3 ต.ค. 2021 เวลา 10:18 • ปรัชญา
แนวคิดเรื่องอภิมุษย์ ในปรัชญาของ ฟรีดริช นิชเช่ (Friedrich Wilhelm Nietzsche) มันชวนให้คิดว่า ส่วนหนึ่งมีความคล้ายคลึงกับบุคลิกบางอย่างที่มีในอริยบุคคลของพระพุทธศาสนา แน่นอนว่ามันอาจจะไม่เหมือนซะทั้งหมดในรายละเอียด แต่มันก็ทำให้ เอ๊ะ อ๊ะ ตั้งคำถามทางปรัชญา ขึ้นมาได้เหมือนกัน
นิชเช่ เป็นนักปรัชญาคนสำคัญซึ่งวงการปรัชญาจัดให้เขาอยู่ใน สายอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ที่ดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อความคิดของคนๆหนึ่งในประวัติศาสตร์ นั่นคือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ใช่ครับ ผมพูดถึงฮิตเลอร์ ผู้คนทั้งโลก ตั้งแต่ยุคนั้น จนมาถึงปัจจุบัน รู้จักชายผู้นี้ในฐานะบุคคลชั่วร้าย ราวกับปีศาจ ก่อสงครามใหญ่ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนนับล้าน ผ่านสื่อต่างๆ ที่ถูกป้อนให้ได้เห็นได้ยินได้ฟัง แล้วเราก็เข้าใจอย่างนั้นมาตลอดเพียงด้านเดียว แต่ในอีกด้านอีกมุมหนึ่งในฐานะมนุษย์ คนๆนี้มีบางอย่างที่น่าสนใจ นอกเหนือจากความโหดร้ายที่โลกประณามเขา
Adolf Hitler, Alman filozof Friedrich Nietzsche'nin büstüne bakarken - 1940. เครดิตภาพ: https://twitter.com/ww2turkiye/status
แนวคิดเรื่อง อภิมนุษย์ (Superman , Overman, Homo Excellens) มักถูกพูดถึงในงานของ นิชเช่ อยู่เสมอ ในฐานะบุคคลที่ก้าวข้ามผ่านอามรมณ์ความรู้สึกทางศีลธรรมของปุถุชน ที่เขามองว่าเป็นศีลธรรมแบบทาส (slave morality) ไปสู่จุดสูงสุดทางจริยธรรม คือการอยู่เหนือความเมตตาสงสาร ซึ่งในทัศนะของนิชเช่บอกว่านี่คือ ศีลธรรมแบบนาย (master morality) มีบุคคลิกเป็นผู้ที่เข้มแข็ง มั่นใจในตัวเองเป็นตัวของตัวเอง ทั้งในความคิดและการปฏิบัติ จะเลือกยึดถืออุดมการณ์และปฏิบัติจากการตรึกตรองจนเกิดความเชื่อมั่นของตนเองเท่านั้น คนประเภทนี้จะไม่ยอมเชื่อใครง่ายๆ อย่างไร้เหตุผล และเมื่อมั่นใจในการตัดสินใจแล้วจะมุมานะลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้
เครดิตภาพ: https://www.stugiescookies.com
ส่วนผู้ที่ไม่เข้มแข็งหรือเข้มแข็งไม่พอ ก็คือผู้มีศีลธรรมแบบทาส คือ ไม่กล้าเป็นตัวของตัวเอง เนื่องจากขาดความมั่นใจในการตัดสินใจเลือกทางของตนเอง จึงมอบหมายตัวเองให้กับหลักการที่ตนเองคาดว่าจะช่วยคุ้มครองหรือให้ความปลอดภัยแก่ตนได้ พวกนี้จะชอบอ้างหลักธรรมที่มีผู้กำหนดไว้แล้วล่วงหน้า หรืออุดมการณ์ที่เป็นที่ยอมรับกันในสังคม ทั้งนี้เพื่อความสบายใจของตนเองและเพื่อจูงใจมิให้คนอื่นมาเบียดเบียนตน ผู้ถือศีลธรรมแบบนี้ไม่คิดจะเป็นตัวของตัวเอง ไม่คิดจะหาหลักการของตนเอง หรือถ้าจะหาเหตุผลก็ต้องตั้งใจหาเหตุผลในทางสนับสนุนเท่านั้นในขณะเดียวกันก็กลัวว่าจะพบข้อบกพร่องแล้วจะทำให้ไม่สบายใจ ตามทัศนะของนิชเช่ นั่นเอง
เครดิตภาพ : https://40plus.posttoday.com
อภิมนุษย์ ต้องมีความรู้สึกที่อยู่เหนือความเมตตาสงสาร ผู้อ่านหลายๆท่านอาจจะเห็นต่างหรือไม่เห็นด้วย แต่นิชเช่ เขามีทัศนะอย่างนั้น และยังเชื่ออีกว่า อริยะบุคคลในพระพุทธศาสนา คือคนที่อยู่เหนือความดีความชั่วแล้ว ซึ่งความเมตตา ความสงสารเป็นคุณธรรมของปุถุชนในระดับชาวบ้านธรรมดา หากต้องการเป็นคนอยู่เหนือคน เราจะต้องไม่ปล่อยให้ความสงสารมาครอบงำจิตใจ เพราะคนที่มีความเมตตาผู้อื่น ที่จริงแล้วเป็นคนอ่อนแอ ใจไม่นิ่ง ไม่ลุ่มลึก ไม่องอาจ ดังนั้นย่อมทำการใหญ่ไม่ได้ ความคิดของนิชเช่ นี่กระมังที่เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นแรงผลักกระตุ้นความคิดทางการเมืองการทหารของชายที่ชื่อ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf-Hitler) / เครดิตภาพ: https://www.britannica.com
แม้แต่ อิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant) ซึ่งในวงการปรัชญายกย่องว่าเป็นนักปรัชญาแถวหน้าเบอร์ต้นๆ ก็มีทัศนะเรื่องจริยธรรมที่ต้องอยู่เหนืออารมณ์ความรู้สึก ตัวค้านท์เองก็อ่านงานพระพุทธศาสนาเหมือนๆกับนิชเช่ หมายถึงคำสอนพุทธศาสนาดั้งเดิม (Early Buddhist) ไม่ใช่ พุทธศานาองค์กรจัดตั้งแบบ เถรวาท หรือ มหายาน มีสำนักเรียน มีสำนักวิปัสสนึก-วิปัสสนา มีนิกายนั่นนี่แบบที่เป็นอยู่ปัจจุบันเวลานี้
ค้านท์เองเขาก็เชื่อแบบนิชเช่ว่า พระพุทธเจ้าก็สอนให้พระสาวกนั้นเป็นอภิมนุษย์ คือ พระอรหันต์ในคติของพุทธศานาดั้งเดิมก็น่าจะเป็นคนที่เข้าใกล้มาตรฐานทางศีลธรรมของค้านท์มากที่สุด คำบาลีที่ ว่า อสฺสทฺโธ ผู้รู้ที่เป็นนักบาลีเขา บอกว่า มันแปลได้สองนัย คือถ้าแปลทื่อๆตัวอักษร หรือตามศัพท์นั้น ก็แปลว่า คนไม่มีศรัทธา แต่การแปลเพื่ออธิบายคุณลักษณะของพระอรหันต์ จะแปลว่า ผู้ที่ไม่จำเป็นต้องเชื่อใครอีก เพราะรู้ชัดด้วยตนเองแล้ว ก็ได้
ก็น่าจะสอดรับกับนิยามเรื่องอภิมนุษย์ของนิชเช่หรือจริยธรรมสัมบูรณ์แนวค้านท์หรือไม่ ซึ่งจริงๆประโยคบาลีที่ว่านี้ยาวกว่านั้น ผมแถมให้เพื่อประกอบการพิจารณา คือ
อสฺสทฺโธ อกตญฺญู จ สนฺธิจฺเฉโท จ โย นโร หตาวกาโส วนฺตาโสส เว อุตฺตมโปริโส.
ซึ่งถ้าแยกเป็นคำๆ เอาเนื้อๆ เพื่อแปลความเพื่ออธิบายคุณลักษณะของพระอรหันต์ได้ประมาณนี้ครับ
อิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant) เครดิตภาพ : https://www.recursosdeautoayuda.com/th
อสฺสทฺโธ = ไม่ต้องเชื่อคนอื่น เพราะรู้ชัดแจ่มแจ้งด้วยตนเองแล้ว
อกตญฺญู = รู้แจ้งแทงไม่ยั้งซึ้งพระนฤพาน ปลอดจากการจิ้มจุ่มปรุงแต่ง
สนฺธิจฺเฉโท = ตัดวงจรอายัติการเวียนตายเวียนเกิดได้แล้ว
หตาวกาโส = ปิดช่องโหว่ที่จะเกิดมารับสุขทุกข์จำเจซ้ำซาก
วนฺตาโส = ปิดจ๊อบแล้ว จึงไม่ต้องวาดหวังอะไรอีก
ส เว อุตฺตมโปริโส = พี่แกนั้นแล เป็นดั่งยอดมนุษย์
ส่วนว่า ถ้าแปลอีกแบบ คือการแปลตามศัพท์ ความหมายก็ไปคนละโลกกลับขั้วกันเลย เช่น อสฺสทฺโธ = คนไร้ศรัทธา อกตญฺญู = คนไม่รู้บุญคุณ ซึ่งผมไม่ได้จะมาเป็นนักวิเคราะห์ภาษาบาลี และไม่ได้มีฉันทะทางนี้ ก็ไม่ขอสรุปว่าแปลแบบไหนถูกผิด ก็อย่างที่เขาว่า คำๆเดียวแปลได้เป็นร้อย แต่คนรู้น้อยแปลได้อย่างเดียว ซึ่งคนรู้น้อยอย่างผมเพียงต้องการโฟกัสที่ประเด็นนี้ ก็เอาเป็นว่า ถ้าอภิบายเพื่อเปรียบเทียบและอธิบายบุคลิกของพระอรหันต์ในพุทธศานาดั้งเดิมกับแนวคิดอภิมนุษย์ของนิชเช่ก็ จะใช้ในบริบทที่ว่านี้นะครับ
เครดิตภาพ : https://www.posttoday.com
อภิมนุษย์ จะต้องไม่ยอมให้อารมณ์ทั้งทางบวกหรือทางลบมามีอิทธิพลครอบงำจิตใจ มีข้อความระบุว่า พระอรหันต์ในความเชื่อทางพุทธศาสนานั้น เป็นผู้อยู่เหนือบุญ และบาป การกระทำของพระอรหันต์ หรือพระอริยบุคคลขั้นสูงนั้น ไม่ส่งผลที่เป็นบุญหรือบาปใดๆ อยู่เหนืออารมณ์ความรู้สึกของปุถุชนทั่วไป เมื่อพระอรหันต์ นิพพนานหรือมรณะภาพ (ตาย) ก็ไม่ไปทุขคติ หรือนรก แล้วก็ไม่ไปสวรรค์ หรือสุขคติภูมิใดๆ แต่จะไปอยู่อีกที่ จะที่ไหนก็ไม่รู้ล่ะ จะนิพพาน นิรวาน สุทธศิลา สุขาวดี พุทธเกษตร ที่สุดแห่งธรรม สุดแล้วแต่จะตั้งชื่อ ผู้อ่านที่ศึกษาทางศาสนศึกษามาก็คงจะรู้กันดีอยู่แล้ว แต่ลักษณะการกระทำที่ไม่เป็นบุญเป็นบาป อันเป็นผลจากการที่พัฒนาด้านอารมณ์ความรู้สึกจนอยู่เหนืออารมณ์ความรู้สึกแบบคนธรรมดาทั่วไปของพระอรหันต์นี้หรือไม่ ที่ให้ดูเหมือนว่าสอดคล้องไปกันได้กับแนวคิดเรื่องอภิมนุษย์ของนิชเช่
ฟรีดริช นิชเช่ (Friedrich Wilhelm Nietzsche) / เครดิตภาพ : https://www.thefamouspeople.com
นักปรัชญาและนักเขียนสตรีท่านหนึ่งที่ใช้นามปากกาว่า สาวิตรีเทวี (Savitri Devi) ถือว่าเป็นสตรีที่มีอิทธิพลทางด้านความคิดของชายผู้นี้ หล่อนมีการศึกษาสูง จบปริญญาเอกด้านปรัชญา เป็นคนสัญชาติเยอรมัน โดยที่พ่อเป็นคนกรีก แม่เป็นคนอังกฤษ เธอแต่งงานและใช้ชีวิตกับสามีชาวอินเดีย เธอเขียนหนังสือและสอนปรัชญาโดยปักหลักตั้งอาศรมที่อินเดีย แกนกลางแนวคิดที่เป็นหลักปรัชญาของเธอคือ ศาสนาฮินดู แม้ว่า ศาสนาพุทธและศาสนาเชนในทัศนะของเธอ จะมองว่าเป็นศาสนาที่ดีก็ตาม แต่เนื่องจากเธอถือว่าตนเองสืบทอดเชื้อสายมาจากชนเผ่าอารายัน ศาสนาฮินดูจึงเป็นศาสนาเดียวในโลกที่ยังคงรากเหง้าสืบสายทางความคิดมาจากชนเผ่าอารายัน มีข้อมูลระบุว่า ฮิตเลอร์ นอกจากเป็นติ่งของนิชเช่ ก็ยังชื่นชอบเป็นโอตะ อ่านงานของเธอผู้นี้
สาวิตรีเทวี (Savitri Devi) / เครดิตภาพ : https://www.auctionzip.com
ในงานเขียนของสาวิตรีเทวีนั้น ยืนยันชัดว่า ฮิตเลอร์ นั้นเป็นมังสวิรัติ แถมยังให้ข้อมูลว่า หากตัวเขาชนะสงครามแล้วบ้านเมืองกลับเข้ามสู่ภาวะปกติ ก็จะพิจารณาออกกฎหมายเข้มงวดเกี่ยวกับโรงฆ่าและอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ค่อยๆออกกฎหมายบีบให้คนกินเนื้อยากขึ้น เช่น เก็บภาษีเยอะ ทำให้ราคาแพงมากๆ ทำให้เลิกนิยม แล้วคนก็จะหันไปกินพืชกินสัตว์แทนโดยปริยายเอง
เนื่องจากสาวิตรีเทวี เป็นหนึ่งในไอดอลที่อิทธิพลทางความคิดคนหนึ่งของฮิตเลอร์ ปรัชญาฮินดูเองก็มีส่วนกระตุ้นไม่น้อยเลย อย่างเช่น เครื่องหมาย “สวัสดิกะ” อันเป็นโลโก้ซิกเนเจอร์ของพรรคนาซี นั้นก็มาจากศาสนาฮินดู เขียนเป็นคำไทยบ้านๆว่า “สวัสดี” โดยมันมาจากคำว่า “สวสฺตี” ถ้าเป็นภาษาสันสกฤต แต่ถ้าบาลี ก็แปลงได้เป็น “โสตฺถี” แปลเป็นไทยอีกทีว่า “โชคดี” ซึ่งมันก็คือคำทักทายในภาษาไทยที่ใช้กันว่า “สวัสดี” นั่นไงครับ
เครดิตภาพ : https://www.tnews.co.th
เครื่องหมายสวัสดิกะ พบกันดารดาษ ทั่วไปที่เจอในรูปเคราพต่างๆ ของอินเดีย แทบจะทุกศาสนา ซึ่งนั่นก็รมถึงพุทธและเชนด้วย แต่ศาสนาฮินดูเป็นพี่ใหญ่ที่เกิดก่อนสองศาสนาที่ว่านี้ นั่นก็แปลว่า แนวคิดเรื่องโชคดี ก็น่าจะมาจากฮินดูก่อนนั่นแหละ เพราะพระพุทธเจ้ากับศาสดามหาวีระไม่น่าจะมีคำสอนเรื่องโชครางอะไรทำนองนี้อย่างที่เรารู้ๆกันใช่มั้ยครับ...
เครดิตภาพ:  https://www.amazon.com
ในหนังสือที่ชื่อว่า “การต่อสู้ของข้าพเจ้า” (Mein Kampf) ซึ่งเป็นงานเขียนของ ฮิตเลอร์ ถ้าหากบรรจงตั้งใจอ่านดีๆ วางใจเป็นกลางในการรีวิว โดยยกอคติออกไปก่อนว่าเขาไม่ดี เขาชั่วร้ายอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ต้องบอกว่าคนๆนี้จัดว่าเป็นคนที่มีความคิดทีเดียวเลย แล้วทุกวันนี้ก็ยังมีคนพูดถึงเสมอ อาจจะบอกได้ว่า แท้จริงฮิตเลอร์นั้นไม่เคยตาย เพราะหลังจากที่เขาเสียชีวิตได้ระยะหนึ่ง สาวิตรีเทวีเองเธอก็ออกมาปรากฏตัว เป็นโทรโข่ง เป็นกระบอกเสียง เล่าเรื่องของฮิตเลอร์ในด้านที่สว่าง ว่าเป็นเหมือนดั่งองค์อวตารของพระวิษณุ ผ่านงานเขียนของเธอเอง ถ้าเป็นสมัยนี้ก็อาจเป็นยูทูปเบอร์ดัง มีลูกหาบล้านซับเป็น follower อาจจะมีการ โพสต์ในทวิสต์เตอร์ หรือ ไลฟ์ในเฟสฯ หรือเสวนากับสานุศิษย์ทาง Google meet หรือ Zoom ก็เป็นไปได้
1
เครดิตภาพ : https://www.thelocal.de
มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่เลื่อมใสปณิธานของฮิตเลอร์ผ่านงานเขียนของ สาวิตรีเทวี และผมเองส่วนตัวก็ค่อนข้างเชื่อว่าจะมีลัทธินาซีใหม่ที่ผลิดอกออกผลงอกขึ้นมาในโลกสมัยใหม่นี้แน่นอน
เครดิตภาพ : https://nationalvanguard.org
เพียงแต่ว่ารูปแบบและแนวทางอาจจะเปลี่ยนโฉมยกเครื่องได้เนียนแทรกซึมในชีวิตประจำวันจนเราไม่รู้ตัว ดังที่เราเห็นว่า มีเจ้าลัทธิ ศาสดาหน้าใหม่ๆ พยายามสถาปนา ตั้งตัว เพื่อขายแนวคิดอุดมการณ์ ผ่านทางการเขียนการ การพูด การเทศน์การสอน การแสดงออกทางวิชาการ หรือ คอนเทนต์ลามก ตลกโปกฮา ในรูปแบบใหม่ๆ ทั้งไลฟ์โค้ช ไลฟ์สด คอลัมนิสต์ ศิลปิน นักแสดงชายหญิง หรือแม้แต่นักบวชพุทธโดยจารีต ก็ผันตัวมาเป็น นักคิดนักเขียน นักเคลื่อนไหว ผ่านคอนเทนสต์ต่างๆ ที่กำลังโลดแล่นกันในโลกของโซเชียลมีเดีย ซึ่งจะชี้นำทิศทางของสังคมไปทีละนิดๆเหมือนน้ำซึมบ่อทราย
สิ่งที่ควรทำในสมัยก่อน อาจจะจะใช้ไม่ได้แล้วในปัจจุบัน สิ่งที่น่าละอายในอดีต กลับเป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญในวันนี้ ผิดเป็นถูก ถูกเป็นผิด ระคนทำให้สับสนปนเป อย่างแยบยล ซึ่งเป็นแบบนั้นอย่างที่ว่าหรือ ผมอาจจะเพ้อเจ้อคิดมากไปเองหรือไม่ ก็ต้องพิจารณากันเอาเองครับ ตัวใครตัวมัน
เครดิตภาพ : https://www.trueplookpanya.com
หรือว่า ผมอาจจะเข้าใจผิดก็เป็นไปได้ สิ่งที่ฮิตเลอร์ คิดโดยมีฐานมาจากปรัชญาฮินดูที่มีสาวิตรีเทวี เป็นไอดอล และปรัชญาของนิชเช่เรื่องอภิมนุษย์นั้น อาจมองได้ว่าเป็นจริยธรรมส่วนบุคคลก็ได้ เพราะสามัญสำนึกของคนทั่วไปถ้าบอกว่าพระพุทธเจ้าสอนศีลธรรมผ่านความเมตตาสงสาร ก็น่าจะลื่นหูกว่า และผมก็เคยเชื่อแบบนั้น
ชีวิตส่วนตัวของฮิตเลอร์ เป็นคนรักสัตว์ มีคนรัก เป็นจิตรกร รับประทานมังสวิรัติ ชอบฟังเพลงคลาสสิค โดยเฉพาะเพลงของ ริชชาร์ท วากเนอร์ (Richard Wagner)
ริชชาร์ท วากเนอร์ (Richard Wagner) / เครดิตภาพ : https://today.line.me
ไปรบที่ไหนก็จะพกไอพอดอัดMp3ของ วากเนอร์ ไปฟังด้วย ขัดกับภาพลักษณ์ที่เรารู้จักมาก
แต่... แน่นอนว่าในทางการเมือง ต้องแยกออกจากเรื่องส่วนตัว คือเราต้องอยู่เหนืออารมณ์ความรู้สึก นักการเมืองต้องสามารถทำความชั่วบางอย่างเมื่อจำเป็นต้องทำได้ ความอำหิตและความรุนแรงที่ทำด้วยใจอันเยื่อกเย็นและนิ่งได้ นั่นคือธรรม ดั่งที่ปรากฎในคัมภีร์สำคัญของฮินดู คือ "ภควัทคีตา" ซึ่งเป็นปรัชญาสงคราม
เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของ สาวิตรีเทวี รวมถึงตัวฮิตเลอร์ด้วย โดยเธอกล่าวอย่างมั่นใจว่า ฮิตเลอร์ นั้นมีความเป็นผู้นำต้นแบบที่กล้าหาญเด็ดเดี่ยว เช่นเดียวกับอรชุน ตัวเอกตามท้องเรื่อง ในปรัชญานักรบ "ภควัทคีตา"
อรชุนบนรถม้าศึกกับพระกฤษณะ คัมภีร์ภควัทคีตา เครดิตภาพ: https://www.matichonweekly.com
โลกเปลี่ยนแปลง ไหลไปเรื่อยๆตามกระแสเวลา เกิดขึ้น ตั้งอยู่สักพัก แล้วก็ลาจาก หรือ สลายหายไป ไม่เว้นแม้แต่โรคระบาดฟีเวอร์อย่างเจ้าไวรัสโควิด19นี้ ซักพักเมื่อซื้อขายวัคซีน จัดระบบ ลงทะเบียนพลเมืองจัดสรรปันส่วนชั่งตวงแบ่งปันกันได้ลงตัว เดาว่าก็คงเริ่มคลี่คลาย อีเวนท์ใหญ่ระดับโลกมีบาดเจ็บล้มตายเป็นล้านคนบ้างก็เป็นเรื่องที่ทำให้จำเป็นต้องฝืนใจยอมรับได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนไม่เคยเปลี่ยนเลยคือ ความต้องการ ความปรารถนา เจตจำนงสู่อำนาจของมนุษย์ (Will-to-power) แม้รู้อยู่แก่ใจว่าสิ่งที่ตนครอบครองเป็นของสมมุติเป็นสิ่งชั่วคราว ไม่ว่าเป็นวัตถุอันเลิศ เครื่องประดับเนื้อตัวที่เป็นอาภรณ์ หรือเกียรติยศ สถานะทางสังคมหลากหลายรูปแบบสุดแล้วแต่ จะยกย่อง เอออวยกัน แต่ก็อดไม่ได้ที่จะหาวิธีเหนี่ยวรั้ง ยึดยื้อไว้ให้นานที่สุด อย่างน้อยๆตัวเองตายพกเอาไปด้วยไม่ได้ ก็หาทางส่งต่อทำสำเนาให้ทายาทไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
Nietzsche’s “Overman” and “Last Man” เครดิตภาพ : https://kronstadtrevolt.com/
บางครั้งหากมองจากสายตาและความรู้สึกของชาวบ้านธรรมดาๆที่เสพสื่อทางโซเชียลแล้วเร้าใจคึกคะนองคันมือ แสดงความคิดเห็นประหนึ่งว่าเรารู้ดีละเอียดลึกอย่างสุดสาย ภาพลักษณ์ของผู้นำชาติ หรือคำพูดคำจา บุคลิกวิศัยทัศน์ของผู้บริหารประเทศบางประเทศที่สื่อออกมา อาจกักขระ ขัดหูขัดตา ขัดความรู้สึก กระทบใจเราไม่น้อย จนเกิดเป็นอารมณ์ความรู้สึกคับแค้นใจ กระตุ้นให้เราคิด พูดทำ อะไรต่อมิอะไรทั้งที่สมควรหรือไม่สมควรก็ตาม นั่นคือความรู้สึกนึกคิดของปุถุชนอย่างนั้นล่ะมั้ง
เครดิตภาพ : https://workpointtoday.com/meaning-of-mini-heart
แต่ อภิมนุษย์ จะไม่เป็นแบบนั้นแน่ใช่มั้ยล่ะครับ การกระทำที่ไม่เห็นหัวใคร อยู่เหนือเหตุผล อารมณ์ความรู้สึกทั้งบวกและลบ อันเป็นสิ่งที่ผู้นำที่เข้มแข็งจะต้องข้ามพ้นไปสู่จุดสูงสุดทางจริยธรรม นั่นแหละครับ ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่หนี ไม่ออก คนธรรมดาชาวบ้านอย่างเราจะไปรู้อะไร จะแก้ปัญหาบ้านเมืองก็ชวนสวดมนต์กันต่อไปเถิดครับพี่น้อง... ประเทศชาติจงเจริญ เฮ้อ...
1
มันลุ่มลึก จนเข้าไม่ถึงจริงๆ...
-วิรุฬหก-
โฆษณา