9 พ.ย. 2021 เวลา 08:30 • ไลฟ์สไตล์
ชวนส่อง สายพันธุ์ของ "กล้วย" ที่เราอาจไม่ค่อยคุ้นตา
“กล้วย” เป็นผลไม้ที่สามารถหาซื้อได้ง่าย มีความหลากหลายให้เราเลือกตามแต่จุดประสงค์ของเรา
โดยมากเราก็จะคุ้นเคยกับชื่อของ “กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยเล็บมือนาง”
แต่เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า อันที่จริงแล้ว ยังมีกล้วยที่อาจอยู่ในวงศ์หรือกลุ่มนั้น ๆ
หรืออาจจะเป็นลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ ที่มีหน้าตาแปลกแต่สวยงาม อยู่อีกเยอะมากเลย
ซึ่งบางชนิด เราอาจจะมีหน้าตาไม่แปลก แต่ก็ไม่ใช่สายพันธุ์ธรรมดาที่เราคุ้นเคยกัน (แล้วก็เคยทานกันมาแล้วแบบไม่รู้ตัว)
แล้วมีกล้วยหน้าตาแบบไหน ที่น่าสนใจกันบ้างนะ
ไปรับชมกับภาพอินโฟกราฟิกสุดสบายตากันได้เลยจ้า !
(กล้วยที่พวกเราหยิบมานำเสนอ สามารถทานได้ทั้งหมดเลยนะ
แต่พวกเราเองก็ยังไม่ได้มีโอกาสทานให้ครบหมดทุกชนิดที่นำมาชวนส่อง)
สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากอ่านเรื่องราวสาระความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกล้วยกันสักเล็กน้อย ขอเชิญทางนี้ได้เลยจ้า
“กล้วย” จัดว่าเป็นพืชล้มลุกที่มีขนาดใหญ่ และเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อนชื้น จึงทำให้ส่วนใหญ่ เราจะพบแหล่งปลูกต้นกล้วยอยู่บริเวณแถบทวีปเอเชีย ซะเป็นส่วนใหญ่เนอะ
(จริง ๆ แล้วก็ยังมีแอฟริกาใต้หรืออเมริกาใต้บางพื้นที่ ก็นิยมปลูกกันนะ)
แต้ถ้าถามว่า “กล้วย” มาจากไหน กำเนิดมาอย่างไร ?
ก็...คงตอบยากหน่อย
ว่ากันว่ากล้วยเป็นพืชที่มีมาตั้งแต่ในยุคสมัยแรก ๆ ของอารยธรรมมนุษย์ ก็คือ เมื่อ 10,000 กว่าปีที่แล้วเลยนะแหละ
แต่ว่ามนุษย์มีการค้นพบผลไม้ที่ชื่อว่ากล้วยผลแรกเนี่ย ก็ในช่วงประมาณ 600 ปีก่อนคริสตกาล บริเวณแถบประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินี ในปัจจุบัน
หลังจากนั้นในช่วงปี 327 ปีก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) จอมกษัตริย์กรีกโบราณแห่งราชอาณาจักรมาเกโดนีอา ก็ได้ไปค้นพบแหล่งปลูกกล้วยจำนวนมหาศาลที่บริเวณแถบประเทศอินเดีย หลังจากนั้นเขาจึงได้นำเจ้าผลไม้ผิวสีเหลืองนี้ไปเผยแพร่ต่อได้ทวีปยุโรป นั่นเอง
หลัวจากนั้นกล้วยก็ได้ถูกนำไปแพร่ขยายถึงประเทศจีนในช่วงศตวรรษที่ 3
และด้วยพื้นที่ตอนใต้ของประเทศจีน มีสภาพภูมิอากาศเหมาะสมกับการปลูกกล้วย จึงทำให้จีนค่อย ๆ ใช้ความได้เปรียบตรงนี้ กลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตกล้วยคนสำคัญของโลกไปในทันที (ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสายพันธุ์ต่าง ๆ จากทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออินเดียเข้ามาปลูก)
แล้วเพื่อน ๆ ทราบไหมว่า คำว่า “Banana” เริ่มใช้เรียกกันมาจากที่ไหน ?
ว่ากันว่ารากศัพท์ของคำว่า “Banana” มาจากทางภาษาแอฟริกาตะวันตก
โดยใช้กันอย่างแพร่หลายโดยชาวโปรตุเกส ที่ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นพ่อค้า
และได้เดินทางไปค้าขายในแอฟริกา ซึ่งพวกเขาได้ทำการส่งออกเจ้าผลไม้ชนิดนี้ออกไปยัง หมู่เกาะแคนารี่ และมุ่งสู่อเมริกาเป็นจุดหมายหลัก
โดยอิทธิพลของพ่อค้าที่คุมตลาดอยู่นั่นเอง จึงทำให้ชื่อเรียกของกล้วยเนี่ย มันผิดเพี้ยน ๆ กลายเป็น Banana ในที่สุด
(ขอแถม เมื่อสมัยก่อนเนี่ย เพื่อน ๆ ทราบไหมว่ากล้วยเป็นผลไม้ที่มีเมล็ดอยู่ในเนื้อคล้ายๆกล้าย เป็นส่วนใหญ่นะ แต่หลัง ๆ มา ก็ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ที่ไม่มีเมล็ดที่ส่วนใหญ่จะมาจากทวีปแอฟริกา ทำให้ทานได้ง่ายกว่า นั่นเอง)
แวะกลับมาที่ประเทศไทยสักนิดนึง
“กล้วย” ถือว่าเป็นหนึ่งพืชผลไม้ ที่อยู่กับประเทศไทยมายาวนานมาก
หากเริ่มจากที่มีบันทึกได้จริง ๆ ก็คงนับได้ตั้งแต่ช่วงสมัยอาณาจักรสุโขทัย นับตั้งแต่ พ.ศ. 1781
จากจดหมายเหตุที่บันทึกในช่วงพ่อขุนรามคำแหง ก็บอกว่า กล้วยที่รู้จักกันในสมัยสุโขทัย คือ กล้วยตานี ซึ่งเป็นกล้วยป่าชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย จีน และพม่า
น่าจะมีการนำเข้ามาปลูกจากกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาในสมัยนั้น
ไม่ได้มีเพียงกล้วยตานีที่เป็นจุดเด่นของประเทศไทยนะ
ในช่วงปี พ.ศ. .2230 เมอร์ซิเออร์ เดอลาลูแบร์ (Monsieur de laloubère) นักบวชนิกายซูอิตซึ่งเป็นนักการทูตและนักเขียนที่มีชื่อเสียงได้บันทึกสิ่งต่าง ๆ จากการเดินทาง
โดยสิ่งที่เขาพบเห็นว่าเป็นจุดเด่นของไทย นั่นก็คือกล้วยงวงช้าง หรือ กล้วยร้อยหวีในปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่คนไทยในสมัยนั้นจะปลูกไว้เพื่อเป็นไม้ประดับ นั่นเอง
(ชาติตะวันตกเองก็เริ่มมีความเข้าใจว่ากล้วยสามารถนำไปปลูกเป็นไม้ประดับได้ ก็มาจากการรัยรู้ทางวัฒนธรรมฝั่งเอเชียตอนใต้ เยอะอยู่เหมือนกัน)
เมอร์ซิเออร์ เดอลาลูแบร์ (Monsieur de laloubère)
แล้วเพื่อน ๆ ทราบไหมว่า เมื่อก่อนเนี่ย ประเทศไทยมีกล้วยที่ปลูกมากถึง 160 สายพันธุ์เลยนะ ! (เยอะมาก)
แต่ในปัจจุบัน ก็ค่อนข้างหายดูบางตาลงไปเยอะเลย
เหตุผลที่เราไปค้นหามา นั่นก็เพราะ
- กล้วยบางชนิดรูปร่างสวย แต่รสชาติไม่อร่อย ไม่เป็นที่นิยม เกษตรกรปลูกไปแล้วก็ขายไม่ค่อยได้
- การพัฒนาการของขนาดอุตสาหกรรม ที่กระทบกับแหล่งปลูกกล้วย
- ภัยธรรมชาติ และ เรื่องของการขยายพันธุ์ช้า (บางสายพันธุ์มีอยู่น้อยอยู่แล้วด้วย)
- บางสายพันธุ์ที่มีลักษณะคล้ายกันมาก มักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นกล้วยชนิดอื่น ๆ อยู่บ่อยครั้ง (อันนี้คงต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ เนอะ)
ส่วนกล้วยที่เราเน้นสำหรับการบริโภค ก็จะมีวิวัฒนาการมาจากกล้วย 2 ชนิด คือ
กล้วยป่า (Musa acuminata Colla) และ กล้วยตานี (M. balbisiana Colla)
กลุ่มที่หนึ่ง มีจีโนมเป็น “AA”
ลักษณะขนาดเล็ก รสหวาน มีกลิ่นหอม
เป็นส่วนกล้วยที่มีกำเนิดจากกล้วยตานี เช่น กล้วยไข่ กล้วยหอมชวา
ส่วนกลุ่ม “AAA” ก็จะเป็นกลุ่มของกล้วยที่มีขนาดใหญ่กว่าอันแรก นั่นเอง
กลุ่มที่สอง มีจีโนมเป็น “BB”
และกล้วยลูกผสมของทั้ง 2 ชนิด ระหว่างหล้วยตานีและกล้วยป่า (ที่พบในไทยจะมาจากสายกล้วยตานีเยอะหน่อย) เนื้อมีแป้งมากแต่จะไม่ค่อยนุ่มเท่าไร ไม่นิยมทานตอนผลแก่มาก เช่น กล้วยเล็บช้างกุด
กลุ่มสุดท้าย จำพวกกลุ่มมีจีโนมเป็น AAB, ABB, AABB และ ABBB
คือ กลุ่มกล้วยที่ต้องทำให้สุกก่อนที่จะนำมารับประทาน นั่นเอง
ส่วนใหญ่จะมีเนื้อแน่นและบางชนิดอาจมีรูปร่างแปลกตา เช่น กล้วยหักมุก กล้วยนมหมี กล้วยเทพรส กล้วยนิ้วจระเข้ กล้วยพม่าแหกคุก
กล้วยนมหมี
โอเค….
ตรงนี้เราขออนุญาตไม่ลงลึกมาก เดี๋ยวเพื่อน ๆ จะเริ่มก่ายหน้าผากกันเสียก่อนเนอะ
แต่ถ้าพูดถึงเรื่องกล้วยเนี่ยนะ !
หากเราถามเพื่อน ๆ ที่ชอบออกกำลังกาย ก็จะพบว่าหลาย ๆ คนนิยมทานกล้วยก่อนออกกำลังกาย หรือ เราก็อาจจะเห็นนักท่องเที่ยวสายผจญภัย นักปีนเขา ที่นิยมพกกล้วยติดตัวอยู่เสมอ
แล้วเป็นเพราะอะไรกันนะ ?
โอเค เรื่องนี้ก็ต้องมาพูดถึงประโยชน์หลัก ๆ ของกล้วยกันสักหน่อย
คือ กล้วยอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล (เช่น กล้วยหอม) ซึ่งเป็นแหล่งของพลังงานที่สูงและย่อยง่าย สามารถหยิบมาทานเพื่อรับพลังงานหรือนำมาชดเชยพลังงานที่สูญเสียไปได้
ด้วยความที่มันเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูงนี้เอง กล้วยยังช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดและปรับสมดุลให้ร่างกาย ช่วยแก้อาหารหน้ามืด (จากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ) ได้นั่นเองจ้า
หรือประโยชน์จากแร่ธาตุแมกนีเซียม ที่ช่วยรักษาอาการตะคริวสำหรับนักวิ่งได้ดีเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี เนื่องจากพลังงานของกล้วยนั้นสูงมาก หากเพื่อน ๆ ไม่ได้ออกกำลังกายหรือทำการเผาผลาญพลังงานออกไปบ้าง
ก็คงต้องวางแผนการกินกันดีดีนะ…
จริง ๆ แล้ว มีกล้วยอยู่หนึ่งสายพันธุ์ที่เรารู้สึกว่า มันเข้าถึงได้ไม่ยาก แถมอร่อยด้วย
แต่สารภาพว่าตอนแรกเนี่ย รู้สึกไม่ค่อยชอบหน้าตามันเท่าไรเลย
นั่นคือ “กล้วยน้ำว้าดำ” ที่อาจบอกได้ว่า “อย่าตัดสินอะไรกันง่าย ๆ ที่ภายนอกอย่างเดียวนะ !”
กล้วยน้ำว้าดำ จัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นพันธุ์ผสมที่มีลักษณะค่อนไปทางกล้วยตานี
เพียงแต่ว่าตัวเปลือกของกล้วยนี่ มันมีสีออกไปโทนน้ำตาลเข้มจนถึงดำไหม้ ๆ (เรานึกว่ากล้วยแบบไหม้ไปแล้วด้วยซ้ำ)
หน้าตาเขาจะดูไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าไร
ตอนที่ผลเขายังอ่อนไม่สุกแก่ จะมีสีน้ำตาลแดงคล้ายสีสนิม ละค่อย ๆ เปลี่ยนขึ้นมาเข้มเรื่อย ๆ ตามความแก่ของผล
แต่ว่านะ พอเรามากินเนื้อตอนที่สุกแล้วเนี่ย รสชาติกลับดีกว่าที่คิดเลย หวานหอมเหมือนกับเนื้อในสุกของกล้วยน้ำว้าทั่วไปทุกอย่างเลยละ
ตัวเนื้อก็มีสีขาวมีไส้กลางเป็นขีดสีเหลือง ซึ่งเอาจริง ๆ ถ้าหั่นมาวางไว้ตรงหน้า ก็ไม่อาจรู้ได้ว่า มันมาจากกล้วยที่มีหน้าตาสีดำแบบนี้
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า ประเทศไหนบ้างที่ปลูก “กล้วย” มากที่สุด
อ้างอิงจากข้อมูลสถิติในปี 2019 พบว่า
อันดับที่ 1 ประเทศอินเดีย มีผลผลิตจำนวน 30.5 ล้านตัน
อันดับที่ 2 ประเทศจีน มีผลผลิตจำนวน 12 ล้านตัน
อันดับที่ 3 ประเทศอินโดนีเซีย มีผลผลิตจำนวน 7.2 ล้านตัน
โฆษณา