22 ก.ย. 2021 เวลา 02:19 • ความคิดเห็น
ทำไม คนถึงมั่นหน้า(แบบผิดๆ) ในการคาดการณ์สิ่งต่างๆ
หลายคนอาจจะไม่ยอมรับความจริงว่า ผู้คนมักจะมีความมั่นใจในตัวเองมากจนเกินไปในการคาดการณ์สิ่งต่างๆ แต่ความมั่นใจที่มากเกินเหตุนี้ คือ หนึ่งในอคติที่เกิดขึ้นจริงในกระบวนการตัดสินใจของมนุษย์ ซึ่งหลายต่อหลายครั้งมันก็นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่น่ายินดีเท่าไร่นัก
ยิ่งไปกว่านั้น ความมั่นใจจนเกินเหตุไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับผู้คนทั่วไปเท่านั้น หากแต่ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างยาวนานก็ยังพบเจอกับปัญหาความมั่นใจจนเกินเหตุจนนำมา ซึ่งการคาดการณ์ที่ผิดพลาดด้วยเช่นกัน
จากเรื่องราวข้างต้น จึงนำมาซึ่งบทความในวันนี้ ที่ทาง Bnomics จึงจะพาทุกท่านไปสำรวจเรื่องราวของมายาคติในการตัดสินใจที่เกิดจากความมั่นใจจนเกิดเหตุกันครับ
📌 ความง่ายดายในการอธิบายเรื่องราวในอดีต
จุดเริ่มต้นของความมั่นใจจนเกิดเหตุของผู้คนจำนวนมากเกิดขึ้นจากการสั่งสมความมั่นใจ จากการทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตในแบบที่ขาดหลักฐานประกอบที่ดีพอ และมันก็จะนำมาซึ่งความรู้สึกที่ที่บางคนเรียกว่าปรากฎการณ์ “ฉันรู้มาตลอดอยู่แล้ว” ซึ่งมีการทดลองของฟิชฮอฟฟ์ ร่วมกับรูธ เบธ ที่ได้สนับสนุนเรื่องนี้ไว้
ในการทดลอง พวกเขาได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของคนให้ประเมินความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ 15 เหตุการณ์ ก่อนที่อดีตประธานาธิบดีริชชาร์ด นิกสัน จะทำการเดินทางไปจีนและโซเวียต เช่น เหมาเจ๋อตุงจะยอมเจอนิกสันไหม สหรัฐจะตกลงกับโซเวียตในประเด็นสำคัญใด เป็นต้น
หลังจากนิกสันเดินทางกลับประเทศก็ให้คนเหล่านั้นประเมินความน่าจะเป็นอีกครั้งหนึ่งของ 15 เหตุการณ์เดิม ซึ่งถ้าผู้คนไม่มีอคติ พวกเขาก็ควรที่จะประเมินความน่าจะเป็นทั้ง 15 เหตุการณ์เท่าเดิม
อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ ผู้เข้าร่วมการทดลองจะประเมินความน่าจะเป็นในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงจากการไปเยือนของนิกสันสูงกว่าเดิม และประเมินความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นต่ำกว่าเดิม
การทดลองข้างต้นเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงภาพลวงตาที่เกิดขึ้นในจิตใจคน ที่แสดงถึงความมั่นใจที่มักจะเอียนเองเข้าข้างตัวเองเสมอ
📌 ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ได้คาดการณ์ดีกว่าคนทั่วไปเสมอไป
ความมั่นใจจนเกินเหตุไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับคนทั่วไปเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นเวลานานด้วย ที่แย่กว่านั้นคือหลายครั้งผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะยิ่งมีความมั่นใจเกินเหตุที่มากเกินกว่าคนปกติไปอีก ซึ่งมันจะส่งผลต่อความน่าเชื่อของการคาดการณ์ของเขาได้
ฟิลิป เท็ตล็อก นักจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยเพนซิเวเนีย เคยได้ทำการทดลองที่กินเวลานานกว่า 20 ปี จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในการแนะนำเกี่ยวกับแนวโน้มทางการเมืองและเศรษฐกิจจำนวน 284 คน ที่ตลอดระยะเวลาที่ทำการทดลอง เขาได้รวบรวมการคาดการณ์เอาไว้กว่า 80,000 รายการ
ผลการทดลองที่ออกมาจึงถูกเรียกว่าเป็นความหายนะ เมื่อบรรดาผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ผลลัพธ์ เรื่องราวต่างๆ ได้ต่ำกว่าครึ่งเสียอีก หรือจะเปรียบเทียบว่า “ลิงปาลูกดอก” อาจจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าด้วยซ้ำ
นอกจากนี้เท็ตล็อกยังได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมไว้อีกว่า ยิ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงเท่าใด ก็จะยิ่งมีการคาดการณ์ที่อลังการยิ่งขึ้นไปเท่านั้นอีกด้วย
ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่ายิ่งมีความมั่นใจในตัวเองเกินเหตุมากเท่าใดก็ยิ่งมีแนวโน้มจะสร้างการคาดการณ์ที่ผิดพลาดยิ่งกว่าเดิมได้อีก จากการการคาดการณ์ที่เกินจริงไป
📌 แล้วเมื่อใดที่เราจะเชื่อผู้เชี่ยวชาญได้บ้าง
นักจิตวิทยาพอล มีห์ล ได้ทำการศึกษาที่มีอิทธิพลต่อวงการจิตวิทยาอย่างมากต่อมาในหัวข้อที่ว่าการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญกับการคาดการณ์ทางสถิติ อะไรให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ากัน และได้คำตอบออกมาว่า “เครื่องมือทางสถิติมีความสามารถสูงกว่าการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญอย่างมาก”
 
หลังจากที่ผลการทดลองนี้ออกมา มีงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องเดียวกันนี้ออกมาอีกเป็นหลักร้อยงาน ที่มีประมาณ 60% ยืนยันว่าการคาดการณ์จากสถิติดีกว่าผู้เชี่ยวชาญจริงๆ แต่อีก 40% ที่เหลือก็ไม่ได้บอกว่าผู้เชี่ยวชาญสามารถเอาชนะสถิติได้ เพียงแต่บอกว่าทั้งสองอย่างเสมอกันเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายมันก็การเป็นชัยชนะของเครื่องมือทางสถิติอยู่ดีเนื่องจากต้นทุนที่ถูกกว่าของมัน
📌 คำถามที่เกิดขึ้นคือ “แล้วที่ยืนของผู้เชี่ยวชาญในการคาดการณ์สิ่งต่างๆ คือตรงไหน”
คำตอบแรกก็คือ เมื่อเรื่องที่ทำการคาดการณ์นั้นเป็นเรื่องที่โอกาสเกิดขึ้นซ้ำๆ อย่างสม่ำเสมอมากพอ และเป็นเหตุการณ์ที่เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญได้ฝึกฝนมันซ้ำๆ ยกตัวอย่างเช่น นักเล่นหมากรุกระดับ Grandmaster ที่สามารถมองออกได้ว่าตาเดินที่เหมาะสมต่อไปคือ อะไรผ่านการชำเลืองมองกระดาน หรืออาชีพอย่างนักดับเพลิงหรือพยาบาล ที่เจอเหตุการณ์เดิมๆ ซ้ำๆ จนเกิดเป็นสัญชาตญาณที่สามารถคาดการณ์ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป และควรทำอย่างไรเพื่อตอบสนอง
ส่วนอีกหนึ่งคำตอบ ที่ยืนของผู้เชี่ยวชาญก็อยู่ในเครื่องมือทางสถิติที่เรากล่าวไปข้างต้น เพราะการสร้างเครื่องมือทางสถิติก็ยังจำเป็นต้องอาศัยพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องราวที่เรากำลังจะทำการคาดการณ์อยู่ดี ซึ่งการจะทำการค้นหาปัจจัยที่เหมาะสมที่จะนำมาคาดการณ์ผลลัพธ์ก็ยังต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจในศาสตร์นั้นๆ อยู่ดี และการตีความ นำเสนอเรื่องราวโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยผ่านหลักฐานทางสถิติ เพื่อสร้างความมีชีวิตชีวา ก็สามารถเข้าถึงผู้คนได้ดีกว่าการยกแบบจำลองทางสถิติออกมาแสดงโดยตรงด้วย
อคติจากความมั่นใจเกินเหตุสามารถนำมาซึ่งการคาดการณ์และการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ ซึ่งเรื่องราวที่เล่าในบทความนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอคติจากความมั่นใจเกินเหตุเท่านั้น จริงๆ แล้วยังปัจจัยเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องอีก เช่น เรื่องการรับฟังมุมมองจากภายนอก หรือเรื่องราวของอำนาจของเหตุผลที่อยู่เหนือสถิติ ที่เราอาจจะหยิบยกมาเล่าในโอกาสต่อๆ ไป
สำหรับบทความนี้ ขอจบลงเพียงเท่านี้ และขอฝากผู้อ่านทุกท่าน “ให้อย่าลืมสำรวจตัวเองกันดูด้วยว่าในการตัดสินใจของท่าน มีอคติจากความมั่นใจมากเกินไปอยู่บ้างหรือไม่”
#ความมั่นใจ #การคาดการณ์ #อคติจากความมั่นใจ
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
หนังสือ Expert Political Judgement by Philip E. Tetlock
หนังสือ Thinking, Fast and Slow by Daniel Kahneman

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา