29 ก.ย. 2021 เวลา 05:12 • ความคิดเห็น
1 ผู้ให้ ช่วยได้ 8 ชีวิต... ทำอย่างไรเพื่อให้คนยอมเป็นผู้บริจาคอวัยวะมากขึ้น
1 ผู้ให้ ช่วยได้ 8 ชีวิต
“ 1 ผู้ให้ ช่วยได้ 8 ชีวิต” คือ ตัวเลขสูงสุดที่ผู้บริจาคอวัยวะ 1 คน สามารถต่อชีวิตของผู้คนที่รอการปลูกถ่ายได้ถึง 8 คน ซึ่งข้อความข้างต้นเป็นข้อความที่ทาง “ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย” ใช้เชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันสมัครเข้าร่วมเป็นผู้บริจาคอวัยวะที่พาดแสดงอยู่หน้าเว็บไซต์ของตัวเอง
แต่ 126 คน ที่เป็นตัวเลขที่อยู่บนหน้าเว็บไซต์เดียวกันแสดงจำนวนผู้บริจาคอวัยวะในปี 2564 ที่ผ่านมาที่แม้จะต่อลมหายใจให้คนอีกเกือบประมาณสามร้อยคน แต่ก็ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวน 5,663 คน ของผู้ที่รออวัยวะ (อ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2564)
ด้วยเหตุนี้ ในบทความนี้เราจะพาทุกท่านไปดูกันว่า เราจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง ที่จะชักจูงผู้คนให้มาบริจาคอวัยวะเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการต่อลมหายใจให้กับผู้คนที่ต้องการต่อไปได้
📌 รู้จักกับการบริจาคอวัยวะสักเล็กน้อย
ในปัจจุบันการบริจาคอวัยวะในไทยสามารถทำได้ 2 กรณี คือ
1) บริจาคจากผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยต้องเป็นญาติโดยสายโลหิต หรือสามีภรรยาตามกฎหมาย และ
2) ผู้บริจาคสมองตาย ที่อยู่ต่อได้เพราะเครื่องช่วยชีวิตเท่านั้น และในทางกฎหมายก็ถือเป็นผู้เสียชีวิตแล้ว
แม้การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะที่ทำสำเร็จครั้งแรกในปี ค.ศ. 1954 จะเป็นการบริจาคตามสายโลหิต แต่นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 เป็นต้นมา กว่า 80% ของการบริจาคอวัยวะก็กลายเป็นกรณีของการบริจาคจากผู้ป่วยสมองตายแล้ว อย่างไรก็ดี ถึงตัวเลขการบริจาคอวัยวะจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในหลายประเทศ มันก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการอยู่ดี
นอกจากกรณีของไทยที่เราเล่าไปแล้ว ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาก็ประสบปัญหาขาดผู้บริจาคอวัยวะเช่นกัน จากจำนวนผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายมากถึง 97,000 คน ที่คาดกันว่าอาจจะมีถึงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ที่เสียชีวิตก่อนได้รับการปลูกถ่าย ทั้งๆ ที่อเมริกามีผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สมองตายมากถึง 12,000 – 15,000 คน ที่อวัยวะของคนเหล่านี้สามารถช่วยคนได้จำนวนมาก
คำถามก็เกิดขึ้น “เราจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ตัดสินใจที่จะบริจาคอวัยวะ?”
📌 การบังคับและการตั้งทางเลือกตั้งต้น
สองทางเลือกที่มีการเสนอแนะขึ้นมาในตอนแรกที่จะนำมาใช้เพื่อให้คนบริจาคอวัยวะมากขึ้นก็คือการบังคับให้บริจาคและการตั้งทางเลือกอัตโนมัติเสมือนว่าทุกคนยินยอมไว้ก่อน
สำหรับการบังคับให้บริจาคอวัยวะนั้น พบเห็นได้ในสหรัฐฯ แต่แค่ในบางรัฐ และแค่กรณีของกระจกตาเท่านั้น ซึ่งการผ่าตัดกระจกตาจะทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง โดยตั้งแต่มีการบังคับ ตัวเลขของผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายกระจกตาก็เพิ่มขึ้นมาก จาก 25 คนในปีค.ศ. 1978 เป็นกว่า 1,000 คนในปีค.ศ. 1984
อย่างไรก็ดี การบังคับให้ผู้ป่วยสมองตายทุกคนต้องบริจาคอวัยวะทุกส่วนแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้คนมากจนเกินไป จนเกิดแนวทางที่สองขึ้น
การตั้งทางเลือกตั้งต้น (Default option) โดยถือว่า “คนยินยอมบริจาคอวัยวะไว้ก่อน แต่สามารถเปลี่ยนใจได้ทีหลัง” เราเห็นตัวอย่างของทางเลือกอัตโนมัติในชีวิตประจำวันมากมาย แต่ที่เด่นชัดก็เช่น การลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถ้าหากเรากด Next ไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นการลงตามทางเลือกอัตโนมัติที่บริษัทตั้งมา หรือจะเป็นการสั่งอาหารที่กำหนดไซต์ของอาหารแต่ละอย่างมาให้
จากการผลการศึกษาเราก็รู้ได้ว่า ผู้คนมักจะไม่อยากปรับเปลี่ยนจากทางเลือกตั้งต้นหากทางเลือกนั้นไม่ได้แย่มากจนเห็นได้ชัด ทำให้มีการเสนอว่า ในเรื่องการบริจาคอวัยวะในเมื่อสิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อสังคมโดยรวมก็ควรจะทำให้มันเป็นทางเลือกตั้งต้นของคนทุกๆ คนหรือเปล่า?
ซึ่งหัวใจของเรื่องนี้จริงๆ คือ “ความง่ายดายในการยกเลิก” ซึ่งคล้ายกับกรณีการบังคับเพราะหากการการตัดสินใจที่จะไม่บริจาคทำได้ยากจนเกินไปก็จะเบียดเบียนสิทธิของผู้คน และก็มีประเทศที่ใช้นโยบายถือว่าทุกคนยินยอมบริจาคอวัยวะจริงๆ เช่นสเปนหรือฝรั่งเศส ที่จากการศึกษาประเทศที่ใช้นโยบาย “ทางเลือกตั้งต้นถือว่ายินยอม” ก็มีประชาชนที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะสูงกว่าประเทศที่ไม่ได้ใช้นโยบายนี้ประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์
ถึงจะมีการใช้นโยบายทางเลือกตั้งต้นและผลลัพธ์ก็ออกมาดีพอสมควร แต่ในทางปฏิบัติจริงแล้ว ประเทศอย่างฝรั่งเศสก็ยังต้องสอบถามญาติคนไข้ก่อนจะทำการนำอวัยวะของผู้ป่วยสมองตายไปใช้อยู่ดี และผู้คนที่เชื่อในสิทธิจำนวนมากก็ยังขัดค้านกับแนวคิดนี้ จึงนำไปสู่ทางเลือกถัดไปที่น่าจะตอบโจทย์ได้มากขึ้น
📌 บังคับให้บริจาคไม่ได้ งั้นขอบังคับให้ต้องเลือก
เมื่อการบังคับให้บริจาคและการตั้งทางเลือกตั้งต้นว่ายินยอมยังอาจจะลิดรอนสิทธิ ทางเลือกถัดไปที่น่าสนใจก็คือ “การบังคับให้เลือกเลยว่าจะบริจาคหรือไม่บริจาค”
การสำรวจทางอินเทอร์เน็ตของเอริก จอห์นสัน และแดน โกลสไตน์ แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้และผลลัพธ์ของเรื่องนี้ เมื่อพวกเขาสร้างแบบสอบถามที่กำหนดให้คนต้องเข้าไปอยู่ในรัฐที่มีนโยบายตั้งต้นการบริจาคอวัยวะที่แตกต่างกัน และให้เลือกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนสถานะของตัวเองในการบริจาคอวัยวะหรือไม่? โดยทำได้อย่างง่ายดายเพียงคลิ๊กแค่หนึ่งครั้ง
ซึ่งผลลัพธ์ส่วนแรกนั้นไม่น่าประหลาดใจ เมื่อคนที่ไปอยู่ในรัฐที่มีทางเลือกตั้งต้นเป็นการบริจาคอวัยวะจะมีถึง 82 เปอร์เซ็นต์ที่ก็จะเลือกเป็นผู้บริจาคอวัยวะต่อ ส่วนผู้คนที่ถูกกำหนดให้ได้รัฐที่มีทางเลือกตั้งต้นเป็นการที่ไม่ใช่ผู้บริจาคอวัยวะ จะมีแค่ 42 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เลือกที่จะเปลี่ยนมาเป็นผู้บริจาคอวัยวะ
แต่ที่น่าสนใจคือรัฐในแบบที่สามที่ไม่ได้กำหนดค่าเริ่มต้นว่าต้องผู้บริจาคหรือไม่เป็นผู้บริจาค แต่บังคับให้ผู้เข้าร่วมต้องเลือกว่าอยากเป็นผู้บริจาคไหม ผลลัพธ์ออกมาว่ามีถึง 79 เปอร์เซ็นต์ที่เลือกที่จะบริจาคอวัยวะ (แทบจะเท่ากับการตั้งค่าเริ่มให้เป็นผู้บริจาค)
ซึ่งทางเลือกแบบนี้ ทำให้จะมาโต้แย้งไม่ได้ว่าภาครัฐไม่ได้ให้สิทธิในร่างกายของคุณในการตัดสินใจที่จะบริจาคหรือไม่บริจาค และเมื่อให้คุณได้เลือกแล้ว ทางรัฐก็สามารถบังคับออกมาเป็นกฎหมายเพื่อไม่ให้ญาติสามารถยกเลิกที่หลังได้ ซึ่งลักษณะนโยบายแบบนี้ก็เกิดขึ้นจริงแล้วที่รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ที่การต่อใบขับขี่จะต้องตอบคำถามเรื่องการบริจาคอวัยวะด้วย และก็มีกฎหมายที่ป้องกันการยกเลิกของญาติทีหลังด้วย
ซึ่งผลก็ออกมาได้ค่อนข้างน่าประทับใจ เมื่อผู้ใหญ่กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของรัฐอิลลินอยส์ลงทะเบียนเป็นผู้บริจาคแล้ว และก็อาจจะเป็นกรณีศึกษาที่อาจจะนำมาใช้กับประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยได้ด้วย เพราะในฐานะภาครัฐ เป้าหมายและทรัพยากรอันดับหนึ่งที่ต้องดูแลก็คือ ชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน นั่นเอง
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economicsฉ
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
หนังสือ Nudge by Richard H. Thaler และ Cass R. Sunstein

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา