Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
3 ต.ค. 2021 เวลา 07:10 • ปรัชญา
"ละสักกายทิฏฐิ ได้อย่างไร ?"
" ... สักกายทิฏฐิ ก็คือ
ความเห็น ความยึดถือ
ว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา
กระบวนการนี้มันเกิดจาก
รากเหง้าจริง ๆ ก็เกิดจากอวิชชา
1
ทุกคนมีส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่บริสุทธิ์อยู่
เป็นแก่นแท้แห่งตน ที่เรียกว่าธาตุบริสุทธิ์
เป็น "อมตธาตุ" อยู่
ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
เพราะสัตว์โลกไม่รู้สัจธรรม
จึงถูกอวิชชาเป็นเครื่องกั้น
ถูกตัณหาเป็นเครื่องผูก
จึงท่องเที่ยวไปในวัฏสงสารอย่างยาวนาน
เมื่อถูกหุ้มก็จะเกิดการหลงยึดติดขึ้นมานั่นเอง
การหลงยึดติดตรงนี้ ก็จะก่อให้เกิด
วงจรแห่งวัฏสงสารขึ้นมา ที่เรียกว่า กิเลส
ความปรุงแต่งก็ทำให้หลงกระทำกรรม
เจตนา เป็นตัวกรรม
เมื่อทำกรรมก็เกิดวิบากขึ้นมา
เกิดหนี้ต่อวัฏฏะ ต่อธรรมชาติ
ต่อหมู่สรรพสัตว์ขึ้นมา
วิบากก็ทำให้เกิดกิเลส การปรุงแต่งสืบต่อไป
กิเลสก็ทำให้หลงกระทำกรรม
กรรมก็ก่อให้เกิดวิบาก
เกิดเป็นวังวนแห่งวัฏฏะ
อันนี้ คือ วงจรระดับจิตวิญญาน
คือวงจรเล็ก
จากวงจรเล็ก ก็จะเข้าสู่วงจรใหญ่นั่นเอง
เป็นวังวนเช่นกัน
ก็หลงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร
ที่เรียกว่าเกิดกระแสปฏิจจสมุปบาท
จิตที่เป็นแก่นแท้
ที่เรียกว่า จิตประภัสสร เป็นธาตุบริสุทธิ์
ถูกอวิชชาห่อหุ้ม
อวิชชาเป็นปัจจัย ก็จะเกิดสังขาร ความปรุงแต่ง
สังขารเป็นปัจจัย ก็จะเกิดวิญญานขันธ์ การรับรู้อายตนะ
วิญญานขันธ์เป็นปัจจัย จึงเกิดนามรูป
นามรูปเป็นปัจจัย จึงเกิดสฬายตนะ ช่องทางในการรับรู้ต่าง ๆ
ก็เป็นภาคของสังขตธรรม ทั้งหลายทั้งปวง
ก็ไล่ไป
วิญญานขันธ์เป็นปัจจัย จึงเกิดนามรูป
นามรูปเป็นปัจจัย จึงเกิดสฬายตนะ
สฬายตนะเป็นปัจจัย จึงเกิดผัสสะ
ผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
เวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา
ความดิ้น ความทะยานอยาก
ไม่ว่าจะเป็นกามตัณหา
ความทะยานอยากในกามคุณอารมณ์ต่าง ๆ
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่น่าใคร่น่าปรารถนา
ภวตัณหา ความดิ้น
ความทะยานอยากไปในความมี ความเป็น ภพต่าง ๆ
วิภวตัณหา ความทะยานอยาก
ในความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น
ก็คือมันไม่พอใจใจภพที่อยู่
หรือว่าในสิ่งที่ตัวเองเป็น มันก็ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น
ตรงข้าม มันก็ยังเป็นความทะยานอยากอยู่
ภวตัณหา วิภวตัณหา
ตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดอุปาทาน
อาการหลงเข้าไปยึด
ตัวนี้แหละ คือตัวสักกายทิฏฐิ
การหลงเข้าไปยึด
เพราะฉะนั้น อุปาทานมีทั้ง
อุปาทานเบื้องต้น และอุปาทานเบื้องปลาย
อุปาทานเบื้องต้น ที่เรียกว่าต้นน้ำเลย
ก็คือ อวิชชามันหุ้มนั่นแหละ
แล้วมันเกิดการหลงยึดติด
