21 ก.ย. 2021 เวลา 12:40 • อาหาร
ไขข้อสงสัย “ซีอิ๊วขาว” กับ “ซีอิ๊วดำ” แตกต่างกันอย่างไร ?
ไม่แน่ใจว่าเพื่อน ๆ เคยสงสัยกันไหม
แต่เชื่อว่าหลายคนก็คงจะเดินไปหยิบขวดซีอิ๊วในครัวมาเทียบกัน ก็คงพอจะเห็นภาพเนอะ (เช่นพวกเราเป็นต้น)
สำหรับเพื่อน ๆ ที่มีซีอิ๊วขาวหรือดำอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเกิดความสงสัยเช่นเดียวกันกับพวกเรา
งั้นวันนี้ให้พวกเรา InfoStory ไม่รอช้า ขอพาเพื่อน ๆ ไปไขข้อสงสัยนี้ไปด้วยกันในภาพอินโฟกราฟิกสุดสบายตาเหมือนเช่นเคย
สำหรับเรื่องราวเพิ่มเติมสั้น ๆ สามารถอ่านต่อได้ด้านล่างนี้เลย
ซีอิ๊วมีต้นกำเนิดมาจากชาวจีน ว่ากันว่ากำเนิดมาตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนแล้วนะ !
ซึ่งพวกเขาก็ค้นพบมาจากวิธีการถนอมอาหารในแบบต่างๆ
หนึ่งในนั้นก็คือ “กระบวนการหมัก”
ประกอบกับในยุคสมัยของราชวงศ์ฮั่นนั้นเอง ชาวจีนได้มีความนิยมในการบริโภคถั่วเหลือง
เพราะถั่วเหลืองเนี่ย มันหาง่ายและนิยมใช้เป็นส่วนประกอบเมนูอาหารได้หลากหลาย เช่น เต้าหู้ เต้าเจี้ยว
วิธีการถนอมอาหารอย่างการหมัก จึงได้นิยมใช้กับถั่วเหลืองอย่างมาก
แต่ในทีแรกเนี่ย คนจีนโบราณเขาไม่ได้ต้องการหมักถั่วเหลืองเพื่อนำมาทำซีอิ๊วขาวหรือซีอิ๊วใด ๆ เพียงแต่ต้องการหมักไว้เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารเท่านั้น (ในช่วงราชวงศ์ฮั่นจะเรียกว่า “เจียง”)
จากราชวงศ์ฮั่นจนมาถึงราชวงศ์ซ่ง ก็ได้มีการพัฒนาวิธีการหมักถั่วเหลืองที่ชาวจีนนิยมมาตั้งแต่สมัยโบราณ จนออกมามีหน้าตาเหมือนกับซีอิ๊วที่มีน้ำสีน้ำตาลเข้มหรือดำ ลักษณะใส มีรสชาติเค็มนำหวานกำลังดี เหมาะสำหรับนำมาเป็นซอสปรุงอาหารนั่นเอง
ส่วนคนไทยก็เริ่มรู้จักซีอิ๊ว ว่ากันว่ามาจากชาวจีนที่อพยพนั่งเรือสำเภามาที่ภาคใต้ของไทย
ในเรื่องของกรรมวิธีการผลิตซีอิ๊วขาว ก็ค่อนข้างมีหลากหลายมาก แล้วแต่ผู้ผลิตเลยละนะ
แต่ถ้าให้เล่าแบบคร่าว ๆ ก็เริ่มจากการนำถั่วเหลืองไปแช่น้ำ ผสมกับแป้งสาลีจากนั้นเพิ่มด้วยหัวเชื้อรา กระบวนการนี้ ก็จะเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “โคจิ” ก่อนที่จะนำไปทำการหมักพร้อมกับเกลือ
ซึ่งตรงนี้ละ ที่จะทำให้ถั่วมันเริ่มคลายน้ำออกมา น้ำซีอิ๊วสีน้ำตาลเข้มหรือดำ ก็จะค่อย ๆ ออกมานั่นเอง
จากนั้นก็จะนำโคจิ มาผสมกับน้ำเกลือเย็นเข้มข้น และส่งไปหม้กต่อในถังหมักทรงสูง เติมหัวเชื้อยีสต์เพื่อทำการหมักต่อ ขั้นตอนนี้เขาจะเรียกกันว่า “โมโรมิ”
โมโรมิจะถูกนำมาคั้นแยกน้ำซีอิ๊วดิบออกจากส่วนผสม ก่อนที่จะนำมาแยกกรองไขมันออกจนกลายเป็นน้ำซีอิ๊วรอบรรจุขวด นั่นเองจ้า
ส่วนฉลากข้างขวดซีอิ๊วขาวที่เรามักจะเห็นกันจนชินตา ที่มีเขียนว่า “สูตร 1” “สูตร2” “สูตร3” ประมาณนี้ ก็จะมีความหมายถึงจำนวนครั้งในการหมักซีอิ๊วนั่นเอง ซึ่งซีอิ๊วขาวสูตร 1 จะมีคุณภาพมากที่สุด (ราคาก็จะแพงกว่านิดนึง)
หวังว่าเพื่อน ๆ จะได้รับสาระสบายสมองกันไปพอหอมปากหอมคออย่างเช่นเคย :))

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา