1 ต.ค. 2021 เวลา 01:30 • กีฬา
Manga Matchi The Series : จิฮายะฟุรุ มังงะตาหวานที่ทำให้กีฬาโบราณอย่าง "คารุตะ" ได้รับความนิยม | Main Stand
คารุตะ อาจจะไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูชาวไทย แต่สำหรับชาวญี่ปุ่น มันคือการละเล่นที่พวกเขาคุ้นเคยมาตั้งแต่เรียนชั้นประถม ด้วยการใช้เป็นแบบฝึกท่องจำและเรียนภาษาของเด็กในระดับชั้นนั้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่ามันจะมีลักษณะการเล่นคล้ายกับไพ่จับคู่ แต่เนื่องจากเป็นกีฬาโบราณ ทำให้ก่อนหน้านี้ถูกมองว่าเชยและล้าสมัย หรือจำกัดอยู่แค่ในกลุ่มผู้สูงอายุ
ทว่า การมาถึงของมังงะที่ชื่อว่า "จิฮายะฟุรุ" ก็ทำให้มุมมองต่อกีฬานี้เปลี่ยนไป พบกับเรื่องราวของ คารุตะ และมังงะที่ช่วยปลุกกระแส ได้ใน Manga Matchi The Series โปรเจ็กต์ที่เป็นการจับมือกันระหว่าง Main Stand กับ The MATTER
ศิลปะการต่อสู้บนเสื่อทาทามิ
ภาพคนสองคนนั่งคุกเข่าประจันหน้ากัน ก่อนจะใช้มือปัดไพ่ที่อยู่ตรงหน้าอย่างรุนแรง ทันทีที่เสียงบทกลอนถูกเอ่ยขึ้น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่คุ้นชินสำหรับชาวไทย แต่สำหรับชาวญี่ปุ่น มันคือการละเล่นที่ทุกคนรู้จักและคุ้นเคยในชื่อ "คารุตะ"
มันคือกีฬาโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 16 โดยเชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากพ่อค้าชาวโปรตุเกสที่เข้ามา ก่อนจะแพร่หลายไปทั่วประเทศ จนกลายมาเป็นหนึ่งในการละเล่นยอดนิยมของชาวญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกยังไม่มีกฎกติกาที่ชัดเจน ทำให้วิธีการเล่นแตกต่างกันไปตามภูมิภาค จนกระทั่งในปี 1904 ได้มีการก่อตั้งสมาคมคารุตะโตเกียว ต่อด้วยสมาคมคารุตะแห่งชาติ ในปี 1934 ที่ทำให้กฎถูกปรับให้เหมือนกันทั่วประเทศ
โดย คารุตะ มีวิธีการเล่นคล้ายกับไพ่จับคู่ ซึ่งในไพ่หนึ่งสำรับจะมีทั้งหมด 200 ใบ แต่ละใบจะมีบทกลอนโบราณเขียนไว้เรียกว่า Hyakunin Isshu ซึ่งเป็นบทกลอนที่คัดมาจากนักกวี 100 คนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษ 7-13 คนละ 1 บท รวมทั้งหมด 100 บท ซึ่งแต่ละบทก็จะแยกออกเป็นสองส่วนคือไพ่สำหรับอ่าน (โยมิฟุดะ) 100 ใบ และไพ่สำหรับหยิบ (โทริฟุดะ) 100 ใบ หลักพื้นฐานก็แค่หาไพ่ที่มีบทกลอนให้ตรงกับบทอ่าน
แต่ความท้าทายของ คารุตะ คือ ก่อนเริ่มเกมผู้เล่นต้องสุ่มไพ่มาจากกอง 50 ใบ และมีเวลาให้จำไพ่ 15 นาที จากนั้นจะแบ่งออกมาเป็น 2 กอง กองละ 25 ใบ แล้วแต่ละฝั่งจะวางเรียงในตำแหน่งที่ตัวเองถนัดมากที่สุด โดยหันด้านที่อ่านได้เข้าหาตัวเอง
จากนั้น ทันทีที่ผู้อ่านอ่านไพ่จากการสุ่ม ผู้เล่นจะต้องจับคู่ไพ่บนพื้นกับบทกลอนที่ได้ยิน ใครอ่านก่อนก็จะได้คะแนนไป ซึ่งถ้าหากหยิบถูกในฝั่งตัวเอง ไพ่ตรงหน้าเราจะลดลง แต่ถ้าหากหยิบถูกจากฝั่งตรงข้าม จะสามารถเลือกไพ่จากฝั่งเราไปให้คู่แข่ง
ทว่า หากผู้อ่านอ่านไพ่ที่ไม่ได้อยู่ใน 50 ใบที่สุ่มออกมา จะถูกเรียกว่าไพ่เปล่า (คาระฟูดะ) หรือถ้าหากหยิบไพ่ผิด (โอเต็ตสึกิ) ฝั่งตรงข้ามจะต้องเลือกไพ่ส่งให้ฝั่งที่หยิบผิด จนเมื่ออ่านครบ 100 บท ก็จะมานับว่าใครเหลือไพ่อยู่ตรงหน้าน้อยที่สุดก็จะเป็นฝ่ายชนะไป
แม้ว่ามองอย่างผิวเผิน มันจะเป็นการละเล่นที่ไม่ซับซ้อนมากนัก ก็คือจำ ฟัง หา และ จับคู่ แต่เวลาเล่นจริง ถือเป็นการแข่งขันที่ดุเดือด เพราะผู้เล่นต้องหาไพ่ให้ตรงกับบทอ่านให้เร็วกว่าคู่แข่ง ซึ่งตัดสินกันด้วยเสี้ยววินาที
นอกจากนี้ ด้วยความที่มันเป็นกีฬาที่ตัดสินด้วยความเร็ว ทำให้การจับคู่ไพ่ที่ดีที่สุด คือการปัดไพ่ให้พ้นจากระยะของคู่แข่ง ทำให้นอกจากใช้สมองแล้ว ผู้เล่นยังต้องใช้ร่างกายควบคู่ไปด้วย จนทำให้มันถูกเรียกว่า "ศิลปะการต่อสู้บนเสื่อทาทามิ"
"มันอาจจะไม่ถึงกับนึกภาพออกทันที ตอนที่ได้ยินบทกลอน 100 บท แต่มันก็มีความดุเดือดที่ต้องตัดสินกันในช่วง 0.01 วินาที" มิซากิ อุเอดะ นักกีฬาคารุตะจากจังหวัดโอซากา เจ้าของตำแหน่งรองแชมป์ระดับมัธยมปลายปี 2017 กล่าวกับ Asahi Shinbun
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่มันมีความโบราณ แถมยังต้องมาจำบทกลอนเมื่อหลายร้อยปีก่อน ทำให้หลายสิบปีก่อนหน้านั่น มันถูกมองว่าเป็นการละเล่นที่เชยและล้าสมัย หรือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้สูงอายุเท่านั้น
จนกระทั่งการมาถึงของมังงะเรื่องหนึ่งที่มีชื่อว่า "จิฮายะฟุรุ"
มังงะตาหวานปลุกกีฬาโบราณ
"จิฮายะฟุรุ" หรือ "จิฮายะ กลอนรักพิชิตใจเธอ" คือโชโจะมังงะ หรือที่บ้านเราเรียกกันติดปากว่ามังงะตาหวาน ซึ่งเป็นผลงานจากปลายปากกาของ ยูกิ ซุเอ็ตสึงุ ที่ตีพิมพ์ลงใน BE LOVE นิตยสารมังงะผู้หญิง มาตั้งแต่ปี 2008 และยังคงตีพิมพ์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
มันคือเรื่องราวของ อายาเสะ จิฮายะ เด็กสาวที่ภายนอกดูเป็นผู้หญิ๊ง ผู้หญิง แต่กลับมีนิสัยคล้ายกับผู้ชาย และไม่ชอบเห็นใครถูกรังแก วันหนึ่งในตอนประถม 6 เธอได้ช่วย อาราตะ วาตายะ เด็กใหม่ที่เพิ่งย้ายเข้ามาจากการถูกกลั่นแกล้ง และได้ไปที่บ้านของเขา
Photo : amazon.co.jp
นั่นทำให้เธอได้รู้ว่า อาราตะ เล่นไพ่คารุตะเก่งมาก และรู้สึกหลงใหลในความสามารถของเขา และชอบ คารุตะ ทันที ขณะเดียวกัน ไทจิ มาชิมะ เพื่อนสมัยเด็กที่แอบชอบอายาเสะรู้สึกไม่พอใจที่เธอไปสนิทกับอาราตะ จึงมาเล่น คารุตะ บ้างเพื่อหวังล้มอาราตะ ก่อนที่มันจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ทั้งสามคนฟอร์มทีม และลงแข่งในระดับประถมในชื่อ "จิฮายะฟุรุ"
ทว่า นั่นก็เป็นครั้งสุดท้ายที่ทั้งสามได้อยู่ทีมเดียวกัน เมื่อหลังจากนั้นอาราตะต้องย้ายกลับไปที่จังหวัดฟุคุอิ เพื่อดูแลปู่ที่ล้มป่วย ส่วนไทจิก็สอบได้โรงเรียนมัธยมต้นในตัวเมือง จึงทำให้เส้นทางของพวกเขาแยกกันไปคนละทิศละทาง
จนพอขึ้นมัธยมปลาย จิฮายะ ได้เจอ ไทจิ อีกครั้ง เธอจึงมีความพยายามที่จะก่อตั้งชมรม คารุตะ ขึ้นในโรงเรียน และตั้งเป้าที่จะเป็นผู้เล่นคารุตะที่เก่งที่สุดในโลก เพื่อวันหนึ่งจะได้พบกับอาราตะอีกครั้ง
จิฮายะฟุรุ ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากแฟนนักอ่าน และทำให้มังงะเรื่องนี้มียอดขายรวมแล้วสูงกว่า 23 ล้านเล่มในญี่ปุ่น ก่อนที่มันจะถูกนำไปดัดแปลงเป็นอนิเมะ 74 ตอน (และตอนพิเศษอีก 1 ตอน) ที่ออกฉายในช่วงปี 2011-2020 รวมถึงมีการสร้างเป็นภาพยนตร์ถึง 3 ภาคในปี 2016 (เข้าฉาย 2 ภาค) และ 2018 ตามลำดับ
Photo : video.dmkt-sp.jp
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เหนือกว่านั้น คือการที่มังงะเรื่องนี้ ทำให้ คารุตะ กลายเป็นกระแส และกลายเป็นหนึ่งในกีฬายอดนิยมของเด็กและวัยรุ่นญี่ปุ่น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ถูกมองว่าเป็นกีฬาของผู้สูงอายุ
จากการรายงานของสมาคมคารุตะญี่ปุ่น (All Japan Karuta Association) ระบุว่าผู้เข้าร่วมศึกชิงแชมป์สุดยอดคารุตะหญิง (ควีน) และสุดยอดคารุตะชาย (เมจิน) ก่อนหน้าปี 2008 หรือก่อนการ์ตูนตีพิมพ์มีเพียงแค่ 153 คนเท่านั้น
"เมื่อห้าปีก่อน คารุตะ ก็มีแต่พวกลุง ๆ ทั้งนั้น" คิมิฮิโระ มุโระคะวะ ประธานสมาคมคารุตะ จังหวัดวากายามา กล่าวกับ Zakzak
ทว่าหลังจาก จิฮายะฟุรุ ปรากฏสู่สายตาผู้อ่าน จำนวนผู้เข้าร่วมการแข่งขันรอบคัดเลือกก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมากถึง 241 คนในปี 2018 หรือราว 1.6 เท่าจากเมื่อ 10 ปีก่อน
"เด็กหลายคนอยากจะเป็นเหมือนตัวเอกในมังงะ และอยากไต่ระดับให้สูงขึ้น ผมเองก็อยากให้มันได้รับความนิยมมากกว่านี้" มุโระคะวะ กล่าวต่อ
ในขณะที่ คารุตะชิงแชมป์มัธยมปลาย ที่แข่งขันรอบสุดท้ายที่ศาลเจ้าโอมิ จังหวัดชิกะ ซึ่งถูกเรียกว่า "โคชิเอ็งแห่งคารุตะ" ก็มีจำนวนผู้เข้าแข่งขันเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยจาก 34 คนที่ผ่านเข้ามาเล่นในรอบสุดท้ายในปี 2008 กลายเป็น 66 คนในปี 2018
Photo : pinterest.com
นอกจากนี้ หลายโรงเรียนก็พูดตรงกันว่าจำนวนสมาชิกชมรมคารุตะของพวกเขามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แถมหลายคนก็ยอมรับว่าพวกเขาได้รับอิทธิพลมาจาก "จิฮายะฟุรุ" ที่ทำให้รู้สึกว่าอยากจะลองเล่นกีฬาชนิดนี้ดู
"มีรุ่นน้องหลายคนที่เริ่มเล่นด้วยอิทธิพลของอนิเมะ เราทุกคนไปดูภาพยนตร์ด้วยกัน" มารินะ อาเบะ นักกีฬาจากโรงเรียนมัธยมปลายเรเม จังหวัดฟุคุชิมะ กล่าวกับ Zakzak
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่ระดับประเทศเท่านั้น มังงะเรื่องนี้ยังทำให้กีฬาโบราณของญี่ปุ่นชนิดนี้ รู้จักไปทั่วโลก
ดังไกลทั่วโลก
แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ส่งออกวัฒนธรรมผ่านมังงะ หรืออนิเมะ มาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุค 1990s แต่มังงะกีฬาที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ มักจะเป็นกีฬายอดนิยมอย่างฟุตบอล บาสเก็ตบอล หรือเบสบอล
Photo : hollygramazio
แต่ จิฮายะฟุรุ ก็ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ใหม่เกี่ยวกับชมรมกีฬาญี่ปุ่น ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬาที่เป็นที่รู้จักในระดับสากลเท่านั้น เพราะแม้แต่กีฬาโบราณอย่าง คารุตะ ก็สามารถได้รับความนิยมได้
และหนึ่งในชาวต่างชาติที่ถูก จิฮายะฟุรุ ตกเข้าอย่างจังก็คือ บลู เบียทิซ เด็กสาววัย 22 ปีจากสวีเดน ที่ตัดสินใจมาแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่นเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อเรียนรู้และฝึกฝนการเล่นคารุตะ
เธอรู้จักกับคารุตะครั้งแรกตอนที่ได้ดูอนิเมะ จิฮายะฟุรุ เมื่อปี 2016 ก่อนจะรู้สึกประทับใจกับกีฬาโบราณชนิดนี้ และพยายามเรียนรู้วิธีการเล่นด้วยตัวเอง
"ฉันรู้สึกประทับใจกับการแข่งขันที่จริงจัง ซึ่งใช้ทุกส่วนของร่างกายเหมือนกับกีฬา ฉันยังทึ่งกับบทกลอนที่สละสลวยอีกด้วย" เบียทิซ ย้อนความหลังกับ Yomiuri Shinbun
เบียทิซ บอกว่าเธอใช้เวลาถึง 5 ปีในการจำและเรียนรู้บทกลอนทั้ง 100 บท ด้วยการฟังซ้ำ ๆ แล้วเปิดหาความหมายในพจนานุกรม นอกจากนี้เธอยังได้เข้าร่วมชมรมญี่ปุ่นของมหาวิทยาลัย เพื่อให้ทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาญี่ปุ่นของเธอดีขึ้น
นอกจากนี้ เธอยังได้ติดต่อมายังสมาคมคารุตะโดยตรง เพื่อเรียนรู้การเล่นคารุตะ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะแนะนำให้ เบียทิซ มาอยู่กับสมาคมโอตสึ อาคิโนะตะ ที่ตั้งอยู่ในเมืองโอตสึ จังหวัดชิกะ จังหวัดเดียวกับศาลเจ้าโอมิ สังเวียนนัดชิงคารุตะมัธยมปลาย และทำให้เธอได้ย้ายมาอยู่ญี่ปุ่นในช่วงเดือนกันยายน 2020
"ที่สวีเดนฉันไม่มีเพื่อนเล่นคารุตะเลย ดังนั้นฉันจึงจำเป็นต้องมาญี่ปุ่น" เธอกล่าวต่อ
Photo : twitter.com/2020inTokyo1
ที่ญี่ปุ่น เบียทิซ ต้องเข้าสมาคมสัปดาห์ละสองครั้ง เพื่อฝึกตั้งแต่พื้นฐาน ตั้งแต่การนั่งบนเสื่อทาทามิให้ชิน ไปจนถึงความเร็วในการปัดไพ่ ขณะเดียวกันเธอก็ยังเรียนรู้วิธีการเล่นด้วยตัวเองผ่าน YouTube ไปด้วย
"ไม่ว่ากลอนบทไหน ฉันก็อยากตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว" เบียทิซ อธิบาย
และในเดือนธันวาคม 2020 เบียทิซ ก็ได้ลงทำการแข่งขันเป็นครั้งแรก แถมยังคว้าชัยได้ด้วย ก่อนที่ในเดือนมิถุนายน 2021 เธอจะไปไกลถึงการคว้าอันดับ 3 ในทัวร์นาเมนต์ของคนต่างชาติในญี่ปุ่น
"เธอทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะเข้าใจความหมายของบทกลอน" นาโอกิ อิชิคะวะ อาจารย์คารุตะแห่งสมาคมโอตสึ อาคิโนะตะ กล่าวถึงลูกศิษย์ของเขา