ตรงนี้ก็จะเป็นยางเหนียวเลย ยึดปุ๊บ
ส่วนอุปาทานเบื้องปลาย
คือ กระบวนการปลายน้ำแล้ว
จิตส่งออกแล้ว
ตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดอุปาทาน
อุปาทานเป็นปัจจัย จึงเกิดภพ
พอจิตส่งออกเข้าไปยึด ก็จะเกิดภพขึ้นมา
ภพเป็นปัจจัย ชาติจึงเกิดขึ้น
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ
กองทุกข์ทั้งปวงก็เกิดขึ้น
วงจรปฏิจจสมุปบาทเกิดขึ้นเป็นสันตติในทุก ๆ ขณะจิต
การเวียนว่ายตายเกิด
เราจะมองในรูปของเกิดชาตินี้แล้วก็ไปเกิดชาติหน้า
แต่โดยสภาวธรรมเกิดขึ้นระดับวาระจิตเลย
ชาติ ชรา มรณะ เกิดขึ้นในขณะจิตเป็นสันตติเลย
กระบวนการสักกายทิฏฐิเกิดจากอุปาทานตรงนี้
จิตเข้าไปยึด
จิตยึดถือสิ่งใดมันก็จะเกิดเป็นอัตตา เป็นตัวตนขึ้นมา
จิตยึดอารมณ์ จับอารมณ์ความโกรธ
ก็ยึดความโกรธเป็นเรา เราโกรธ
ยึดความเศร้า พอความเศร้าเกิดขึ้น
จิตส่งออกไปยึดความเศร้า
ก็จะกลายเป็น เราเศร้า ขึ้นมา
ยึดกาย ก็จะรู้สึกว่ากายเป็น ตัวเรา
คือเป็นตัวเราหมดเลย
เป็นตัวกูของกูหมดเลย
เรารู้ เราคิด เราพูด เราคุย เราทำ
มีตัวเป็นผู้กระทำทั้งหมด
นั่นคือกระบวนการของอุปาทาน
เพราะฉะนั้นตราบใดที่กระบวนการตรงนี้
มันยังเกิดขึ้นอยู่
ความเป็นตัวเรามันก็เกิดขึ้น
โดยธรรมชาติอยู่แล้ว
ถึงแม้ว่าเราจะได้ศึกษาเล่าเรียนว่า
สรรพสิ่งมันไม่ใช่ตัวเรานะ
แต่ถ้ายังเป็นระดับสัญญาความจำ การตรึกนึกอยู่
กระบวนการนี้มันก็ยังทำงานอยู่
ก็ยังมีความเป็นอัตตา
เพราะว่าเกิดขึ้นโดยกระบวนการของสภาวธรรมนั่นเอง
จนกว่าเราจะได้เข้าสู่แนวทางที่ถูกต้อง
อบรมอริยมรรคมีองค์ 8
ฝึกหัดเจริญสติสัมปชัญญะ เจริญสติปัฏฐาน
เพราะว่าในขณะที่มีสติ
มีความรู้สึกตัวขึ้นมา
จิตที่ส่งออกไป เข้าไปยึดอารมณ์
ที่เรียกว่า เกิดนันทิ ความเพลินในอารมณ์
ก็จะถูกละออกไป
เมื่อละออกไป มันก็จะเหลือแค่ แค่รู้สึก
แค่รู้ แค่รู้สึกขึ้นมา
กระบวนการตรงนี้มันตัดกระแสของปฏิจจสมุปบาท
เพราะสติ เป็นเรื่องใหญ่มากในวัฏสงสาร
คือ การตื่นขึ้นมาจากวังวนของวัฏสงสาร
เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก
อานุภาพของสติเป็นอานุภาพที่ทรงพลังมาก
ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย
เมื่อเรามีสติแม้เพียงสักครั้งหนึ่ง
ครั้งนึงพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้ว
แม้เพียงชั่วขณะหนึ่ง
มีสติรู้สึกถึงลมหายใจแม้เพียงชั่วขณะหนึ่ง
ไม่ว่างจากฌาน
ทำตามคำสอนของพระบรมศาสดา
ไม่ฉันข้าวของชาวแว่นแคว้นเสียเปล่า
จะกล่าวไปใยถึงผู้มากด้วยอานาปานสติเล่า
มีสติสักครั้งหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย
คือกระบวนการตัดภพตัดชาติ ตัดวังวนของวัฏฏะ
แต่ใหม่ ๆ สติมันมีกำลังน้อย
รู้สึกตัวขึ้นมาแว๊บนึง ประเดี๋ยวประด๋าว
เดี๋ยวจิตก็ไหลไป กระบวนการยึดติด
อุปาทานปฏิจจสมุปบาท ก็เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ
ก็ต้องฝึกผ่านการเพาะบ่ม
