24 ก.ย. 2021 เวลา 15:21 • ประวัติศาสตร์
เหนือผู้ใดในใต้หล้า!? กับห้าจักรพรรดิจอมคนผู้ยิ่งใหญ่แห่งจักรวรรดิโรมัน (ภาคสอง)
กลับมาติดตามกันต่อ กับรายชื่อของห้าจักรพรรดิโรมันที่ยิ่งใหญ่ในตอนสุดท้าย โดยท่านสามารถกดติดตามบทความในภาคแรกได้จากลิงค์ด้านล่างนี้ครับ
1. ฮาเดรียน (ประสูติ มกราคม ค.ศ.76 – สิ้นพระชนม์ 10 กรกฎาคม ค.ศ.138)
จักรพรรดิฮาเดรียนปกครองจักรวรรดิโรมันตั้งแต่ปี ค.ศ.117 – 138 โดยพระองค์ก้าวขึ้นมาปกครองโรมันต่อจากจักรพรรดิทราจัน และจักรพรรดิฮาเดรียนพระองค์นี้ ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งใน 'ห้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม' และยังเป็นนักปรัชญาลัทธิสโตอิด (Stoicism) และลัทธิเอพิคิวเรียน (Epicurean) อีกด้วย
ในรัชสมัยของจักรพรรดิฮาเดรียน กล่าวกันว่าพระองค์เดินทางไปเยือนทุกเมืองภายใต้การปกครองของพระองค์ และพยายามเข้าหาประชาชนระดับรากหญ้า นอกจากนี้จักรพรรดิฮาเดรียนยังมีความชื่นชอบในวัฒนธรรมกรีก และได้นำสถาปัตยกรรมแบบกรีกกลับมาอีกครั้ง ด้วยการสร้างวิหารแพนธีออนขึ้นมาใหม่ รวมไปถึงสร้างวิหารแห่งเทพวีนัสและโรมา อีกด้วย
จักรพรรดิฮาเดรียนมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับกองทัพ โดยมักสวมชุดทหารอยู่เสมอ และบางครั้งพระองค์ก็ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับทหารในกรมกองเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับกองทัพ กล่าวกันว่าจักรพรรดิฮาเดรียนเป็นนักปกครองและนักบริหารที่มีความสามารถ พระองค์สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1
นอกจากนี้ ในรัชสมัยของพระองค์ ยังได้มีการสร้างแนวกำแพงฮาเดรียน (Hadrian’s Wall) เพื่อเป็นแนวป้องกันทางตอนเหนือของเกาะบริเตนที่อยู่ภายใต้การปกครองของโรมัน และพื้นที่ทางตอนเหนือที่เป็นที่อยู่ของชนเผ่าอนารยชน
กล่าวได้ว่าในรัชสมัยของจักรพรรดิฮาเดรียน ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อย และแทบไม่มีวิกฤติการณ์ใหญ่ ๆ เกิดขึ้นนัก ยกเว้นสงครามระหว่างชาวโรมันและยิวครั้งที่สอง ที่พระองค์สามารถจัดการกับปัญหาได้เป็นอย่างดี
2. เวสปาเซียน (ประสูติ 9 พฤศจิกายน ค.ศ.17 – สิ้นพระชนม์ 23 มิถุนายน ค.ศ. 79
จักรพรรดิเวสปาเซียนก้าวขึ้นมาปกครองจักรวรรดิโรมันระหว่างปี ค.ศ.69 – 79 โดยพระองค์เป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์ฟลาเวียนที่ภายหลังได้ก้าวขึ้นมาปกครองจักรวรรดิโรมัน 27 ปี แต่กล่าวได้ว่าการก้าวขึ้นมาปกครองจักรวรรดิโรมันของพระองค์ในช่วงแรกเป็นอะไรที่ยุ่งยากมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาวโรมันเลยทีเดียว
เหตุผลที่กล่าวเช่นนี้ เพราะในรัชสมัยของจักรพรรดิเนโรและคาลิกูลา ได้ก่อความปั่นป่วนวุ่นวายให้เกิดขึ้นภายในจักรวรรดิโรมัน ไม่เพียงเท่านี้ยังมีปัญหาสงครามกลางเมืองที่วุ่นวาย โดยตัวจักรพรรดิเวสปาเซียนนั้น พระองค์เป็นคนที่ติดดิน แต่ก็เป็นแม่ทัพที่มีความสามารถและได้พิสูจน์ตัวเองในสนามรบมาแล้ว ด้วยเหตุนี้เอง จักรพรรดิเวสปาเซียนจึงได้รับการยกย่องเป็นอย่างมากในฐานะผู้นำความสมดุลกลับมาสู่จักรวรรดิโรมันอีกครา
ในช่วงรัชสมัยของจักรพรรดิเวสปาเซียน พระองค์ได้ระดมเงินในคลังเป็นจำนวนมากเพื่อใช้ในงานสาธารณะ รวมถึงการบูรณะซ่อมแซมและตกแต่งกรุงโรมให้สวยงาม พระองค์ได้ริเริ่มสร้างวิหารแห่งสันติภาพ ห้องอาบน้ำสาธารณะอีกจำนวนหนึ่ง และหนึ่งในโปรเจ็คใหญ่ที่น่าภาคภูมิใจคือการสร้างสนามกีฬาโคลอสเซียม แต่น่าเสียดายที่จักรพรรดิเวสปาเซียนสิ้นพระชนม์เสียก่อนที่โคลอสเซียมจะสร้างเสร็จ
หลังจากที่จักรพรรดิเวสปาเซียนสิ้นพระชนม์ จักรพรรดิติตัส บุตรชายคนโตของพระองค์ก็ก้าวขึ้นมาปกครองจักรวรรดิโรมันแทน และนี่เป็นครั้งแรก ที่จักรพรรดิโรมันมีการสืบราชสมบัติโดยตรงจากทายาทที่เป็นสายเลือดของตัวเอง และนี่คือจุดเริ่มต้นของราชวงศ์ฟลาเวียน
จักรพรรดิเวสปาเซียน มีเวลาปกครองจักรวรรดิโรมันเพียง 10 ปี แต่พระองค์ก็ได้สร้างสิ่งดี ๆ ให้แก่ประชาชนและแผ่นดินมากมาย ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้นักประวัติศาสตร์ยกย่องว่าจักรพรรดิเวสปาเซียนคือหนึ่งในจักรพรรดิที่ดีที่สุดของโรมัน
3. อันโตนิโอนัส พริอัส (ประสูติ 19 กันยายน ค.ศ. 86 – สิ้นพระชนม์ 7 มีนาคม ค.ศ. 161)
พระองค์คือองค์รัชทายาทและเป็นบุตรบุญธรรมของจักรพรรดิฮาเดรียน จักรพรรดิพริอัสได้ ปกครองจักรวรรดิโรมันระหว่างปี ค.ศ.138 – 161 โดยหลังจากก้าวขึ้นมาปกครองจักรวรรดิโรมัน จักรพรรดิพริอัสได้ยกย่องจักรพรรดิฮาเดรียน บิดาบุญธรรมของตน นอกจากนี้พระองค์ยังได้รับ มาคัส ออเลลิอัส มาเป็นบุญบุตรธรรมของตน ที่ต่อมาได้กลายเป็นจักรพรรดิที่ชาวโรมันให้ความเคารพนับถืออีกด้วย
ในรัชสมัยของจักรพรรดิพริอัส ไม่มีบันทึกด้านการทหารที่สำคัญอะไรนัก โดยพระองค์ได้มุ่งเน้นไปที่สร้างสร้างวิหาร โรงละคร สุสาน และสงเสริมศิลปะและวิทยาศาสตร์ของชาวโรมัน พร้อมกับมอบเงินรางวัลและรางวัลเกียรติยศให้กับเหล่าบรรดานักวิชาการด้านวาทศาสตร์และปรัชญา จักพรรดิพริอัสมีความแตกต่างจากจักรพรรดิพระองค์อื่น ๆ ของจักรวรรดิโรมัน ด้วยการบริหารจัดการกับปัญหาต่าง ๆ โดยที่พระองค์ไม่ต้องเดินทางออกจากอิตาลีเลยสักครั้ง พร้อมกันนี้ รูปแบบการปกครองของจักรพรรดิพริอัสได้รับการยกย่องอย่างสูงจากกลุ่มคนที่มีชีวิตร่วมสมัยกับพระองค์และชนรุ่นหลัง
นอกจากนี้ จักรพรรดิพริอัส ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งใน 'ห้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม' อีกด้วย
4. คอนสแตนตินมหาราช (ประสูติ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 272 – สิ้นพระชนม์ พฤษภาคม ค.ศ. 337)
ฟลาวิอัส วาเลลิอัส ออเลลิอัส คอนสแตนตินัส คือพระนามเต็มของจักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช โดยพระองค์เป็นจักรพรรดิโรมันพระองค์แรกที่นับถือศาสนาคริสต์ และเป็นผู้นำที่มีบทบาทสำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมดินแดนที่แตกแยก และเอาชนะชนเผ่าอนารยชนที่ดุร้ายอย่างพวกแฟรงก์ อเลมานี กอธ และ ซามาเธียน นอกจากนี้จักรพรรดิคอนสแตนตินยังได้ยึดดินแดนบางส่วนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันกลับมาอีกด้วย
ต่อมาจักรพรรดิคอนสแตนติน ได้สร้างเมืองหลวงแห่งใหม่โดยใช้พระนามของพระองค์เอง โดยมีชื่อว่า 'คอนสแตนติโนเปิล' ที่ภายหลังได้กลายมาเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิไบแซนไทน์มาอีกนับพันปี ด้วยเหตุนี้เอง จักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช จึงเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ก่อตั้งจักรวรรดิไบแซนไทน์
จักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราชตระหนักถึงความสำคัญของศาสนาคริสต์ พระองค์รู้ว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากชาวคริสเตียน และด้วยเหตุนี้เองพระองค์จึงรับเชื่อในพระเจ้า และกลายเป็นจักรพรรดิคริสเตียนพระองค์แรกของจักรวรรดิโรมัน โดยภายหลังพระองค์ได้รับสั่งให้มีการสร้างโบสถ์และและสุสานตามความเชื่อของชาวคริสเตียน
การเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ของจักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช ได้ส่งผลกระทบสำคัญ ๆ ตามมาในภายหลังมากมาย โดยต่อมา จักรวรรดิโรมันได้ถูกแบ่งเป็นสองส่วน โดยส่วนแรกคือจักรวรรดิโรมันตะวันตก หรือจักรวรรดิโรมันเดิม นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ในขณะที่จักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือไบแซนแทน์ นับถือศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์
5. จัสติเนียนมหาราช (ประสูติ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 482 – สิ้นพระชนม์ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 565)
หลังจากที่จักรวรรดิโรมันตะวันตกได้ล่มสลายด้วยน้ำมือของชนเผ่าอนารยชนในปี ค.ศ.476 แต่จักรวรรดิโรมันตะวันออกยังคงอยู่รอดต่อไป จนกระทั่งมาถึงยุครัชสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียนมหาราช ที่ปกครองจักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือไบแซนไทน์ระหว่างปี ค.ศ.526 – 565 พระองค์ตัดสินพระทัยว่าจำเป็นจะต้องกอบกู้ดินแดนของจักรวรรดิโรมันตะวันตกรวมถึงกรุงโรมที่สูญเสียไปให้กับชนเผ่าอนารยชนให้กลับมาอยู่ในมือของชาวโรมันอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้เอง พระองค์จึงได้ตัดสินใจทำสงครามเพื่อกอบกู้เกียรติยศของจักรวรรดิโรมันกลับมา โดยมีสองนายพลผู้ยิ่งใหญ่คู่ใจอย่าง เบลิซาลิอัส และ นาร์เซส เป็นผู้นำกองทัพบุกยึดดินแดนของชาวโรมันกลับมา
ต่อมา กองทัพไบแซนไทน์ของพระองค์สามารถยึดดินแดนบางส่วนของโรมันตะวันตกกลับมาได้ ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้จักรพรรดิจัสติเนียนมหาราชได้รับการยกย่องว่าเป็น 'ชาวโรมันคนสุดท้าย' (The Last Roman) ที่ให้คำจัดกัดความโดยนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่
นอกจากนโยบายทางการทหารแล้ว จักรพรรดิจัสติเนียนยังได้มีการสร้างประมวลกฎหมายจัสติเนียน (Justinian Code) ที่มีพื้นฐานมาจากกฎหมายโรมันเดิมที่เคยใช้ ซึ่งภายหลังประมวลกฎหมายจัสตีเนียนได้ถูกใช้เป็นพื้นฐานของระบบกฎหมายทั้งหมดในโลกตะวันตกอีกด้วย
1
ไม่เพียงเท่านี้ จักรพรรดิจัสติเนียนยังได้รับสั่งให้มีการก่อสร้างอาคารอันยิ่งใหญ่ภายในกรุงคอนสแตนติโนเปิลอย่าง 'วิหารฮาเกียโซเฟีย' (Hagia Sophia) ที่ภายหลังได้กลายเป็นศูนย์กลางของศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์
อย่างไรก็ตาม หลังจากความรุ่งเรืองบังเกิดขึ้นในรัชสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียนมหาราชได้ไม่นาน ก็ได้เกิดการแพร่ระบาดของกาฬโรคราวปี ค.ศ.540 ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความเสื่อมโทรมของจักรวรรดิไบแซนไทน์ ที่ไม่สามารถกลับมายิ่งใหญ่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไปนั่นเอง
ข้อมูลจาก : ANCIENTHISTORYLISTS.COM
โฆษณา