"เนื่องด้วยคารุตะฮิรางานะ เขียนด้วยฮิรางานะ (ประเภทของตัวอักษรญี่ปุ่น เป็นประเภทที่ง่ายที่สุด มักใช้กับเด็ก) ทั้งหมด มันจึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนต่างชาติที่จะลองกับสิ่งนี้"
แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ เบียทิซ เท่านั้น ที่ตกหลุมรักในกีฬาโบราณญี่ปุ่นชนิดนี้ เพราะที่ไทยเองก็มีกลุ่มคนที่ชื่นชอบในคารุตะอยู่พอสมควร หลังจากมีการก่อตั้งชมรมไพ่คารุตะกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ปี 2005 ที่มีทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่นอยู่ในนั้น
"ความพิเศษของไพ่คารุตะคือแค่อ่านตัวฮิรางานะออกก็เล่นได้ เกมไม่ได้แบ่งเพศหรืออายุ จะเด็กหรือผู้สูงอายุก็มาเล่นด้วยกันได้ คนต่างชาติที่อ่านฮิรางานะออกก็เล่นได้เช่นกัน" มายูมิ บันโด ประธานชมรมไพ่คารุตะกรุงเทพฯ กล่าวกับ a day
Photo : facebook.com/Karuta-Club-TNI-ชมรมคารุตะทีเอ็นไอ-泰日工業大学かるた部
นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการส่งผู้เล่นคารุตะไปแข่งชิงแชมป์โลกที่ญี่ปุ่น ซึ่งสำหรับทีมชาติไทยก็เคยไปร่วมแข่งมาแล้วถึง 4 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือปี 2018 ที่ผ่านมา
และทั้งหมดก็ล้วนแสดงให้เห็นถึงพลังของ ซอฟต์พาวเวอร์ ได้เป็นอย่างดี
มังงะสร้างชาติ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าญี่ปุ่นถือเป็นชาติที่โดดเด่นในการใช้วัฒธรรมร่วมสมัยเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดเรื่องราว ซึ่งตัวอย่างที่ทั่วโลกได้เห็นอย่างชัดเจน ก็คือมหกรรมกีฬาโอลิมปิก และพาราลิมปิก 2020 ที่ถูกขนานนามว่า "โอลิมปิกแห่งป๊อปคัลเจอร์"
เช่นกันสำหรับ คารุตะ กีฬาที่ถูกมองว่าเป็นกีฬาโบราณและล้าสมัย แต่สามารถทำให้มันได้รับความนิยมในวงกว้างได้ จากการใช้มังงะและอนิเมะเป็นเครื่องมือ ผ่านเรื่องราวของ "จิฮายะฟุรุ"
Photo : blogg.ogoola.se
นี่คือความแยบยลของการถ่ายทอดวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น ที่ทำให้พวกเขากลายเป็นเจ้าแห่งการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ มากว่า 40 ปี จนทำให้ทั่วโลกต่างตกหลุมรักในประเทศเกาะแห่งนี้
เพราะไม่ว่าจะมันจะเชย ล้าสมัย หรือดูจริงจังแค่ไหน แต่หากมองผ่านแว่นของป๊อบคัลเจอร์ญี่ปุ่นแล้ว สิ่งนั้นก็จะน่าสนใจขึ้นมาทุกที
อย่างไรก็ดี จิฮายะฟุรุ ไม่ใช่มังงะกีฬาเรื่องเดียว ที่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคมญี่ปุ่นได้ เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่ช่วยขับเคลื่อนหรือสร้างปรากฏการณ์ให้แก่วงการกีฬาพวกเขา ติดตามต่อได้ใน "5 การ์ตูนกีฬาที่เปลี่ยนแปลงญี่ปุ่น"
หรือช่องทางรับชมทาง Facebook: https://fb.watch/82NGNom2ij/
แหล่งที่มา:
โฆษณา