6 ต.ค. 2021 เวลา 06:00 • ประวัติศาสตร์
การเดินทางของ “ข้าวซอย”
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เวลาที่นึกถึงอาหารของทางภาคเหนือ ส่วนใหญ่เรามักจะนึกถึง น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง ไส้อั่ว แคบหมู ที่อยู่ในสำรับขันโตก อะไรแบบนั้น และอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไมได้ นั่นก็คือ ข้าวซอย อาหารเส้นกับน้ำแกงรสเข้มข้นที่ใครๆก็หลงใหล นี่คือภาพจำเมื่อนึกถึงวัฒนธรรมด้านอาหารของคนไทยทางภาคเหนือ หรือที่เรียกว่า วัฒนธรรมล้านนา
ดินแดนอันกว้างใหญ่สมนามล้านนา ในอดีตถือเป็นดินแดนที่มีอาณาเขตติดต่อกับอาณาจักรข้างเคียงหลายอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาว จีน อัสสัม ฉานและสิบสองพันนาของชาวไทใหญ่ ซึ่งอดีตคือส่วนหนึ่งของบ้านเมืองที่รวมอยู่ในวัฒนธรรมล้านนา ล้านนาจึงเสมือนเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมต่อกับหลายอาณาจักรในอดีต มีประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์และทับซ้อนกันหลายยุคหลายสมัย ซึ่งเป็นที่มาของการเป็นเมืองท่าทางการค้าของแผ่นดินด้านใน เป็นแหล่งรวบรวมสินค้าจากหลายแหล่งของผู้คนหลายเชื้อชาติ ก่อนจะส่งต่อสินค้าล้ำค่าต่างๆลงมายังที่ราบภาคกลาง ที่มีกรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯเป็นเมืองท่านานาชาติใกล้ปากแม่น้ำและชายฝั่งทะเล
อาหารของชาวไทยล้านนาจึงเป็นอาหารที่มีความผสมผสาน ของรูปแบบการกินและอาหารของหลายชนชาติผสมปนเปกัน ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนจากเมนูข้าวซอย ที่ดูมุมไหนก็ไม่ค่อยเหมือนอาหารของชาวเหนือ แต่น่าจะเป็นอาหารเทศซะมากกว่า ซึ่งก็ดูมีเค้าลางให้เป็นสาระนอกจานที่จะเอามาคุยกันในวันนี้ได้
“ข้าวซอย” เป็นอาหารที่เชื่อกันว่า ได้รับอิทธิพลมาจากอาหารของชาวฮ่อ ซึ่งก็คือชาวจีนมุสลิมในมณฑลยูนนาน ที่ได้เดินทางคาราวานทำการค้าลงมาทางใต้ ไล่ตั้งแต่มณฑลยูนนาน กลุ่มรัฐเจ้าฟ้าไทใหญ่ (ฉาน-สิบสองพันนา) พม่า ลาว ไทยล้านนา โดยเฉพาะที่เมืองเชียงใหม่จะเป็นแหล่งใหญ่ ที่พ่อค้าชาวฮ่อจะมาหยุดพักแลกเปลี่ยนสินค้า แล้วนำกลับไปขายที่ยูนนานอีกที เดินทางกลับไปกลับมาติดต่อสื่อหากันมาหลายร้อยปี วัฒนธรรมการกินอาหารของชาวฮ่อจึงเดินทางมาพร้อมกันด้วย ดังนั้นอาหารเส้นที่มีน้ำแกงกะหรี่หน้าตาคล้ายๆข้าวซอย จึงมีทั่วไปหมดตามรายทางคาราวานที่ชาวฮ่อได้เดินทางผ่านไป แต่ละที่ก็จะมีรูปแบบข้าวซอยที่แตกต่างกันไปตามความนิยม
ส่วนที่มาของชื่อเรียกขานเมนูเด็ดนี้ว่า “ข้าวซอย” ก็มีที่มาที่น่าสนใจอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกมาจากวิธีการทำ ด้วยข้าวซอยต้นตำรับแบบฮ่อใช้เส้นหมี่ที่ทำจากข้าว ราดด้วยเนื้อวัวบดที่ผัดกับผักดองต่างๆ แต่คนเชียงใหม่หรือคนทางเหนือไม่ได้ใช้วิธีการทำเส้นหมี่แบบจีนฮ่อ กลับใช้วิธีการต้มข้าวนานๆแล้วทำเป็นก้อน จากนั้นจึงนำมาหั่นซอยเป็นเส้นหรือเป็นชิ้น จึงเรียกว่า ข้าวซอย
เรื่องที่สอง เรียกแบบคนพม่า จากหลักฐานที่ว่ามีอาหารพม่าเมนูหนึ่งหน้าตาละม้ายคล้ายข้าวซอย แต่ไม่ได้ใส่เครื่องเทศมากแบบข้าวซอยไทย และเมนูนี้มีชื่อว่า อนโนเขาสะเว (Ohn No Khao Swe) โดยคำว่า เขาสะเว เป็นภาษาพม่าที่หมายถึงก๋วยเตี๋ยว ชื่อนาม ข้าวซอย อาจมาจาก เขาสะเว ก็เป็นได้ (ทำไมไม่คิดว่า เขาสะเว มาจาก ข้าวซอย บ้างนะ) แต่ก็มีบางข้อมูลให้ข้อคิดว่า เขาซะเว คำนี้อาจมีกำเนิดมากจากภาษาสำเนียงไทใหญ่
ข้าวซอยเชียงใหม่และของคนทางเหนือ ถือเป็นหนึ่งในอาหารเทศที่กลายมาเป็นอาหารไทยโดยสมบูรณ์ เพราะได้มีการพัฒนาและปรับปรุง จนไม่เหมือนต้นตำรับหรือของชนชาติอื่นๆอีกแล้ว จากเคยใช้เส้นจากแป้งข้าว เปลี่ยนมาใช้เส้นจากแป้งสาลีและไข่ จากกินแบบราดด้วยเนื้อวัวผัดผักดอง เปลี่ยนมากินเส้นกับแกงเนื้อชิ้นใหญ่ๆ และปรับรสอีกครั้งด้วยการใส่กะทิแบบอาหารไทยภาคกลาง ทำให้น้ำแกงมีรสเข้มข้นขึ้นไปอีก ซึ่งได้รับความนิยมมาก จนกลายเป็นมาตรฐานปัจจุบันของข้าวซอยในเชียงใหม่และอีกหลายๆที่ในประเทศไทย
วันนี้ข้าวซอยกลายเป็นเมนูฮิตติดลมบน ไม่ใช่แค่สำหรับคนไทย แต่รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ได้มาเที่ยวเมืองไทยก็ติดอกติดใจด้วยกันทั้งนั้น
ถ้าต้องแนะนำร้านข้าวซอยรสเด็ดแบบที่ว่า “ต้องกิน” ให้ได้สักครั้ง เพียง 1 ร้านเท่านั้น คุณจะแนะนำร้านไหนเป็นที่ 1 ในดวงใจ โปรดบอกที...
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
[Picture-Reference]…
: ology.food.blog/2018/12/01/ohn-no-khao-swe/
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
#สาระนอกจาน #saranokchan #sidedish #ข้าวซอย #khaosoi #thaifood
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ติดตาม สาระนอกจาน ได้ที่ :
โฆษณา