20 ก.ย. 2021 เวลา 14:00 • ข่าว
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ค้าน EIA ผันน้ำโขง เลย ชี มูล ขอทบทวนใหม่ ชี้ขาดกระบวนการส่วนร่วมอย่างรอบด้าน
วันนี้ (20 กันยายน) เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ออกแถลงการณ์เรื่อง ค้าน EIA ผันน้ำ โขง เลย ชี มูล คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต้องทบทวนบทบาท รับฟังเสียงประชาชน โดยมีรายละเอียดระบุว่า
‘โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ’ ได้รับการผลักดันโดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาความสามารถในการส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำโขง เลย ชี มูล เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ และปัญหาอุทกภัยในพื้นที่กว่า 30 ล้านไร่ โดยอ้างว่าหากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนชาวอีสานใต้ได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมชลประทานจึงได้ทำการศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูงมาก มีการแบ่งโครงการออกเป็น 5 ระยะ โดยได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง: การพัฒนาระยะที่ 1 แล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2560 โดยมีการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล
โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 ช่วงปากแม่น้ำเลย-เขื่อนอุบลรัตน์ ประกอบด้วย พื้นที่หัวงานแนวผันน้ำโขงอีสาน และพื้นที่หัวงานแนวผันน้ำชี-มูล ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในเขตการปกครอง 9 อำเภอ 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี และขอนแก่น
ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ 2 ฉบับ จากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงวันที่ 16 กันยายน 2564 แจ้งผลเรื่องการพิจารณารายงานโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วงระยะที่ 1 ช่วงปากแม่น้ำเลย-เขื่อนอุบลรัตน์ ว่าตามที่เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ได้ส่งหนังสือขอข้อมูลรายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ประเภทโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและเกษตรกรรม โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 ช่วงปากแม่น้ำเลย-เขื่อนอุบลรัตน์ โดยพื้นที่โครงการจะครอบคลุมอำเภอเชียงคาน อำเภอปากชม อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย อำเภอสุวรรณคูหา อำเภอนากลาง อำเภอโนนสัง อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู อำเภอน้ำโสม อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี และอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่นนั้น คณะผู้ชำนาญการได้พิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) ได้พิจารณารายงานเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 และมีมติให้ สทนช. และกรมชลประทาน ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขรายงานดังกล่าว และ สทนช. จะต้องจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมตามมติของ คชก. จนกว่าจะผ่านการพิจารณา
อนึ่ง เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน เห็นว่ารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการแล้ว แต่เป็นการดำเนินการไปโดยขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงของประชาชนในลุ่มน้ำภาคอีสาน และเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมหาศาล และมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม นอกจากนี้ การอ้างเรื่องภัยแล้งหลายพื้นที่มีความเสี่ยงในการเป็นทะเลทรายเนื่องจากความแห้งแล้งซ้ำซากและอุทกภัย การเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้กับภาคอีสานเพื่อยกระดับการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในภูมิภาคนี้ เป็นวาทกรรมที่ถูกนำมาผลิตซ้ำ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการดำเนินโครงการ ในขณะที่ขาดความเข้าใจภูมินิเวศ และวัฒนธรรมการใช้ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน
ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน จึงขอคัดค้านรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 เนื่องจากเป็นการดำเนินการทำรายงานที่ไม่ชอบธรรม ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างรอบด้านจากประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ และมีความจำเป็นต้องทบทวนรายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยด่วน
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) จะต้องรับฟังเสียงคัดค้านโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง จากประชนชน โดย กก.วล. ควรให้ ภาคประชาชน นักวิชาการ ให้ข้อมูล ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นที่สำคัญๆ อันจะทำให้การตัดสินใจมีความรอบด้านมากยิ่งขึ้น หรือให้มีการตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะทางสังคม มากว่าจะรับฟังข้อมูลเพียงด้านเดียวจากหน่วยงานราชการที่เสนอโครงการฯ เท่านั้น และ กก.วล. ไม่ควรตัดสินใจด้วยอำนาจเผด็จการ และการเมืองเรื่องของผลประโยชน์ของนักการเมือง (หลายตัวลิ้นสองแฉก) และทิ้งภาระให้กับลูกหลานคนอีสานของเราในอนาคต
โฆษณา