จนกำลังสติสัมปชัญญะมีกำลังที่ทรงตัว
ก็จะตัดกระแสตรงนี้ออก
จิตก็จะปล่อยวางอารมณ์
เรียกว่า หลุดจากอุปาทาน
กระบวนการตรงนี้ เมื่อหลุดจากอุปาทาน
ก็ต้องมีฐานที่ตั้งก่อน
ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน นั่นเอง
ฐานกาย กายคตาสติ
ฐานเวทนา ฐานจิต ฐานธรรม ก่อน
ต้องมีที่ตั้งก่อน
เปรียบเหมือนเราลอยเคว้งอยู่ในทะเล
ห้วงน้ำมหาสมุทรที่ไร้ขอบเขต
ก็ไหลไปกับกระแส ห้วงน้ำแห่งตัณหา
ไหลไปกับกระแสวังวนของวัฏฏะ
มันต้องมีที่ตั้ง ที่เกาะ
ที่เรียกว่า ฐานที่ตั้ง
ซึ่งเขาเรียกว่า จุดยุทธศาสตร์
ที่จะทำให้เราเอาชนะข้าศึก คือกิเลส ตัณหาอุปาทานได้
เมื่ออยู่กับฐานที่ตั้ง หรือฐานกายได้ดี
จิตก็จะหลุดจากอารมณ์
หลุดจากอุปาทาน
ณ ขณะนั้นพอสติตั้งมั่นได้ดี
สติจะครองฐานกายได้ดี
ตรงนี้จะเริ่มหลุดจากอารมณ์ต่าง ๆ ภายนอกแล้ว
แต่ว่าสติที่ครองฐานกาย
ก็ยังมีความรู้สึกว่าฐานกายเป็นตัวเราอยู่
เพราะสติครองฐานกายอยู่นั่นเอง
แต่ว่ามันทำให้จิตเรามีความตั้งมั่น มีฐาน
เหมือนสมัยโบราณ
พระราชวังก็ต้องมีกำแพงเมืองล้อมอย่างดีก่อน
มีฐานที่ตั้งที่จะรับมือกับข้าศึก
โจมตีต่าง ๆในสารทิศทั้งหลาย
พออยู่กับฐานกายได้ดี จนสติเต็มฐาน
จะมีแรงส่ง จากฐานกายก็จะเข้าสู่ฐานเวทนา
สติจะวางจากฐานกาย เข้าสู่ฐานเวทนา
ในขณะที่สติวางจากฐานกาย เข้าสู่ฐานเวทนา
ความยึดถือในตัวกายมันจะหลุดไปเลย
มันจะรู้สึกกายไม่ใช่เรา
แต่เนื่องจากว่าฐานกายกับฐานเวทนาใกล้เคียงกันมาก
ยังไม่รู้สึกชัดขนาดนั้นหรอก
แต่จะรู้สึกชัดสำหรับคนที่เกิดสภาวะในระดับสมาธิ
ที่เรียกว่า "นามกาย"
แล้วนามกายเคลื่อนออกจากกายหยาบ
ประดุจดาบที่ชักออกมาจากฝักนั่นแหละ
ที่เรียกว่า มโนยิทธิ หรือฤทธิ์ทางใจ
จริง ๆ มันคือสภาวะนามกาย
ที่เคลื่อนออกมาจากกายหยาบนั่นเอง
เป็นสภาวะนามธรรมภายใน
ตรงนี้เวลามันเคลื่อนมา
สติสัมปชัญญะจะอยู่ที่นามกาย
จะรู้เลยว่ากายนี้เป็นเหมือนภาชนะดินน่ะ
เป็นแค่เปลือกนอกเท่านั้น ไม่ใช่ตัวเราละ
ณ ขณะนั้น เพราะว่าสติไม่ได้ไปยึดกายแล้ว
ไม่ได้ครองฐานกาย แต่ครองฐานเวทนา
แต่สัมปชัญญะหรือนามกาย
ยังมีความรู้สึกเป็นตัวเราอยู่
เพราะว่ายังเป็นสภาวะระดับสมาธิ
ก็ต้องเป็นระดับ ๆ ไป
แต่พอเมื่อฝึกไปเรื่อย ๆ จนสติสัมปชัญญะทรงตัว
อยู่กับความรู้สึกตัวทั่วพร้อมได้ดี
ก็จะส่งเข้าสู่ฐานของจิต
เกิดความตั้งมั่นตื่นรู้ขึ้นมา
สติก็จะวางจากฐานเวทนา
ก็จะส่งเข้าสู่ฐานของจิต
เกิดความตั้งมั่นตื่นรู้ขึ้นมา
สติครองฐานจิต วางฐานกาย ฐานเวทนาไปแล้ว
ผู้ปฏิบัติถึงตรงนี้ อยู่ฐานจิต
จะรู้เลยว่ากายนี้ไม่ใช่เราแล้ว
เหมือนหุ่นยนต์ เหมือนสิ่ง ๆ หนึ่งที่เคลื่อนไป
เพราะว่า จิตไม่ได้ไปยึดกายแล้ว
เมื่อไม่ได้ไปยึด ก็ไม่รู้สึกว่ากายเป็นตัวเรา
แล้วจิตก็ปล่อยวางอารมณ์ภายนอกหมดแล้ว
อารมณ์ภายนอกก็ไม่ได้มีความเป็นตัวเรา
แต่กระบวนการยึดที่จิต ยังมีอยู่
ก็คือการยึดวิญญานขันธ์
ตรงนี้จะเริ่มเข้าสู่อุปาทานเบื้องต้น
