15 ต.ค. 2021 เวลา 08:00 • ไลฟ์สไตล์
ทำไมเวลานึกถึงโยเกิร์ต (Yogurt) จะต้องนึกถึงประเทศบัลแกเรีย ?
เพื่อน ๆ เคยสังเกตไหมว่า เวลาที่เราเดินเลือกซื้อโยเกิร์ตเอาไว้ทานเป็นอาหารเช้า ตามซุปเปอร์มาร์เก็ต
โดยส่วนใหญ่แล้ว เราก็จะเห็นโยเกิร์ตที่มาจากประเทศบัลแกเรีย
หรือว่า จะต้องเจอโยเกิร์ตที่หยิบชื่อประเทศ “Bulgaria” มาแสดงเป็นจุดเด่นบนหน้ากล่อง
กระทั่งว่า มีคำพูดติดปากเวลาโดนเพื่อนหรือแฟน ฝากซื้อของว่า
“อยากทานโยเกิร์ตอะ แต่ขอเอาโยเกิร์ตของบัลแกเรียนะ”
ซึ่งพวกเราเองเนี่ยอาจเป็นคนกลุ่มหนึ่ง ที่สงสัย
แต่ไม่เป็นไร… ไหน ๆ ก็สงสัยจนไปหาข้อมูลมาแล้ว
ถ้าหยั่งงั้นในวันนี้ พวกเรา InfoStory ขอพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับเรื่องราวเบาสมอง
ว่าทำไมเวลานึกถึงโยเกิร์ต จะต้องนึกถึงประเทศ Bulgaria กันนะ
คงต้องเริ่มต้นกันที่ คำถามง่าย ๆ เลย
โยเกิร์ตคืออะไร และ มีส่วนประกอบสำคัญอะไรบ้าง ?
โยเกิร์ต พูดง่าย ๆ ก็คือผลิตภัณฑ์ที่มาจากน้ำนมที่นำมาหมัก
นมที่นิยมนำมาทำเป็นโยเกิร์ตก็คือนมวัว
แต่ว่า ในสมัยก่อนเนี่ย นมที่นำมาทำโยเกิร์ต ก็จะไม่ได้ถูกจำกัดว่าต้องเป็นนมวัวนะ แต่เราสามารถใช้นมจากสัตว์หลายชนิด เช่น นมแพะ นมแกะ นมอูฐ นมม้า หรือก็คือนำนมมาจากสัตว์ที่นิยมเลี้ยงในท้องถิ่นนั่นเอง
แต่ว่าพอมาถึงในยุคสมัยใหม่ ที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในผู้ผลิตหลาย ๆ เจ้า
หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญคือ การควบคุมต้นทุนการผลิต
ซึ่งหากเทียบต้นทุนของตัวน้ำนมแล้ว น้ำนมที่มาจากวัว จะสามารถหาได้ง่ายที่สุด และยังเป็นที่ถูกปากถูกใจของคนทั่วไปได้ง่าย
นมวัวแท้จึงกลายเป็นที่นิยมนำมาทำเป็นโยเกิร์ต นั่นเอง
รู้เรื่องของนมคร่าว ๆ กันมาแล้ว
ว่าแต่ว่า จะนำน้ำนม มาหมัก...กับอะไรละ ?
คำตอบก็คือหมักกับหัวเชื้อแบคทีเรีย ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
ซึ่งแบคทีเรียตัวนี้จะกินน้ำตาลแลคโตส (Lactose) ที่มีเฉพาะในนมเป็นอาหาร
และเปลี่ยนให้เป็นกรดแลคติกออกมา
ซึ่งเจ้ากรดตัวนี้ ทำปฏิกิริยากับโปรตีนในนม ทำให้ค่า pH ลดลง (เพราะมีความเป็นกรด) จึงส่งผลทำให้นมมีเนื้อสัมผัสเปลี่ยนไปและมีรสชาติอมเปรี้ยว
ตรงจุดนี้ เราก็จะเรียกว่า “โยเกิร์ต” ได้แล้วละ !
โอเค… แล้วทำไมต้องเป็นประเทศบัลแกเรียละ ?
คำตอบนั้น อยู่ในชื่อของส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ (หากขาดแล้ว มันก็ไม่ได้เรียกว่าโยเกิร์ตน่ะสิ)
นั่นคือ “หัวเชื้อแบคทีเรีย” ที่นำมาหมักกับนม ดั่งที่กล่าวไปแล้วข้างบนเนอะ
ซึ่งหัวเชื้อแบคทีเรียที่ว่านี้ ก็คือเชื้อแบคทีเรียบริสุทธิ์ (Starter culture)
ที่มีชื่อว่า “Lactobacillus Bulgaricus” และ
“Streptococcus Thermophiles” ทั้ง 2 ตัวนี้ จะถูกจัดเป็นแบคทีเรียในกลุ่ม LAB (Lactic acid bacteria) ก็คือตัวเชื้อที่เปลี่ยนให้น้ำตาลแลคโตสในน้ำนม เป็นกรดแลคติค นั่นเอง
ประเด็นสำคัญก็คือ ชื่อของเจ้าเชื้อแบคทีเรีย “Lactobacillus Bulgaricus”
ที่พอเราดูชื่อพยางค์สุดท้ายแล้ว ก็อาจจะต้องร้อง อ้อ ! มาเลยทีเดียว
ก็เพราะว่ามีชื่อที่คุ้นตาอย่าง Bulgaricus หรือ คำที่ดัดมาจากชื่อประเทศ Bulgaria ยังไงละ !
ต้องเล่าว่า ต้นกำเนิดชองชื่อแบคทีเรียชนิดนี้ มาจากงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวบัลแกเรียน นามว่า “Stamen Grigorov” ในหัวข้อเรื่องของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ในตัวโยเกิร์ต เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1905
ซึ่งโยเกิร์ตที่คุณ Grigorov นำมาทำการทดลอง ก็คือ โยเกิร์ตที่มาจากน้ำนมแพะ และ น้ำนมวัว จากประเทศบัลแกเรีย
หลังจากที่เขาได้ทำการทดลองเสร็จ จนพบตัวแบคทีเรียที่ให้ประโยชน์กับมนุษย์
เขาจึงได้ตั้งชื่อแบคทีเรียตัวนี้ ให้เหมือนกับประเทศที่เขาได้นำโยเกิร์ตมาทำการทดลอง นั่นก็คือ “บัลแกเรีย” นั่นเอง
ง่าย ๆ แบบนี้เลยละนะ...
ซึ่งเหตุผลหลักที่ทำให้เรื่องราวมันง่ายแบบนี้
ก็เพราะความเชื่อในเรื่องของต้นกำเนิดของโยเกิร์ตบนโลกใบนี้ ที่มาจากประเทศบัลแกเรีย
หากเรามองย้อนกลับไปตามบันทึกประวัติศาสตร์ของ ชาวบัลแกเรียน ยังได้มีการอ้างอิงถึงเรื่องราวของโยเกิร์ต ว่ากำเนิดจากประเทศบัลแกเรียเป็นแห่งแรกของโลก
ซึ่งว่ากันว่า มีอายุมานานมากกว่า 4,000 ปีแล้ว ตั้งแต่ชนเผ่าเร่ร่อน มาตั้งรกรากในแถบประเทศบัลแกเรีย
ด้วยสภาพภูมิประเทศและอากาศในบริเวณนั้น เอื้ออำนวยต่อการทำการปศุสัตว์
นั่นจึงทำให้ชนเผ่าเร่ร่อน ที่อาศัอยู่ในได้ทำการผลิตอาหารแปรรูปต่าง ๆ ที่มีจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งหนึ่งในนั้น ก็คือ “โยเกิร์ต” หรือ อาจจะเป็นที่รู้จักในชื่อของ นมเปรี้ยว นมหมัก ในยุคสมัยนั้น
และเจ้านมหมัก รสเปรี้ยวนี้ ก็ยังอร่อยและช่วยทำให้คนในยุคสมัยนั้นมีรูปร่างดี แถมยังช่วยเพิ่มภูมิต้านทานกับร่างกายได้อีก
บ้างก็ว่าสามารถใช้ทดแทนมื้ออาหารได้เลย
ว่ากันว่าชนเผ่าเร่รอนผู้ค้นพบสิ่งนี้ คือ “ชนเผ่าทราเซียน”
ซึ่งเป็นบรรพบุรุษที่เก่าแก่ที่สุดของชาวบัลแกเรีย ในปัจจุบัน นั่นเอง
ที่น่าสนใจคือ ต้นกำเนิดของคำว่าโยเกิร์ต ก็มาจากภาษาทราเซียน 2 คำสมาสกัน
นั่นคือ คำว่า “Yog” ซึ่งแปลว่า หนาหรือข้น
ส่วน “Urt” ที่แปลว่า น้ำนม
เมื่อนำรากศัพท์ทั้ง 2 คำมาผสมเข้าด้วยกัน ก็เกิดเป็นคำว่า “Yogurt” นั่นเองจ้า
อย่างที่พวกเราจะพูดบ่อย ๆ คือ เรื่องราวของประวัติศาสตร์
บางทีมันก็แอบนานาจิตตังอยู่นะ ใครคือผู้ขีดเขียนเป็นคนแรก ๆ ก็จะมีความได้เปรียบอยู่พอสมควร
ตรงนี้ เราก็ต้องเสพข้อมูลกันแบบฟังหูไว้หูกันเช่นเคย
ถึงตรงนี้ เพื่อน ๆ หลายคนอาจจะอดนึกถึง อีกหนึ่งประเภทของโยเกิร์ตที่มีคุณภาพ ที่มีต้นกำเนิดตามมาทีหลังจากโยเกิร์ตบัลแกเรีย อย่าง “Greek Style Yogurt” ที่เราคุ้นหูคุ้นตาอีกเช่นกัน
แต่คือ ถ้าจะให้พวกเราเล่าเรื่องนี้ ก็อาจจะขอทำเป็นอีกบทความนึงขึ้นมาเลยดีกว่า ตรงนี้กลัวเพื่อน ๆ จะหลับกันก่อน...
อะ โอเค ! งั้นพวกเราขอมาไขข้อสงสัยกันสักเล็กน้อยว่า
จุดที่ทำให้ Greek Yogurt เกิดความแตกต่างจาก Bulgaria Yogurt ก็คือ
Greek Yogurt จะลักษณะเป็นครีม มีความหนึบ เข้มข้น และ แข็งตัวมากกว่า
นั่นก็เป็นเพราะ วิธีการผลิตของกรีกโยเกิร์ต ที่มีความแตกต่างไปจากบัลแกเรียโยเกิร์ต
กล่าวคือ ขั้นตอนของการกรองและคั้นหางโยเกิร์ต น้ำ รวมถึงน้ำตาลแลคโตสออกไปจากโยเกิร์ตจนเกือบหมด
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จึงออกมาเป็นลักษณะของ คือเนื้อของโยเกิร์ตที่เข้มข้นหนึบนุ่ม ไปจนถึงโยเกิร์ตที่แข็งตัวเป็นก้อน ในแบบ Greek Yogurt นั่นเอง
อีกจุดหนึ่งก็คือ หัวเชื้อแบคทีเรียในการหมัก Greek Yogurt จะไม่ต้องมีการระบุว่าจะต้องเป็นเชื้อแบบใด ซึ่งจะแตกต่างจากโยเกิร์ตบัลแกเรีย
สุดท้ายนี้ พวกเราขอแถมนิดนึง
เรื่องราวของโยเกิร์ต ที่ว่ากันว่า มีจุดเริ่มต้นจากบัลแกเรีย จนมาถึง กรีก
ปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนา ในส่วนของตัวโยเกิร์ตที่มีสีสันและรสชาติที่หลากหลาย
อย่างเช่น โยเกิร์ตปั่นผสมผลไม้จนเป็นเนื้อเดียวกัน
ซึ่งเจ้าโยเกิร์ตชนิดนี้ ก็จะเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ “Swiss Style Yogurt” นั่นเองจ้า
(อันนี้อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับด้านบนเท่าไร เพียงแค่ตัวพวกเราชอบทานเจ้าตัวนี้มาก เลยอยากเสริมเป็นปิดท้าย ก็เท่านั้นเอง แห่ะๆ)
นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีโยเกิร์ตที่ผลิตมาจากน้ำนมหรือมีวิธีการผลิตที่แตกต่างกันออกไปอีกมากมายหลายประเทศเลย
เช่น Australia Style, Icelandic Style, French Style
ไว้ถ้ามีโอกาส จะมาเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวของพวกเขากันต่อไป
โอเค ก็พอหอมปากหอมคอกันไปแล้ว สำหรับเรื่องราวของโยเกิร์ต ว่าทำไมเราถึงคุ้นเคยกับประเทศบัลแกเรีย ลากยาวมานิดนึงจนจบที่เรื่องราวของกรีกโยเกิร์ตเนอะ
พวกเรา InfoStory ก็ขอจบเรื่องราวสาระความรู้สบายสมอง ไว้ที่ตรงนี้
#Yogurt
#InfoStory
โฆษณา