องถิ่น” ผลิตสินค้าป้อนร้านค้าชุมชนใกล้เคียง 2-3 จังหวัด เช่น กำลังหารือกับโรงงานผลิตน้ำปลาร้า โรงสีข้าวผลิตข้าวถุง และสินค้าอื่นๆ เพิ่มเติม จากปัจจุบันได้ “ผู้ผลิตไข่ไก่ เบเกอรี” ส่งสินค้าให้
1
ที่ผ่านมา ซัพพลายเออร์จำนวนไม่น้อย ต้องผลิตสินค้าในพื้นที่ แล้วส่งมายังคลังสินค้าส่วนกลาง สุดท้าย นำสินค้าไปขายที่ชุมชนดังเดิม
1
“เราทำธุรกิจกินแบ่ง ไม่กินรวบ หากต้องทำให้ร้านถูกดี มีมาตรฐานแข็งแรง ต้องประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือบริษัทเรา ผู้บริหารร้าน และพันธมิตรซัพพลายเออร์ ต้องจัดส่วนรายได้ให้เหมาะสม เพื่อให้ทุกคนอยู่ได้”
1
สานพันธกิจแปลงร้านถูกดี มีมาตรฐานแตะ 50,000 สาขา
เมื่อไม่ใช้กลยุทธ์แฟรนไชส์ แต่ทุ่มทุนให้ร้านแปลงโฉมและโตไปด้วยกัน ส่งกำไรกลับมาให้บริษัทแทน เป้าหมายการลุย “ร้านสะดวกซื้อโลวคอสต์” ครั้งนี้ เสถียร มีเป้าหมายใหญ่ด้วยการมีร้านทั้งสิ้น 50,000 สาขา ภายในปี 2567 โดย ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2564 รายงานจำนวนร้านทะลุ 1,200 สาขาแล้ว มีเถ้าแก่สมัครมาร่วมแปลงร้านโชห่วยใหเป็นร้านถูกดี มีมาตรฐานเกือบ 10,000 ราย
2
ทั้งนี้ การแปลงโฉมร้านช้าเล็กน้อย จากผลกระทบโควิด-19 รวมถึงทำเล “ภาคใต้” ขอชะลอทั้งหมด เพื่อรอให้สร้างคลังสินค้าเสร็จก่อน หากต้องส่งสินค้าจากคลังสินค้าส่วนกลางไปยังปลายด้ามขวาน อาจเจอค่าขนส่งมหาศาล แทนที่จะมีกำไร อาจแบกภาระต้นทุนแทน
1
สำหรับสิ้นปี 2564 หวังมีร้าน 8,000 สาขา ปี 2565 มี 20,000 สาขา และ ปี 2566 มีร้าน 30,000 สาขา
2
การทำธุรกิจต้องปักเป้าหมายให้ใหญ่ ส่วนทำได้หรือไม่เป็นอีกเรื่อง เพราะต้องยอมรับว่าทุกสังเวียนการค้า “อุปสรรค” มักดาหน้าเข้ามาท้าทายอยู่เสมอ อย่างโควิด-19 ที่เบรกธุรกิจหัวทิ่ม ล็อกดาวน์กิจการ ผู้คนไม่ให้ขยับตัวได้เหมือนเดิม
ยิ่งกว่านั้น “คู่แข่ง” คงไม่นั่งดูให้อีกฝ่ายกอบโกยขุมทรัพย์การค้าได้ง่ายๆ ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อ “สกัด” ซึ่งใครจะรู้ได้ว่ายุทธวิธีที่จะเกิดขึ้นทั้ง “ลอบกัด” หรือเตะตัดขาตรงๆ มีอะไรบ้าง แต่ในวงการย่อมทราบดี มีทั้งการเจรจากับซัพพลายเออร์ หากขายสินค้าให้รายนั้น อาจหมดโอกาสขายให้รายนี้ กองทัพร้านค้าที่ไปตัดราคาซัพพลายเออร์หลังบ้าน สารพัดวิธี
โฆษณา