26 ก.ย. 2021 เวลา 06:07 • ปรัชญา
"หวังความหลุดพ้น อย่าพลาดสิ่งนี้"
" ... มีพระสูตรนึงที่โยมควรที่จะทรงจำไว้ให้ขึ้นใจ
ก็คือมหาสติปัฏฐานสูตร
ที่ทรงตรัสว่าเป็นธรรมอันเอก
ทางสายเดียวที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ได้
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
พิจารณากายในกาย พิจารณาเวทนาในเวทนา
พิจารณาจิตในจิต พิจารณาธรรมในธรรม
มีความเพียร มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม
มีสติละความพอใจ ไม่พอใจในโลก
พิจารณากายที่เป็นภายในบ้าง
พิจารณากายที่เป็นภายนอกบ้าง
พิจารณากายทั้งภายในและภายนอกบ้าง
พิจารณาธรรมถึงความเกิดขึ้นภายในกายบ้าง
พิจารณาธรรมถึงความเสื่อมไปภายในกายบ้าง
พิจารณาธรรมถึงความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปภายในกายบ้าง
สติตั้งมั่น สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่ารู้สึก
เพียงแค่รู้ แค่รู้สึก ไม่ติดข้องอยู่
ไม่ยึดถืออะไร ๆ ทั้งปวงในโลกด้วย
1
มหาสติปัฏฐานสูตรเป็นมรดกธรรม
ที่ทรงทิ้งไว้ให้แก่ชาวโลก
เป็นทางสายเดียวที่จะทำให้ปลดเปลื้องตนจากพันธนาการทั้งปวง
พบกับความสงบสุขที่แท้จริง
คือพระนิพพานได้
จึงเป็นพระสูตรที่ชาวพุทธทุกคนที่หวังการหลุดพ้น
พึงทรงจำให้ขึ้นใจ แล้วทำความเข้าใจให้แจ่งแจ้ง
ทุกคำสั่งสอนในพระสูตรมีนัยยะทั้งหมด
เป็นมรรควิธีที่จะทำให้เราเข้าสู่สภาวธรรมต่าง ๆ
ได้ตรงทางตรงธรรม ไม่ออกนอกทาง
จนหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
ทีนี้เรามาแกะทีละประโยคว่า
สภาวะที่ทรงตรัสไว้ คือ สภาวะอย่างไร
คำว่า "พิจารณากายในกาย"
คำว่า "พิจารณา" นี้
ถ้าในสมัยนี้เราจะคิดถึงหมายความว่าไง
การคิดตีความใช่ไหม
แต่จริง ๆ แล้วการพิจารณากายในกายเนี่ย
เป็นเรื่องของการเห็น เห็นสภาวะตามความเป็นจริง
ไม่ใช่เรื่องของการคิด
แยกออกมั้ยระหว่าง การคิด กับ การเห็น
เห็นความรู้สึก เห็นสภาวะ เห็นรูปนาม
กับการคิดเอา
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ต่างกันไหม ?
ต่างกันมาก การคิดมันเป็นสัญญา ความจำ
แต่วิปัสสนา หรือ พิจารณา มันเป็นการเห็น
เพราะฉะนั้นคำว่าพิจารณาธรรม
เป็นเรื่องของการเห็นสภาวะ
โยมจะพิจารณาธรรมได้ โยมต้องมีสติที่ตั้งมั่นก่อน
ทรงตรัสว่า
การที่เกิดการรู้เห็นตามความเป็นจริงโดยที่สติตั้งมั่น
เป็นฐานะที่มีได้
แต่การที่เกิดการรู้เห็นตามความเป็นจริง โดยที่จิตไม่ตั้งมั่น
ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
เวลาจิตฟุ้งซ่าน เลื่อนลอย
มันจะเห็นตามความเป็นจริงไหม ?
เปรียบเหมือนโยมขับรถ นั่งไปในรถที่มันวิ่งเร็วมาก
ร้อยกิโลขึ้นไปอย่างนี้
โยมมองข้างทางเป็นไง เห็นอะไรก็ไม่ชัด ถูกไหม ?
นี่จิตฟุ้งซ่าน ยังไม่ตั้งมั่น
แล้วเมื่อโยมหยุดขับรถหยุดนิ่งล่ะ
เห็นทุกอย่างชัดไหม ... ชัด
หรือเปรียบเหมือน ทรงอุปมาถึง
ในบ่อน้ำที่มันขุ่นมัว
โยมจะเห็นภายในบ่อชัดไหม ? ... ไม่
แต่ถ้าบ่อน้ำมันใสล่ะ มันตกตะกอน ทุกอย่างมันใส
เห็นตัวปลา เห็นสาหร่าย เห็นธรรมชาติในนั้นชัดเจน
นี่สภาวะที่จิตตั้งมั่น
โยมต้องมีสติตั้งมั่นก่อน ถึงจะเห็นตามความเป็นจริงได้
ฉะนั้นชั้นในการพิจารณากายในกาย
มันลึกซึ้งกว่าการฝึกสติในเบื้องต้นนัก
แต่แน่นอนเราจะเข้าถึงชั้นนั้นได้
ก็ต้องอาศัยการฝึกเบื้องต้นก่อน
ที่เรียกว่าสัมมาสติ ก็คือการระลึกรู้ที่ถูกต้อง
รู้สึกกาย รู้เนื้อรู้ตัวไปเรื่อย ๆ จนสติตั้งมั่น
เกิดสภาวะเห็นตามความเป็นจริง
จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า "ญาน" หรือ "วิปัสสนาญาน"
เห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงขึ้นมา
เมื่อญานมันหยั่งเข้าไปในกาย
จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าเห็นกายในกาย
กายในกายมันจะต่างจากกายปรกติ
เวลาเรารู้กายปรกติ เช่น ลมหายใจ
ลมหายใจก็เป็นกายอันหนึ่ง
รู้สึกถึงลมหายใจ รู้สึกถึงการหายใจ
การกระเพื่อมหน้าอก หน้าท้อง
รู้กายที่นั่ง รู้กายที่ยืน รู้กายที่เดิน รู้กายที่นอน
ตั้งกายไว้อย่างไร ก็รู้กายนั้น ๆ
รู้กายที่เคลื่อนไหวอยู่
นี่คือสัมมาสติ ระลึกรู้ที่ถูกต้อง
แต่เมื่อเกิดการหยั่ง เกิดญาน
หรือที่เรียกว่า ธรรมจักษุ
เห็นกายในกายขึ้นมา มันจะหยั่งเข้าไปในรูปกาย
จะรู้สึกถึงการแตกดับของรูปกายขึ้นมา
ที่มันยิบยับทั่วตัว
ทรงอุปมาถึงรูปแตกดับประดุจต่อมน้ำ
นี่พิจารณากายในกาย
ที่เรารู้สึกว่าร่างกายมันเป็นเนื้อ เลือด เอ็น กระดูกต่าง ๆ
อันนี้ยังรู้แบบสมมติอยู่
แต่พอเป็นปรมัตถธรรม เป็นกายในกายปุ๊บ
โยมจะรู้สึกถึงมันแตกดับยิบยับเลย
มันไม่มีหรอกเนื้อ เลือด เอ็น กระดูก คือสมมติทั้งนั้นเลย
สภาวะจริง ๆ มันมีแต่การแตกดับของรูปกาย
ญานมันหยั่งลงไปในเนื้อ ในเลือด ในเอ็นกระดูก
กระดูกที่เรารู้สึกว่ามันเป็นแท่งทึบ
แต่พอญานมันหยั่งไป
มันมีแต่การแตกดับ เป็นการแตกดับระดับเซลล์
พอพิจารณาเวทนาในเวทนา เป็นยังไง
ถ้าเวทนาในชั้นของกามวจร
ก็ความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ ใช่ไหม
สบายกาย ไม่สบายกาย เฉย ๆ
แต่ถ้าเป็นเวทนาในชั้นของสมาธิ
ก็คือสภาวะของปีติ ขนลุก แผ่ซ่าน สนามพลังพวกนี้
อันนี้คือความรู้สึกตัว หรือเวทนาในชั้นของสมาธิแล้ว
แล้วถ้าเป็นเวทนาในเวทนา เป็นยังไง
ก็รู้การแตกดับของนามกาย ที่มันยิบยับตามตัว
ที่ทรงตรัสว่า เวทนาแตกดับประดุจต่อมน้ำ
โยมรู้จักฟองน้ำไหม นั่นแหละที่มันยิบยับ
เวลาโยมเดินวิปัสสนาได้ ฐานเวทนามันจะยิบยับ
เพราะฉะนั้น เวทนา กับ เวทนาในเวทนา ลึกซึ้งต่างกัน
แล้วพิจารณาจิตในจิตล่ะ
ถ้าฐานจิตปกรติ มันก็จะเป็นที่รู้สึกนิ่งอยู่ รู้อยู่
เป็นตัวรู้ จิตตั้งมั่น ที่ฐานจิต
แต่ถ้าพิจารณาจิตในจิต
คือมันเกิดญานเห็นจิตเลย
มันจะรู้สึกถึงกระแสที่มันผุดขึ้นมาจากใต้ลิ้นปี่
รู้สึกได้ไหม เวลามันมีอะไรผุดขึ้น
มันจะเป็นกระแสที่ผุดขึ้นมา
การพิจารณาจิตในจิต มันเห็นได้
หรือแม้กระทั่งวิญญานขันธ์ที่มันผุดขึ้นมา
รับรู้อารมณ์ รู้สึกได้
จริง ๆ แล้ว ธรรมารมณ์ที่ผุดขึ้นมาจากใต้ลิ้นปี่
กับ วิญญานขันธ์ เป็นคนละตัวกัน
ถ้าโยมเห็นกระบวนการนะ
มันจะมีกระแสธรรมารมณ์ที่ผุดขึ้นมาก่อน
โยมเคยได้ยินว่า กิเลสเป็นสิ่งลวงจิตไหม
อันนี้แหละตัวลวง
พอมันผุดขึ้นมาปุ๊บ จิตมันจะเกิดการส่งออก
เข้าไปรับสิ่งนี้เป็นอารมณ์
ถ้าไม่รู้เท่าทันกระบวนการนี้ พอมันรับปุ๊บ
จากธรรมดามันเป็นแค่อารมณ์ธรรมดานะ
ความโลภ ความโกรธ ความหลง
แต่พอจิตส่งออกเข้าไปรับปุ๊บ
มันจะเกิดที่เรียกว่า จิต เจตสิก นั่นแหละ
มันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า เป็นตัวเรา ทันทีเลย
เป็นเราโลภ เราโกรธ เราหลง
เป็นตัวเราหมดเลย เป็นตัวกูของกูหมดเลย
นั่นคือกระบวนการที่จิตส่งออก เข้าไปรับอารมณ์ตรงนี้
ธรรมารมณ์มันจะเป็นตัวล่อผุดขึ้นมา
แล้วจิตมันจะส่งเข้าไปรับ
ถ้าไม่รู้เท่าทันกระบวนการตรงนี้ จะเกิดเป็นตัวเราขึ้นมา
ก็คืออุปาทานนั่นแหละ
การยึดติดอารมณ์
ธรรมชาติของจิตมันเป็นตัวหลงอยู่แล้ว
แต่ถ้ารู้เท่าทันปุ๊บ มันไม่เกิดการสืบต่อ จิตไม่ส่งออก
มันก็จะเป็นแค่กระแสที่ผุดออก ๆ ๆ ๆ
พิจารณาจิตในจิต
1
พิจารณาธรรมในธรรม
ก็คือ การคลุมทั้ง ๔ ฐานเลย
สรรพสิ่งถูกรู้ เป็นวิปัสสนาครบทุกฐานเลย
เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง
เห็นรูปเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
เวทนาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
สัญญาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
สังขารเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
วิญญานเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
เกิดการรู้เห็นตามความเป็นจริง ... "
.
ธรรมบรรยาย โดย
พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
ขอบคุณรูปภาพจาก : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา