7 ต.ค. 2021 เวลา 05:12 • หุ้น & เศรษฐกิจ
โอกาสการลงทุนในธุรกิจ “ไฟฟ้าพลังน้ำ”
โอกาสการลงทุนในธุรกิจ “ไฟฟ้าพลังน้ำ”
📌 ปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุน
ในประเทศกำลังพัฒนามีต้นทุนค่าแรงที่ต่ำและมีพื้นที่ ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจดึงดูดการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมแล้ว เช่น อ่างเก็บน้ำ และเขื่อน
การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำมีโครงสร้างต้นทุนที่หลากหลายมีความจำเพาะเจาะจงสูง แตกต่างกันไปตามขนาด ลักษณะและพื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายด้านงานโยธา โครงสร้างของอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อน รองลงมาเป็นอุปกรณ์เครื่องกลไฟฟ้า เช่น กังหันน้ำ (Turbine) และระบบควบคุม อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ มักมีต้นทุนโดยรวมต่อปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่ำกว่าโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก
ต้นทุนการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำอยู่ในช่วงที่กว้างมากตั้งแต่น้อยกว่า 1,000 ดอลล่าร์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง จนถึงอาจมากกว่า 10,000 ดอลล่าร์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง
Small Hydro
อย่างไรก็ตามในประเทศอินเดีย จีน และเอเชียแปซิฟิก มีต้นทุนการลงทุนพลังน้ำโดยรวมต่ำที่สุด เนื่องจากค่าแรงและค่าวัสดุก่อสร้างที่ต่ำ ความพร้อมใช้งานของในสถานที่ที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งกระบวนการขออนุญาตก่อสร้างที่ค่อนข้างคล่องตัว
Large Hydro
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในประเทศจีน เนื่องจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น พื้นที่ราคาประหยัดในการใช้ทำโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ลดลง รวมถึงค่าชดเชยที่ต้องจ่ายให้ผู้ที่ถูกเวนคืนพื้นที่ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน คาดว่าการดำเนินโครงการก่อสร้างระหว่างปี 2021 -2030 จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 15% ในจีน และ 10% ในเอเชียแปซิฟิก
📌 ประเทศที่มีการผลิตและใช้ไฟฟ้าพลังน้ำมากที่สุด
จีนเป็นประเทศที่ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำมากที่สุด กำลังการผลิต และจำนวนโครงการที่พัฒนาใหม่ ในปี 2020 จีนเป็นผู้นำโลกในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ มีการผลิตรวมถึง 1.254 ล้านล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งสามารถให้พลังงานไฟฟ้าแก่ประเทศไทยได้ถึงเกือบ 7 ปี (ประเทศไทยใช้ไฟฟ้า 187,047 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี)
เขื่อนสามผา (Three Gorges Dam) เขื่อนอเนกประสงค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในประเทศจีน
รองลงมาเป็น บราซิลที่ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้ 394,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี และสหรัฐฯผลิตได้ 291,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี
ในขณะที่ผู้บริโภคไฟฟ้าพลังน้ำรายใหญ่ที่สุดของโลก ก็คือประเทศจีนเช่นเดียวกัน โดยมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำคิดเป็นสัดส่วน 72% ของปริมาณไฟฟ้าพลังน้ำที่ผลิตได้ทั่วโลก
ส่วนประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำต่อปีรวมกว่า 6,400 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง จากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 26 แห่งในประเทศ คิดเป็น 29% ของการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ เขื่อนภูมิพล ซึ่งมีกังหัน 8 ตัวทำให้มีผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,062 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ส่งออกกระแสไฟฟ้าเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ตั้งแต่ภาคเหนือและภาคกลางลงไปถึงจังหวัดเพชรบุรี รวม 36 จังหวัด
เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
📌 โอกาสทางธุรกิจ
ในปี 2020 ประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้า 212,050 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ในขณะที่ประเทศไทยใช้ไฟฟ้า 187,047 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง แต่คาดว่าตั้งแต่ปี 2021 – 2023 ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 2.8-3.8% ต่อปี
อีกทั้ง ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความต้องการเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนจึงมีแนวโน้มและโอกาสในการเติบโตดี
อย่างไรก็ตามพื้นที่ตั้งโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของประเทศไทยมีไม่เพียงพอ ในขณะที่ สปป.ลาวมีศักยภาพในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีพื้นที่และแหล่งน้ำในการสร้างเขื่อนอีกมาก
รวมถึงนโยบายของภาครัฐของ สปป.ลาว ยังเปิดกว้างให้เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าร่วมลงทุนเพื่อผลิตไฟฟ้าส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน (ประเทศไทยนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว 9% ต่อการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด) จึงเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทภาคเอกชนไทยเข้าร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าได้มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันก็มีผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่ สปป. ลาวบ้างแล้ว เช่น บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) [GPSC], บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) [BCPG] และ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) [CKP] ได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 โรงไฟฟ้าห้วยเหาะ เป็นต้น
#พลังงานสะอาด #ไฟฟ้าพลังน้ำ #ผลิตไฟฟ้า
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ปรียา ชัชอานนท์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา