23 ก.ย. 2021 เวลา 01:00 • ปรัชญา
"กุญแจสำคัญ"
อะไรคือ ส่วนที่ยากที่สุด ในการปฏิบัติภาวนา ?
ส่วนตัวมองว่า
สัมมาทิฏฐิในเบื้องต้นยังพอทำความเข้าใจได้
องค์มรรคอื่น ๆ ก็ยังพอรู้จัก ทำได้รึป่าวเป็นอีกเรื่อง
จุดที่ท้าท้าย คือ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ
เพราะเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย และทำความรู้จักยากที่สุด
ในอริยมรรคมีองค์ 8 เมื่อกางสัมมาทั้ง 8 ข้อออกมา
ก็จะพบว่ามีสองข้อสุดท้ายนี้แหละ ที่แปลกตาที่สุด
เพราะมันแปลกใหม่ที่สุด
จึงสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำที่ผิดทางมากที่สุด
จึงเป็นกุญแจสำคัญไปสู่สัมมาทิฏฐิอันเป็นโลกุตตระ
ข้ามจากฝั่งทุกข์ไปสู่ความพ้นทุกข์
และเพราะเราไม่รู้จักมันนี่แหละ
จึงทำให้เกิดการหลงวน เวียนเกิดเวียนตาย
ติดข้องอยู่ในภพ เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป
ไม่รู้จักความพ้นทุกข์เสียที
...
เวลาส่วนใหญ่จึงอยู่ที่การเตรียมจิตให้พร้อม
ความเพียรพยายามทั้งหมดจะหนักอยู่ที่หมวดจิตสิกขา
หรือ หมวดสมาธิ ในองค์มรรคข้อ 6,7,8
มรรคทั้ง 8 องค์จะทำงานสอดคล้องกลมกลืน สนับสนุนกัน
เป็นเชือกเส้นเดียว สมบูรณ์พร้อมทั้งหมด
จนเกิดการรู้เห็นความจริงตามความเป็นจริง
รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ 4
เข้าถึงสัจธรรมความจริงในที่สุด
เข้าสู่ฝั่งของความดับสนิทแห่งทุกข์ ...
อริยมรรคมีองค์ 8 โดยย่อ
หมวดปัญญา :
1) สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ (อริยสัจ 4)
2) สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ( ออกจากกาม , ไม่มุ่งร้าย , ไม่เบียดเบียน)
หมวดศีล :
3) สัมมาวาจา การพูดจาชอบ ( เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดไม่จริง , พูดส่อเสียด , พูดหยาบคาย , พูดเพ้อเจ้อ )
4) สัมมากัมมันตะ การทำการงานชอบ ( เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการฆ่า , ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ , ประพฤติผิดในกาม )
5) สัมมาอาชีโว การเลี้ยงชีวิตชอบ ( ละการเลี้ยงชีวิตที่ผิด )
หมวดสมาธิ :
6) สัมมาวายามะ ความพากเพียรชอบ ( ละอกุศล เจริญกุศล)
7) สัมมาสติ ความระลึกชอบ ( สติปัฏฐาน 4 )
8) สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ ( รูปฌาน 4 )
การเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 จะมีทั้งโลกียะ และ โลกุตตระ
พระโสดาบันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 หมายความว่า ท่านได้ปฏิบัติจนเต็มบริบูรณ์ในฝ่ายโลกียะ ข้ามจากฝั่งปุถุชนเข้าถึงอริยชน
แต่พระโสดาบันยังต้องเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 ต่อ ในฝ่ายโลกุตตระ ยังอยู่ในขั้นต้นสำหรับฝั่งโลกุตตระ ท่านรู้ทางแล้ว แต่ยังเดินไม่ถึงฝั่ง ซึ่งคุณลักษณะเบื้องต้นของผู้ที่จะเข้าสู่ฝั่งโลกุตตระ คือ หมวดศีล บริสุทธิ์
พระโสดาบันจึงเป็นผู้มีศีลบริบูรณ์ ไม่ทะลุ ไม่ด่างไม่พร้อย การภาวนาจะเหลือเพียงหมวดสมาธิและปัญญา
หรือ สมถะและวิปัสสนา เดินเคียงกันไป จนสมาธิและปัญญาบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ตามลำดับ
หมายความว่าหมวดศีล
เมื่อปฏิบัติจนเต็มในฝ่ายโลกียะ ก็เท่ากับ บริบูรณ์ในฝ่ายโลกุตตระด้วย
แต่หมวดสมาธิ และ ปัญญา
เมื่อปฏิบัติจนเต็มในฝ่ายโลกียะ ยังต้องปฏิบัติต่อในฝ่ายโลกุตตระ
ซึ่งการปฏิบัติในฝ่ายโลกุตตระ มันจะค่อย ๆ เป็นไปโดยอัตโนมัติ เข้าสู่โหมด Auto - Pilot จนพ้นโลกไปเลย ไม่มีแลนด์ดิ้งลงสู่ภาคพื้นดินอีก
การเดินทางต่อของท่านจึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร
อย่างประมาทไม่เกิน 7 ชาติ ส่วนมากก็มักจะจบในชาติเดียวกัน
แต่ผู้มีศีลบริบูรณ์ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นพระโสดาบัน
คือ พระโสดาบันทุกท่านเป็นผู้มีศีลบริบูรณ์
ผู้มีศีลบริบูรณ์ไม่ได้หมายความว่าเป็นพระโสดาบันทุกท่าน บางท่านอาจจะไม่มีการทำผิดศีล แต่สมาธิและปัญญายังไม่พอต่อการบรรลุโสดาปัตติผล
ส่วนที่ท้าทายที่สุด ก็คือ จากปุถุชนสู่ความเป็นอริยชนนี้แหละ เพราะยังคงต้องคลำทาง ลองผิดลองถูก ยังไม่แน่นอน เพราะยังไม่รู้ทาง มองไม่เห็นฝั่ง
จากพระโสดาบันไปสู่พระอรหันต์ ท่านเข้าสู่กระแสธรรมแล้ว เป็นที่แน่นอนแล้วว่ายังไงก็ถึงธรรม เที่ยงแท้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า เพราะจับทางได้แล้ว คติแน่นอนแล้ว เพียงเดินไปให้ถึงฝั่งเท่านั้น
:
พระโสดาบัน : ศีลบริบูรณ์ สมาธิและปัญญาเล็กน้อย
พระสกิทาคามี : ศีลบริบูรณ์ สมาธิปานกลาง ปัญญาเล็กน้อย
พระอนาคามี : ศีลและสมาธิบริบูรณ์ ปัญญาปานกลาง
พระอรหันต์ : ศีล สมาธิ ปัญญา บริบูรณ์
"มหาปุริสวิตก ๘ ประการ"
ธรรมของบุคคลผู้มีความปรารถนาน้อย
มิใช่ของบุคคลผู้มีความปรารถนามาก
ธรรมของบุคคลผู้สันโดษ
มิใช่ของบุคคลผู้ไม่สันโดษ
ธรรมของบุคคลผู้สงัด
มิใช่ของบุคคลผู้ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
ธรรมของบุคคลผู้ปรารภความเพียร
มิใช่ของบุคคลผู้เกียจคร้าน
ธรรมของบุคคลผู้มีสติตั้งมั่น
มิใช่ของบุคคลผู้มีสติหลงลืม
ธรรมของบุคคลผู้มีจิตมั่นคง
มิใช่ของบุคคลผู้มีจิตไม่มั่นคง
ธรรมของบุคคลผู้มีปัญญา
มิใช่ของบุคคลผู้มีปัญญาทราม
ธรรมของบุคคลผู้ยินดีในธรรมที่ไม่ทำให้เนิ่นช้า
ผู้ยินดีในธรรมที่ไม่ทำให้เนิ่นช้า
มิใช่ของบุคคลผู้ชอบใจในธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า
ผู้ยินดีในธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า
ในการใด บุคคลตรึกมหาปุริสวิตก ๘
จักหวังได้ว่าจะบรรลุรูปฌาณ ๔
ได้ฌาณ ๔ ได้ไม่ยาก ไม่ลำบาก
- อนุรุทธสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๑๒๐ หน้า ๑๗๖-๑๘๑
ลักษณะของพระอริยะ
ขอบคุณรูปภาพจาก : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา