14 ต.ค. 2021 เวลา 00:07 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไม ไฟฟ้าในประเทศจีนถึงไม่พอใช้?
4
ในตอนนี้วิกฤตพลังงานไฟฟ้าขาดแคลนในประเทศจีน เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น โดยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 20 มณฑลทั่วประเทศ และพื้นที่ดังกล่าวมีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นกว่า 2 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งหลายมณฑลที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ก็ถือได้ว่าเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศจีน ส่งผลทำให้การผลิตในหลายอุตสาหกรรมต้องชะลอลง ซ้ำเติมปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกให้รุนแรงขึ้นไปอีก
8
📌 สาเหตุที่ทำให้จีนขาดแคลนไฟฟ้า
1
ต้องบอกก่อนเลยว่ามีหลายปัจจัยด้วยกันที่ส่งผลให้จีนขาดแคลนไฟฟ้าในครั้งนี้ โดยประเด็นแรก คือ การที่จีนตั้งเป้าที่จะกลายเป็นประเทศที่ปลอดคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี พ.ศ. 2603 หรืออีกประมาณ 40 ปีข้างหน้า ซึ่งเป้าหมายนี้ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของประเทศจีน เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เปรียบเสมือนกับโรงงานโลก และมีปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2 Emission) มากที่สุดในโลก คิดเป็นกว่า 30% ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก
6
แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันจีนยังคงพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นหลัก โดยใช้ถ่านหินคิดเป็นกว่า 60% ของจำนวนการผลิตทั้งหมด และการเผาไหม้ถ่านหินนั้นก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนจำนวนมากสู่ชั้นบรรยากาศ ทั้งนี้พลังงานที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยังมีสัดส่วนเพียงประมาณ 15% เพียงเท่านั้น แต่จีนก็มีเป้าหมายที่จะเพิ่มการใช้ให้กลายเป็นประมาณ 20% ภายในปี 2568
4
เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวได้สร้างข้อจำกัดให้กับอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินมากมาย อาทิเช่น การเปิดเหมืองถ่านหินใหม่ๆ สามารถทำได้ยากขึ้น เนื่องจากจำเป็นที่จะต้องทำตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น นอกจากนี้ทางรัฐบาลก็ได้มีการยุติการสนับสนุนทางด้านการเงินแก่โรงไฟฟ้าถ่านหินหลายแห่งอีกด้วย
1
จีนหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ
จากการที่โรงงานในประเทศจีนจำเป็นต้องเร่งการผลิต เพื่อตอบรับกับความต้องการสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง หลังปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงทั่วโลก ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีมากขึ้นเรื่อยๆ และกระทบไปยังความต้องการถ่านหิน แต่ทว่าการผลิตถ่านหินกลับทำได้น้อยลงจากวาระด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลจีน ปัญหาดังกล่าวส่งผลทำให้ราคาถ่านหินพุ่งสูงโดยถ้าหากนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาราคาถ่านหินให้ความร้อน (Thermal Coal) ในประเทศจีน ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 110%
ราคาถ่านหินให้ความร้อน (Thermal Coal) ในประเทศจีน
ในขณะเดียวกันหน่วยงานกำกับดูแลด้านไฟฟ้าของจีนกลับมีการควบคุมเพดานค่าไฟฟ้าไม่ให้มีราคาแพงจนเกินไป จึงทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินต่างๆ ปรับราคาเพิ่มขึ้นได้ไม่มาก แม้จะมีต้นทุนจากค่าถ่านหินที่มากขึ้น ด้วยเหตุนี้โรงงานไฟฟ้าหลายแห่ง จึงเลือกที่จะไม่เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองกับความต้องการที่มากขึ้น ส่งผลให้ไฟฟ้ามีจำนวนไม่พอใช้ในที่สุด
1
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไฟฟ้าในจีนขาดแคลนก็ คือ การที่โดยปกติแล้วจีนจะนำเข้าถ่านหินจากประเทศออสเตรเลียเป็นหลัก คิดเป็นกว่า 39.7% จากการนำเข้าถ่านหินทั้งหมด แต่ด้วยความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศนี้เริ่มสั่นคลอนอย่างหนักในช่วงปีที่แล้ว
2
หลังรัฐบาลออสเตรเลียให้การสนับสนุนการตรวจสอบเกี่ยวกับต้นตอการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีน ส่งผลให้รัฐบาลจีนออกคำสั่งระงับการนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลียทั้งหมดตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 และหันไปพึ่งการนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียและมองโกเลียแทน
3
แต่ด้วยความต้องการถ่านหินมีเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก จำนวนการนำเข้าถ่านหินของจีนยังคงไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ดังจะสังเกตได้จากจำนวนการนำเข้าถ่านหินในเดือนกันยายนของประเทศจีนที่พุ่งขึ้นสูงถึง 76% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นปริมาณกว่า 32.9 ล้านตัน สูงสุดนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
1
รัฐบาลจีนแบนการนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลีย
ประเด็นสุดท้าย คือ ปัญหาน้ำท่วมในมณฑลซานซี ซึ่งเป็นศูนย์กลางการทำเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในจีน เนื่องจากฝนตกลงมาอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา โดยภาวะน้ำท่วมดังกล่าวได้ส่งผลให้เหมืองถ่านหินประมาณ 60 แห่งจาก 682 แห่งในมณฑลต้องปิดตัวลง ส่งผลกระทบเพิ่มเติมให้กับปัญหาการขาดแคลนถ่านหินสำหรับการผลิตไฟฟ้าที่โดนกระทบหนักอยู่แล้ว
3
น้ำท่วมในมณฑลชานซี ทางตอนเหนือของประเทศจีน
📌 ผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ
ในด้านผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจจีน สถาบันการเงินชั้นนำหลายแห่งเริ่มปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนลงเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า
นำโดย Nomura ที่คาดว่า GDP จีนจะเติบโตที่ 7.7% ในปีนี้ ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 8.2% ตามมาด้วย Goldman Sachs ที่คาดการณ์ไว้ที่ 7.8% จากเดิม 8.2% โดยให้เหตุผลไว้ว่าปัญหาการขาดแคลนพลังงานและการลดการผลิตภาคอุตสาหกรรม ได้เพิ่มแรงกดดันด้านลบต่อภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน และมีการประมาณการไว้ว่ากิจกรรมในอุตสาหกรรมจีนจะได้รับผลกระทบมากถึง 44%
อย่างไรก็ดี Goldman Sachs ได้กล่าวเสริมไว้ว่า เศรษฐกิจจีนในตอนนี้ไม่ได้มีปัญหาด้านพลังงานแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับปัญหาหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่อย่าง Evergrande ที่สร้างความผันผวนให้กับเศรษฐกิจจีนอีกปัจจัยหนึ่งด้วย
3
ทั้งนี้ S&P Global Rating ได้ระบุไว้ว่าความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นสำหรับเศรษฐกิจจีนไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยหน่วยงานได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตในปี 2564 สำหรับประเทศจีนเป็น 8% จาก 8.3% นอกจากนี้ยังลดประมาณการการเติบโตสำหรับทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็น 6.7% จาก 7.5% ที่คาดไว้ก่อนหน้านี้
1
นอกจากตัวเลข GDP แล้ว เงินเฟ้อยังเป็นอีกตัวเลขหนึ่งที่น่าจับตามอง เพราะปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในประเทศจีนอาจส่งผ่านไปสู่ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นสะท้อนจากตัวเลข Producer Price Index (PPI) ที่เร่งขึ้นในประเทศจีน และเนื่องจากประเทศจีนเปรียบเสมือนโรงงานโลกอย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้น การที่อุตสาหกรรมการผลิตจีนหยุดชะงัก อาจทำให้ของขาดตลาดและราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น จนทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นได้
วิกฤตพลังงานทำให้ราคาสินค้าจากจีนพุ่งสูงกดดันราคาสินค้าในประเทศอื่นๆ
📌 รัฐบาลจีนแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร
ในตอนนี้รัฐบาลจีนได้มีคำสั่งให้เหมืองถ่านหินกว่า 72 แห่งในมองโกเลียเพิ่มกำลังการผลิตถ่านหินรวม 98.4 ล้านตัน เพื่อบรรเทาวิกฤตด้านพลังงาน และคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ได้เตรียมแผนการที่จะยกเลิกการควบคุมเพดานราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินในระดับอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น และดึงดูดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเพิ่มกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ตามในตอนนี้ยังไม่มีรายงานว่านโยบายดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่
2
ในระยะถัดไปถ้าหากมีการปรับให้ราคาถ่านหินเป็นไปตามกลไกตลาดจริงๆ ผมมองว่าปัญหาไฟฟ้าไม่พอใช้ในจีนจะคลี่คลายลงได้โดยใช้เวลาไม่นานเนื่องจากราคาที่สมเหตุสมผลมากขึ้นจะช่วยให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินก็มีแรงจูงใจที่จะเพิ่มกำลังการผลิต แต่ปัจจัยด้านธรรมชาติอย่างปัญหาน้ำท่วมที่กระทบต่อการผลิตถ่านหิน อาจจะต้องติดตามกันต่อไปว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่จนกว่าปัญหาดังกล่าวจะหมดไป
1
#พลังงานไฟฟ้า #พลังงานขาดแคลน #จีน #วิกฤตพลังงานจีน
#Bnomics #Industry #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
1
ผู้เขียน : ธีระภูมิ วุฒิปราโมทย์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
1
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา