23 ก.ย. 2021 เวลา 00:07 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำความรู้จัก "StockX" ตลาดกลางของวงการแฟชั่น ก่อนเข้า IPO เร็วๆ นี้
1
StockX ตลาดลางของวงการแฟชั่น
หลายคนมีความชื่นชอบในสินค้าแฟชั่น เช่น รองเท้า กระเป๋า หรือเสื้อผ้า โดยต้องการหามาเพื่อสวมใส่ หรือเก็บสะสมเป็นคอลเลคชั่นเพื่อเป็นมูลค่าทางจิตใจ แต่หลายครั้งกลับต้องผิดหวังกับการเดินทางเข้าไปซื้อที่หน้าร้านเพราะไม่มีไซต์ที่ต้องการ หรือรุ่นที่ต้องการถูกผลิตออกมาในจำนวนที่จำกัด(Limited Edition) ต้องยอมต่อคิวยาวเหยียดเพื่อแย่งซื้อให้ทัน
ดังนั้นเราจึงเห็นการโพสต์รับซื้อหรือโพสต์ขายต่อกันผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเช่น Facebook อยู่บ่อยครั้ง แต่การซื้อขายเหล่านี้ไม่มีการรับประกันว่าเป็นของแท้และไม่มีใครยืนยันได้ว่าจ่ายเงินไปแล้วจะได้ของแน่นอนจึงทำให้มีการโกงกันเกิดขึ้น
ในประเทศสหรัฐอเมริกามีคนมองเห็นถึงจุดอ่อน (Pain Point) ของตลาดซื้อมาขายต่อ (Re-selling) ในจุดนี้ จึงได้สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เป็นตลาดกลางการซื้อขายสินค้าแฟชั่นโดยเฉพาะ พร้อมทั้งมีระบบตรวจสอบว่าสินค้าที่ซื้อขายกันเป็นของแท้ 100% ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวมีชื่อว่า StockX และวันนี้ผมจะมาเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับ StockX ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร รูปแบบการซื้อขายสินค้าเป็นแบบใด สร้างรายได้ได้มากขนาดไหนให้ผู้อ่านทุกท่านได้ทราบกันครับ
คนต่อคิวกันซื้อรองเท้ารุ่น Limited Edition
📌 จุดเริ่มต้นของบริษัท
แรกเริ่มเดิมที StockX เป็นแค่เพียงเว็บไซต์ที่ให้บริการข้อมูลเปรียบเทียบราคาขายต่อของรองเท้าผ้าใบ (Sneaker) โดยอ้างอิงจากข้อมูลการซื้อขายบน eBay แต่เพียงเท่านั้น และมีชื่อเดิมว่า Campless
เว็บไซต์ Campless ถูกก่อตั้งขึ้นในช่วงปี 2012 – 2013 โดย Josh Luber หนุ่มชาวอเมริกันผู้ที่ชื่นชอบในการสะสม Sneaker และกลุ่มเพื่อนของเขา ซึ่งมีเป้าหมายที่จะให้ข้อมูลด้านราคา จำนวน และรายละเอียดเกี่ยวกับรองเท้า Sneaker สำหรับผู้ที่ต้องการสะสมหรือซื้อขายเพื่อทำกำไรให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากขึ้น เพราะในอดีตหากต้องการซื้อขายรองเท้ารุ่นที่หายากจะต้องทำการประมูลผ่านเว็บไซต์ eBay การที่มีข้อมูลตรงนี้เข้ามาช่วยให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถตั้งราคาได้สมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น
ต่อมาเว็บไซต์นี้ได้ไปเข้าตา Dan Gilbert มหาเศรษฐีเจ้าของทีมบาสเก็ตบอลชื่อดัง Cleveland Cavaliers เนื่องจากเขาสนใจที่จะลองทำแพลตฟอร์ม E-commerce ที่มีรูปแบบการซื้อขายเหมือนกับตลาดหุ้น เขาจึงได้เรียก Luber มาพูดคุยเกี่ยวกับไอเดียนี้ และสุดท้ายทั้งคู่ก็ตกลงที่จะทำธุรกิจร่วมกันจึงได้มีการเปลี่ยนเว็บไซต์ Campless ให้กลายมาเป็น StockX และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงปี 2016 ที่ผ่านมา
2
Josh Luber หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง StockX
📌 รูปแบบในการซื้อขายสินค้า
ในเรื่องรูปแบบการซื้อขายสินค้าบน StockX นั้นมีความแตกต่างจากเจ้าตลาด E-Commerce เดิมอย่าง eBay อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากบน eBay ผู้ขายจะต้องเป็นคนถ่ายรูปสินค้าเองเวลาจะวางขาย และถ้าหากต้องการที่จะตั้งประมูลผู้ขายก็ต้องเป็นคนตั้งระยะเวลาการประมูล รวมถึงราคาขายขั้นต่ำ (Reserve Price) ด้วยตัวเอง
1
นอกจากนี้ในอดีต eBay ยังไม่มีระบบตรวจสอบสินค้าลิขสิทธิ์แท้ (ปัจจุบันออกระบบ Authenticity Guarantee มาแล้ว) ทำให้ผู้ซื้อไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสินค้าที่ตนจะซื้อเป็นของแท้หรือไม่ และสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ขายได้จากรีวิวบนเว็บไซต์เพียงเท่านั้น
StockX ใช้วิธีที่แตกต่างออกไปโดยเป็นการเลียนแบบการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ด้านผู้ขายไม่มีความจำเป็นที่จะต้องถ่ายรูปสินค้าของตัวเองไปลงไว้ในเว็บไซต์ ผู้ขายเพียงแค่เข้าไปเลือกสินค้าชนิดที่ต้องการจะขาย จากนั้นจะมีทางเลือกให้ 2 ทาง คือ
1. ขายทันทีที่ราคา Highest Bid หรือ
2. ตั้งคำสั่งขายทิ้งไว้ในราคาที่ตนเองพอใจที่จะขาย (Ask) แล้วรอการ Matching จากผู้ซื้อ
ยกตัวอย่างเช่น Highest Bid ณ ขณะนั้นอยู่ที่ $100 ถ้าผู้ขายต้องการขายในราคานี้ก็กดปุ่ม Sell ได้ทันทีเลย แต่ถ้าหากต้องการขายในราคาที่สูงกว่า $100 (สมมติว่าต้องการขายที่ $120) ก็จำเป็นที่จะต้องรอผู้ซื้อส่งคำสั่งซื้อมาในราคาที่เท่ากัน คือ $120 ถึงจะเกิดการ Matching กันขึ้น
1
ในกรณีของผู้ซื้อก็คล้ายคลึงกันโดยมี 2 ทางเลือกได้แก่
1. ซื้อทันทีที่ราคา Lowest Ask หรือ
2. ตั้งคำสั่งซื้อไว้ในราคาที่ตนพอใจที่จะซื้อ (Bid) แล้วรอการ Matching จากผู้ขาย
ตัวอย่างภาพบนหน้าเว็บไซต์ StockX
ตัวอย่างภาพบนหน้าเว็บไซต์ StockX
โดยทาง StockX จะมีระยะเวลาให้เลือกว่าคำสั่งซื้อและขายดังกล่าวจะหมดอายุภายในกี่วัน ซึ่งเร็วสุดคือ 1 วันและยาวที่สุดคือ 60 วัน คำสั่งนี้สามารถยกเลิกหรือตั้งค่าใหม่ได้เรื่อยๆ ถ้าหากยังไม่มีการ Matching
ในกรณีที่มีการ Matching ผู้ขายจะต้องจัดส่งสินค้าภายใน 2 – 5 วัน (ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า) ไปที่ StockX เพื่อทำการตรวจสอบว่าสินค้านั้นอยู่ในสภาพที่ดีและเป็นของแท้ โดยทาง StockX จะห้อยป้าย “Verified Authentic” สีเขียวๆ ไว้กับตัวสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบก่อนที่จะดำเนินการส่งไปให้กับผู้ซื้อ
ทาง StockX จะได้รับรายได้จากทั้งผู้ซื้อผ่านค่าบริการตรวจสอบสินค้า (แตกต่างกันไปตามประเภทสินค้า) และผู้ขายผ่านค่าบริการฝากขาย (10% ของยอดขาย)
แม้ StockX จะไม่ได้มีการเปิดเผยขั้นตอนทั้งหมดในการยืนยันว่าสินค้าเป็นของแท้ แต่ในเว็บไซต์ระบุไว้ว่าจะมีการจัดทำ Checklist กว่า 100 ข้อในการตรวจสอบสินค้าแต่ละชิ้น เช่น สีของสินค้า สีและขนาดของแพ็คเก็จ ขนาดและฟอนต์ตัวหนังสือที่พิมพ์ลงบนแพ็คเก็จ หรือแม้กระทั่งกลิ่นของสินค้า นอกจากนั้นยังมีการนำเอาระบบ Machine Learning มายืนยันความถูกต้องอีกด้วย
เนื่องจากอาจจะมีการสลับสินค้า StockX จึงไม่มีบริการรับคืนของ หรือแลกเปลี่ยน แต่สามารถนำกลับมาฝากขายบนแพลตฟอร์มได้
นอกจากนั้นในแพลตฟอร์มของ StockX ยังมีบริการข้อมูลมากมายเกี่ยวกับสินค้า เช่น ราคาเฉลี่ย ความผันผวนของราคา ราคาที่เพิ่มขึ้นมาจากราคาป้าย (Price Premium) ให้กับผู้ใช้งานแพลตฟอร์มเหมือนกับที่เคยมีในบริษัท Campless อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้นอีกด้วย
1
ป้ายรับรองจากทาง StockX ว่าสินค้าเป็นของแท้
📌 ความสำเร็จของบริษัท StockX
ปัจจุบัน StockX ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มีลูกค้าเข้าชมเว็บไซต์เฉลี่ยเดือนละกว่า 30 ล้านครั้ง และมียอดขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม (Gross Merchandise Volume) เป็นมูลค่ากว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2020 ที่ผ่านมา คิดเป็นรายได้มากกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยถ้าหากดูเฉพาะสินค้าประเภทรองเท้าจะพบว่าแบรนด์ที่ขายดีติดอันดับได้แก่ Nike Jordans, Nike, Adidas, Converse และ New Balance ตามลำดับ
ตลาดซื้อมาขายต่อสำหรับสินค้าแฟชั่น
ด้านมูลค่าทางตลาดมีการประเมินกันเอาไว้ว่า StockX มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และกำลังจะมีแผนจดเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในเร็ว ๆ นี้อีกด้วย ทั้งนี้ในปัจจุบันบริษัทมีจำนวนพนักงานอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 1,200 คนเพื่อให้บริการลูกค้ากว่า 200 ประเทศทั่วโลก
📌 บทสรุป
ในมุมมองของผม ผมมองว่ารูปแบบการทำธุรกิจแบบ StockX นั้นมีความน่าสนใจอย่างมาก เนื่องจากเข้ามาช่วยแก้ไข Pain Point ที่รูปแบบธุรกิจเดิมๆ ได้พบเจอและสร้างรายได้จากมันได้เป็นมูลค่ามหาศาล แต่อย่างไรก็ตามการให้บริการยืนยันสินค้าว่าเป็นของแท้ (Authentication) นั้นสามารถทำตามได้ไม่ยาก
2
ดังจะเห็นได้จากจำนวนคู่แข่งที่มีอยู่มากมายในตลาดเดียวกัน ตัวอย่างเช่น eBay ที่เริ่มหันมาให้บริการ Authenticity Guarantee เมื่อไม่นานมานี้, บริษัท GOAT คู่แข่งรายสำคัญของ StockX ที่มีการให้บริการคล้ายกันมาก หรือแม้แต่ในบ้านเราก็มีแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า Sasom (สะสม) ที่กำลังเจาะตลาดเอเชียอยู่ในตอนนี้ ดังนั้นถ้าหากต้องการจะเป็นผู้นำในตลาดนี้ผมคิดว่าบริษัทเหล่านี้จะต้องหาวิธีสร้างความเชื่อใจ หรือ Earn Trust จากลูกค้าให้ได้และสร้างความแตกต่างเพื่อรักษาความได้เปรียบทางด้านการแข่งขัน (Competitive Advantage) ต่อไป
2
ตัวอย่างภาพบนหน้าเว็บไซต์ Sasom (สะสม)
#StockX #ตลาดกลางแฟชั่น #EcommercePlatform #Sasom.co.th
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ธีระภูมิ วุฒิปราโมทย์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา