28 ก.ย. 2021 เวลา 12:15 • กีฬา
เสียงเพลงสร้างบรรยากาศ : เหตุใดนักกีฬาจึงชอบเปิดเพลงฮิปฮอปในห้องแต่งตัวก่อนลงสนาม ? | Main Stand
1
บรรยากาศก่อนลงสนามสำหรับนักกีฬามักจะเต็มไปด้วยความกดดันและความตึงเครียด ทั้งจากตนเอง โค้ช รวมถึงเพื่อนร่วมทีม เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว ดนตรี จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยกระตุ้นนักกีฬาให้มีความตื่นตัวหรือให้รู้สึก "ไฮป์" มากขึ้น
ว่ากันว่าการฟังเพลงก่อนลงสนามนั้นมีความสำคัญอย่างมาก ไม่ว่าจะในการแข่งขันหรือกับการฝึกซ้อม นอกจากทำให้ตื่นตัว บางครั้งการฟังเพลงก็ช่วยให้นักกีฬามีสมาธิจดจ่อกับการเล่นมากขึ้นอีกด้วย แน่นอนว่าแต่ละคนต่างก็มีความชอบความสนใจในดนตรีกันคนละแบบ แต่ที่น่าแปลกใจคือ แนวดนตรีที่มักจะถูกเปิดในห้องแต่งตัวนักกีฬาคือ ฮิปฮอป
อาจจะเป็นเพราะบีทอันหนักอึ้ง จังหวะเพลงที่ชวนโยก ชวนร้องตามกันได้หลาย ๆ คน แนวเพลงดังกล่าวจึงได้รับความนิยมเป็นพิเศษในหมู่นักกีฬา ไล่มาตั้งแต่ อเมริกันฟุตบอล ฟุตบอล บาสเกตบอล วอลเลย์บอล หรือแม้กระทั่งฮอกกี้
เคยสงสัยไหมว่าทำไมต้องเป็นฮิปฮอปในห้องแต่งตัว ? ฮิปฮอปมีความพิเศษมากกว่าแนวดนตรีอื่นอย่างไรสำหรับการเล่นกีฬา ?
Main Stand ขอชวนมาค้นหาคำตอบไปด้วยกัน
THE CONNECTION
ก่อนที่เราจะทำความเข้าใจว่าทำไมต้องฮิปฮอป เราต้องทำความเข้าใจประโยชน์ของดนตรีสำหรับการเล่นกีฬาเสียก่อน
โดยทั่วไป ดนตรีจะถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความจรรโลงให้กับมนุษย์ มีส่วนช่วยในการกระตุ้นอารมณ์ของเราให้เป็นไปได้หลายรูปแบบ ผ่านจังหวะ ทำนอง หรือเนื้อหา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเพลงแบบไหน หากนั่นเป็นเสียงที่เราอยากได้ยิน เราก็จะรู้สึกว่าดนตรีนั้นทำงานกับเราได้อย่างน่าประหลาด ทำให้รู้สึกมีความสุข รู้สึกผ่อนคลาย และทำให้รู้สึกตื่นเต้น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับนักกีฬา อารมณ์ที่ใครหลายคนใฝ่หาคือความตื่นตัวก่อนลงสนาม ไม่ว่าจะลงไปเพื่อการแข่งขันหรือการฝึกซ้อม หากได้ฟังเพลงที่ถูกต้องก็อาจจะทำให้เล่นได้ดีขึ้น เพราะนอกจากดนตรีจะมีผลต่อเรื่องอารมณ์แล้ว ในกรณีนี้ ดนตรียังมีผลต่อเรื่องทางกายภาพด้วยเช่นกัน
จากการศึกษาของ ดอกเตอร์ คอสต้า คาราจิโอคิส​ ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬาและจิตวิทยาการกีฬา ของมหาวิทยาบรูเนล ประเทศอังกฤษ ที่ถูกพูดถึงในบทความชื่อ "HOW TO BENEFIT FROM MUSIC IN SPORT AND EXERCISE" โดย ฮันนาห์ ฟาร์เมอร์ นักศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน
งานของดอกเตอร์ คอสต้า จะพิจารณาผลกระทบจากดนตรีผ่าน 4 ปัจจัยหลัก อันได้แก่ 1. จิตวิทยา ที่มุ่งสังเกตอารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรมของนักกีฬาที่มีผลมาจากดนตรี 2. จิตกายภาพ ที่ดูการตอบสนองต่อระบบประสาทว่าร่างกายตอบสนองต่อดนตรีอย่างไร 3. จิตสรีรวิทยา ที่สังเกตผลกระทบของดนตรีผ่านอัตราการเต้นของหัวใจหรืออัตราการหายใจ และ 4. การกระตุ้นอารมณ์ของดนตรี ที่ทำให้นักกีฬามีความรู้สึกตื่นตัวหรือมีความสุขจากการฟังเพลง
ปัจจัยทั้ง 4 สัมพันธ์กันและสามารถจำแนกย่อยลงมาได้อีก 6 ปัจจัย ได้แก่ จังหวะที่เร้าใจ เนื้อเพลงเชิงสร้างสรรค์ที่เป็นไปในทางบวก การเคลื่อนไหวประกอบจังหวะ ทำนองของดนตรีที่ชวนสนุก ความตั้งใจของตัวนักกีฬา และแนวดนตรีที่นักกีฬาชอบ ซึ่งหากมีครบ 6 ปัจจัยนี้ ก็อาจจะทำให้การออกกำลังกายพร้อมกับเพลงมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้
เพลงตัวอย่างในงานวิจัยนี้ได้แก่เพลง "Sweat" ของ สนูป ด็อกก์ แรปเปอร์ชาวอเมริกันที่ร่วมทำเพลงกับ เดวิด เกวตต้า ดีเจ/โปรดิวเซอร์ชาวฝรั่งเศส ที่จริง ๆ แล้วอาจจะไม่ได้ทำมาเพื่อนักกีฬาด้วยซ้ำ แต่เนื้อเพลงสองแง่สองง่ามทำนองว่า "I just wanna make you sweat" หรือที่แปลตรงตัวได้ว่า "ฉันแค่อยากจะทำให้คุณเหงื่อออก" ประกอบกับจังหวะที่คึกคัก ก็สามารถทำให้นักกีฬารู้สึกตื่นตัวได้เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีเพลงของ ลิล เวย์น อย่าง "I'm Me" ที่มีเนื้อเพลงว่า "Yes, i'm the best and no I ain't positive. I'm definite I know the game like i'm reffin it" ที่แปลได้ว่า "ใช่แล้ว ฉันเก่งที่สุด ฉันไม่ได้มองโลกในแง่ดีแต่ฉันมั่นใจ ฉันรู้จักกับเกมนี้ดีเหมือนที่ฉันกำลังพูดถึงมันนี่ไง" ซึ่งเพลงดังกล่าว เป็นเพลงที่ "ไมเคิล เฟลป์ส" นักกีฬาว่ายน้ำชาวอเมริกันชื่อดัง เจ้าของ 23 เหรียญทองโอลิมปิก เปิดเผยว่าเขาชอบฟังก่อนลงแข่งเพื่อทำให้รู้สึกมั่นใจและตื่นตัวอยู่เสมอ
จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่า ทั้ง สนูป ด็อกก์ และ ลิล เวย์น ต่างก็เป็นศิลปินฮิปฮอปทั้งคู่ คำถามคือ แนวเพลงดังกล่าวมีความพิเศษมากกว่าแนวดนตรีอื่นอย่างไร ? สามารถทำให้นักกีฬารู้สึกไฮป์ก่อนลงสนามได้จริงไหม ?
GANGSTER ATTITUDE
ดนตรีฮิปฮอป คือหนึ่งในแนวดนตรีที่ถูกเปิดในห้องแต่งตัวนักกีฬาก่อนลงสนามมากที่สุด นอกเหนือไปจากแนว อีดีเอ็ม, ป๊อป และคลาสสิก แม้จะไม่มีหลักฐานมายืนยันได้ว่า เหตุใดนักกีฬาอาชีพส่วนมากถึงชอบฟังฮิปฮอปก่อนลงสนาม แต่ส่วนมากก็มักจะเป็นเพราะบีทที่หนักแน่น เนื้อหาเพลงรุนแรง ที่สามารถทำให้นักกีฬารู้สึกมีพลัง ไม่ว่าจะฟังแบบเดี่ยว ๆ หรือฟังกันเป็นทีม
Photo : si.com
ตัวอย่างเช่น นักกีฬาอเมริกันฟุตบอลจากทีม เดนเวอร์ บรองโกส์ ที่เคยเผยกับ The Denver Post ว่า เพลงส่วนมากที่หลาย ๆ คนในทีมชอบฟังมักจะเป็นเพลงฮิปฮอป จากศิลปิน อาทิ เจย์-ซี, เด็จ โลฟ, ลิล เวย์น หรือ ริค รอสส์
ความน่าสนใจคือ บางคนไม่ได้ฟังฮิปฮอปเพื่อความไฮป์เพียงอย่างเดียว แต่เพื่อทำสมาธิ อย่าง คริส แฮร์ริส จูเนียร์ ผู้เล่นในตำแหน่งตัวคุมปีก เผยว่าดนตรีมีผลต่ออารมณ์ของเขา เขามักจะจัดการอารมณ์ก่อนการแข่งขันด้วยการฟังเพลงเสมอ อีกทั้งยังทำให้เขามีแรงจูงใจมากขึ้น จากเนื้อเพลงที่เขาชอบ ในเพลง "Believe Me" ของ ลิล เวย์น ที่ได้ เดรค มาร่วมแจม ความว่า "I am the only one they come to see, believe me" ที่แปลได้ว่า "ฉันคือหนึ่งหนึ่งเดียวที่ทำให้คนแห่มาดูได้ เชื่อฉันเถอะ"
คริส ยังเผยกับ The Denver Post ต่อว่า
"เมื่อผมมีสมาธิแล้ว ดนตรีจะทำให้ผมรู้สึกผ่อนคลาย เมื่อถึงเวลาเตรียมพร้อมผมจะฟังเพลงแรปเสมอ ผมจะใช้เวลาไปกับมัน คุณจำเป็นที่จะต้องมีเพลงนั่นแหละ"
หรือบางครั้ง การฟังเพลงด้วยกันหลายคนก็มีผลต่อบรรยากาศในห้องแต่งตัวและห้องออกกำลังกาย ซึ่ง จิมมี่ วิลเลียมส์ ผู้เล่นตำแหน่งปีกนอกของทีม อีสต์แคโรไลนา ไพเรตส์ ทีมประจำมหาวิทยาลัยอีสต์แคโรไลนา เผยกับ SB Nation ว่า
"ฟิวเจอร์, มิโกส์ และเราก็เปิดเดรคฟังกันบ้างบางครั้ง มีบางวันที่เราเปิด ไบรสัน ทิลเลอร์ กันในห้อง แล้วก็พากันร้องเพลงกันทั้งห้องเลย ก็ยกน้ำหนักพร้อม ๆ กับสนุกไปกับเพลง มันเปลี่ยนบรรยากาศไปเลย มันช่วยทำให้ทุกคนอารมณ์ดี
"บางวันก็เป็นเพลงร็อกคลาสสิค ไม่ค่อยมีเพลงคันทรี่เท่าไหร่ แต่ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหนก็ตาม มันมักจะเป็นฮิปฮอปเสมอ"
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า โดยทั่วไปแล้วในเพลงแรป (โดยเฉพาะแรปจากสหรัฐอเมริกา) มักจะเต็มไปด้วยเนื้อหาที่รุนแรง แฝงทัศนคติแบบ "แก๊งสเตอร์แรป" เอาไว้ค่อนข้างมาก ถึงแม้ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา แต่นักกีฬาหลาย ๆ คน พอลงสนามไปแล้วก็มีความคิดที่อยากขย้ำอีกฝ่ายให้จมดิน เพราะเหตุนี้เนื้อเพลงแบบฆ่าแกงกันจึงมักทำงานได้ดีสำหรับการสร้างความไฮป์ให้แก่พวกเขา
บางครั้งความรุนแรงของเนื้อเพลงก็เลยเถิดเกินไปมาก ขนาดกลายเป็นข้อถกเถียงกันมาแล้วในวงการบาสเกตบอล NBA ว่าควรปล่อยให้มีการเปิดเพลงแรปที่มีเนื้อหารุนแรงแบบนี้หรือไม่ ?
Photo : 8points9seconds.com
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 ในห้องแต่งตัวของทีม อินเดียนา เพเซอร์ส ก่อนที่พวกเขาจะลงสนาม มีรายงานจากนักข่าว Washington Post คนหนึ่งว่า นามว่า ไมค์ ไวส์ เขาได้ยินเสียงเพลงฮิปฮอปที่เต็มไปด้วยคำหยาบดังออกมาจากห้องแต่งตัว ซึ่งเป็นเพลงของ ไทก้า และ เดอะ เกม
เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อไมค์ไปทวีตอัพเดตสถานการณ์ว่าเขาได้ยินเพลงจากห้องแต่งตัวที่เต็มไปด้วยคำหยาบ อีกทั้งยังสะกดชื่อศิลปินผิด จาก ไทก้า เป็น ไทเกอร์ ทำให้เขาถูกมองว่าทำตัวไร้สาระ ไม่รู้จริง เมื่อมีคนมาแย้งและมองว่าเขาเป็นเพียงคนขาวคนหนึ่ง ไมค์เลยสวนกลับไปทำนองว่า เพลงพวกนี้มันก็น่ารังเกียจนั่นแหละ เพราะบางคนในทีมอาจจะไม่ได้อยากฟังด้วยซ้ำ
เรื่องดังกล่าวเลยเถิดขึ้นมา เพราะไมค์ดันไปพาดพิงถึง อดัม ซิลเวอร์ ผู้บริหารสูงสุดประจำสมาคมบาสเกตบอลแห่งอเมริกา ว่าถ้าหากเขาเป็นอดัมแล้วล่ะก็ เขาจะตรวจสอบเพลงในห้องแต่งตัวของนักกีฬาด้วย เพื่อเป็นการให้ความเคารพต่อผู้อื่น ซึ่งหลังจากที่ไมค์เลือกที่จะวิพากษ์เรื่องนี้ออกไป เขาก็โดนโบกกลับอีกครั้ง เพราะสื่ออีกหลายเจ้าก็มองว่าเรื่องเพลงในห้องแต่งตัวของนักกีฬานั้นมีความสำคัญมาก
Photo : 8points9seconds.com
โรเบิร์ต ลิททัล นักข่าวจาก BlackSportsOnline กล่าวว่า "ห้องแต่งตัวของนักกีฬามันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ บางครั้งการที่มีสื่อไปอยู่ที่นั่นพวกเขาก็ควรเข้าใจถึงเพลงที่มีเนื้อหารุนแรงเหล่านี้ด้วย ผมไม่ได้พูดถึงแค่คนขาว แต่รวมถึงคนโดยทั่วไปด้วย"
กล่าวโดยสรุปคือ หน้าที่ของฮิปฮอปคือการทำให้นักกีฬารู้สึกตื่นตัวและมีอารมณ์พร้อมเสมอกับการแข่งขันที่รอพวกเขาอยู่ ยิ่งรุนแรงก็ยิ่งไฮป์ ยิ่งหยาบคายก็ยิ่งสะใจ จึงไม่แปลกหากพวกเขาจะชอบฟังเพลงแนวดังกล่าวเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องเนื้อหาแล้ว จริง ๆ แล้ว ความนิยมเฉพาะในกลุ่มวัฒนธรรมนั้นมีผลหรือไม่ อย่างสิ่งที่ จิมมี่ วิลเลียมส์ กล่าวกับ SB Nation ก่อนหน้า นำไปสู่คำถามที่ว่า แท้จริงแล้วที่ฮิปฮอปได้รับความนิยมในห้องแต่งตัวนั้น เป็นเพราะว่าความนิยมในกลุ่มชาติพันธุ์แอฟริกันอเมริกันหรือไม่ ?
MUSIC HAS NO BOUNDARIES
"นักกีฬาอาชีพจาก NBA ทำให้ศิลปินฮิปฮอปรู้สึกตื่นเต้นจากอะดรีนาลีนระหว่างถ่ายทอดสดการแข่งขัน ในขณะที่ศิลปินฮิปฮอป ก็ทำให้นักกีฬาอาชีพมองเห็นถึงความงามในวัฒนธรรมนี้"
คำกล่าวของ ควาโว หนึ่งในสมาชิกของวงมิโกส์ กลุ่มศิลปินฮิปฮอปจากแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา จากนิตยสาร Sport Illustrated ที่อาจแสดงให้เราเห็นว่าฮิปฮอปกับกีฬาเกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยยะสำคัญ
Photo : espn.com
นอกจากนี้ยังมีบทสัมภาษณ์เมื่อปี 2014 ของ เคนดริค ลามาร์ แรปเปอร์ชาวแอฟริกัน-อเมริกันเจ้าของรางวัลแกรมมี่ กับ คริส พอล นักบาสเกตบอลคนดัง ที่ในขณะยังเล่นให้กับทีม แอลเอ คลิปเปอร์ส ก่อนที่จะย้ายมาเล่นให้กับ ฟีนิกซ์ ซันส์ ในปัจจุบัน ทั้งคู่ได้มานั่งแลกเปลี่ยนกันผ่านช่อง ESPN ถึงความเชื่อมโยงระหว่างฮิปฮอปและวงการกีฬา เคนดริค เผยว่า
"ฮิปฮอปและนักกีฬาอาชีพสามารถเข้ากันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ย เมื่อจับทั้งสองอย่างมารวมกันมันก็คือชัยชนะแล้ว และไม่ใช่เพื่อธุรกิจ ไม่ใช่เพื่อแบรนด์ แต่เพื่อวัฒนธรรมของพวกเราต่างหาก
"ผมใช้คำว่าวัฒนธรรมเสมอเพราะว่า สิ่งนี้ต้องมาก่อน"
ถึงบทสัมภาษณ์ดังกล่าวจะดูบ่งชี้ไปที่กลุ่มวัฒนธรรมของชาวแอฟริกัน-อเมริกันโดยเฉพาะ แต่ความจริงแล้ว ดนตรีฮิปฮอปก็ไม่ได้ถูกจำกัดหรือได้รับความนิยมเฉพาะกับนักกีฬาผิวดำหรือเฉพาะวงการบาสเกตบอลเท่านั้น
จากการสำรวจของหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ในปี 2005 ที่เปิดเผยผ่าน The Bleacher Report พบว่าคนขาวช่วงอายุระหว่าง 18-34 ปี จำนวนคิดเป็น 60-80% นั้นล้วนชอบฟังเพลงฮิปฮอปทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์จึงไม่มีผลต่อความนิยมของฮิปฮอปในวงการกีฬาแต่อย่างใด
ถึงว่าจะเป็นฮิปฮอป แต่ฮิปฮอปที่นักกีฬาชอบฟังไม่ได้มาจากแค่ศิลปินเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันเท่านั้น แต่ยังมี เอมิเน็ม แรปเปอร์ผิวขาวจากดีทรอยต์ ผู้คร่ำหวอดในวงการแรป เจ้าของเพลง "Lose Yourself" เพลงประกอบภาพยนตร์ 8 Mile ที่ได้กลายมาเป็นหนึ่งในเพลงสุดไฮป์ที่รับความนิยมก่อนลงสนามของนักกีฬา ด้วยเนื้อหาที่สามารถสร้างแรงกระตุ้นได้ดี เช่น "You only get one shot, do not miss your chance to blow, This opportunity comes once in a lifetime" ที่แปลได้อย่างตรงตัวว่า "คุณมีโอกาสเพียงครั้งเดียว อย่าพลาดที่จะทำมันให้ดี โอกาสนี้มาแค่ครั้งเดียวในชีวิตเท่านั้น"
กล่าวโดยสรุปคือ อาจเป็นเพราะความตรงไปตรงมาของฮิปฮอป ความเรียลของเนื้อหาและจังหวะที่เร้าใจ ที่ผสมปนเปกันเป็นสูตรเพิ่มพลังให้แก่นักกีฬา
สิ่งที่มีบทบาทสำคัญเป็นพิเศษ คงจะเป็นเรื่องของเนื้อหาของเพลงฮิปฮอปที่มักจะพูดเรื่องความสำเร็จ การก้าวขึ้นไปเป็นที่หนึ่ง โดยเริ่มต้นมาจากศูนย์ ซึ่งเป็นจุดร่วมกันระหว่างฮิปฮอปและกีฬา ทำให้ผู้เล่นหลายคนรู้สึกเชื่อมโยงได้ไม่ยาก ดนตรีประเภทอื่นอาจช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีได้ ในขณะที่ฮิปฮอปไม่ได้ทำหยุดอยู่แค่เรื่องของบรรยากาศ แต่ยังเหมือนช่วยตั้งเป้าหมายให้นักกีฬาไปด้วยในเวลาเดียวกัน
เหมือนอย่างในเนื้อเพลงท่อนหนึ่งของ มีค มิลล์ แรปเปอร์จากฟิลาเดลเฟีย ที่ได้ ริค รอสส์ มาร่วมแจมในเพลง "Ima Boss" ว่า
B**** I'm a boss (I'm a boss)
I call the shots (I call the shots)
I'm with the murder team (murder team)
Call the cops (call the cops)
นี่คือตัวอย่างของเนื้อเพลงแบบฆ่าแกงกัน แต่ใช้ได้ดีก่อนลงสนามแข่งขัน
แหล่งอ้างอิง :
โฆษณา