กระบวนการอุปาทานเบื้องต้น
คือ จิตผู้รู้มันยังมีความเป็นตัวเราอยู่
เพราะว่ามันยังมีการยึด
อุปาทานเบื้องปลายหลุดไปแล้ว
เหลือแต่อุปาทานเบื้องต้น
เพราะฉะนั้น จิตยึดสิ่งใด ก็เกิด
คำว่า อุปาทาน หรืออัตตาตัวตน
กับสิ่งนั้นโดยสภาวธรรม
จนกว่าเราจะอยู่กับความตื่นรู้ได้มีกำลังพอ
จนสามารถยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาญานได้
ธรรมทั้งหลายก็จะปรากฏตามความเป็นจริง
สามารถเพิกอุปาทานออกไปได้ เพิกอวิชชาออกไป
อุปาทานเบื้องต้น รากเหง้า
เมื่ออวิชชาถูกเพิกออกไป
ธรรมทั้งหลายก็จะปรากฏตามความเป็นจริง
เกิดการรู้เห็นตามความเป็นจริงขึ้นมา
ณ ขณะนั้นจิตปล่อยทุกฐานไปแล้ว
ฐานกาย ฐานเวทนา ฐานจิต ฐานธรรม
เหลือแค่การรับรู้ทุกอย่างตามความเป็นจริงขึ้นมา
ณ ขณะนั้น แม้กระทั่งจิตผู้รู้
ก็หลุดออกไป กลายเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้
เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ญานเห็นจิต"
ถ้ามีกำลังก็จะสามารถเห็นการแตกดับของจิตได้
ตอนในระดับสมาธิ
จะรู้สึกว่าจิตนิ่ง ตั้งมั่น สงบ
แต่เมื่อใดที่สามารถเปลื้องจิตออกไป
เพิกอวิชชาออกไปจากใจ
จะพบว่าจิตไม่เคยนิ่งเลย
จิตเกิดดับ เกิดดับ เป็นสันตติอยู่
เป็นกระแสของปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง
เริ่มเห็นวังวนตาพายุ
การผุดขึ้นของวิญญานขันธ์
เป็นสภาวธรรมล้วน ๆ
ตรงนี้เนี่ย สภาวธรรมในตรงนี้
สักกายทิฏฐิจะหลุดไปเลย
การยึดเป็นตัวเราจะไม่มี
จะไม่รู้สึกว่ากายเป็นตัวเรา หรือจิตเป็นตัวเรา
เป็นแค่สภาวธรรม
สิ่ง ๆ หนึ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
เมื่อเห็นตามความเป็นจริงแบบนี้
ย่อมเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด
จิตก็หลุดพ้นจากการยึดมั่นถือมั่น
เกิดการรู้ ทั้งรู้ทุกข์
ถอนตัณหา ละเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
แล้วก็สลัดคืนสู่ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ
เข้าถึงความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ
คืนสู่ความเป็นกลางของธรรมชาติ
ความเป็นกลางของธรรมชาติ
จะไม่เกาะเกี่ยวกับสิ่งใด ๆ ในโลกเลย
ความเป็นตัวตนนี่ไม่มีเลย
เหลือแค่ธรรมชาติที่บริสุทธิ์
ที่เรียกว่า รู้ สักแต่ว่า รู้ นั่นเอง
กระบวนการตรงนี้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเลย
เมื่อเราเดินตามมรรควิธีที่ถูกต้อง
สักกายทิฏฐิจะหลุดออกเป็นลำดับแบบนี้
โดยธรรมชาติเลย ... "
.
ธรรมบรรยาย โดย
พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
youtube.com
ละสักกายทิฏฐิได้อย่างไร ? | ธรรมให้รู้•2564 : ตอนที่ 165
เยี่ยมชม
Photo by : trueplookpanya , Unsplash
7 บันทึก
13
3
8
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
คำสอนครูบาอาจารย์
7
13
3
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย