20 ก.ย. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ใครเคยมีเพจเจอร์เป็นของตัวเอง…คุณไม่เด็กแล้วนะ
ครั้งหนึ่ง ก่อนที่เราจะมีการแชท การส่งอีเมล วิดีโอคอล หรือแม้กระทั่งการโทรหากันนั้น มนุษย์เคยมีเครื่องมือสื่อสารระบบวิทยุเครื่องเล็กๆ ที่เรียกว่า “เพจเจอร์” (pager) ไว้ใช้ในการติดต่อกันแบบเรียลไทม์ อาจจะมีบางคนที่จำได้ แต่คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะตั้งแต่ Gen Z ขึ้นไป (เกิด 1997 ขึ้นไป) ก็คงแทบจะไม่รู้จักเลย Bnomics จึงขอใช้โอกาสนี้ในการรำลึกถึงเทคโนโลยีชิ้นนี้ ที่เคยฮิตกันมากในยุค 90
เครดิตภาพ : Christine Boyd | The Telegraph
📌 จุดเริ่มต้นของเพจเจอร์
เครื่องมือสื่อสารระบบวิทยุที่คล้ายเพจเจอร์ (ซึ่งตอนนั้นเรียกกันว่า beeper) ได้ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1921 และถูกใช้โดยสถานีตำรวจในเมือง Detroit ในสหรัฐฯ (Detroit Police Department) โดยเครื่องมือสื่อสารนี้จะถูกติดตั้งไว้ในรถตำรวจเพื่อรับสัญญานเตือนเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน
ต่อมาในปี 1949 Alfred J. Gross นักประดิษฐ์ชาวแคนาดา ได้พัฒนาเพจเจอร์ให้สามารถรับสัญญานได้จากโทรศัพท์ได้ ซึ่งเพจเจอร์ดังกล่าวจะแจ้งเตือนเมื่อมีคนพยายามติดต่อมาทางโทรศัพท์มาหรือมีการฝากข้อความไว้ โดยจะไม่ระบุว่าใครเป็นคนติดต่อมา สิ่งที่ผู้ใช้เพจเจอร์สามารถทำได้ก็คือกลับไปกดฟังข้อความในโทรศัพท์ (ในยุคนั้น โทรศัพท์พกพายังไม่ค่อยเป็นที่นิยม การติดต่อคนนอกสถานที่จึงจำเป็นต้องใช้เพจเจอร์)
ในปีเดียวกัน Gross ได้นำเสนอสิ่งประดิษฐ์ของเขาในงานสัมมนาทางการแพทย์ที่รัฐ Philadelphia แต่กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมาย เช่น เสียงเตือนอาจทำให้คนไข้ตกใจ หรือแม้กระทั่งจะไปรบกวนแพทย์ในการเล่นกอล์ฟ อย่างไรก็ตาม ในที่สุด โรงพยาบาลชาวยิวใน New York ก็ยอมติดตั้งระบบเพจเจอร์ของเขาในปีต่อมา
หลังจากนั้น เพจเจอร์ก็ถูกใช้งานมากขึ้น แต่ยังคงถูกจำกัดให้ใช้ได้แค่ในสายงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เช่น หน่วยกู้ภัย หรือ นักดับเพลิง จนกระทั่งในปี 1958 ที่คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ (Federal Communication Commission) ได้อนุมัติให้คนทั่วไปสามารถใช้เพจเจอร์ในการสื่อสารได้ ซึ่งนี่เป็นจุดเปลี่ยนของเพจเจอร์เลยก็ว่าได้
1
หนึ่งปีต่อมา Motorola ได้เริ่มสร้างเพจเจอร์ส่วนบุคคล (อันที่จริง คำว่า “เพจเจอร์” ก็มาชื่อที่บริษัท Motorola ตั้งให้เครื่องมือสื่อสารชนิดนี้) เพจเจอร์เครื่องแรกถูกวางขายในปี 1964 ภายใต้ชื่อว่า Pageboy ซึ่งเพจเจอร์รุ่นนี้ไม่มีหน้าจอและยังคงทำแค่เพียงแจ้งเตือนเมื่อมีคนติดต่อมาหรือมีข้อความเท่านั้น อีกประมาณ 10 ปีต่อมา เพจเจอร์ที่ฝากข้อความเสียงก็ได้ถูกสร้างขึ้น โดยใช้ชื่อว่า Pageboy II
Pageboy โดย Motorola ถูกวางขายในปี 1964
📌 ยุครุ่งเรืองของเพจเจอร์
มาถึงช่วงต้นยุค 1980 เพจเจอร์กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ใช้กันทั่วโลก ในช่วงนั้น มีผู้ใช้เพจเจอร์กว่า 3 ล้านคนรอบโลก และเพจเจอร์เองก็กลายเป็นเหมือนเครื่องบ่งบอกสถานะทางสังคมแบบอ้อมๆ ว่า คนที่มีเพจเจอร์คือบุคคลที่มีคนต้องการตัวมากเป็นพิเศษ โดยผู้ใช้ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นพวกบุคลากรทางการแพทย์
พอถึงกลางยุค 80 เพจเจอร์ได้ถูกพัฒนาให้มีหน้าจอที่สามารถแสดงข้อความได้ ไม่ว่าจะเป็นหมายเลขโทรกลับ หรือรหัสที่เข้าใจกันระหว่างผู้ส่งและผู้รับ หรือ ข้อความที่เป็นตัวอักษร (Alphanumeric Pager) โดยคนที่จะส่งข้อความต้องโทรไปแจ้งสิ่งที่จะพิมพ์กับโอเปอเรเตอร์ ผู้ซึ่งจะเป็นคนพิมพ์ข้อความส่งให้
Alphanumeric Pager ในช่วงปี 1980
ยุค 1990 ถือเป็นจุดอิ่มตัวของตลาดเพจเจอร์เลยก็ว่าได้ ในปี 1994 ก็มีผู้ใช้กว่า 64 ล้านคนทั่วโลกแล้ว และคนธรรมดาก็ใช้เพจเจอร์ในการสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการส่งรหัสลับ เช่น 831 ที่แปลว่า I love you (8 ตัวอักษร 3 คำ 1 ความหมาย) หรือข้อความต่างๆ ที่ส่งผ่านโอเปอเรเตอร์ จนมีเรื่องราวตลกๆ อย่างการที่ต้องอ่านกลอนรักให้โอเปอเรเตอร์พิมพ์ส่งให้คนที่กำลังจีบ หรือ การที่โทรไปส่งข้อความให้คุณพ่อมารับทุกเย็นจนโอเปอเรเตอร์จำได้ (ใครที่ทำงานเป็นโอเปอเรเตอร์ตอนนั้นคงมีเรื่องเล่าสนุกๆ เยอะน่าดู)
แฟชั่นห้อยเพจเจอร์จากหนังเรื่อง Clueless (1995)
เครดิตภาพ : The Los Angeles Times
ในขณะเดียวกันนั้น การแข่งขันในตลาดเพจเจอร์ก็ดุเดือดขึ้นเช่นกัน อย่างในสหรัฐฯ ก็มีบริษัท Motorola กับ Apollo ที่แข่งกันแย่งตลาด ส่วนในไทยเองก็มีบริษัทเทเลคอมที่ให้บริการเพจเจอร์เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น PacLink PhoneLink Hutchison EasyCall หรือ UCOM
📌 ขาลงของเพจเจอร์
ช่วงปลายยุค 90 โทรศัพท์มือถือที่ถูกพัฒนาให้พกพาง่ายขึ้น และมีราคาที่ถูกลง แถมยังมีการส่งข้อความได้นอกเหนือจากการโทร ก็ทำให้เพจเจอร์เป็นที่นิยมน้อยลงอย่างมาก แม้กระทั่งบริษัท Motorola ผู้เป็นผู้บุกเบิกตลาดเพจเจอร์ก็ยังผันตัวไปทำโทรศัพท์มือถือแทน แต่นอกจากโทรศัพท์มือถือแล้ว ก็มีเทคโนโลยีอื่นๆ อีกมากมายที่มาทดแทนเพจเจอร์ ยกตัวอย่างเช่น MSN Messenger ที่ทำให้การแชทกันแบบเรียลไทม์สนุกและมีสีสันขึ้นด้วยการมีอีโมจิหรือสัญลักษณ์ (คล้ายๆกับ Sticker ในปัจจุบัน) หรือ สมาร์ทโฟนแบบ Blackberry ที่ให้ผู้ใช้พิมพ์โต้ตอบกันได้ทันที
📌 เพจเจอร์ในปัจจุบัน
แม้เพจเจอร์จะไม่ได้เป็นที่นิยมมากมายอีกต่อไป แต่มันไม่ได้หายไปเลยเสียทีเดียว เพราะยังคงมีกลุ่มคนบางกลุ่มใช้เพจเจอร์ในการทำงานอยู่
ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลหลากหลายที่ โดยเฉพาะในฝั่งตะวันตก ยังคงใช้เพจเจอร์ในการสื่อสารกัน อย่างในปี 2018 ที่ผ่านมา แบบสอบถามของ Spok ได้เผยว่า มากกว่า 50% ของบุคลากรทางการแพทย์กว่า 300 คนในสหรัฐฯ ยังคงใช้เพจเจอร์ในการสื่อสาร ด้วยเหตุผลบางประการเช่น สัญญาณเพจเจอร์สามารถไปถึงที่ที่อับสัญญาณได้ดี อย่างเช่นในชั้นใต้ดิน หรือ ในห้องที่มีเครื่องจักรที่รบกวนสัญญาณมือถือ นอกจากนี้ เพจเจอร์ยังเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ไม่ต้องรีบตอบกลับ ไม่เหมือนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งดีสำหรับงานที่ต้องใช้สมาธิ เช่น การผ่าตัด
นอกจากการทำงานในโรงพยาบาลแล้ว เพจเจอร์ก็ทำงานได้ดีในช่วงภัยพิบัติ เมื่อเสาสัญญาณโทรศัพท์ถูกทำลายด้วย ดังนั้นมันจึงยังเป็นประโยชน์สำหรับหน่วยกู้ภัย
ด้วยประโยชน์ที่ยังมีอยู่ของมัน จึงยังมีคนออกมาสนับสนุนการใช้เพจเจอร์อยู่ แม้บางที่จะออกนโยบายเลิกใช้เพจเจอร์ เช่นในอังกฤษ ที่ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติใน (National Health Service หรือ NHS) ประกาศว่าจะเลิกใช้เพจเจอร์ทั้งหมดให้ได้ภายในปี 2021 การประกาศดังกล่าวทำให้พนักงานใน NHS หลายคนไม่เห็นด้วยจึงออกมาพูดถึงประโยชน์ของเพจเจอร์ตามโซเชียลมีเดียกัน
ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นได้ว่าแม้เพจเจอร์จะเก่าไปแล้ว แต่ก็ยังมีประโยชน์อยู่ เรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ “แก่ แต่ เก๋” ในบทความหน้า Bnomics จะพาไปย้อนรำลึกถึงนวัตกรรมสุดฮิตในยุค 90 อะไรอีกบ้าง ที่ได้ถูกพลังความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เรียกกันว่ากระบวนการ Creative Destruction มาทำให้ตกยุค หายไป เปิดทางให้กับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิม รอรับชมได้เลยค่ะ
#เพจเจอร์ #ย้อนวันวาน #Retro_Technology
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : บูชิตา ปิตะกาศ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference
โฆษณา