6 ต.ค. 2021 เวลา 11:00 • สุขภาพ
อุบัติเหตุทางสมองคืออะไร......
• อุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมองเองหรือการมีพยาธิสภาพของสมองที่ตรวจได้จากการทำเอ็กซเรย์สมองเช่น CT scan หรือ MRI สำหรับการเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมอง ยกตัวอย่างเช่น
o มีระดับการตื่นรู้สึกตัวที่ลดลง
o สูญเสียความจำทั้งก่อนหรือหลังจากเกิดอุบัติเหตุ
o เกิดความผิดปกติของระบบประสาท เช่น อ่อนแรง ชัก
อุบัติเหตุทางสมองในประเทศไทย
• จากข้อมูลย้อนหลัง 3 ปีของประเทศไทย มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางจราจรประมาณปีละ 10000 คน
o พ.ศ. 2558 มีผู้เสียชีวิต 11389 คน
o พ.ศ. 2559 มีผู้เสียชีวิต 9815 คน
o พ.ศ. 2560 มีผู้เสียชีวิต 15256 คน
• มีจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางจราจรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
o พ.ศ. 2558 มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 660888 คน
o พ.ศ. 2559 มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 831118 คน
o พ.ศ. 2560 มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1002193 คน
• เป็นเรื่องที่น่าตกใจที่ประเทศไทยมีอัตราเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรมากที่สุดในโลก
• ดังนั้นจำนวนอุบัติเหตุต่อสมองจึงมีสัดส่วนมากตามไปกับอุบัติการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางจราจร
• กล่าวได้ว่า อุบัติเหตุทางสมองเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ที่พบได้ทุกที่ ทุกจังหวัด ทุกโรงพยาบาล เชื่อว่าแพทย์ทุกคนต้องเคยได้มีโอกาสดูแลรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุทางสมองเหล่านี้
การรักษาอุบัติเหตุทางสมอง
• สำหรับการรักษาอุบัติเหตุทางสมอง ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างแพทย์หลายสาขา เช่น แพทย์แผนกฉุกเฉินที่เป็นเสมือนด่านแรกของโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยอุบัติเหตุทุกคน รวมทั้งศัลยแพทย์ทั่วไปที่ร่วมดูแลภาวะความผิดปกติที่เกิดหลังอุบัติเหตุต่ออวัยวะอื่น ไม่ว่าจะหัวใจ ปอด ช่องท้อง หลอดเลือด และสุดท้ายประสาทศัลยแพทย์หรือที่เรียกกันว่าหมอผ่าตัดสมองผู้มีความเชี่ยวชาญภาวะอุบัติเหตุทางสมองโดยเฉพาะ
• เมื่อให้แพทย์การรักษาเบื้องต้นแล้วได้ประเมินว่าผู้ป่วยต้อง CT scan ก็จะส่งไปทำอย่างเร่งด่วน เมื่อประเมินแล้วว่าผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัด ประสาทศัลยแพทย์ต้องทำการผ่าตัดฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นภาวะ
เลือดออกนอกเยื่อหุ้มสมอง Epidural hematoma
เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง Acute subdural hematoma
กะโหลกแตกยุบ Depressed Skull Fracture
• ทั้งนี้การผ่าตัดฉุกเฉินถือเป็นการผ่าตัดเร่งด่วนที่ต้องแข่งกับเวลา โดยต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหมอผ่าตัดสมอง หมอดมยา ทีมพยาบาลห้องผ่าตัด การผ่าตัดอุบัติเหตุทางสมองมักเต็มไปด้วยความเสี่ยงจากทั้งตัวอุบัติเหตุเอง หรือ จากสภาพร่างกายของผู้ป่วยที่แตกต่างกันไป บางคนมีโรคร่วมหลายโรค บางคนอายุมากและมีโรคซ่อนอยู่
• นอกจากนั้นการจะสามารถทำการผ่าตัดเปิดกะโหลกผู้ป่วย 1 คนได้จำเป็นต้องมีทีมที่พร้อมและอุปกรณ์ผ่าตัดที่เหมาะสม ซึ่งต้องยอมรับว่าในปัจจุบันเราสามารถทำการผ่าตัดสมองฉุกเฉินได้ในบางโรงพยาบาลที่มีความพร้อมเท่านั้น หากโรงพยาบาลใดไม่สามารถทำได้ก็จำเป็นที่จะต้องส่งผู้ป่วยต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ
• โรงพยาบาลของเราถือว่าเป็นโรงเรียนแพทย์ที่รับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลข้างเคียงโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพตอนบนและภาคกลางตอนล่าง ดังนั้นโรงพยาบาลของเรามีผู้ป่วยอุบัติเหตุทางสมองที่ทำการผ่าตัดเกือบทุกวัน
การดูแลหลังการผ่าตัดในหอผู้ป่วยวิกฤติ
• แม้การผ่าตัดเสร็จสิ้นแล้วก็ตาม การดูแลรักษาผู้ป่วยยังไม่จบ ประสาทศัลยแพทย์ต้องนำผู้ป่วยกลับไปดูแลใกล้ชิดในผู้ป่วยวิกฤติต่อ ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเรามีหอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมระบบประสาทหรือ ICU นิวโรศัลย์ ที่ให้การดูแลภาวะวิกฤติทางสมองโดยเฉพาะ
• ใน ICU นิวโรศัลย์ เรามีทีมพยาบาลเฉพาะทางที่เชี่ยวชาญภาวะวิกฤติทางระบบประสาท รวมทั้งบางเคสจำเป็นจะต้องใช้อุปกรณ์ตรวจพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น ICP monitoring หรืออุปกรณ์ตรวจวัดแรงดันสมอง เครื่องช่วยหายใจ การดูแลสายระบายน้ำในโพรงสมอง รวมทั้งการพยาบาลดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะสมองบวมซึ่งเป็นภาวะเฉพาะ เป็นต้น
• กล่าวได้ว่า เพื่อที่จะดูแลผู้ป่วยอุบัติทางสมอง 1 คน เพียงหมอผ่าตัดสมองคนเดียวไม่สามารถทำได้ เราต้องอาศัยการดูแลแบบองค์รวมและความร่วมมือของแพทย์อีกหลายฝ่าย ทีมพยาบาล เภสัชกร ทีมกายภาพบำบัดรวมทั้งทีมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทุกคนเพื่อให้การดูแลรักษาออกมาดีที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสฟื้นตัว หรือหายจากโรคของเขา และมีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตในสังคมดังเดิมให้ได้ดีที่สุดครับ
โดย : อ.นพ.วิชญ์ ยินดีเดช
ประสาทศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
สามารถติดตามช่องทางต่างๆของโรงพยาบาล ได้ที่
• Call center : 0-2926-9999
• LINE Official : https://lin.ee/C9QBk04
• Youtube :
รายการ 5 นาทีกับแพทย์ธรรมศาสตร์ :https://www.youtube.com/channel/UCMkq9zBgdYzw8WOmfFddLYg
โฆษณา